ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ
จับลีลา ‘บิ๊กป้อม’
ลับ ลวง พราง
ทำสัมพันธ์ ‘2 ป.’ คลุมเครือ
จนถึงตอนนี้ยังคงมีความคลุมเครือว่า จุดหมายปลายทางของการเดินทางต่างประเทศของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคแกนนำหลักของการจัดตั้งรัฐบาล ที่ถึงขั้นต้องลาประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 19 เมษายนนั้น เดินทางไปประเทศไหน และไปทำอะไรกันแน่
ช่วงแรกกระแสข่าวบอกบินไปอังกฤษเพื่อไปพักผ่อนหนีลมร้อน
บ้างว่าไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมืองตากอากาศชื่อดังที่เหล่าเซเลบริตี้ไทยนิยมหอบครอบครัวไปท่องเที่ยว
ช่วงบ่ายเมื่อที่ 21 เมษายน นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าพบ พล.อ.ประวิตร ว่า “ผมเข้าพบหัวหน้าพรรคหลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศ ผมได้สอบถามว่าได้เจอกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือไม่ ทำให้ พล.อ.ประวิตรนิ่งเงียบไปพักหนึ่ง ก่อนตอบว่าเขา (นายทักษิณ) ฝากความคิดถึงให้ผมด้วย ก่อนจะถามผมกลับว่า ผมเป็นผู้สื่อข่าวสำนักไหน เพราะถามเหมือนเป็นนักข่าว”
ในช่วงเย็นของวันเดียวกันหลังนายนิโรธปล่อยมุขฝากความคิดถึง พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์ว่า ไม่ได้ไปพบ อยู่คนละประเทศ จะไปเจอกันได้อย่างไร ไม่เคยเจอหน้า ไม่เคยคุยกันเลยตั้งแต่ปี 2548 แล้ว (สมัยเป็น ผบ.ทบ.) และไม่ได้ไปประเทศอังกฤษด้วย โดยขอลาไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกายที่โรงพยาบาลเท่านั้น
ยืนยันไม่ได้ไปไหนเลย
ต่อมาวันที่ 24 เมษายน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคไม่จำเป็นต้องตรวจสอบเรื่องดังกล่าว เพราะไม่มีส่วนร่วมรู้เห็น และยืนยันไม่ใช่เรื่องจริง
“ถ้าสื่ออยากรู้เรื่องนี้ ต้องไปถามทางรัฐบาลว่าเป็นจริงหรือไม่ เพราะต่างฝ่ายต่างตอบไม่เหมือนกัน ทั้งประธานวิปรัฐบาล พล.อ.ประวิตร ต่างตอบไม่เหมือนกัน อยากฝากไปถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ เป็นการล้มรัฐบาลใช่หรือไม่”
จนเมื่อช่วงค่ำวันที่ 26 เมษายน ทักษิณได้เอ่ยถึงกระแสข่าวการพบกับ พล.อ.ประวิตรว่า เดินทางไปตรวจสุขภาพที่ประเทศอังกฤษ ว่า “พอดีว่า Holoportation ยังไม่มีที่ดูไบ ถ้ามีจะส่ง Hologram ของผม ไปคุยกับท่านที่ลอนดอน เพราะท่านอยู่ลอนดอน แต่ผมอยู่ดูไบ”
อันเป็นการยืนยันว่า ไม่ได้เจอกัน
เป็นเวลากว่า 16 ปี ตั้งแต่ 2549 ที่ทักษิณต้องหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ ไม่ได้เหยียบแผ่นดินบ้านเกิด ช่วงแรกที่ไปอายุอานามยังอยู่ในวัยที่ยังพอสนุกสนานกับการทำงาน
แต่ในวัย 72 ปี กลายเป็นคุณปู่ที่มีหลานๆ คงเกิดฟีลอยากพักอยู่บ้านใช้ชีวิตบั้นปลาย จึงทำให้ช่วงหลังพูดว่าอยากกลับบ้านถี่ และหลายครั้งประกาศกร้าวว่าจะกลับแน่นอน
หากถอดสมการสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร-ธรรมนัส พรหมเผ่า-ทักษิณ จะพบว่า พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร นั้นเติบโตจากสายสัมพันธ์ตั้งแต่อยู่ในกองทัพ กอดคอทุกข์ยากลำบากมาพร้อมๆ กัน รู้ไส้รู้พุงยิ่งกว่าพี่น้องท้องเดียวกัน เมื่อตัดสินใจคิดการใหญ่ร่วมกันยึดอำนาจ ทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยอ้างว่าเข้ามาเพื่อรักษาความสงบและขจัดนักการเมืองชั่วช้า ที่กำลังทำลายกัดกินประเทศให้สิ้นซาก กลับมาจับมือนักการเมืองที่ตัวเองเคยรังเกียจเดียดฉันท์ ตั้งรัฐบาลผสมอยู่ยั้งยืนยงจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ธรรมนัสกับทักษิณนั้น ก็รู้จักมักคุ้นมาตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย และสมัยใช้ชื่อเก่าว่า ร.อ.มนัส ทำงานร่วมกันมานาน เพราะเป็นนายทหารติดตาม ‘เสธ.ไอซ์’ หรือ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 รุ่นเดียวกับทักษิณ ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะผู้มีอิทธิพลของวงการค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงมีความคุ้นเคยกับ ส.ส. และแกนนำพรรคเพื่อไทยอย่างตัดไม่ขาด ทั้งยังสร้างฐานการเมืองท้องถิ่นใน จ.พะเยา จนเกิดเป็นกลุ่มการเมืองหนึ่งของพื้นที่ภาคเหนือ
