เดือนที่สาม! ยูเครนยัน รัสเซียยับ/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

เดือนที่สาม!

ยูเครนยัน รัสเซียยับ

 

“ยุทธศาสตร์ที่แย่ คือยุทธศาสตร์ที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการทางการเมือง หรือเป็นยุทธศาสตร์ที่สร้างข้อเรียกร้องที่ไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติต่อกองทัพ และต่อการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุง”

Colin S. Gray (2009)

 

ไม่น่าเชื่อว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนก้าวเข้าสู่เดือนที่ 3 อย่างคาดไม่ถึง และไม่น่าเชื่ออีกด้วยว่า การใช้ศักยภาพทางทหารขนาดใหญ่ของรัฐมหาอำนาจอย่างรัสเซียในการเปิดสงครามตามแบบนั้น จนถึงวันนี้ ยูเครนยังดำรงความเป็นรัฐเอกราชไว้ได้

ขณะเดียวกันก็เห็นถึงความเสียหายอย่างมากทั้งต่อชีวิตของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ของรัฐคู่สงคราม โดยเฉพาะความสูญเสียของกองทัพรัสเซีย ในอีกด้านคือชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนยูเครนที่ถูกทำลายจากสงครามของรัสเซียอย่างหนัก จนนำไปสู่ปัญหาผู้อพยพภายในทวีปยุโรปอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

ดังนั้น แนวโน้มสงครามในเดือนที่ 3 ย่อมคาดคะเนได้ว่า สงครามจะรุนแรงมากขึ้น และความเสียหายต่อทั้งสองฝ่ายย่อมมีมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

อีกทั้งสงครามในเดือนที่ 3 นี้ จะมีนัยสำคัญต่อการปรับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของทั้งสองฝ่าย เนื่องจากต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ปัญหาจากความเป็นจริงของสงคราม โดยเฉพาะเรียนรู้ถึงความได้เปรียบ-เสียเปรียบของคู่สงคราม ไม่ใช่เป็นการเรียนรู้ผ่าน “ห้องจำลองยุทธ์” ของฝ่ายอำนวยการ

อีกทั้งความเป็นจริงของสนามรบในช่วงที่ผ่านมาได้บ่งชี้ให้เห็นปัจจัยในระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสงคราม

จนอาจกล่าวได้ว่าสงครามยูเครนเป็น “ห้องเรียนวิชายุทธศาสตร์ทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก” ในภาวะปัจจุบัน ซึ่งสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 ก็เคยทำหน้าที่เช่นนี้มาแล้ว

 

สงครามในเดือนที่ 3

สงครามยูเครนเริ่มต้นด้วยการเปิด “สงครามตามแบบเต็มรูป” ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ในเบื้องต้น หลายฝ่ายมักจะประมาณว่า ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีปูตินคงต้องการขู่ยูเครนและฝ่ายตะวันตก มากกว่าจะตัดสินใจใช้กำลังรบขนาดใหญ่

แต่ในที่สุดสงครามก็เกิดขึ้นจริง และจนวันนี้ยังไม่มีแนวโน้มของการยุติสงครามแต่อย่างใด

และดูเหมือนสงครามยูเครนอาจจะไม่จบลงในระยะเวลาสั้นๆ

เราเห็นได้ชัดว่าสงครามขนาดใหญ่ในสองเดือนเศษที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวยูเครนอย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะสถานที่ของการสังหารหมู่มีการค้นพบมากขึ้นในหลายพื้นที่

เกิดการเดินทางของผู้อพยพชาวยูเครนจำนวนมากออกจากพื้นที่การรบ จนกลายเป็นวิกฤตผู้อพยพที่ใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบัน

ตลอดรวมถึงภาพการโจมตีของกองทัพรัสเซียอย่างไม่จำแนกต่อเป้าหมายพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงเรียน และสถานที่พักของประชาชน ที่ไม่ได้มีสถานะของเป้าหมายทางทหารแต่อย่างใด

