ลพบุรี : เมืองหลวงสำรอง จอมพล ป.?/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ลพบุรี

: เมืองหลวงสำรอง จอมพล ป.?

 

หลังการปฏิวัติ 2475 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช ลพบุรีจากที่เคยเป็นเมืองที่มีเพียงหน่วยทหารเล็กๆ กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ ได้ถูกยกสถานะขึ้นเป็นเมืองทหารที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญในทางยุทธศาสตร์ใหม่ของประเทศ มีการย้ายหน่วยทหารหลายหน่วยจากกรุงเทพฯ ไปลพบุรีรวมถึงขยายหน่วยทหารที่มีอยู่เดิม

มีการออกพระราชกฤษฎีกาหลายฉบับ เริ่มตั้งแต่ในปี พ.ศ.2479 เพื่อกำหนดเขตหวงห้ามและเวนคืนที่ดินอย่างมหาศาลในเขตจังหวัดลพบุรี (ต่อเนื่องไปถึงสระบุรี) โดยเฉพาะที่ดินฝั่งตะวันออกของตัวเมืองเก่าลพบุรีไปจนถึงบริเวณโคกกระเทียม เพื่อกันไว้ใช้สำหรับกิจการทหารโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม จากหลักฐานที่มีในปัจจุบัน พบความน่าสนใจว่า รัฐบาลคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม อาจมองลพบุรีมากกว่าการเป็นเมืองทหาร

จะเข้าใจประเด็นนี้ได้ เราต้องย้อนกลับไปศึกษาโครงการย้ายเมืองหลวงของรัฐบาลคณะราษฎร โดยจอมพล ป.อีกครั้ง

แผนผังเมืองลพบุรีตามโครงการบูรณะเมืองใหม่ลพบุรี พ.ศ.2485

จอมพล ป.เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้เริ่มเสนอแนวคิดในการย้ายเมืองหลวงออกจากกรุงเทพฯ ในคณะรัฐมนตรีเมื่อ 28 มีนาคม พ.ศ.2480 ความตอนหนึ่งว่า

“…กะซวงกลาโหมรายงานว่า เวลานี้เหตุการน์ของโลกกำลังปั่นป่วนหยู่มาก มหาสงครามอาจอุบัติขึ้นอีกได้ เพื่อไห้ประเทสสยามรอดพ้นจากการรุกรานและภัยสงครามลงบ้าง จึ่งเสนอไห้รัถบาลดำริไนเรื่องต่อไปนี้ (๑) ควนคิดเปลี่ยนเมืองหลวงไปหยู่ลพบุรีเปนหย่างต่ำที่สุด เพื่อไห้พ้นยุทธบริเวน…”

อย่างไรก็ตาม การหารือดังกล่าว จอมพล ป.ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า

“…ลพบุรีเปนสูนย์กลางของการทหานเหมาะ แต่จะเปนเมืองหลวงยังสงสัย เพราะหน้าน้ำน้ำท่วม และหน้าแล้งไม่มีน้ำ…”

แม้ในครั้งนั้น ไม่มีใครคิดว่าลพบุรีเหมาะสมเป็นเมืองหลวงใหม่ แต่จากหลักฐานหลายอย่าง ชวนให้เราคิดได้ว่า จอมพล ป. น่าจะยังสนใจลพบุรีอยู่ และได้เตรียมการวางแผนพัฒนาเมืองไว้สำหรับการเป็น “เมืองหลวงสำรอง” ในสภาวะฉุกเฉิน

ในปี พ.ศ.2480 จอมพล ป.ทำเรื่องของบประมาณมากกว่า 1 ล้านบาท เพื่อใช้พัฒนาลพบุรี โดยมิใช่การพัฒนาเฉพาะแต่กิจการทางทหาร แต่ยังได้ทำการเวนคืนที่ดินขนาดใหญ่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองเก่าเพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้น

 

ประเด็นนี้ได้ก่อให้เกิดความสงสัยในหมู่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้มีการตั้งกระทู้ถามจากนายเตียง ศิริขันธ์ สส.สกลนคร ความตอนหนึ่งว่า

“…ตามโครงการที่จะบำรุงลพบุรี…ย่อมมองเห็นว่าเป็นการใหญ่โตมโหฬารมาก จึงอยากทราบว่า ทางการทหารได้ใช้เงินจำนวนไหน ใช้ไปแล้วเท่าไร และจะได้ใช้อีกเท่าไร…ข้าพเจ้าสงสัยว่าทางรัฐบาล คือทางคลังเห็นเป็นการสมควรแล้วหรือที่ให้สร้างสถานที่ โรงละคร โรงมหรสพ และโฮเต็ล ตลอดจนสิ่งอื่นๆ เพื่อบำรุงบำเรอข้าราชการ…”