ส่วน พล.อ.ประวิตร กับ ร.อ.ธรรมนัส เมื่อรัฐบาล คสช. อยากชุบตัวผ่านการเลือกตั้งเพื่อสลัดภาพลักษณ์เผด็จการ 3 ป. จึงต้องลุกลี้ลุกลน กวาดทุกซุ้มกลุ่มการเมืองเข้าสู่การสร้างฐานอำนาจให้ตัวเอง จนโชคชะตานำพาให้ พล.อ.ประวิตรได้พบกับ ร.อ.ธรรมนัส ผู้มีความกลมกล่อมทั้งมือประสานผลประโยชน์และเครือข่ายการเมือง ผนวกกับบุคลิกใจใหญ่ กล้าได้กล้าเสีย ตอบรับทุกคำสั่งไม่มีเอื่อยเฉย ทำงานถูกใจกลายเป็นมือขวาไว้ใจให้เดินเกมการเมือง นับวันความสัมพันธ์ของทั้งสองก็ยิ่งแน่นแฟ้น สวนทางกับน้องรักอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังคลุมเครือว่าสรุปแล้ว ยังเหมือนเดิมอยู่ไหม
กลายเป็นความสัมพันธ์ ‘เรา 3 คน’ ที่แต่ละฝ่ายอาจยืนอยู่บนฐานไม่เท่ากัน
“พล.อ.ประวิตรอยู่ได้โดยไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ เพราะมี ร.อ.ธรรมนัส แต่ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ได้โดยไม่มี พล.อ.ประวิตร ได้หรือไม่”
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายพรรคการเมืองได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อสรุปการทำงาน และงบการเงิน ที่สำคัญคือการรวมตัวตกผลึกการเดินการเมืองเพื่อเตรียมการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ต่างประกาศชัดว่า หัวหน้าพรรค คือแคนดิเดตนายกฯ อันเป็นธรรมเนียมของการเมืองที่จะชูผู้นำพรรคชิงเก้าอี้นายกฯ
ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่เต็มไปด้วย ‘ข่าวลือ’ และ ‘ข่าวลวง’ ทั้งการล้มกระดานแก้รัฐธรรมนูญกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว การคว่ำกฎหมายลูก และการโค่น พล.อ.ประยุทธ์ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ถูกเติมเชื้อไฟด้วยตัวเลข ’30 ส.ส.รัฐบาล’ เตรียมหักหลังโหวตไม่ไว้วางใจนายกฯ อันโยงไปถึง ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย ที่มี พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา น้องรัก พล.อ.ประวิตร นั่งหัวหน้าพรรค และมี ร.อ.ธรรมนัสเป็นเลขาธิการพรรค ที่ไม่ชัดเจนว่าสรุปแล้วยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อยู่หรือไม่ แต่กลับชัดเจนว่ายังรักและเคารพ พล.อ.ประวิตรอยู่ จากภาพที่นำทีมเข้ารดน้ำดำหัว ที่มูลนิธิบ้านป่ารอยต่อฯ เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา
เมื่อสื่อถาม พล.อ.ประวิตร ว่าสุดท้ายแล้วจะยังชู พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ตอบว่ายังชู แต่ไม่บอกว่าจะเสนอเพียงรายชื่อเดียว หรือจะใช้โควต้า 3 ชื่อจนครบหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีการปล่อยข่าวว่า พล.อ.ประวิตรก็หวังอยากเป็น ‘นายกฯ’
เมื่อจี้ถามอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์มีชนักติดหลังปมนายกฯ 8 ปี พล.อ.ประวิตรได้หลุดปาก กล่าวว่า “ไม่รู้ ก็อาจจะมีคนสำรอง” ไม่รู้ว่าหมายถึง แคนดิเดตนายกฯ สำรอง ที่เป็นเบอร์ 2 และเบอร์ 3 ของพรรค หรือ ‘นายกฯ สำรอง’ กรณีเกิดอุบัติเหตการเมืองกันแน่
แม้ต่อมา 2 ป.ได้ออกมาปัดพัลวันว่า ไม่ได้หมายความตามที่สื่อเข้าใจ
บรรยากาศการเมืองตอนนี้จึงคลุมเครือ งุนงง ครึ้มฟ้าครึ้มฝน คล้ายพายุใหญ่จะถล่มประเทศไทยในไม่ช้า
ในทางการเมือง เรื่องผลประโยชน์จะทำผ่าน ‘ดีล’ เมื่อสมประโยชน์ของแต่ละฝ่าย และจังหวะได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็จะเห็นกันว่า ที่เดาๆ กันนั้น อะไรเป็นอะไร แต่เชื่อเถอะว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ในสนามการเมือง ไม่มีหรอกจุดยืนเพื่อประชาชนตามที่อ้างๆ กัน
ไม่แน่รัฐบาลหน้าอาจจะเห็น ‘พรรคร่วม’ แบบที่ไม่เคยเห็น หรือทักษิณจะเดินเกมรุกจนถึงความฝันใช้ชีวิตบั้นปลายกับครอบครัวที่เมืองไทย
แน่ๆ คือ หากนายกฯ ยังชื่อ ‘ประยุทธ์’ คงเป็นไปได้ยาก แต่หากชื่อ ‘ประวิตร’ ก็ไม่แน่ ด้วยเห็นลีลาของพี่ใหญ่ที่มากด้วยการลับลวงพรางแล้วชวนให้ใครต่อใครคิดมาก รวมถึงน้องเล็ก ‘ป.’ ด้วย