อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : จากเซียะเหมินถึงวอชิงตัน

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ในที่สุดรถไฟจีน-ไทย (China-Thai Railway) ก็ลงหลักปักฐานหลังจากเจรจากันมามากกว่า 20 ครั้ง

ไทยเป็นแขกของประเทศเจ้าภาพคือสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อร่วมประชุมสุดยอด (summit) กลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS)

ซึ่งน่าประทับใจว่า ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับเชิญในกลุ่มอาเซียน

อีกทั้งท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังได้นำคณะเข้าร่วมประชุมทวิภาคีกับคณะของทางการจีนที่นำโดยท่านประธานาธิบดี สี่ จิ้น ผิง ด้วย

 

ที่เซียะเหมิน

จากรายงานของหนังสือพิมพ์ Bangkok Post มีการลงนามระหว่างรัฐบาลไทยและจีนเรื่องการสร้างรถไฟจีน-ไทย ค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบโครงการรถไฟ (สัญญาที่ 2.1) วงเงิน 1,706,771 ล้านบาท สัญญาการควบคุมงานก่อสร้าง (สัญญาที่ 2.2) (1) ซึ่งสัญญาหลายสัญญานี้รวมระยะทาง 253 กิโลเมตร มูลค่า 5.2 พันล้านบาท (2)

โครงการรถไฟจีน-ไทยนี้ นายกรัฐมนตรีไทยต้องใช้มาตรา 44 ผลักดันเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา (3) เพื่อผลักดันให้โครงการเกิดเสียที

แต่มีข้อน่าสังเกตว่า โครงการเริ่มต้นในเฟสแรกมีระยะทางเพียง 3.5 กิโลเมตร (ระหว่างกลางดง-ปางอโศก จังหวัดนครราชสีมา)

และวัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็ก เป็นการใช้วัสดุของทางการจีน ซึ่งไม่ตรงกับข้อตกลงที่ทำ MOU กันไว้

จนกระทั่งอธิบดีกรมทางหลวงของไทยจำเป็นต้องเรียกให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้ (4)

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ทางการจีนและไทยต่างร่วมกันลงนามในอีก 2 เอกสารสำคัญ เอกสารแรกว่าด้วย the Joint Plan of Action on Thailand-China Strategic Cooperation เอกสารที่ 2 คือ Memorandum of Understanding on Cooperation within the Framework on Silk Road Economic Belt and the 21st Century Maritime Silk Road initiative

อย่างไรก็ตาม ผู้นำไทยไม่ได้เข้าประชุมร่วมกับอีก 30 ชาติในการประชุม Beijing-hosted Belt and Road Forum เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาแต่อย่างใด

ประเด็นคือ ไทยมีความสำคัญแค่ไหนกับ One Belt One Road (OBOR) ที่นำโดยทางการจีน

แต่เราไม่ได้เข้าร่วมกับอีก 30 ชาติ แต่ทางการไทยกลับเดินทางไปประชุมบริกส์เพื่อลงนามการตอกเสาเข็มเส้นทางรถไฟที่ยาวเพียง 3.5 กิโลเมตรระหว่างกรุงเทพฯ กับนครราชสีมา

 

สู่วอชิงตัน

เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน (Rex Tillerson มาเยือนไทยเมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อันเป็นส่วนหนึ่งการเดินทางเยือนภูมิภาคเอเชีย ประเด็นวาระการเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศท่านนี้คือ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเกาหลีเหนือ แต่รัฐมนตรีท่านนี้ยังยืนยันด้วยว่ามาเพื่อยืนยันการเดินทางของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปกรุงวอชิงตัน (5)

เป็นเรื่องที่ปิดแต่รู้กันอย่างกว้างขวางว่า ทางการสหรัฐอเมริกาได้วิพากษ์วิจารณ์ภาวะการถดถอยของประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยเฉพาะรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันมีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทยหลังการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2014 (6)

สำหรับไทย ไทยในสายตาของสหรัฐอเมริกา ไทยเป็น “สัญลักษณ์” ของอะไรหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา

ช่วงสงครามเย็น ไทยคือพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่ใช้ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ การเป็นฐานทัพส่งเครื่องบินไปโจมตีทิ้งระเบิดเวียดนาม ลาวและกัมพูชา รวมทั้งการส่งทหารไทยเข้าไปช่วยทหารอเมริกันรบด้วย

ช่วงเวลานั้น ลัทธิ Strongman ถูกนำมาปรับใช้ทั้งในไทย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย รัฐบาลอเมริกาสนับสนุนรัฐบาลทหารและผู้นำเผด็จการไม่ว่าจะมาจากการทำรัฐประหารหรือการเลือกตั้ง รัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือทางทหารและทางเศรษฐกิจแก่รัฐบาลที่เป็น “อำนาจนิยม” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกคน

ต้นทศวรรษ 1990 โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป สงครามเย็นสิ้นสุดลง ความจำเป็นในการต่อสู้อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ไม่มีความหมายอีกต่อไป การพัฒนาและบูรณะประเทศที่ได้รับภัยจากสงครามเป็นสิ่งจำเป็น แต่ประเทศที่ให้ความช่วยเหลือประเทศในอินโดจีนสมัยนั้นน้อยที่สุดคือสหรัฐอเมริกา ในเวลาเดียวกัน ญี่ปุ่นและออสเตรเลียกลับเข้ามาให้ความช่วยเหลือและบูรณะประเทศเหล่านี้

ทั้งญี่ปุ่นและออสเตรเลียประกอบสร้าง “สัญลักษณ์” หลังสงครามเย็นด้วยการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษาและสาธารณสุขในอินโดจีน ที่น่าสนใจ ออสเตรเลียเป็นผู้ให้เงินทุนก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาวแห่งแรกระหว่างจังหวัดหนองคายและเวียงจันทน์ แล้วโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจในภูมิภาคก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือการเติบโตขึ้นของคนชั้นกลาง พร้อมทั้งการเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองและประชาธิปไตย แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ยังคงสนับสนุนลัทธิ Strongman ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐอเมริกาพยายามในหลายวิธีที่จะนำคุณค่าประชาธิปไตย (Democratic Value) มาใช้ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เขาเดินทางไปเยือนอินโดนีเซีย เขาไปเยือนเมียนมาและเข้าพบปะผู้นำประชาธิปไตยเมียนมา นางออง ซาน ซูจี แล้วสหรัฐอเมริกาก็ลดระดับการบอยคอตเมียนมา

บารัค โอบามา เยือนสาธารณรัฐสังคมเวียดนามประเทศที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดอย่างมากในช่วงสงครามเย็น และเริ่มลดการแซงก์ชั่นทางการเมืองและเศรษฐกิจสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม แล้วในที่สุด บารัค โอบามา ก็นั่งกิน “เฝอ” ที่เวียดนามก่อนเดินทางกลับสหรัฐอเมริกา

แต่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งแทบไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังไม่มีนโยบายอะไรที่แน่ชัดกับภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ตาม มีอยู่ 3 อย่างที่สหรัฐอเมริกาต้องการจากไทย ณ ขณะนี้ กล่าวคือ

ประการแรก อยากให้ไทยชักชวนสมาชิกอาเซียนให้ถอยห่างจากจีน หากทำได้คือไม่สนับสนุนจีนในความขัดแย้งในปัญหาทะเลจีนใต้

ประการที่สอง อยากขายอาวุธให้ไทยเพิ่มมากขึ้น สหรัฐอเมริกาไม่อยากให้ทางการไทยซื้ออาวุธจากยูเครน และไม่ต้องเลยที่ทางการไทยชอบไปซื้ออาวุธจากสาธารณรัฐประชาชนจีน

ประการที่สามคือ ไม่ต้องการให้ไทยสนับสนุนเกาหลีเหนือในทุกๆ เรื่อง

ทั้งสามความต้องการของสหรัฐอเมริกานี้ทางการไทยได้จัดวางและเรียงลำดับก่อนหลังให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาแล้ว

แต่ทางการไทยได้เตรียมตัวแลกเปลี่ยนอะไรต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาบ้างหรือเปล่า

เช่น เดิมทีไทยมีจุดยืนต่อต้านเกาหลีเหนือตามมิติขององค์การสหประชาชาติ แต่ทว่า ไทยเป็นประเทศส่งออกสินค้าให้เกาหลีเหนือในลำดับต้นๆ

หากสหรัฐอเมริกาบอยคอตประเทศคู่ค้ากับเกาหลีเหนือทุกประเทศ ทางการไทยเตรียมการไว้อย่างไรบ้าง

ผลประโยชน์ของไทยสำคัญที่สุด

—————————————————————————————————————
(1) “Ties with Beijing cast into doubt” Bangkok Post 5 September 2017 :1
(2) “มึน ไฮสปีดเทรนใช้เหล็กจีน” ไทยโพสต์ 5 กันยายน 2560 : 1
(3) Bangkok Post op.cit.,
(4) ไทยโพสต์ เพิ่งอ้าง
(5) Matthew Phillips, “Trump”s White House and Thailand”s autocratic decent” New Mandala 11 August 2017.
(6) Ibid.,