หาร 100 หรือ หาร 500 ก็ล้วนไปต่อยาก | สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งเป็นสองใบ และเปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น 400:100 กำลังถึงจุดที่สังคมต้องตื่นเต้นจับตามองอีกครั้ง เมื่อการแก้ไขกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาถึงวาระที่กรรมาธิการต้องพิจารณาตัดสินใจในเรื่องวิธีการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อว่าจะมีวิธีการได้มาอย่างไร

แนวทางหนึ่ง คือ เอาจำนวนบัตรเลือกตั้งบัญชีรายชื่อที่มีผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดหารด้วย 100 เพื่อคิดเป็นจำนวนเสียงพื้นฐานสำหรับการมี ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน

เช่น มีผู้กาบัตรเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ 35 ล้านคน เมื่อเอา 100 หาร จะได้ผลเป็นตัวเลขคือ 350,000 ดังนั้น 350,000 คะแนน คือตัวเลขพื้นฐานสำหรับการมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คนของแต่ละพรรคการเมือง

อีกแนวทางหนึ่งที่เริ่มมีข้อเสนอเข้ามา คือ การยังคงแนวคิดการคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมีก่อนแล้วจึงมาคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ แนวทางนี้แม้ใช้บัตรใบที่สองคือบัตรเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นตัวตั้ง แต่จะใช้จำนวน ส.ส.ทั้งสภา คือ 500 เป็นตัวหาร เพื่อให้ค่าเฉลี่ยของคะแนนเสียงที่ใช้ในการคำนวณ ส.ส.ที่พึงจะมีก่อนที่จะไปคิดว่าแต่ละพรรคควรมี ส.ส.ในสภาเท่าไร จากนั้นไปดูว่าพรรคดังกล่าวได้ ส.ส.เขตเท่าไรแล้ว จึงเพิ่มจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้เต็มจำนวน ส.ส.ที่พึงมี

แนวทางที่หนึ่งดูจะเป็นแนวทางหลัก เพราะเป็นร่างของ กม.ลูกที่ผ่านการรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ใช้หลักการการนับคะแนนที่ใช้ 100 เป็นตัวหารที่เรียกว่าการนับแบบคู่ขนาน (parallel counting) เพียงแต่แนวคิดเอา 500 หารนั้น เริ่มปรากฏในคำแปรญัตติและคล้ายมีเสียงสนับสนุนแนวคิดแบบนี้จากฝ่ายต่างๆ ในระดับหนึ่ง

แต่จะเอา 100 หาร หรือ 500 หาร ก็ใช่ว่าจะเดินต่อได้โดยสะดวกนัก

100 หาร ติดที่ มาตรา 93 และ 94
ของรัฐธรรมนูญไม่มีการแก้ไข

ต้องยอมรับว่า การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนบัตรเลือกตั้งเป็นสองใบนั้น เป็นการแก้ที่ไม่สะเด็ดน้ำ เนื่องจากรัฐสภาไปหยิบเอาร่างแก้ไขของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอแก้ไขเพียง 2 มาตรา และรัฐสภาเพิ่มมาตราที่ต่อเนื่องเข้าไปอีก 1 มาตรา เป็น 3 มาตรา คือ มาตรา 83 การเปลี่ยนสัดส่วน ส.ส., มาตรา 86 การกำหนดจำนวน ส.ส.เขตในแต่ละจังหวัด และมาตรา 91 การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยมาตรา 91 นั้นเขียนเพียงหยาบๆ ว่า “การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ…เป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวม”

แค่มาตราที่ไม่ได้แก้ คือ มาตรา 90 การกำหนดให้ต้องสมัคร ส.ส.เขตก่อนส่งบัญชีรายชื่อ ซึ่งได้แผลงฤทธิ์เดชแล้วว่า ทำให้บัตรเลือกตั้งสองใบ ไม่สามารถให้เป็นหมายเลขเดียวกันได้ ต่างเขตต้องต่างเบอร์ และเป็นเบอร์ที่ต่างจากเบอร์บัญชีรายชื่อ

ส่วนมาตรา 93 และ 94 ที่ไม่ได้แก้ จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อแนวคิดการเอา 100 หารหรือการนับแบบคู่ขนาน เพราะคำว่า “การคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองพึงได้รับ” ยังคงค้างอยู่ในมาตรา 93 กรณีที่เลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ และในมาตรา 94 กรณีมีการเลือกตั้งใหม่ด้วยเหตุทุจริตภายในหนึ่งปีนับแต่วันเลือกตั้ง

ครั้นจะบอกว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการบังคับใช้เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว แต่เมื่อเปลี่ยนมาใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ สองมาตราดังกล่าวถือว่าไม่ต้องใช้แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปดูให้วุ่นวาย

