วิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้า ‘ประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน’ จริงหรือ? | On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

วิสาขบูชา

เป็นวันที่พระพุทธเจ้า

‘ประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน’

จริงหรือ?

 

เป็นที่รับรู้กันดีในหมู่ชาวพุทธไทยว่า วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 นั้นเป็นวันสำคัญในพุทธศาสนา เพราะเชื่อกันว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้า ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ในวันเดียวกัน แต่ต่างปีกันไปก็เท่านั้น

ซึ่งก็เป็นที่มาของวันพระใหญ่ที่เรียกกันว่า “วันวิสาขบูชา” นั่นเอง

และนี่ก็เป็นความเชื่อที่แพร่หลายไม่ใช่เฉพาะแค่ในไทยเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นในดินแดนระดับที่เทียบได้กับมักกะฮ์ของพุทธศาสนาแบบเถรวาท อย่างเกาะศรีลังกา หรือพื้นที่ส่วนอื่นๆ ในภูมิภาคอุษาคเนย์นั้น ต่างก็มีความเชื่ออย่างเดียวกันนี้เหมือนกันไปหมด

ดังนั้น ในปีศักราชนี้ วันครบรอบการ “ประสูติ-ตรัสรู้-ประนิพพาน” ในวันเดียวกันของพระพุทธเจ้า ตามความเชื่อของพุทธศาสนาแบบเถรวาท (และโดยเฉพาะสายลังกาวงศ์) นั้น ก็จะเวียนมาบรรจบครบ 2565 ปี (ตามวิธีการนับปีพุทธศักราชแบบไทย) เอาในวันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคมนี้ เพราะตรงกันกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคตินั่นเอง

แต่ความสอดคล้องต้องตรงกันนี้ก็ไม่ใช่จะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอทุกปีหรอกนะครับ

เพราะถ้าหากปีไหนที่จะมีพระจันทร์เต็มดวงในเดือนดังกล่าวปีละ 2 ครั้ง ชาวศรีลังกา, กัมพูชา และมาเลเซียก็จะฉลองวันวิสาขบูชาในวันที่พระจันทร์เต็มดวงคืนแรก

ส่วนไทย และสิงคโปร์นั้นเลือกที่จะฉลองในวันพระจันทร์เต็มดวงคืนที่สองของเดือน 6

เอาเข้าจริงแล้ว การที่ปฏิทินทางจันทรคติไม่สามารถระบุวันเวลาที่ชัดเจน ได้เทียบเท่ากับระบบสุริยคติ (โดยเฉพาะปฏิทินแบบเกรกอเรียน ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และเป็นสากลในปัจจุบัน) นั้น ก็ทำให้เราไม่อาจแน่ใจได้นักว่า พระพุทธองค์นั้นได้ “ประสูติ-ตริสรู้-ปรินิพพาน” ครบรอบตรงกับวันที่ชาวพุทธในแต่ละพื้นที่ของโลก กระทำการฉลอง “วันวิสาขบูชา” จริงๆ หรือ?

 

ที่สำคัญก็คือ อันที่จริงแล้ว คำว่า “วิสาขะ” ในชื่อวิสาขบูชานั้น มีที่มาจากคำ “ไวสาขะ” ในภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นชื่อ “เดือน” ที่เรียกตาม “นักษัตร” คือ “ดาวฤกษ์” (ซึ่งตามคติแขกมี 27 กลุ่มดาว) ทำนองเดียวกันกับที่ในปัจจุบัน เราเรียกเดือนมกราคม เมื่อพระอาทิตย์เข้าไปสถิตย์อยู่ที่ราศีมกร คือกลุ่มดาวราศีมังกร เป็นต้น

ดังนั้น คำว่า “วิสาขบูชา” แต่ดั้งเดิมในอินเดียจึงหมายถึง “การเฉลิมฉลองเดือนไวสาขะ” มากกว่าที่จะเกี่ยวอะไรกับประวัติของพระพุทธเจ้า

