ปีนี้ร้อนแรง ‘พฤษภา 35 และ 53’/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

ปีนี้ร้อนแรง ‘พฤษภา 35 และ 53’

 

บ้านเมืองเรา มีเหตุการณ์ทหารสลายม็อบด้วยกระสุนจริงหลายเหตุการณ์ แต่กรณีนองเลือดพฤษภาคม 2535 กับพฤษภาคม 2553 มักกล่าวถึงเชื่อมโยงกัน เพราะเป็นเดือนพฤษภาคมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในปีนี้ ซึ่งจะรำลึกวีรชนพฤษภาคม 2535 ครบรอบ 30 ปี ดันมีการไปเชิญ 2 บุคคลที่แวดวงนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยถึงกับฮือคัดค้านอย่างเด็ดขาด

หนึ่งในนั้นคือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 ที่เรียกกันว่า 99 ศพ พอผู้จัดงานรำลึกพฤษภาคม 2535 ไปเชิญให้มาร่วมงานด้วย ก็เลยเป็นเรื่อง

ผู้นำรัฐบาลขณะเกิดเหตุเข่นฆ่าประชาชนกลางเมืองร่วมร้อยศพ แล้วคดียังไม่ได้รับการสะสาง จะมาร่วมรำลึกวีรชนพฤษภาคม 2535 จะเป็นไปได้อย่างไร

ทั้งสองเหตุการณ์นี้ แม้ห่างกัน 18 ปี แต่จุดใหญ่ใจกลางเหมือนกันคือ มีการใช้กำลังทหารพร้อมกระสุนจริง เข้ามาควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของประชาชน ลงเอยเป็นการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริง ทำให้มีผู้เสียชีวิตในพฤษภาทมิฬ 2535 โดยมีตัวเลขทางการคือ 44 ศพ แต่ยังมีผู้สูญหายอีกจำนวนหนึ่ง ส่วน 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 เสียชีวิต 99 ศพ

ในทุกปี จะมีการจัดรำลึกถึงวีรชนในเดือนพฤษภาคม ในวันเวลาที่ใกล้เคียงกัน คือ 17 พฤษภาคม รำลึกถึงวีรชนในปี 2535 จากนั้น 19 พฤษภาคม รำลึกถึงวีรชนในปี 2553

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เริ่มต้นจากกรณีคณะทหาร รสช. นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ทั้งที่เป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่มีการสร้างกระแสว่ามีการคอร์รัปชั่นสูง จนคนในสังคมคล้อยตาม ก่อนคณะทหารจะก่อรัฐประหารยึดอำนาจ โดยเบื้องหลังจริงคือ ความขัดแย้งและหวาดระแวงระหว่างผู้นำกองทัพกับผู้นำรัฐบาล

จากนั้นร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และจัดเลือกตั้งคืนสู่ประชาธิปไตย ในวันที่ 22 มีนาคม 2535

หลังเลือกตั้ง กลับมีเหตุการณ์ที่ทำให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งเป็นนายกฯ ไม่ได้ เปิดช่องให้ พล.อ.สุจินดา ผู้นำรัฐประหารขึ้นเป็นนายกฯ

จึงเกิดกระแสต่อต้าน เนื่องจาก พล.อ.สุจินดาประกาศต่อสาธารณะไปก่อนว่า จะไม่รับตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาล ถือว่าตระบัดสัตย์ และยังเป็นการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของผู้นำรัฐประหาร ที่มาเป็นนายกฯ เอง

มีการชุมนุมประท้วงขับไล่ผู้นำรัฐบาลสืบทอดอำนาจ เริ่มตั้งแต่ในเดือนเมษายน 2535 ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนพฤษภาคม สถานการณ์ตรึงเครียดมากขึ้น

จนกระทั่ง 17 พฤษภาคม 2535 เริ่มมีการปะทะ และทหารได้เข้ามาคุมสถานการณ์แทนตำรวจ จึงเริ่มนองเลือด มีผู้ชุมนุมถูกยิงตาย การนองเลือดยังต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 21 พฤษภาคม สุดท้าย พล.อ.สุจินดา จึงประกาศลาออก ทำให้สถานการณ์สงบลง

ไม่มีใครคาดคิดว่าอีก 18 ปีต่อมา จะเกิดเหตุการณ์ใช้ทหารสลายม็อบอีก!?!

