รัฐลั่นกลองรบ ลงสนามแข่ง ดึงทุนนอกเข้าไทย กองเชียร์ท่วม จุดชนวนเครื่องยนต์ ศก.ระลอกใหม่/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

รัฐลั่นกลองรบ

ลงสนามแข่ง ดึงทุนนอกเข้าไทย

กองเชียร์ท่วม จุดชนวนเครื่องยนต์ ศก.ระลอกใหม่

 

ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์หลักๆ ได้แก่ ภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และภาคการลงทุน แม้จะรวมภาคการบริโภคเข้าไปด้วย แต่เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 ก็ทำให้เครื่องยนต์ดับวูบกลางอากาศ โดยเฉพาะภาคการภาคการท่องเที่ยว การลงทุน และการบริโภคในประเทศ

แต่เมื่อแรงกระแทกจากโควิด เริ่มหมดฤทธิ์ ทำให้รัฐบาลทั่วโลกต้องกระตุ้นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง

รวมถึงรัฐบาลไทยเอง ก็มุ่งเดินหน้าฟื้นฟูการลงทุน หวัง “จุดติดอีกครั้ง” ซึ่งเร็วสุดและแรงสุดก็ต้องพึ่งพาและดึงดูดเม็ดเงินทุนจากนานาชาติ เป็นการทำต่อจากการเปิดประเทศ และฟื้นภาคการท่องเที่ยว

 

ล่าสุด สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำคณะเดินทางไปโรดโชว์ในประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดการระบาดโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2563 เป้าหมายเปิดกระดานให้นักลงทุนได้รับรู้ว่า รัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญกับการผลักดันอุตสาหกรรมใด ที่อัดแน่นไปด้วยแพ็กเกจจูงใจ!!

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำหรับโครงการต่างชาติที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2558-2564 พบว่า

ปี 2558 มีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 96,077 ล้านบาท

ปี 2559 มีมูลค่า 251,723 ล้านบาท บวก 213%

ปี 2560 มีมูลค่า 282,696 ล้านบาท บวก 12%

ปี 2561 มีมูลค่า 542,651 ล้านบาท บวก 102%

ปี 2562 มีมูลค่า 506,230 ล้านบาท ติดลบ 7%

ปี 2563 มีมูลค่า 169,334 ล้านบาท ติดลบ 54%

ปี 2564 มีมูลค่า 455,331 ล้านบาท บวก 169%

โดยในปี 2564 ประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ 1.จีน 2.ญี่ปุ่น 3.ฮ่องกง 4.สวิตเซอร์แลนด์ 5.ไต้หวัน 6.สิงคโปร์ 7.สหรัฐอเมริกา 8.เนเธอร์แลนด์ 9.ออสเตรเลีย และ 10.เกาหลีใต้

จากสถิติยังพบว่า ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่องและติด 1 ใน 3 ประเทศที่นำเงินลงทุนในไทยสูงที่สุด จึงสอดคล้องกับจุดประสงค์ของการโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ ที่จะไปชักชวนนักลงทุนญี่ปุ่นรายเก่าที่ลงทุนอยู่เดิม และรายใหม่ๆ ให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่ประเทศไทยกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 10 อุตสาหกรรม

รวมถึงจะใช้โอกาสนี้ชี้แจงเกี่ยวกับการออกวีซ่าประเภทพิเศษ คือ วีซ่าสำหรับผู้พำนักระยะยาว หรือ Long-Term Resident Visa : LTR ที่มีอายุถึง 10 ปี สำหรับ 4 กลุ่ม คือ ผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุ ผู้ที่ต้องการทำงานจากไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ ที่กำลังเร่งออกประกาศของกระทรวงมหาดไทยในเร็วๆ นี้ด้วย

ซึ่งจะใช้นโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการชักจูงการลงทุน และเงื่อนไขการจูงใจลงทุนอีกจำนวนมาก

 

เรื่องการชักชวนนักลงทุนต่างชาติ ก็ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน บ้างก็ว่าคงยากที่ประเทศจะนำเงินออกไปลงทุนนอกประเทศ เพราะทุกประเทศเจอปัญหาเศรษฐกิจย่ำแย่จากโควิดทั้งสิ้นและกว่าจะฟื้นตัว กล้าลงทุนนอกประเทศก็ไม่น่าจะเร็วกว่า 2 ปีจากนี้

แต่ก็มีหลายมุมมองว่าหากชักช้าจะตกขบวน เพราะทุกประเทศก็คิดอย่างเรา ที่จะดึงเงินต่างชาติ เหมือนไทยอาจช้าในเรื่องเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว!!