คำถามที่หนักที่สุดที่จะเกิดขึ้นคือ หากเกิดกรณีเลือกตั้งไม่เสร็จ หรือเกิดกรณีต้องเลือกตั้งใหม่ในหนึ่งปี แล้วรัฐธรรมนูญบอกให้ต้องคำนวณ ส.ส.ที่พึงมีและคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ จะไม่ทำตามรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ หรือ กกต.จะกล้าทำสิ่งที่ขัดรัฐธรรมนูญ

การฝ่าด่านที่จะใช้ 100 หาร จึงต้องตอบคำถามว่า จะจัดการกับมาตรา 93 และ 94 ที่ยังไม่แก้ไขในรัฐธรรมนูญได้อย่างไร ไม่ใช่ทำเป็นมองสองมาตรานี้เป็นวัตถุโปร่งแสง มองผ่าน หรือมองไม่เห็นไปเสียงั้น

เชื่อได้ว่ากรณีนี้ แม้รัฐสภาจะดึงดันด้วยเสียงข้างมากให้เป็น 100 หาร แต่น่าจะมีการใช้สิทธิตามมาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญ ที่ ส.ส. หรือ ส.ว. หรือ ส.ส. บวก ส.ว. ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกสองสภารวมกัน หรือประมาณ 75 เสียง เสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภาให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า กฎหมายที่ตราขึ้นนั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

การฝันถึง กม.ลูกที่เสร็จโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่การยุบสภาและเลือกตั้งแบบ Soft landing ก็อาจไม่ง่ายดังที่คิด

ยิ่งหากฝั่งผู้มีอำนาจเองเริ่มรู้สึกว่า การใช้ 100 หารเป็นการเตะหมูเข้าปากหมา ทำให้ฝ่ายตรงข้ามได้ประโยชน์ อาจกลับลำแบบ 360 องศา มาหนุนเอา 500 หารได้

 

500 หาร ติดอยู่ที่ ขัดกับสิ่งที่รัฐสภา
รับหลักการในวาระที่หนึ่ง

การใช้ 500 หารแล้วกลับไปคำนวณจำนวน ส.ส.ที่พึงมี ภายใต้วิธีการคิดแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMP : Mixed-member Proportion Representation) เป็นหลักการที่เดิมพรรคก้าวไกลเองก็เคยรณรงค์และเสนอให้ใช้วิธีการนับคะแนนแบบนี้ แต่ในร่างแก้ไข กม.ลูกที่พรรคก้าวไกลเสนอและผ่านการรับหลักการของรัฐสภาในวาระที่หนึ่งกลับเป็นแบบใช้ 100 หาร เช่นเดียวกับอีก 3 ร่างที่ผ่านการรับหลักการในวาระที่หนึ่ง คือร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของพรรคพลังประชารัฐ และร่างของพรรคเพื่อไทย

ทั้ง 4 ร่างที่ผ่านการรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ถอดเอามาตรา 91 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมที่เน้นคำว่า “การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้เป็นสัดส่วนโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวม” มาเป็นการตีโจทย์ให้คำนวณโดยใช้ 100 หารจำนวนคะแนนรวมของบัตรใบที่สอง ซึ่งเป็นการพยายามจะบอกว่า ไม่มีแล้ววิธีการคำนวณแบบ 500 หารแล้วไปคิดแบบจัดสรรปันส่วนผสม

ดังนั้น เมื่อมีการเปิดแนวคิดการเอา 500 หาร บุคคลที่ขยับตัวออกโรงค้านอย่างจริงจังเป็นคนแรกที่ปรากฏในสื่อ คือ ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นบัตรสองใบและนับแบบคู่ขนาน

แต่เสียงของคุณไพบูลย์จะเป็นตัวแทนสัญญาณของผู้มีอำนาจ หรือเป็นเสียงของปัจเจกที่มุ่งปกป้องสิ่งที่ตนเองเสนอนั้นยังไม่แน่ชัด

โดยเสียงที่สัมภาษณ์จริงจังขนาดว่า หากรัฐสภาเลือกแนวทาง 500 หาร จะต้องมีการเข้าชื่อกัน ตามมาตรา 148 ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ร่าง กม.ที่ผ่านรัฐสภานั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเช่นกัน

 

ภาวะหนีเสือปะจระเข้

100 หาร เพื่อไทยได้เปรียบ 500 หาร ก้าวไกลได้เปรียบ นี่คือภาวะหนีเสือปะจระเข้

100 หาร เพื่อไทยอาจสามารถตั้งรัฐบาลได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

500 หาร ยังมีพรรคเล็ก พรรคน้อยที่มารวมกันจัดตั้งรัฐบาลเอาชนะพรรคเพื่อไทย

นี่คือสิ่งที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองกำลังคิดหนัก

หรือจะร่วมกับพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลเสียเลย โดยดันพรรคอื่นๆ ที่เหลือเป็นฝ่ายค้าน

หรือนี่คือสัจจะที่ว่า การเมืองไม่มีมิตรแท้ ศัตรูถาวร