และรัฐต่างๆ ในอินเดียเองก็มีปฏิทินอยู่ทั้งสองระบบไม่ว่าจะเป็น จันทรคติ หรือสุริยคติ โดยส่วนใหญ่แล้วปฏิทินจันทรคตินั้นจะนับเอาเดือนไชยตระ (ราวครึ่งหลังของมีนาคม-ครึ่งแรกเมษายน ในปฏิทินแบบเกรกอเรียน) เป็นเดือนแรกของปี (ดังนั้น วันมหาสงกรานต์ ที่ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยในยุคสมัยหนึ่งนั้น จึงเป็นการนับตามปฏิทินจันทรคติของแขกอินเดีย)

ส่วนปฏิทินสุริยคตินั้น จะนับเอาเดือนไวยสาขะ ซึ่งตรงกับเดือน 6 ของไทย เป็นเดือนขึ้นปีใหม่ และถือว่าเดือนไชยตระ คือช่วงวันสงกรานต์ของไทย เป็นเดือนสุดท้ายของปี

(ในปฏิทินแบบศกะ [คือพวกศกะ อันเป็นชนเผ่าเร่ร่อนในเอเชียกลางมาก่อน แต่ได้สถาปนาราชวงศ์กุษาณะขึ้นในชมพูทวีป และได้สร้างระบบปฏิทินแบบที่เรียกว่า ศกะ คือ “ศักราช” ขึ้นมา] ซึ่งถูกนับเป็นปฏิทินแห่งชาติของอินเดีย ที่ใช้ควบคู่กับปฏิทินสุริยคติแบบเกรกอเรียนนั้น นับเดือนไวยสาขะ เป็นเดือนที่สองของปี)

แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นรัฐที่ใช้ปฏิทินจันทรคติเป็นปฏิทินหลักของรัฐ เช่น รัฐมหาราษฏระ ก็จะมีการทำเครื่องหมายอยู่บนปฏิทินเสมอว่า จะมีการเฉลิมฉลอง “ไวยสาขสังกรานติ” คือวันเคลื่อนผ่านเข้าสู่เดือนไวยสาขะด้วยเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งก็ย่อมแสดงให้ถึงความสำคัญของวันข้ามผ่านเข้าสู่เดือนไวยสาขะ

พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า “วันวิสาขบูชา” ก็คือ “วันขึ้นปีใหม่” ตามระบบปฏิทินสุริยคติของอินเดียนั่นแหละครับ

 

ดังนั้น วันที่บรรดาพ่อพราหมณ์เรียกรวมๆ กันว่า “ไวยสาขสังกรานติ” หรือที่ชาวพุทธเรียกว่า “วิสาขบูชา” นั้น จึงกลายเป็นวันสำคัญของหลายลัทธินิกายในชมพูทวีป และวัฒนธรรมอื่นๆ ที่รับเอาอิทธิพลทางความเชื่อหรือศาสนาจากอินเดียเข้าไป

ตัวอย่างเช่น โดยทั่วไปนั้น ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่มีศูนย์กลางอยู่ในลุ่มน้ำคงคา-ยมุนา ทางตอนเหนือของอินเดีย ถือว่า เป็นวันเกิดของ ท่านอาทิ ศังการจารย์ (แปลตรงตัวว่า ศังการจารย์ท่านแรก) ผู้เป็นนักบวช ควบตำแหน่งปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญในพระเวทคนสำคัญ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงก่อนคริสตกาล (ช่วงเวลาที่แน่นอนยังเป็นถกเกียงอยู่)

ในขณะที่ฟากฝั่งอินเดียใต้ในรัฐทมิฬนาฑูนั้น ถือว่าวันนี้เป็นวันเกิดของพระมุรุกัน (ไทยเรียก ขันธกุมาร ผู้เป็นบุตรของพระอิศวร เป็นเทพเจ้าแห่งสงครามที่ชาวทมิฬ และลังกานับถือกันมาก)

ในขณะที่บางพื้นที่ของอานธรประเทศ (ที่ก็นับว่าอยู่ในทางภาคใต้ของอินเดีย) นั้น ถือว่าเป็นวันเฉลิมฉลองให้กับนรสิงห์ อวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์