 

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬดังกล่าว รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเข้ามาแก้ไขสถานการณ์ ได้ตั้งกรรมการสอบสวนต้นเหตุความรุนแรงในการสลายม็อบ จนได้ข้อสรุปสำคัญๆ เช่น ยกเลิกกฎหมายที่ให้อำนาจทหารเข้ามาคุมสถานการณ์การชุมนุมประท้วงของประชาชน เพื่อมิให้เกิดนองเลือดอีก

พร้อมกับให้ตำรวจยกระดับจัดตั้งหน่วยปราบจลาจล ให้สมบูรณ์แบบตามหลักสากล เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐเข่นฆ่าประชาชนที่ชุมนุมประท้วงอีก

รวมทั้งสั่งย้ายนายทหารกุมกำลังที่เกี่ยวข้องกับการปราบม็อบ ออกจากตำแหน่งหลักไปเข้ากรุระนาว

ประเด็นสำคัญจากการต่อสู้ของประชาชนในเหตุการณ์ 17-21 พฤษภาคม 2535 คือ ให้กำหนดในรัฐธรรมนูญว่า นายกฯ ต้องมาจากผู้ที่ผ่านการเลือกตั้งเป็น ส.ส.แล้วเท่านั้น

จุดสำคัญของเรื่องนี้ เพราะการที่ผู้นำรัฐประหารยังสามารถหาช่องทางเข้ามาเป็นนายกฯ ได้ จนเกิดการลุกฮือประท้วง ทำให้เกิดข้อเรียกร้องป้องกันไม่ให้อำนาจนอกระบบ สามารถแทรกแซงการเมือง เข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลได้อีกต่อไป

จากนั้นรัฐธรรมนูญก็เขียนกำหนดให้นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้นมาตลอด

จนมาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนในยุครัฐประหาร คสช. 2557 นั่นเอง ที่เปิดช่องให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกฯ ได้อีก โดยใส่ชื่อในบัญชีแคนดิเดตของพรรคการเมือง จนทำให้ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้ารัฐประหาร เป็นนายกฯ จนทุกวันนี้

ขณะเดียวกันนับจากมติ ครม.ของรัฐบาลอานันท์ ที่ห้ามทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ม็อบ และให้ตำรวจปราบจลาจลเต็มรูปแบบเท่านั้น ที่เข้ามาสลายม็อบได้ เพื่อไม่ให้เกิดการนองเลือดต่อประชาชนอีก

รัฐบาลต่อมาๆ ยึดมติ ครม.รัฐบาลอานันท์เป็นหลักมาโดยตลอด ไม่มีใครใช้ทหารเข้ามาปราบม็อบอีก

จนกระทั่งเหตุการณ์ในปี 2553 ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้จัดตั้ง ศอฉ.เข้ามาควบคุมสถานการณ์ประท้วงของ นปช.หรือเสื้อแดง

อ้างว่ามีชายชุดดำ มีผู้ก่อการร้าย เข้ามาแฝงในม็อบ จึงให้ใช้กำลังทหารพร้อมกระสุนจริง สำหรับป้องกันตัว ลงเอยมีผู้ชุมนุมโดนยิงตาย ทั้งพื้นราบ และจากยอดตึกสูง โดยหน่วยสไนเปอร์ และบนรางรถไฟฟ้า

ข้ออ้างชายชุดดำ ทำให้ในปี 2553 มีการละเมิดมติ ครม.อานันท์ ใช้ทหารและกระสุนจริง จนกลายเป็นการนองเลือดที่รุนแรงที่สุด มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดกว่าทุกเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนในไทย

 

ชนวนการประท้วงของเสื้อแดงในปี 2553 มาจากการจัดตั้งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จากการพลิกขั้วในกลุ่ม ส.ส. เกิดการแยกตัวไปรวมกันสนับสนุนนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ โดยมีความเคลื่อนไหวชัดเจนว่า มีกลุ่มผู้นำกองทัพอยู่เบื้องหลัง จนเรียกกันว่ารัฐบาลที่เจรจาจัดตั้งกันในค่ายทหาร

ปัญหาที่มาของรัฐบาล ซึ่งเสื้อแดงเห็นว่ามาอย่างไม่ชอบธรรม จึงชุมนุมใหญ่ในเดือนมีนาคม 2553 เรียกร้องให้ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชนไปตัดสินใจใหม่

การชุมนุมอันยืดเยื้อ มาถึงจุดเริ่มปะทะกันในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 มีมือลึกลับขว้างระเบิดมือใส่เจ้าหน้าที่ทหาร ทำให้เสียชีวิต 5 นาย เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ด้วย จากนั้นเสียงปืน ระเบิดดังระงม ทำให้ฝ่ายเสื้อแดงเสียชีวิตราว 20 ศพในคืนนั้น

แต่การชุมนุมยังดำเนินต่อไป รัฐบาลก็ไม่หาทางออกอื่น จนเริ่มยกระดับการควบคุมสถานการณ์ อ้างเรื่องผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำ เริ่มใช้สไนเปอร์หรือหน่วยซุ่มยิง ปรากฏหลักฐานชัดเจนเป็นวิดีโอคลิป ไปจนถึงใช้หน่วยซุ่มยิงจากรางรถไฟฟ้าหน้าวัดปทุมวนารามอีกด้วย

รวมแล้วเสียชีวิต 99 ศพ แต่ทั้งหมดไม่มีศพไหนที่มีอาวุธในมือ ไม่มีเขม่าดินปืนในมือ ไม่มีชายชุดดำหรือผู้ก่อการร้ายแม้แต่ศพเดียว ส่วนใหญ่เป็นผู้ชุมนุมและประชาชนที่มาดูเหตุการณ์

ต่อมามีการทำสำนวนคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต จนศาลได้ชี้ผลไต่สวนแล้ว 17 รายว่า ตายด้วยปืนจากฝั่งทหาร หรือจากปืนทหาร ซึ่งสามารถทำเป็นสำนวนคดีอาญา เพื่อนำคดีขึ้นสู่ศาลได้

แต่สุดท้ายด้วยการต่อสู้ทางเทคนิคกฎหมายทำให้คดีไม่สามารถขึ้นพิสูจน์ความจริงในศาลอาญาได้ อันเป็นคำตอบได้ระดับหนึ่งว่า ความจริงของเหตุการณ์ 99 ศพคืออะไร ทำไมจึงไม่ยอมพิสูจน์ในศาล

เมื่อ 99 ศพ จากเหตุการณ์ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ยังไม่ได้รับการสะสางความจริง ยังไม่มีความเป็นธรรม

ที่สำคัญกลุ่มผู้นำทหารที่เกี่ยวข้องกับการตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็นชุดเดียวกันในเหตุการณ์สลายม็อบ 2553 แล้วชุดเดียวกันนี้ยังเกี่ยวข้องกับในการชุมนุมนกหวีด แล้วลงเอยเป็นรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ความเป็นธรรมคดี 99 ศพยังไม่เกิด จึงยังเกิดการเรียกร้องต่อสู้ไม่สิ้นสุด

ทุกปีในเดือนพฤษภาคม ในวันที่ 17 เป็นวันรำลึกพฤษภาคม 2535 และ 19 คือรำลึกพฤษภาคม 2553

ปีนี้มีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน จนกลายเป็นประเด็นร้อนแรง!