คิดแบบง่ายๆ / ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ : หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC

 

คิดแบบง่ายๆ

 

วันก่อน ได้ฟัง “เฟิร์น” นัทธมน พิศาลกิจวนิช สาวน้อยมหัศจรรย์แห่งวงการธุรกิจ พ.ศ.นี้

วันนี้ “เฟิร์น” อายุ 29 ปี

เธอเป็นเจ้าของร้าน “สุกี้ตี๋น้อย” ที่กำลังโด่งดัง

ตอนนี้มีอยู่ 37 สาขา

“สุกี้ตี๋น้อย” ขายสุกี้แบบบุฟเฟ่ต์ราคาเดียว

199 บาท

เปิดขายตั้งแต่เที่ยงวันถึงตีห้า

ทุกสาขาคนรอคิวยาวเหยียด

น้องที่เคยไปกินในร้านบอกว่าร้านนี้แตกต่างจากร้านอื่น เวลาที่จะสั่งอาหาร ทุกร้านจะใช้การยกมือเพื่อให้พนักงานเห็น

ที่นี่ใช้ยกธงแล้วโบกสะบัดครับ

เหมือน “ทัวร์จีน” มาร้านสุกี้

คุณพ่อของ “เฟิร์น” ทำรับเหมามาก่อน แล้วมาเปิดร้านอาหาร “เรือนปั้นหยา”

แม้จะเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ แต่เธอก็มีนิสัยลุยๆ มีวิธีคิดที่เป็นของตัวเอง

ขอพ่อไปเรียนที่ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส และจีน

จบด้าน luxury brand management

มาทำงานประจำได้ไม่กี่ปีก็ตัดสินใจทำธุรกิจส่วนตัว

ธุรกิจที่เลือก คือ ร้านสุกี้

“เฟิร์น” เห็นปัญหาของร้านอาหารแบบเรือนปั้นหยาว่าควบคุมคุณภาพและต้นทุนยาก

เธออยากทำร้านที่ควบคุมคุณภาพได้และขยายสาขาได้เรื่อยๆ

คำตอบจึงเป็น “ร้านสุกี้”

เพราะควบคุมคุณภาพจากครัวกลางได้

ทั้งเนื้อและผัก

น้ำจิ้ม-น้ำซุปก็คุมได้

“พ่อครัว” ไม่ต้อง เพราะลูกค้าคือ “พ่อครัว”

อยากกินสุก หรือมีเดียม ก็ปรุงเอง

เธอเริ่มต้นร้านแรกแบบ “ต้นทุนต่ำ” คือ ร้านของคุณพ่อที่ว่างอยู่ที่ “บ้านบางเขน”

เริ่มเปิดปลายปี 2560

ตอนนั้น “เฟิร์น” อายุ 25 ปี

พนักงานแค่ 5-6 คน

อาหารทุกเมนู เธอจะชิมเอง

“เฟิร์น” เป็นคนที่คิดแบบง่ายๆ

แต่ตั้งคำถามคมมาก

อย่างเช่น การเปิดร้านสุกี้ตี๋น้อย เธอตั้งโจทย์ง่ายๆ

“ถ้าพาเพื่อนมาที่ร้าน เราจะอายเพื่อนไหม”

เพื่อนของ “เฟิร์น” เด็กที่เรียนจบต่างประเทศ รสนิยมการกินคงไม่ธรรมดา

ราคานี้เพื่อนของเธอคงไม่ใช่ลูกค้าหลัก

แต่ถ้าชวนเพื่อนมา จะอายเพื่อนไหม

นั่นคือ การตั้งมาตรฐานของร้านว่าวัตถุดิบต้องใช้ได้

และรสชาติต้องอร่อย

…ไม่อายเพื่อน

 

สาขาแรก “เฟิร์น” ยังเปิดเวลาปกติเหมือนร้านอาหารทั่วไป

ตอนแรกมีคนเข้าร้านน้อยมาก ต้องใช้วิธีการจ้างคนมากินให้ร้านดูแน่นๆ

เพื่อถ่ายรูปประชาสัมพันธ์ร้าน

ความสำเร็จของ “สุกี้ตี๋น้อย” เริ่มต้นขึ้นจากการเปิดสาขาที่ 2

“เฟิร์น” ยังใช้กลยุทธ์เดิม

เปิดร้านในพื้นที่ของคุณพ่อที่ว่างอยู่

ตอนนั้นคุณพ่อของ “เฟิร์น” ทำธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ริมถนนเอกมัย-รามอินทรา

แต่ทำได้สักพักก็เลิกกิจการ

ปล่อยว่างไว้

นึกถึงภาพเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ที่มีน้ำพุอยู่หน้าร้าน ข้างในร้านเพดานสูงมาก มีโคมไฟแชนเดอเลียห้อยอยู่

