คนของโลก : เว เว นู เจ้าหญิงของชาวโรฮิงญา

ฉายา “เจ้าหญิงของชาวโรฮิงญา” ของ “เว เว นู” มีที่มาจากการทุ่มเททำงานเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและความเท่าเทียมสำหรับชาวโรฮิงญา ในฐานะลูกหลานชาวโรฮิงญาคนหนึ่ง

ประสบการณ์ในฐานะอดีตนักโทษทางการเมืองของพม่าผลักดันให้ “นู” เป็นผู้ก่อตั้งองค์กร “จัสติสฟอร์วีเมน” องค์กรเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรี รวมไปถึงกลุ่ม “เครือข่ายสันติภาพผู้หญิงอาระกัน” องค์กรที่ทำงานเพื่อสิทธิของชาวโรฮิงญา กลุ่มคนไร้รัฐที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่า

“นู” ทำงานเพื่อต่อสู้กับมุมมองสุดโต่งที่ส่งผลกระทบต่อการเจรจาอย่างสันติ ในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความอดกลั้นในความแตกต่างทางศาสนา รวมถึงความรุนแรงในชุมชน

เธอพร้อมทิ้งทุกอย่างที่มี เพื่อเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวคือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติภายใต้ความแตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐยะไข่ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อาระกัน” บ้านเกิดของเธอ

“เราอยากให้ยะไข่เป็นรัฐที่มีความเสมอภาค มีความพัฒนาและรุ่งเรืองสำหรับทุกๆ คน โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับเชื้อชาติหรือศาสนา” นูระบุ

 

นูที่ปัจจุบันอยู่ในวัย 30 ปี ต้องผ่านความยากลำบากจากความอยุติธรรม ในฐานะที่เธอเป็นลูกสาวของ “คยอ มิน” อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพม่าที่ได้รับเลือกตั้งในปี 1990 การเลือกตั้งครั้งที่รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมรับความพ่ายแพ้

อดีตเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาในเมืองตอนเหนือของรัฐยะไข่ผู้นี้ ยังเป็นสมาชิก “คณะกรรมการตัวแทนรัฐสภาของประชาชน” กลุ่ม ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งเมื่อปี 1990 นำโดย นางออง ซาน ซูจี ด้วย

หลังนูและครอบครัวย้ายเข้ามาอาศัยในกรุงย่างกุ้ง ในช่วงต้นทศวรรษที่ 90 เนื่องจากต้องเผชิญกับการกดขี่จากเจ้าหน้าที่รัฐในบ้านเกิด ทว่า อีกกว่า 10 ปีต่อมา ในปี 2005 คยอ มิน พร้อมด้วยนูและสมาชิกครอบครัวทั้งหมด ถูกทางการพม่าจับกุมในฐานความผิดภายใต้กฎหมายความมั่นคงและการตรวจคนเข้าเมือง ข้อหาซึ่งนักเคลื่อนไหวมองว่าเป็นไปเพื่อปิดปาก คยอ มิน ที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานในประเทศ

นูที่เวลานั้นอยู่ระหว่างเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 1 ถูกตัดสินจำคุกพร้อมครอบครัวเป็นเวลา 17 ปี ขณะที่พ่อถูกตัดสินจำคุกถึง 47 ปีในเรือนจำ

แม้ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในฐานะนักโทษทางการเมืองเมื่อปี 2012 ในรัฐบาลประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ผู้มีนโยบายปฏิรูปด้านการเมืองและเศรษฐกิจพม่าขนานใหญ่

ทว่า เวลา 8 ปีในเรือนจำนั้นก็ให้ประสบการณ์ และหล่อหลอมให้นูมีเป้าหมายที่ชัดเจนในเวลานี้

“ตอนฉันต้องเข้าคุก แม่บอกฉันว่า นี่แหละเป็นโอกาสที่จะได้เข้าใจกฎหมาย ได้เข้าใจความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในประเทศเราอย่างแท้จริงแล้ว ฉันว่าฉันโชคดีนะ” นูระบุด้วยมุมมองแง่บวก

ในเรือนจำ นูระบุว่าเธอได้พูดคุยกับเด็กผู้หญิงวัยรุ่นที่สิ้นหวัง บางรายหันไปหายาเสพติดและการเป็นหญิงค้าบริการ นั่นทำให้นูตัดสินใจที่จะผันตัวเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้หญิงและผลักดันให้ผู้หญิงพม่ากล้าลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของตัวเอง

ปัจจุบันภายใต้องค์กรเครือข่ายสันติภาพผู้หญิงอาระกัน นูได้ขัดเกลานักศึกษา 500 คนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงให้ได้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ความเป็นธรรม” และ “สิทธิมนุษยชน”

 

นูและพ่อได้เดินทางไปยังค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในประเทศ นูได้มีโอกาสที่จะบอกเล่าสิ่งที่เธอสามารถทำได้หลังจากเป็นอิสระ และสร้างความหวังให้กับชาวโรฮิงญาที่อาจได้รับอิสรภาพในวันใดวันหนึ่ง

นู ผู้ที่ได้รับเลือกจาก “บีบีซี” ให้เป็น 1 ใน 100 สตรีชั้นนำของโลกในปี 2014 และเป็นท็อป 100 นักคิดของโลกของ “นิตยสารฟอเรียนโพลิซี” ประจำปี 2015 ระบุว่า เธอชื่นชอบนักการเมืองที่เป็นแบบอย่าง 2 คน นั่นก็คือ “ออง ซาน ซูจี” ที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า รวมไปถึง “บารัค โอบามา” ประธานาธิบดีสหรัฐ

ในรายหลัง นูมีโอกาสได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกามาแล้วเมื่อปี 2015

นูระบุด้วยความภาคภูมิใจที่เธอเป็นชาวต่างชาติคนเดียวบนโต๊ะอาหาร ขณะที่อีก 8 คนที่เหลือเป็นเยาวชนชาวอเมริกัน

“มันเป็นอะไรที่เยี่ยมมากนะที่ประธานาธิบดีสหรัฐเล่าเรื่องของฉันให้ทุกๆ คนฟัง แทนที่ฉันจะได้แนะนำตัวเอง” นูระบุ

และว่า “อย่างไรก็ตาม ฉันอาจทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐผิดหวังเมื่อฉันบอกว่านโยบายของสหรัฐที่มีต่อพม่านั้นไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากจนถึงเวลานี้เรายังคงเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะความโหดร้ายในรัฐยะไข่”

 

นูระบุถึง “ซูจี” ไอดอลทางการเมืองอีกหนึ่งคนของเธอว่า เวลานี้ซูจีมีภาระมากมายไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูป ความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อย มรดกตกทอดการปกครองของทหาร รวมถึงปัญหาวิกฤตค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยในประเทศ

แต่นูก็ยังคงเชื่อว่าผู้นำรัฐบาลใหม่ผู้นี้จะทำอะไรมากขึ้นเพื่อชาวโรฮิงญา

นูระบุว่า หากเธอได้มีโอกาสพบกับ ออง ซาน ซูจี เธอจะใช้โอกาสนั้นบอกไอดอลของเธอว่า ประชาธิปไตยในแบบของซูจีนั้นจะสำเร็จได้ต้องเปิดโอกาสให้ทุกๆ คนได้มีส่วนร่วม

“โรฮิงญาควรมีสิทธิที่เท่าเทียมเช่นกัน เธออาจจะรู้แล้ว แต่ฉันต้องการแค่เตือนความทรงจำเธอเท่านั้น” นูระบุ