ธรรมะ และ โลก ธรรมะ และ “ธรรมชาติ” กฎ และ “หน้าที่”

เหมือนกับว่า “โลก” นี้ดำรงอยู่แล้วในทางวัตถุ เป็นโลกที่เราเห็นตั้งแต่เกิด เป็นโลกที่เราใช้ชีวิตอยู่และสัมพันธ์

ตั้งแต่ยังไม่รู้จัก “คิด” กระทั่งรู้ในเรื่อง “คิด”

มีความสัมพันธ์อย่างแน่นอนระหว่าง “โลก” กับตัว “เรา” เป็นความสัมพันธ์อันท่านพุทธทาสภิกขุจำแนกให้เห็นระหว่าง “รูป” กับ “นาม”

ประเด็นอันแหลมคมเป็นอย่างมากก็คือบทสรุปที่ว่า

โลกก็คือ รูป กับ นาม ไม่มีอะไรมากกว่านี้ แล้วถ้ามันไม่สัมพันธ์กันมันไม่มีอะไรด้วยซ้ำ ถ้ามันสัมพันธ์กันระหว่างกายกับใจ รูปกับนาม มันจึงทำหน้าที่รู้นั่นรู้นี่ได้

โลกจึงปรากฏขึ้นเพราะจิตเป็นผู้รู้สึก

ถ้าจะรู้สึกตามลำพังจิตก็ไม่ได้ต้องมีร่างกายเป็นเหมือนออฟฟิศให้มันทำงาน เป็นที่ทำงาน มันจึงรู้ คิด นึก ได้

โลกมีขึ้นมาเพราะจิตรู้สึกได้นั่นเอง ถ้าจิตรู้สึกไม่ได้โลกนี้ก็เท่ากับไม่มี

ภาระหน้าที่ของท่านพุทธทาสภิกขุในแต่ละถ้อยคำต่อไปนี้จึงเป็นภาระหน้าที่ในการทำความเข้าใจ

1 เรื่องธรรม ในฐานะที่เป็นตัวธรรมชาตินี้

ขณะเดียวกัน 1 ต้องรู้ และทำความเข้าใจธรรม ธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า โลก

จำเป็นต้องอ่าน

ธรรมชาติ คือตัวธรรมชาตินั้นยังมีกฎของธรรมชาติ อันนี้ไม่เป็นตัวเป็นตน เป็นสัจจะอันหนึ่ง เรียกว่า “กฎ”

เช่น ความที่โลกนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ก็เรียกว่า กฎธรรมชาติ

หรือว่า โลกนี้ สิ่งต่างๆ นี้แหละจะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แก้ไขไม่ได้โดยบุคคลใด บังคับไม่ได้โดยบุคคลใด นี้ก็เรียกว่า กฎธรรมชาติ

คือว่า การที่มันจะต้องเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยนั่นแหละ เป็นความหมายที่สำคัญที่สุด

กฎอีกอย่างหนึ่งที่น่ากลัวก็คือ มันไม่หยุด ความที่มันไม่หยุด มันปรุงแต่งกันเรื่อย เรามองไม่ใคร่เห็นว่า มันปรุงแต่งกันเรื่อย

ฉะนั้น ต้องขยันศึกษา มองให้เห็นว่ามันปรุงแต่งกันเรื่อย ไม่มีหยุด

เช่น การกินอาหารเข้าไป อาหารนั้นก็เป็นเหตุ ปรุงแต่งเนื้อหนังร่างกาย นี้เป็นผล แล้วเนื้อหนังร่างกายที่เป็นผลนี้พอเสร็จแล้วมันก็กลายเป็นเหตุที่จะปรุงแต่งการเป็นอยู่ การกระทำ ฯลฯ ต่อไปอีก

แล้วมันก็เกิดผลอะไรขึ้นมาอีก แล้วมันก็กลายเป็นเหตุอีก

นี่ มันไม่หยุดอย่างนี้ ความที่มันปรุงแต่งกันเรื่อยนี้ก็เรียกว่า กฎของธรรมชาติ

อันที่ 1 ธรรมชาติ อันที่ 2 กฎธรรมชาติ ทีนี้มาถึงอันที่ 3 คือ หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องกระทำให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ

ลองพิจารณาดูว่าสิ่งที่เรียกว่า หน้าที่ตามธรรมชาตินี้ มันน่ากลัวเท่าไร มันสำคัญอย่างไร

นับแต่เราต้องแสวงหาอาหารกิน ต้องบริหารร่างกาย ต้องเยียวยาความเจ็บไข้ ไหนจะต้องสืบพันธุ์ ไหนจะต้องหนีอันตราย ไหนจะต้องขวนขวายดับทุกข์นานาประการ กระทั่งดับทุกข์หมด

นี้เป็นหน้าที่ตามกฎธรรมชาติซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

เราจึงมีหน้าที่วุ่นวายเป็นประจำวันกันทุกคนซึ่งมีอยู่ในโลก ฉะนั้น จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโลก

การปฏิบัติตามหน้าที่ต่างๆ หน้าที่บริหารร่างกาย หน้าที่ทำมาหาเลี้ยงชีวิต กระทั่งหน้าที่อื่นๆ

อันที่ 3 นี้รวมอยู่ในคำว่า โลก เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า โลก

อันสุดท้ายเรียกว่า ผลที่ได้รับ

ได้รับมาเป็นเงินทอง เป็นเจ้าของ เป็นเกียรติยศชื่อเสียง ฯลฯ อะไรก็ตามทางฝ่ายโลกๆ นี้

บางทีก็ถูกใจ บางทีก็ไม่ถูกใจ กระทั่งถ้าเราปฏิบัติหน้าที่ทางธรรมะสูงสุดเราก็ได้รับ มรรค ผล นิพพาน มา

นี่เรียกว่า ผลที่ได้รับตามธรรมชาติ

มองดูกันอย่างเป็นหลักใหญ่ๆ แล้วมีอยู่เป็น 4 ชั้นอย่างนี้

ทบทวนอีกทีก็ว่า ตัวธรรมชาติเอง ตัวกฎของธรรมชาตินั้น ตัวหน้าที่ที่มนุษย์ต้องทำตามธรรมชาตินั้น และผลที่มนุษย์ได้รับจากการกระทำตามธรรมชาตินั้น

ทั้งหมดนี้ถ้าเรียกสั้นๆ ก็รวมเรียกในคำว่า โลก เหมือนกัน

เราต้องมองดูโลกในลักษณะที่กว้างอย่างนี้ จึงจะเข้าใจได้ดี

ที่อังคาร กัลยาณพงศ์ รจนาออกมาเป็นกวีนิพนธ์ว่า โลกนี้มิได้อยู่ด้วย มณี เดียวนา ทรายและสิ่งอื่นมี ร่วมสร้าง

คล้ายกับจะเน้นในเรื่องของ “โลก” อันเป็น “ตัวโลก”

กระนั้น ความเป็นจริงก็สะท้อนให้ประจักษ์ในลักษณะแห่งความสัมพันธ์ ยึดโยง เกี่ยวเนื่องของแต่ละสรรพสิ่ง

โลกจึงสะท้อนเป็น “ธรรมะ” สะท้อนเป็น “ความคิด”

วิเวกา นาคร