ความในใจจาก “ปู่พิชัย” ถึงหลานอภิสิทธิ์ และความคิดในพรรค ปชป. : รายงานพิเศษ

 

“ความจริงช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลถือเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ในการแก้ปัญหาที่หมักหมมมานานของการเมืองไทย แต่กลับพลาดโอกาสนั้นไป ด้วยเหตุผลอย่างเดียวคือ “คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ใช้คนไม่เป็น ใครพูดอะไรก็ไม่ฟัง อันนี้เป็นสิ่งที่ผมเน้นอยู่ตลอดเวลา ถ้าใช้คนถูกต้องก็จะแก้ไขปัญหาได้ในระยะนั้นได้ ผมรู้สึกเสียดายสิ่งที่บุคคลเก่าๆ ในพรรคสั่งสมมา ผมได้แต่หวังว่าคุณอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่ผมรักและยังเชื่อมั่นอยู่ จะปรับปรุงตัวใหม่ แต่โอกาสนั้นอาจจะสูญเสียอีก ถ้ายังปล่อยหรือใช้คนไม่เป็นเหมือนในอดีต” คือคำกล่าวจากปู่พิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภา และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

“ขุนพลที่ผมคาดหวังว่าคุณอภิสิทธิ์จะดึงมาใช้ อาทิ สุรินทร์ พิศสุวรรณ, ศุภชัย พานิชภักดิ์, ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, สาวิตต์ โพธิวิหค, ธารินทร์ นิมมานเหมินท์, นพ.กระแส ชนะวงศ์, คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์, ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน คนเหล่านี้ควรมาช่วย โดยที่ไม่เอาคนที่ชอบยืนอยู่ข้างหลังคุณอภิสิทธิ์ ถ้าหากจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภายในพรรคควรดึงคนเก่าคนเก่งในพรรคมาเสริมทัพ ให้คุณอภิสิทธิ์น่าเลื่อมใส ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเปลี่ยนวิสัยทัศน์และปรับปรุงตัวเองใหม่ ในช่วงที่พรรคเพื่อไทยยังมีปัญหาภายใน ประชาธิปัตย์ต้องฉวยโอกาสเปลี่ยนตัวเอง เปรียบเสมือนมีเงินอยู่แล้วในกระเป๋าแต่ใช้เงินไม่เป็น!”

“ฉะนั้น ในความคิดเห็นส่วนตัว มองว่า ขณะนี้อภิสิทธิ์ยังเหมาะที่จะเป็นเบอร์ 1 ของพรรคอยู่ (แม้ในใจผมอยากให้มีคนอื่น) แต่ยังไม่มีคนที่เหมาะสมกว่านี้” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็น

ส่วนผลสำรวจของสถาบันพระปกเกล้า เรื่องความนิยมที่มีต่อนายกรัฐมนตรี “พิชัย รัตตกุล” ระบุว่า ผลสำรวจที่ออกมา คะแนนนิยมของนายอภิสิทธิ์รั้งท้าย ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ แต่เป็นเรื่องที่ผมเสียใจ ผมรักและเห็นอภิสิทธิ์ตั้งแต่อายุ 14-15 ปี ในช่วงนั้นเขาช่วยหาเสียงขึ้นรถกระบะ-เอากาวแป้งเปียกไปทาติดป้ายโปสเตอร์ผู้สมัครตามกำแพง บางทีก็ไปหาเสียงด้วยกันโดนไล่ไม่ให้ติดก็มี”

“ผมคิดถึงความหลังเหล่านั้นก็รู้สึกเสียดาย เราร่วมสร้างอภิสิทธิ์มา จากวันนั้นมาถึงวันที่ได้เป็นถึงนายกรัฐมนตรี เราน่าจะภูมิใจ แต่นายอภิสิทธิ์กลับทำอะไรหลายอย่างพลาดพลั้ง ฉะนั้น อนาคตจะเป็นเช่นไร จะเป็นอย่างไรไม่ทราบ พรรคจะเอาอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ผมอยากเห็นคุณชวน คุณบัญญัติในฐานะเป็นผู้ใหญ่ในพรรคคอยเตือนอภิสิทธิ์บ้าง ซึ่งเรื่องทั้งหมดนี้ผมเคยคุยกับคุณบัญญัติและคุณชวนแล้ว โดยได้รับคำตอบกลับมาว่าเคยเตือนเคยบอกแล้วแต่ไม่เชื่อ แต่กลับเชื่ออีกอย่าง”

“ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าพรรคเพื่อไทยอ่อนกำลังลงนั้น ถามว่าจะใช้อะไรเป็นตัวชี้วัดว่าอ่อนลง ส่วนตัวคิดว่าพรรคเพื่อไทยยังมีคนที่มีความสามารถอยู่ แค่ช่วงนี้อาจจะเป็นช่วงที่เขาหยุดพฤติกรรมบางอย่างในระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง” นายพิชัยกล่าว

นายพิชัยกล่าวอีกว่า แม้ว่านี่คือ “ช่วงโอกาสทอง” ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่อภิสิทธิ์กลับใช้วาทกรรมกระแทกฝั่งตรงข้าม

“แทนที่จะทำคะแนน ผมคิดว่าประชาชนก็คิดอย่างนั้น เวลานี้คนจะมองว่าพรรคเพื่อไทยเหมือนอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ แทนที่เราในฐานะนักการเมืองเหมือนกันจะเข้าใจกัน กลับตรงกันข้ามคุณอภิสิทธิ์ดันกระแทก พวกเราต้องต่อสู้กันด้วยนโยบายและหลักการ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์เปลี่ยนแปลงเสียที ยิ่งเขาอยู่ในฐานะที่ตกระกำลำบากทางการเมือง ต้องมองหาหนทางที่จะทำบรรยากาศเพื่อเป้าหมายเดียวกันของทุกพรรคการเมือง นั่นคือระบอบประชาธิปไตยแท้จริง แต่ทำไมเราไม่ช่วยกัน กลับไปเหน็บแนมเรื่องเล็กๆ น้อยๆ”

“อีกหนึ่งเรื่องที่ผมคงจะไม่สามารถพูดอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ปากประชาธิปไตยแต่พฤติการณ์ไม่ได้เป็นไปตามนั้น หรือกระทั่งเรื่องนายกฯ คนนอก ผมคงอยู่ในฐานะที่พูดมากไม่ได้ เพราะว่าครั้งหนึ่งผมก็เคยทำงานร่วมกับรัฐบาลพลเอกเปรม ซึ่งพลเอกเปรมก็ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผมยอมรับว่าในช่วงนั้นประชาธิปัตย์ก็มีความรู้สึกอึดอัดบ้างเหมือนกัน แต่เมื่อเห็นแก่การทำงานของพลเอกเปรมก็คิดว่าพอทำงานร่วมกันได้”

“แต่เมื่อมองเกมนี้ คราวนี้มองไปข้างหน้า มองกฎหมายลูกที่จะออกมา แล้วจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ จากที่มีการคาดการณ์กันไว้ว่าเป็นปลายปี 2561 ผมคิดว่ายังไงก็เลยช่วงเวลานั้น ยังไงก็ไม่ได้เลือกตั้งกันภายในปีหน้า ซึ่งนี่ก็เป็นความต้องการลึกๆ ของผู้คุมอำนาจ ที่ต้องการจะอยู่ไป 10-20 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ จะมองอย่างนั้นก็ได้ ที่ต้องพูดเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ได้ต้องการที่จะต่อว่า เพราะคิดว่าทุกคนก็ทำเพื่อบ้านเมือง และผมไม่ได้มีความกระสันอยากเลือกตั้ง แต่ผมมีความเชื่อในระบอบเพื่อให้ประชาชนใช้สิทธิตามกฎหมาย”

“ฉะนั้น ถ้านายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ยังรักประชาธิปไตยและยึดมั่นในหลักการอย่างแท้จริงที่ไม่เห็นด้วยในการควบคุมอำนาจ ต้องแสดงจุดยืนออกมามากกว่านี้ อย่าไปหวังน้ำบ่อหน้า ว่าในอนาคตอยากจะไปร่วมเป็นรัฐบาล ก็ต้องต่อสู้ในหลักการด้วยเหตุผล ไม่ใช่การเดินขบวน ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ประชาชนยังมีความหวังและความศรัทธาอยู่”

ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้า “พรรคประชาธิปัตย์” จะชูอะไรเป็นแม่เหล็กในการหาเสียง นายพิชัยให้ความเห็นว่า “ผมคิดว่ายังไงก็ต้องยึดถือ “หลักการ” ซึ่งตอนนี้เป็นสิ่งที่พรรคอื่นเขาชูไปแล้ว ตั้งแต่ผมจำความได้ สมัยเป็นสมาชิกพรรค หลังพ้นยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นโยบายเดียวที่พรรคประชาธิปัตย์พูดมาโดยตลอด คือ “การรักษาระบอบประชาธิปไตย” โดยยืนยันและยึดมั่นอยู่เรื่องเดียว รวมทั้งต่อต้านการรัฐประหาร เวลาหาเสียงทีไร จะชูเรื่องนี้ในการนำอำนาจและประชาธิปไตยมาสู่มือประชาชนให้ได้”

“แต่หลังๆ ชักไม่แน่ใจว่าเราพูดอย่างนี้ไม่ได้แล้ว เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นผู้พูดพรรคเดียว อย่างไรก็แล้วแต่ พรรคประชาธิปัตย์ยังจำเป็นต้องเน้นในเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นประชาธิปไตยไปไม่รอด เราต้องยึดหลักการ ส่วนนโยบายมีอะไรก็ว่ากันไป ขออย่าให้เป็นประชานิยมที่ใช้เงินอย่างมากมายมหาศาล ถ้าจะนโยบายอย่างนั้นต้องมีการควบคุมที่ดี จะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้”

ส่วนความเคลื่อนไหวของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. อนาคตจะเป็นเงาคู่กับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่นั้น นายพิชัยบอกว่า “เป็นสิ่งที่ผมคาดเดาได้ลำบากเหลือเกิน อนาคตเป็นสิ่งที่ผมตอบไม่ได้ แต่คิดว่าสุเทพก็คงไม่เอา ประชาธิปัตย์ก็ไม่ควรจะเอา นี่คือความเห็นส่วนตัว ผมเน้นย้ำอีกครั้งว่าขอให้ยึดหลักตามเดิม ตั้งแต่ผู้ใหญ่ในพรรคก่อตั้งพรรคขึ้นมา เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2489 คือเรื่องหลักการประชาธิปไตย”

“ส่วนคุณสุเทพจะไปทางไหนก็ปล่อยเขาไป โดยเฉพาะเรื่องนายกฯ คนนอก ผมคิดว่าไม่ควรเลย-ไม่ควรอย่างยิ่ง ที่ว่าไม่ควรไม่ใช่ว่าจะดูถูกคนนอก เพราะคนนอกดีๆ มีมากมาย เช่น พลเอกเปรม แต่เราจะหาพลเอกเปรม 2 ได้หรือไม่ ผมไม่มั่นใจนัก จึงเห็นว่าควรที่จะยืนหยัดในหลักการและต่อต้านเผด็จการ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นหลักการ ผมอายุ 92 แล้ว อีกกี่ปีจะตายก็ไม่รู้ ผมก็ยังยืนยันเรื่องนี้ เป็นหัวใจสำคัญ!”

“อย่างไรก็ตาม ผมยังเชื่อว่าความปรองดอง ยังพอมีหนทางที่จะเกิดขึ้นได้ ถามว่ามีใครลงมือทำอย่างจริงจังหรือยัง? หัวหน้ารัฐบาลได้ทำแล้วหรือไม่ หรือเพียงแค่พูด ผมเคยแนะนำว่าถ้าอยากให้เกิดความปรองดอง นายกฯ ต้องเป็นคนกลางเป็นประธานเชิญทุกฝ่ายมาประชุมร่วมกัน เอาเงื่อนไขของแต่ละฝ่ายมากางบนโต๊ะ เงื่อนไขใดที่ตรงกันและสามารถตกลงกันได้ อาจจะเหลือเพียงไม่กี่ปัจจัยที่ทำให้เกิดความคิดเห็นไม่ตรงกันและขัดแย้งกันก็หาทางออกร่วมกัน แต่นายกฯ ต้องลดความกร้าวลง ต้องพูดให้เป็น ให้นิ่มนวล ไม่งั้นไม่ปรองดอง แล้วจะดีขึ้นมาก บอกตรงๆ ว่าผมไม่อยากเห็นพลเอกประยุทธ์ เหมือนกับประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งบุคลิกภาพใช้ไม่ได้เลย!”

ที่สำคัญคือ “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการทำให้เกิดความปรองดองขึ้นในสังคมได้จริงๆ อย่าให้เกิดความรู้สึกว่ากระบวนการมีความสองมาตรฐานอยู่