เพ็ญสุภา สุขคตะ : ร่วมสานฝันชาวล้านนา “โครงการอุทยานประวัติศาสตร์เชียงแสน” และ “เวียงกุมกาม”

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เมื่อต้นปี 2560 ข่าวการเปิดไฟเขียวให้จัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ “เชียงแสน” (อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย) และ “เวียงกุมกาม” (อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่) จากถ้อยแถลงของ คุณอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้สร้างความหวังให้แก่ชาวล้านนากันถ้วนหน้า

เหตุที่พวกเขารอคอยกันมานานกว่าสองทศวรรษแล้ว

ที่กล่าวเช่นนี้ เนื่องมาจากภาคเหนือตอนบนยังไม่มีอุทยานประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากรเลยแม้แต่แห่งเดียว ทั้งๆ ที่เวียงโบราณเชียงแสน และเวียงกุมกาม ก็มีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ได้นานหลายปีแล้ว

ในขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ แถบภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคอีสาน ต่างมีอุทยานประวัติศาสตร์กันหมดแล้ว

อาทิ อุทยานประวัติศาสตร์ปราสาทเมืองสิงห์ (กาญจนบุรี) อุทยานฯ พิมาย (นครราชสีมา) อุทยานฯ พนมรุ้ง (บุรีรัมย์) อุทยานฯ ศรีเทพ (เพชรบูรณ์) อุทยานฯ ภูพระบาท (อุดรธานี) อุทยานฯ พระนครคีรี (เพชรบุรี) เป็นต้น

แห่งหลังนี้ เดิมเคยบริหารแยกออกจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่ระยะหลังๆ จะเน้นให้หัวหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี เป็นผู้บริหารจัดการดูแลอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี แทนควบไปได้ แต่ว่ายังมีชื่อหน่วยงานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรีคงไว้

ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงอุทยานประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ที่ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นเมืองมรดกโลกแล้ว ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานฯ ศรีสัชนาลัย อุทยานฯ กำแพงเพชร และอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยา

เพิ่งสังเกตว่า ทางภาคใต้ก็ยังไม่มีอุทยานประวัติศาสตร์เลยเช่นเดียวกัน

 

ถามว่า การเป็นกับไม่เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ จะเกิดความแตกต่างอย่างไรต่อตัวโบราณสถานและการบริหารจัดการบ้างละหรือ อยากเป็นไปเพื่ออะไร

คำตอบคือแตกต่างกันแน่นอน

ทุกวันนี้ ตราบที่ยังไม่มีการยกระดับอุทยานประวัติศาสตร์เชียงแสน หรืออุทยานประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม ให้แยกตัวออกมาเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง ภารกิจความรับผิดชอบดูแลทั้งหลายย่อมไปตกหนักอยู่กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงแสน และสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ซึ่งปกติสองหน่วยงานนี้มีงานบนหน้าตักเฉพาะอย่างหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว

แหล่งโบราณสถานเชียงแสน และเวียงกุมกาม จึงอยู่ในสภาพ “งานฝาก” เพราะไม่มีหัวหน้าอุทยานฯ ไม่มีนักวิชาการด้านโบราณคดี มาทำหน้าที่บริหารจัดการอนุรักษ์และพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้า ดึงดูด เชิดชูให้เกิดความน่าสนใจ หรือเจาะลึกประเด็นปัญหาต่างๆ ที่มีลักษณะเฉพาะกิจนำไปสู่การแก้ไขได้ตรงจุด

การผลักดันโบราณสถานเชียงแสนซึ่งมีวัดร้างจำนวนมหาศาลขึ้นเป็น “อุทยานประวัติศาสตร์” มีความพยายามกันมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว แต่ติดขัดด้วยงบประมาณ บุคลากร

แต่หากจะทำจริงๆ สองเรื่องนี้ก็น่าจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ หากผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ ในเมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว ได้มากกว่าเสีย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากับมรดกของชาติที่มีอยู่

อุทยานประวัติศาสตร์เชียงแสนนั้นน่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก ยิ่งหากพิจารณาในบริบทของทำเลที่ตั้ง ซึ่งอยู่ชายแดน ถือเป็นแหล่งรวมอารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขงแต่บรรพกาล พบร่องรอยอิทธิพลของฝีมือช่างนานาชาติพันธุ์ ทั้งจีน พม่า ลาว เวียดนาม ไทโยน และไทยสุโขทัย

ศักยภาพของ “อุทยานประวัติศาสตร์เชียงแสน” สามารถจัดตั้งได้ง่ายกว่า “อุทยานประวัติศาสตร์เวียงกุมกาม” เนื่องจากแห่งหลังมีปัญหาเล็กน้อยเรื่องพื้นที่บ้านเรือนผู้คนที่อาศัยปะปนกับโบราณสถาน

เวียงกุมกามเมื่อกรมศิลปากรขุดแต่งเสร็จ ก็ใช้วิธีผ่องถ่ายอำนาจการบริหารจัดการให้แก่คนในพื้นที่ ก็มีทั้งส่วนดีและไม่ดี

ส่วนดีคือ ให้ชุมชนเกิดจิตสำนึกในการหวงแหนมรดกในท้องถิ่นตน แต่พวกเขาก็มีข้อจำกัดด้านวิชาการและการอนุรักษ์ในเชิงโครงสร้างหลัก

หากยกเวียงกุมกามขึ้นเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ได้ โดยกรมศิลปากรพัฒนาในภาพรวม ยกระดับโบราณสถานจากระดับท้องถิ่นให้เป็นระดับชาติ แต่ยังคงรูปแบบให้ท้องถิ่นร่วมบริหารจัดการด้านรถรางเพื่อการท่องเที่ยว แบบพบกันครึ่งทาง

น่าจะเป็นทางออกที่ลงตัว

 

แน่นอนว่ากรณีเวียงกุมกาม ต้องกำหนดนิยามของคำว่า “อุทยานประวัติศาสตร์แบบพิเศษ” ในเชิง Living Monument & Site ไม่ใช่ Dead Monument ซึ่งก็ท้าทายสติปัญญานักวางแผนไม่น้อย

เรื่องนี้เคยเปิดเวทีเสวนากันมาแล้วเมื่อเดือนเมษายน ช่วงต้นปีที่ผ่านมา หากมีเวลาดิฉันจะถอดคลิปรายละเอียดแล้วสรุปประเด็นให้ทราบกันต่อไปค่ะ ในที่นี้อยากเน้นประเด็นการขับเคลื่อนอุทยานประวัติศาสตร์สองแห่งในแผ่นดินล้านนาก่อน

ชาวล้านนาจึงฝากดิฉันให้เป็นตัวแทนมาทวงถามความคืบหน้าของการขับเคลื่อนสองโครงการดังกล่าว

ขอความเห็นและแรงเชียร์แรงใจ ให้กับการผลักดันสองอุทยานประวัติศาสตร์นี้ให้เป็นรูปธรรมเสียที เพราะตราบที่สองแห่งนี้ยังคาราคาซัง ยกขึ้นเป็น “อุทยานประวัติศาสตร์แห่งแรกๆ” ของล้านนาไม่ได้ฉันใด

ความฝันของเมืองโบราณอื่นๆ อาทิ เวียงท่ากาน เวียงเกาะกลาง เวียงลอ ฯลฯ ก็คงต้องรอคิวเป็นหมันกันต่อไปอีกนานฉันนั้น