แน่นอนว่าในกรณีของพุทธศาสนา โดยเฉพาะฝ่ายเถรวาท ที่ในช่วงหลัง พ.ศ.1000 เป็นต้นมา มีเกาะลังกาที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย เป็นศูนย์กลางสำคัญ ถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้า “ประสูติ-ตรัสรู้-ประนิพพาน”

 

ลักษณะของการนำเอาวันสำคัญตามคติความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิม มาใช้เป็นวันสำคัญของลัทธิศาสนาของตนเอง ในทำนองอย่างนี้ ไม่ได้มีเฉพาะในอินเดียหรอกนะครับ

วันที่ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกเข้าใจว่าเป็นวันประสูติของพระเยซูนั้น แต่เดิมก็เป็นวันเฉลิมฉลองพระอาทิตย์ (die nataris Solis invisti) ในศาสนาของชาวโรมัน ที่ใช้ในการบูชาพระสุริยะ ในฐานะพระสุริยะผู้ไร้พ่าย (Sol Invictus)

แต่ความจริงแล้ว ลัทธิการบูชาพระสุริยะผู้ไร้พ่ายนี้ ก็เพิ่งถูกสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.817 ในรัชสมัยของพระจักรพรรดิออเรเลียน (Aurelian) ที่ได้ไปผนวกเอาเทศกาล “บรูมา” (bruma) ที่ชาวโรมใช้เฉลิมฉลองพระอาทิตย์ในวันเหมายัน (winter solstice) คือวันที่พระอาทิตย์อยู่ห่างจากโลกมากที่สุดมาอีกทอดหนึ่ง

ความคิดที่ว่า พระเยซูประสูติในวันที่ 25 ธันวาคม จึงมีรากฐานอยู่ในคริสต์ศาสนาแบบโรมันคาทอลิก ที่เกิดขึ้นในจักรวรรดิของพวกโรม

ในขณะที่คริสต์ศาสนา นิกายเก่าแก่ในยุโรปตะวันออกอย่างกรีกออโธด็อกซ์นั้น ถือว่าวันคริสต์มาส (คือวันประสูติของพระคริสต์) ตรงกับวันที่ 7 มกราคม ของทุกปีต่างหาก

 

ลักษณะทำนองเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นกับศาสนาพุทธเช่นกันนะครับ เพราะพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน โดยเฉพาะสายที่เจริญอยู่ในเอเชียตะวันออกอย่างจีน และเกาหลีนั้น เชื่อกันว่า พระพุทธเจ้าประสูติในวัน 8 ค่ำ เดือน 4 ตามระบบปฏิทินแบบจันทรคติของจีน ไม่ใช่วันวิสาขบูชาเหมือนอย่างฝ่ายเถรวาท

ที่สำคัญก็คือ สำหรับฝ่ายมหายานกลุ่มนี้แล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้ “ประสูติ-ตรัสรู้-ประนิพพาน” ในวันเดียวกันอย่างที่ฝ่ายเถรวาทเชื่อ เพราะพระพุทธองค์นั้นตรัสรู้เมื่อวัน 8 ค่ำ เดือน 12 และปรินิพพานเมื่อวัน 15 ค่ำ เดือน 2 ต่างหาก

และเท่าที่ผมพยายามตรวจสอบจากพระไตรปิฎกของฝ่ายเถรวาท ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันแล้ว ก็ไม่แน่ใจนักนะครับว่า จะมีข้อความตรงไหนที่ระบุเอาไว้ว่า พระพุทธเจ้าประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน ในวันเดียวกัน แถมยังตรงกับวันวิสาขบูชาหรือเปล่า?

เพราะเท่าที่สอบค้น ผมเองก็ยังไม่พบข้อมูลเรื่องนี้ระบุเอาไว้ตรงไหนในพระไตรปิฎกเลยสักนิด

บางทีความเชื่อเรื่องวันวิสาขบูชาของฝ่ายเถวาทนั้น ก็อาจจะเป็นเช่นเดียวกับอีกหลายความเชื่อในอินเดียใต้ (และต่อเนื่องลงมาจนถึงลังกาทวีป) ที่ยกให้วันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินสุริยคติของอินเดีย เป็นวันสำคัญของเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองนับถือนั่นเอง •