จอมพล ป.ได้ลุกขึ้นตอบว่า

“…ในการสร้างลพบุรีนั้นใช้เงินงบประมาณ ได้ใช้ไปแล้วประมาณล้านบาท และจะใช้ต่อไปอีกประมาณเท่าใดนั้นขอสงวนไว้เป็นความลับ เพราะว่าถ้าเปิดเผยแล้วจำนวนเงินที่จะสร้างที่ลพบุรีต่อไปอีกนั้น ผู้อื่นอาจจะทราบได้ว่าเราจะทำอะไรต่อไปบ้าง…”

กระทู้ข้างต้น ทำให้เราเห็นว่าการพัฒนาลพบุรีของ จอมพล ป. ที่เป็นมากกว่าเมืองทหาร ต้องการจะสร้าง “เมืองลพบุรีใหม่” ที่พร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างทันสมัย ในลักษณะที่ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ

หลังจาก จอมพล ป.ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใน พ.ศ.2481 แนวคิดนี้ก็ยิ่งดูปรากฏชัดมากขึ้น ดังหลักฐานในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2482 ซึ่งอภิปรายถึงการก่อสร้างโรงเรียนและศาลากลางจังหวัดลพบุรีหลังใหม่ โดยในที่ประชุมกังวลถึงงบประมาณที่อาจมีไม่เพียงพอ จนจอมพล ป.ต้องย้ำถึงความสำคัญของการก่อสร้างนี้เอาไว้ว่า

“…ถ้าเกิดสงครามขึ้นโรงหนัง (โรงหนังทหานบก-ผู้เขียน) ก็จะใช้เป็นสภา โรงเรียน (โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย-ผู้เขียน) ก็จะใช้เป็นที่ว่าการ (ทำเนียบรัฐบาล-ผู้เขียน) จึงอยากจะสร้าง ปีนี้ไม่มีเงิน ปีหน้าพอมีใช้ แต่ต้องการปีนี้…”

 

หากพิจารณาลงในรายละเอียดของการวางผังเมือง เราจะยิ่งพบการออกแบบที่มีเป้าหมายมากไปกว่าการทำให้เป็นเมืองทหาร

การสร้างวงเวียนขนาดใหญ่สามวงเวียน ทอดตัวยาวไปในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก โดยวงเวียนแรกออกแบบล้อมรอบศาลพระกาฬ โดยมีการสร้างประตูค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งทำหน้าที่เป็นประตูเมืองเชื่อมต่อระหว่างเมืองลพบุรีเก่าและลพบุรีใหม่

วงเวียนที่สอง คือ วงเวียนสระแก้ว ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นเสมือนศูนย์กลางของสถานที่พักผ่อนและรมณียสถานของประชาชน มีการสร้างสวนสัตว์สมัยใหม่ในลักษณะคล้ายเขาดินวนาที่กรุงเทพฯ และไม่ไกลนักก็มีโรงหนังทหานบกอันทันสมัย รูปปั้นนางรำสมัยใหม่ ไปจนถึงวงเวียนกลางสระน้ำที่ล้อมรอบด้วยประติมากรรมคชสีห์ตามแนวทางศิลปะคณะราษฎร

ส่วนวงเวียนที่สาม คือ วงเวียนเทพสตรี (วงเวียนพระนารายณ์) ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมสถานที่ราชการใหม่ของเมือง ทั้งศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ และหน่วยราชการอีกหลายแห่ง

วงเวียนทั้งสาม มีถนนขนาดใหญ่ในลักษณะ Boulevard เชื่อมต่อการคมนาคมเข้าหากัน โดยมีโรงเรียน โรงแรม และอาคารพาณิชย์กระจายตัวอยู่สองข้างทาง ในลักษณะไม่ต่างกันกับถนนราชดำเนินกลางที่กรุงเทพฯ

ความน่าสนใจคือ กลางวงเวียนสระแก้วที่เป็นเสมือนศูนย์กลางเมืองใหม่ มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของเมือง รูปทรงคล้าย “พานแว่นฟ้า” โดยมีแท่งเทียนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านบน

น่าสังเกตคือ ในตำแหน่งขอบพานทุกด้านออกแบบเป็นตราสัญลักษณ์ประจำกระทรวงต่าง ๆ ที่สื่อความหมายถึงอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งหมด ซึ่งค่อนข้างแปลกที่มีการออกแบบสัญลักษณ์เช่นนี้ในพื้นที่นอกเมืองหลวง