มีห้องน้ำขนาดใหญ่ ที่จอดรถกว้างขวาง

แต่ขาย “สุกี้”

แบบนี้ก็ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์สิครับ

ใครๆ ก็มารีวิวร้านสุกี้ตี๋น้อยสาขา 2 โดยไม่ต้องจ่ายเงินโฆษณาสักบาท

ทำเลของร้านนี้อยู่ใกล้สถานบันเทิงมากมาย

เมื่อคุณพ่อทำธุรกิจกลางคืนอยู่แล้ว “เฟิร์น” ย่อมรู้ว่าศักยภาพของคนทำงานกลางคืนสูงแค่ไหน

และนำมาซึ่งคำถามง่ายๆ แต่คม

“คนทำงานกะดึกจะกินอะไร”

เป็นคำถามทำนองเดียวกับที่คุณอนันต์ อัศวโภคิน ตั้งคำถามว่าพนักงานที่ทำงานแถวสุขุมวิทกินข้าวที่ไหน

และกลายเป็นที่มาของ “ฟู้ดคอร์ต” ร้านอร่อย ราคาถูกในเทอร์มินัล 21

“จุดขาย” สำคัญของศูนย์การค้าแห่งนี้

เมื่อ “เฟิร์น” ตั้งคำถามว่าคนทำงานกลางคืนจะกินอะไร

พนักงานศูนย์การค้า เซเว่นอีเลฟเว่น คนทำงานผับ บาร์ แท็กซี่ หรือแม้แต่นักเที่ยว และนักศึกษาที่ติวหนังสือตอนกลางคืน

ทุกคนต้องพึ่งพาร้านข้าวต้มริมทาง

แต่คนพวกนี้ก็อยากกินอาหารอร่อยในห้องแอร์ ที่ราคาเอื้อมถึงบ้าง

“สุกี้ตี๋น้อย” ตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี

จากนั้น ก็ไม่มีอะไรหยุด “สุกี้ตี๋น้อย” ได้

“เฟิร์น” ขยายสาขาอย่างรวดเร็ว

เพียงแค่ 5 ปีมี 37 สาขา

ยอดขายเพิ่มจากปี 2562 ที่ขายได้ 499 ล้านบาท

เป็น 1,200 ล้านในปี 2563

1,500 ล้าน ในปี 2564

และปีนี้ตั้งเป้า 3,000 ล้านบาท

มีน้องคนหนึ่งถามว่ายอดขายจาก 0 ถึง 1,500 ล้านทำได้อย่างไร

“เฟิร์น” นิ่งคิดอยู่นิดนึงแล้วตอบแบบซื่อๆ ใสๆ

“หนูไม่รู้ว่าทำได้อย่างไร แต่รู้อย่างเดียวว่าพยายามมาก”

พยายามและลุยแค่ไหนหรือครับ

ตอนที่เธออยากรู้ราคา “วัตถุดิบ” เพื่อควบคุมต้นทุน

เมื่ออยากรู้เรื่องปลา และอาหารทะเล

“เฟิร์น” ไปตลาดปลาตอนตี 1 เกือบทุกวัน

ใส่รองเท้าบู๊ตลุยเอง

ไปตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ฯลฯ

ไปดูร้านตอนตีห้า

เป็นแอดมินเพจเอง

จัดคิวลูกค้าเอง

…พยายามแค่นี้เอง

 

ช่วงโควิดเป็นช่วงเวลาที่สู้ชีวิต แต่ชีวิตสู้กลับของ “เฟิร์น”

เธอเริ่มขายเดลิเวอรี่ครั้งแรก

เจอปัญหาสารพัด เพราะไม่เคยทำมาก่อน

แต่ต้องทำ เพื่อความอยู่รอด

มีครั้งหนึ่ง เธอเลือกใช้กล่องกระดาษ

ปรากฏว่ากล่องกระดาษเละ โดนลูกค้าโวยอย่างหนัก

เป็นครั้งแรกที่ “เฟิร์น” ร้องไห้

ใครคอมเพลนมา เธอโอนเงินคืนหมด โดยไม่ถามสักคำ

ถามว่าช่วงที่แย่ๆ เคยคิดอยากเลิกไหม

“เฟิร์น” พยักหน้า

ถามว่าอะไรทำให้เรายังทำต่อ

เธอตอบง่ายๆ แบบ “เฟิร์น”

“หนูคิดว่า มีคนยังรอเราอยู่”

จินตนาการของเธอ คือ ภาพของพนักงาน “สุกี้ตี๋น้อย” เป็นพันคน

…ทุกคนรอเธออยู่

คิดแค่นี้ “เฟิร์น” ก็ปาดน้ำตา

ลุกขึ้นลุยต่อไป •