ตลอดรวมถึงการข่มขืนของทหารรัสเซียที่กระทำต่อเด็กและสตรีชาวยูเครน (การใช้การข่มขืนเป็นอาวุธ หรือ “weaponizing rape”) แม้สื่อรัสเซียพยายามจะตอบโต้ข้อกล่าวหาเหล่านี้ แต่ภาพต่างๆ เป็นคำยืนยันที่ชัดเจนในตัวเอง

ขณะเดียวกันสงครามส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียเองอย่างมาก อันเป็นผลจากการถูกแซงก์ชั่น และการตัดเศรษฐกิจรัสเซียออกจากวงจรทางการเงินของโลก

แม้รัฐบาลมอสโกจะพยายามโฆษณาว่า การแซงก์ชั่งของโลกตะวันตกมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมรัสเซียไม่มากนัก

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผลกระทบดังกล่าวมีมาก และอาจทำให้รัสเซียต้องกลายเป็น “รัฐพึ่งพา” ต่อจีนมากขึ้นในอนาคต

ในอีกด้าน “ปฏิบัติพิเศษทางทหาร” ของประธานาธิบดีปูตินกลายเป็น “ภาพลบ” ต่อสถานะของรัสเซียอย่างยิ่ง จนทำให้ผู้นำรัสเซียถูกประณามว่าเป็น “อาชาญกรสงคราม”

หรืออาจประเมินได้ว่าเป็นสองเดือนเศษที่รัสเซีย “แพ้การเมือง” ในเวทีโลก และนำไปสู่การต่อต้านสงครามของรัสเซียในหลายประเทศ

รวมทั้งเกิดการต่อต้านภายในสังคมรัสเซียเอง แม้รัฐบาลมอสโกจะมีการควบคุมทางการเมืองอย่างเข้มงวด จนดูเหมือนรัฐบาลของประธานาธิบดีปูตินอยู่รอดได้ด้วยการใช้การโฆษณาชวนเชื่อเป็นเครื่องมือหลัก พร้อมกับมีการควบคุมการไหลของข่าวสารในสังคม

หรือกล่าวในอีกมุมคือ รัสเซียกำลังทำ “สงครามโฆษณาชวนเชื่อ” อย่างหนักเพื่อกลบภาพลบของตนในยูเครน และปกปิดความสูญเสียทางทหาร

เช่น การสูญเสียกำลังพลในเรือลาดตระเวนมอสโก การเสียชีวิตของนายทหารระดับสูงตั้งแต่ระดับพันเอกจนถึงนายพล การเสียชีวิตของกำลังพลในระดับต่างๆ ไม่เป็นที่เปิดเผยในสังคมรัสเซีย

ความคาดหวังของประธานาธิบดีปูตินที่จะยึดยูเครนทั้งหมด เป็นไปไม่ได้แล้ว กองทัพรัสเซียประสบปัญหาในการวางแผนยุทธศาสตร์ทหาร และความล้มเหลวในการดำเนินการยุทธ์ (operational execution) จึงไม่อาจแปลงอำนาจทางทหารที่เหนือกว่าไปเป็นชัยชนะได้ และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวทางทหารอีกระยะสำหรับกำลังรบตามแบบ

 

การปรับยุทธศาสตร์ของรัสเซีย

เห็นชัดว่าในเวลาสองเดือนเศษที่ผ่านมา กองทัพรัสเซียไม่ประสบความสำเร็จทางทหารตามที่คาดหวังไว้ในเบื้องต้น หรือโดยนัยคือ ยุทธศาสตร์ทหารของกองทัพรัสเซียไม่ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของมอสโก อีกทั้งกองทัพรัสเซียต้องประสบความสูญเสียในการรบอย่างหนักทั้งในส่วนของยุทโธปกรณ์และชีวิตของกำลังพล จนต้องปรับยุทธศาสตร์ที่มุ่งยึดพื้นที่ด้านตะวันออกของยูเครนให้ได้ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ส่วนหน้าของการโจมตี และเป็นฐานของการส่งกำลังบำรุง แต่ศักยภาพของ “กลุ่มกองพันทางยุทธวิธี” (battalion tactical groups) ที่เป็นกำลังหลักก็อ่อนลงอย่างมาก

