นโยบายต่างประเทศยุคใหม่ ภายใต้มาร์กอส จูเนียร์/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

นโยบายต่างประเทศยุคใหม่

ภายใต้มาร์กอส จูเนียร์

 

ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศฟิลิปปินส์ของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ไม่น่าจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ ไปมากมายนักสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์กับชาติเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหลาย รวมทั้งประเทศไทย

แต่ประเด็นที่ทุกคนกำลังจับตามองอยู่ก็คือ นโยบายต่างประเทศหลักของฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับชาติมหาอำนาจที่กำลังแข่งอิทธิพลกันในภูมิภาคอย่างจีน กับสหรัฐอเมริกา จะเปลี่ยนแปลงไปจากท่าทีเดิมภายใต้การกำกับของประธานาธิบดีอย่างโรดริโก ดูแตร์เต หรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน?

นี่ต่างหากที่จะส่งผลถึงสภาวะตึงเครียดภายในภูมิภาคในวันข้างหน้า เมื่อ “บองบอง” ก้าวขึ้นรับตำแหน่งสืบทอดจากดูแตร์เต ในวันที่ 30 มิถุนายนที่จะถึงนี้

 

แม้มาร์กอส จูเนียร์ จะปฏิเสธเข้าร่วมการ “ดีเบต” หลายครั้ง และไม่เคยออกถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศใดๆ แต่ก็เคยเข้าร่วมอยู่ในการดีเบตใหญ่อยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อบวกกับคำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนที่ครอบคลุมไปถึงประเด็นว่าด้วยนโยบายต่างประเทศนี้

ก็ทำให้นักสังเกตการณ์ทั้งหลายเชื่อว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลใหม่ฟิลิปปินส์ ไม่มีวันเดินซ้ำรอยของประธานาธิบดีที่กำลังพ้นจากตำแหน่งแน่นอน แม้ว่าทั้งสองจะเป็นพันธมิตรกันในทางการเมืองก็ตามที

แน่นอนที่ว่า วัตถุประสงค์หลักและสำคัญอย่างยิ่งยวดของผู้นำฟิลิปปินส์ทุกคนในแง่นโยบายต่างประเทศ ย่อมต้องยึดโยงอยู่กับการรักษา “ผลประโยชน์ของประเทศชาติ” อย่างมั่นคง

มาร์กอส จูเนียร์ กล่าวชัดเจนในระหว่างการดีเบตว่า แนวทางของตนคือการแสวงหาหนทางรักษาผลประโยชน์ของประเทศไว้ ไม่ว่าการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาจะแหลมคมลึกซึ้งขนาดไหนก็ตาม แต่เสริมไว้ด้วยว่า

“ไม่ว่ามหาอำนาจจะพยายามทำอะไร เราต้องดำเนินการทุกอย่างให้อยู่ในกรอบแห่งผลประโยชน์ของฟิลิปปินส์ เราไม่สามารถปล่อยให้ประเทศของเรากลายเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายต่างประเทศของประเทศอื่นได้ เราต้องมีนโยบายของเราเอง”

ซึ่งนั่นหมายถึงการเลือกทางเดินเองที่เป็นทางสายกลาง ในท่ามกลางการแข่งอิทธิพลของสองยักษ์ใหญ่ ที่แตกต่างอย่างมากกับท่าทีของดูแตร์เต เมื่อครั้งแรกรับตำแหน่ง ที่แสดงออกอย่างชัดแจ้งถึงท่าทีที่เป็นมิตรต่อทางการปักกิ่งในการเดินทางเยือนจีนครั้งแรก พร้อมกับประกาศว่า “ถึงเวลาที่ต้องกล่าวลา” กับทางวอชิงตันแล้ว

 

ท่าทีในด้านการต่างประเทศของมาร์กอส จูเนียร์ ยังแตกต่างออกไปอย่างใหญ่หลวงจากดูแตร์เต ในส่วนที่เกี่ยวพันกับปม “ฮอตสปอต” อย่างการอ้างสิทธิทับซ้อนกันในพื้นที่ทะเลจีนใต้

“บองบอง” กล่าวไว้ในการดีเบตชัดเจนว่า ฟิลิปปินส์ “ไม่มีวันยอมเสียส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศไปแม้แต่ตารางนิ้วเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเสียให้กับจีน”

พร้อมกันนั้นก็ยืนยันแน่วแน่ว่า พร้อมจะปกป้อง “อธิปไตย” และ “บูรณภาพแห่งดินแดน” ของชาติในทะเลจีนใต้จากการคุกคามของจีน

ในขณะที่รัฐบาลของดูแตร์เตต้องใช้เวลานานถึง 4 ปี ก่อนที่จะรับรองคำชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (พีซีเอ) เมื่อปี 2016 ทั้งๆ ที่เป็นคำพิพากษาที่เป็นประโยชน์ต่อฟิลิปปินส์ ในข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ก็ตามที

ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์ ยังแสดงความกังวลต่อการรุกคืบอ้างสิทธิ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของจีนในทะเลจีนใต้เอาไว้ด้วยว่า

“มันไม่ควรเป็นเรื่องยากที่จะชี้ให้จีนเห็นว่า เรือประมงของเราไม่ใช่เรือทางทหารที่เป็นภัยคุกคามต่อพวกเขา แล้วทำไมถึงต้องส่งเรือรบและกำลังทหารเข้ามาประจำที่นั่นด้วย?

“เราต้องตอบโต้ หากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีกครั้ง เราสามารถส่งทหารเรือหรือเรือยามฝั่งของเราไป เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีกำลังทหารประจำอยู่นั่น…การประจำการในพื้นที่ของรัฐของเราในที่นั้น”

เขายืนยันต่อถึงวัตถุประสงค์ของการแสดงออกดังกล่าวไว้ด้วยว่า

“ก็เพื่อแสดงให้จีนเห็นว่า เรากำลังปกป้องในสิ่งที่เราถือว่าเป็นน่านน้ำของเรา ไม่ใช่เป็นไปเพื่อจะยิงเข้าใส่เรือของทางการจีนแต่อย่างใด”

และย้ำว่า ฟิลิปปินส์ต้อง “ทำให้จีนได้รับรู้ว่า เรารู้ว่าพวกเขากำลังทำอะไรอยู่ และเราไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขากำลังดำเนินการอยู่นั้น เราจะดำเนินการทั้งช่องทางการทูต ช่องทางอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหานี้ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก”

 

ในเวลาเดียวกัน มาร์กอส จูเนียร์ ยังให้ “คุณค่า” ต่อความสัมพันธ์ในฐานะพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐอเมริกา สูงกว่าที่ดูแตร์เตเคยเป็นอยู่มาก แม้จะเคยพาดพิงถึงการดำเนินความพยายามเพื่อทบทวนสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันระหว่างสองประเทศไว้ก็ตาม แต่เชื่อว่าเป็นความพยายามเพื่อ “เพิ่มผลประโยชน์” ของประเทศภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าวให้สูงขึ้น ไม่ใช่การทบทวนเพื่อ “ฉีกทิ้ง” อย่างที่ดูแตร์เตพยายามทำแน่นอน

การเปลี่ยนแปลงผู้นำในฟิลิปปินส์ จึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “ร่วมกันต้านจีน” ของสหรัฐอเมริกาในยามนี้มากกว่าที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับจีน

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ก็คงต้องจับตาใกล้ชิดต่อไปว่า แนวทางใหม่นี้จะทำให้ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ทวีขึ้นไปอีกกี่มากน้อยในอนาคตอันใกล้นี้