เรื่องนี้ สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ให้ความเห็นว่า

“ตอนนี้ถือเป็นช่วงที่ดีในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ แม้เศรษฐกิจโลกจะมีปัญหาในเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยังคาราคาซังอยู่ แต่เศรษฐกิจทั่วโลกก็มีการฟื้นตัวเป็นปีที่ 2 แล้ว แม้อัตราการเติบโตจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ในตอนต้น แต่ประเทศต่างๆ ก็มีการบริหารโควิด-19 ได้ดี และมีการคลายล็อกมาตรการออกมา จึงถือเป็นช่วงที่ดีในการเดินหน้าโรดโชว์ เพื่อทำความรู้จักประเทศไทยสู่สายตาต่างชาติ”

“ประเทศไทยยังมีความน่าสนใจ โดยจุดขายที่สำคัญคือ ไทยเป็นส่วนหนึ่งของเขตการค้าเสรี ที่ไปถึงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 ที่มีสิทธิประโยชน์ไม่เพียงแต่ลดภาษีนำเข้าจากประเทศที่เป็นสมาชิก แต่ยังสามารถลดอุปสรรคต่างๆ อาทิ การมาใช้ฐานการผลิตในอาเซียน ให้เป็นแหล่งกำเนิดสินค้ากระจายไปในอาเซียน ปรับปรุงมาตรฐานสินค้าให้ใกล้เคียงกัน ปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้อง และง่ายต่อการค้าขายร่วมกัน”

“รวมถึงไทยยังเป็นสมาชิกของอาร์เซ็ป ที่ระยะเริ่มต้นถือเป็นเขตการค้าเสรี ทำให้ประเทศที่เข้ามาใช้ฐานการผลิต 1 ใน 15 ประเทศ รวมไทย สามารถส่งออกสินค้าไปในประเทศสมาชิกได้แบบไม่มีภาษีและไม่มีโควต้าจำกัด”

“มีการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีไทย พม่า ลาว กัมพูชา และตอนใต้ของจีน ที่จะเชื่อมโยงการพัฒนาคมนาคม ขนส่งโลจิสติกส์ การค้าชายแดน ซึ่งการเชื่อมโยงเหล่านี้ หมายความว่าประเทศไทยอยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และไทยมีโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีโครงการเอื้ออำนวยประโยชน์ค่อนข้างมาก อาทิ เทคโนโลยีใหม่ ดิจิตอล”

“เสน่ห์ที่สำคัญของไทยคือ ภาคการท่องเที่ยว ที่เชื่อมโยง 2 ด้าน ทั้งการเดินทางท่องเที่ยวแบบจริงๆ และการลงทุน เป็นการทำงานและท่องเที่ยวไปด้วย หรือการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อหาช่องทางการลงทุน เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมสูงมาก เป็นการเวิร์กเคชั่น หรือทำงานได้ทุกที่ ซึ่งประเทศไทยได้รับการโหวตจากทั่วโลก ว่าประเทศไทยน่าเข้ามาทำงานและเที่ยวไปด้วย ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต”

“สิ่งที่ไทยกำลังทำอยู่คือ ซอฟต์เพาเวอร์ เป็นการสร้างอำนาจแบบไม่ใช่การออกรบ แต่เป็นอำนาจในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเข้ามาในประเทศ ชูจุดเด่นเรื่องอาหาร ผลไม้ ที่เชื่อว่าหากสามารถพัฒนาอาหารและผลไม้ ที่อยู่ในระดับดีอยู่แล้วให้ครบวงจรมากขึ้นได้ ภายใน 5 ปีต่อจากนี้สามารถขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 1 ในโลกด้านอาหาร และผลไม้ได้”

“ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีจุดอ่อนในเรื่องเทคโนโลยี ที่ยังไม่สามารถเก่งได้เท่าประเทศใหญ่ๆ โดยรัฐบาลต้องเร่งดึงการลงทุนในด้านเทคโนโลยีใหม่และสำคัญเข้ามาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงพัฒาคุณภาพการศึกษาไทย เพราะการศึกษาไทยที่ผ่านมา เน้นปริมาณ แต่คุณภาพยังไม่ได้ดีมากนัก สะท้อนได้จากการคิด วิเคราะห์ของเด็กไทย ที่อ่อนแอมาก เทียบกับหลายประเทศทั่วโลก ทำให้ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่ประเทศไทยต้องเร่งเดินหน้าดึงการลงทุน และกำจัดจุดอ่อนที่มีอยู่”

สมชายกล่าวในตอนท้าย

 

อีกผู้เชี่ยวชาญ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้ความเห็นว่า “แม้เกิดการระบาดโควิด-19 และสงครามรัสเซียกับยูเครน แต่การลงทุนของประเทศไทยในปี 2565 ยังคงขับเคลื่อนเดินหน้าไม่ได้หยุดนิ่งในขณะนี้ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ที่เป็นเครื่องยนต์กระตุ้นเศรษฐกิจยังไปได้ดี และมีการผูกพันสัญญาและเบิกจ่ายงบประมาณต่อเนื่อง”

“แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่ภาคเอกชนจะต้องชะลอการลงทุน เพราะต้องรอประเมินสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ถ้าเขาประเมินแล้วว่าระยะถัดไปมีความมั่นใจว่าประเทศไทยอาจไม่ผลกระทบมากนัก ในแง่การผลิตและส่งออก ที่ต้องขยายกำลังการผลิต เขาคงเดินหน้าลงทุนต่อ ขณะนี้ยังมีบางอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและอาหารที่มีการลงทุนและขยายกำลังการผลิต” ดนุชากล่าว

ไม่ว่าจะเป็นเสียงหนุนเสียงติง คงไม่สำคัญเท่าว่า ความพยายามของรัฐบาลจะจุดติดเครื่องยนต์เศรษฐกิจ ผ่านการลัดเลาะไปกล่อมนักลงทุนนานาชาติ จากนี้อีกหลายทริป!!