ว่าที่จริงแล้ว พื้นที่ทางด้านดอนบาสนั้น ก็อยู่ในการควบคุมของรัสเซียมาตั้งแต่สงครามในปี 2014 แล้ว การเข้ายึดพื้นที่แถบนี้ได้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การทำสงครามในเดือนที่สาม ไม่เพียงเพื่อสร้าง “สะพานตะวันออก” เพื่อเชื่อมไครเมียในทางบกเข้ากับพื้นที่ส่วนหลักของรัสเซีย และอาจมีนัยถึงการผนวกดินแดนแบบเต็มรูป เช่น การให้คนในพื้นที่ยึดครองใช้หนังสือเดินทางรัสเซีย อันเป็นเงื่อนไขทางกฎหมายเพื่อบ่งชี้ว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายใต้อธิปไตยของรัสเซียอย่างสมบูรณ์

แต่ปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียครั้งนี้ประสบปัญหาทางทหารอย่างมาก ซึ่งเป็นเพราะปัญหาที่หมักหมมภายในของกองทัพรัสเซียเอง ฉะนั้น เมื่อสงครามเกิดขึ้น ระบบส่งกำลังบำรุง ขวัญกำลังใจของทหาร ตลอดรวมถึงปัญหาความขาดแคลนในกองทัพ จึงเป็นภาพสะท้อนสำคัญ… สงครามยูเครนพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความอ่อนแอ และปัญหาภายในของกองทัพรัสเซีย

ความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์ของรัสเซียอีกส่วนเป็นผลมาจากการประมาณการที่ผิดพลาด

ด้วยความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่นั้น รัสเซียไม่คาดคิดว่ากองทัพยูเครนและกองกำลังอาสาสมัครป้องกันดินแดนจะต้านทานการรุกได้ จนสามารถผลักดันให้กำลังรบรัสเซียต้องถอนตัวออกไปจากพื้นที่บางส่วน

การต้านทานอย่างเหนียวแน่น อีกทั้ง “ขวัญและกำลังใจ” ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงบันดาลใจจากผู้นำอย่างประธานาธิบดีเซเลนสกี สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยที่กองทัพรัสเซียไม่อาจเอาชนะได้

หรืออาจกล่าวได้ว่า อำนาจกำลังรบของสงครามยูเครนจึงเป็นมากกว่าเรื่องของรถถัง และปืนใหญ่ หากแต่เป็น “อำนาจกำลังรบที่ไม่มีตัวตน” ตลอดรวมถึงการสนับสนุนทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารจากชาติพันธมิตรตะวันตก โดยเฉพาะการส่งอาวุธหนัก ทั้งอาวุธต่อต้านรถถัง และอาวุธต่อต้านอากาศยาน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการรุกทางทหารของรัสเซียอย่างมาก

นอกจากนี้ ความไม่สำเร็จทางทหารดังที่กล่าวแล้ว น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญบังคับให้ประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจปรับยุทธศาสตร์ทหาร ด้วยการเน้นการทำสงครามในพื้นที่ของดอนบาสเป็นหลัก

ซึ่งอาจมีนัยถึงการยึดพื้นที่ของดอนบาสทั้งหมด ด้วยข้ออ้างว่าเป็นพื้นที่ที่คนเชื้อสายรัสเซียอาศัยอยู่เป็นหลัก

ทั้งยังเป็นข้ออ้างแต่เดิมว่า กองทัพรัสเซียมีความจำเป็นต้องรุกเข้ายึดพื้นที่แถบนี้เพื่อปกป้องชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวรัสเซียที่ถูก “รัฐบาลนาซียูเครน” รังแก

ในอีกมุมหนึ่ง คำกล่าวของผู้นำทหารของรัสเซียที่ต้องการขยายการควบคุมทางภูมิรัฐศาสตร์จากภาคใต้ของยูเครนไปสู่มอลโดวา ซึ่งเป็นรัฐเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดความกังวลถึงการใช้พื้นที่ของทรานส์นีสเตรีย (Transistria) ซึ่งรัสเซียได้เข้าควบคุมมาตั้งแต่ปี 2008 เป็น “ฐานทัพส่วนหน้า” ของการขยายสงคราม