ซึ่งจุดนี้เป็นหนึ่งในหลักฐานแวดล้อมที่ชวนให้คิดว่าหากมีความจำเป็น ลพบุรีอาจถูกยกระดับขึ้นเป็นเมืองหลวงสำรองในอนาคตได้

 

น่าสังเกตอีกข้อคือ ในคราวก่อสร้างโรงพยาบาลอานันทมหิดล ได้มีการขอพระบรมราชานุเคราะห์ในการก่อสร้างจากรัชกาลที่ 8 และขอพระบรมราชานุมัติขนานนามว่า “โรงพยาบาลมหิดล” ซึ่งต่อมาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ทำจดหมายตอบโดยอ้างถึงโบราณราชประเพณีที่กษัตริย์เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วมักจะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลใหญ่สร้างวัดวาอารามหรือสถานศึกษา (เช่น วชิราวุธวิทยาลัยในสมัยรัชกาลที่ 6) ขึ้นเป็นสัญลักษณ์

ด้วยเหตุนี้ คณะผู้สำเร็จราชการฯ จึงเห็นสมควรที่จะพระราชทานเงินหนึ่งแสนบาทร่วมในการสร้างโรงพยาบาล พร้อมทั้งพระราชทานนามโรงพยาบาลขึ้นใหม่ว่า “โรงพยาบาลอานันทมหิดล”

จากหลักฐานดังกล่าว ทำให้โรงพยาบาลอานันทมหิดล มีสถานะเป็นดั่ง “สถาปัตยกรรมประจำรัชกาล” ของรัชกาลที่ 8 ในรูปแบบเดียวกันกับวัดประจำรัชกาล หรือ โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยของรัชกาลที่ 6

จากข้อเท็จจริงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดเช่นกันที่สถาปัตยกรรมชิ้นสำคัญแห่งแรกประจำรัชกาลที่ 8 ถูกเลือกให้อยู่ในจังหวัดลพบุรี ในขณะที่ทุกรัชกาลก่อนหน้านี้ล้วนสร้างขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสถานะพิเศษของลพบุรีได้เป็นอย่างดี

 

ความพิเศษอีกประการ คือ ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2483 จอมพล ป.ได้กำหนดให้มีการทำพิธีเปิด “เมืองใหม่ลพบุรี” อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการทำพิธีเปิดในวันเดียวกับการทำพิธีเปิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนประชาธิปัตย์ (ถนนพหลโยธิน) โดยจอมพล ป.ได้เดินทางมาทำพิธีเปิดด้วยตัวเอง

การทำพิธีเปิดเมืองลักษณะนี้ไม่ปรากฏในที่อื่นอีกเลยแม้จังหวัดอื่นจะมีโครงการวางผังเมืองและการก่อสร้างขนาดใหญ่เช่นกัน ตัวอย่างเทียบเคียง คือ กรณีอยุธยาซึ่งก็ไม่มีการเรียกว่า “เมืองใหม่อยุธยา” และไม่มีการจัดพิธีเปิดเมือง

จากหลักฐานที่ยกมา ทั้งการขยายศูนย์กลางทางทหารในพื้นที่ การลงทุนสร้างเมืองใหม่ การกำหนดที่ตั้งรัฐสภาสำรองและทำเนียบรัฐบาลสำรองไว้ที่ลพบุรี รวมไปถึงสถานะพิเศษของโรงพยาบาลอานันทมหิดล ทั้งหมดชวนให้เราคิดเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากความตั้งใจของจอมพล ป. ที่จะให้ลพบุรีเป็น “เมืองหลวงสำรอง”

หรือแม้กระทั่งอาจจะถูกยกเป็นเมืองหลวงใหม่ของประเทศไทยเลยก็เป็นได้ หากไม่มีตัวเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่า

อย่างไรก็ตาม ในราวปี พ.ศ.2485 จอมพล ป.ก็ได้ตัดสินใจเลือกให้สระบุรี บริเวณพระพุทธบาท เป็นพื้นที่ในการสร้างเมืองหลวงใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งทำให้ “เมืองใหม่ลพบุรี” ถูกพัฒนาไปในฐานะเมืองศูนย์กลางทางทหารเพียงอย่างเดียวจวบจนกระทั่งในปัจจุบัน

และไม่เคยได้ทำหน้าที่ “เมืองหลวงสำรอง” ของประเทศไทยแต่อย่างใด

ใต้ภาพ

แผนผังเมืองลพบุรีตามโครงการบูรณะเมืองใหม่ลพบุรี พ.ศ.2485