ท่าทีดังกล่าวได้สร้างปัญหาทางด้านความมั่นคงอย่างมาก เพราะเท่ากับเป็นสัญญาณว่า สงครามจะขยับออกไปมากกว่าพื้นที่ของยูเครน จนอาจกลายเป็น “สงครามใหญ่” ที่ควบคุมไม่ได้

 

แนวร่วมมุมกลับ

คงต้องยอมรับในอีกด้านว่า ผลจากการเปิดสงครามของประธานาธิบดีปูติน กลายเป็น “ผลกระทบด้านกลับ” ที่ทำให้รัฐยุโรปมีความเป็นเอกภาพในการต่อต้านรัสเซียอย่างเห็นได้ชัด

และขณะเดียวกัน สงครามยูเครนเป็นเสมือน “การชุบชีวิต” ของเนโต้ให้ฟื้นกลับขึ้นมามีบทบาทด้านความมั่นคงอีกครั้ง

เพราะหลังจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นแล้ว หลายฝ่ายมีทัศนะคล้ายคลึงกันว่า นาโตเป็นองค์กรที่หมดภารกิจไปแล้ว แม้จะมีการดำรงอยู่ขององค์กร แต่ก็ไม่มีภัยคุกคามที่ชัดเจนรองรับ จนเกิดข้อถกเถียงอย่างมากถึงความจำเป็นในการมีองค์กรนาโตสำหรับอนาคตด้านความมั่นคงของยุโรป

แต่วันนี้รัฐในยุโรปหันกลับมาด้วยมุมมองใหม่ที่สนับสนุนการดำรงอยู่ของเนโต้ และการส่งอาวุธให้กองทัพยูเครนรบกับรัสเซีย

ผลจากสงครามยูเครนทำให้ทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันที่จะใช้นาโตเป็น “หัวหอก” ในการรับมือกับภัยคุกคามจากรัสเซีย และผู้คนในหลายประเทศมีความคาดหวังว่า หากประเทศของตนถูกกองทัพรัสเซียบุกแล้ว องค์กรนาโตจะใช้อำนาจตามมาตรา 5 เพื่อคุ้มครอง

และแม้ประเทศที่เคยวางตัวเป็นกลางมาอย่างยาวนาน เช่น สวีเดน และฟินแลนด์ ได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของนาโต และคนในสังคมของประเทศทั้งสองมีทัศนะที่ไปในทิศทางเดียวกัน พวกเขากังวลกับการขยายสงครามของรัสเซีย และเกรงว่าหากรัสเซียประสบความในการยึดครองยูเครนได้จริงแล้ว ประเทศใกล้เคียงอาจตกเป็น “เหยื่อสงคราม” ของรัสเซีย

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่มีคนในสองประเทศดังกล่าวจะเรียกร้องให้ผู้นำพาประเทศเข้าเป็นสมาชิกของนาโต และหวังว่านาโตจะเป็น “เกราะกันสงคราม” จากการคุกคามทางทหารของรัสเซียในอนาคต

สงครามยูเครนไม่เพียงสร้างความอ่อนแอให้กับเศรษฐกิจรัสเซีย และทำลายอำนาจทางทหารเท่านั้น หากสงครามนี้ยังทำลายผลประโยชน์แห่งชาติของรัสเซียเองอีกด้วย เพราะทำให้รัฐตะวันตกและนาโตมีความเป็นเอกภาพในการต่อต้านรัสเซียมากขึ้น

แน่นอนว่าสงครามในเดือนที่ 3 ย่อมรุนแรงมากขึ้นและมีความสูญเสียมากขึ้นด้วย… เราอาจเห็นการ “ยันทางยุทธศาสตร์” ของยูเครน เท่าๆ กับที่เห็นความ “ยักแย่ยักยันทางยุทธศาสตร์” ของรัสเซีย และสันติภาพในยูเครนอาจจะยังอยู่ไกลๆ!