เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก หลวงพ่อซ้ง วัดดอนตาเพชร พระเกจิชื่อดังกาญจนบุรี / โฟกัสพระเครื่อง : โคมคำ

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก

หลวงพ่อซ้ง วัดดอนตาเพชร

พระเกจิชื่อดังกาญจนบุรี

 

“หลวงพ่อซ้ง อินทสโร” หรือ “พระปลัดซ้ง” อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนตาเพชร ต.ดอนตาเพชร อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง พุทธาคมเป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวาง

เหรียญปั๊มรูปเหมือน ในห้วงที่ยังดำรงขันธ์อยู่นั้น ไม่ได้มีการสร้างเอาไว้เลย จะมีก็เพียงเครื่องรางของขลังเท่านั้น

เหรียญดังกล่าวสร้างขึ้นหลังจากละสังขารแล้ว จึงถือเป็นเหรียญรุ่นแรกและรุ่นเดียว

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2499 เพื่อเป็นที่ระลึกในฌาปนกิจศพ มีเฉพาะเนื้อทองแดงกะไหล่ทองและเนื้อทองแดงเท่านั้น ได้พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นร่วมกันปลุกเสก แต่จำนวนการสร้างไม่ได้บันทึกไว้เป็นหลักฐาน

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปเสมา แบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปจำลองครึ่งกายห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ ใต้รูปเขียนคำว่า “พระอุปัชฌาย์ซ้ง”

ด้านหลัง มียันต์พระเจ้าห้าพระองค์ ใต้ยันต์เขียนคำว่า “ที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ พระอุปัชฌาย์ซ้ง วัดดอนตาเพ็ชร์ ๒๔๙๙”

หลังจัดสร้างแล้วเสร็จ ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างมาก ถึงแม้จะเป็นเหรียญตาย ที่สร้างหลังมรณภาพไปแล้วก็ตาม

เหรียญหลวงพ่อซ้ง

อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า ซ้ง สงวนศักดิ์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2425 เป็นชาวบ้านบ้านทุ่งสมอ ต.ทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี บิดา-มารดาชื่อนายพุก และนางเย็น สงวนศักดิ์ มีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน 11 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 10

ต่อมาบิดาถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก มารดาจึงต้องรับภาระเลี้ยงดูพวกบุตรแต่ผู้เดียว ครั้นเมื่ออายุ 10 ปีเศษ จึงได้นำไปฝากท่านอาจารย์รอด วัดทุ่งสมอ เพื่อศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทยและขอม เพราะว่าในขณะนั้นตามชนบทยังไม่มีโรงเรียน

เล่าเรียนหนังสือไทยและขอมกับอาจารย์รอด จนอ่านออกเขียนได้

ต่อมามารดาย้ายภูมิลำเนาไปอยู่บ้านเพ็ญพาด ต.พังตรุ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี จึงขอลาตามไป เพื่อช่วยทางบ้านประกอบอาชีพ

แต่อยู่บ้านเพ็ญพาดไม่นานเท่าใด ครอบครัวก็ต้องอพยพไปอยู่บ้านดอนตาเพชร ต.พนมทวน อีกครั้ง

อายุ 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดทุ่งสมอ ต.ทุ่งสมอ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี มีพระครูสิงคิคุณธาดา (หลวงปู่ม่วง จันทสโร) วัดบ้านทวน เป็นพระอุปัชฌาย์

จำพรรษาที่วัดดอนงิ้ว 3 พรรษา จึงได้ไปสร้างวัดขึ้นใหม่ อยู่จำพรรษาอีก 6 พรรษา ที่วัดดอนตาเพชร จากนั้นจึงลาไปศึกษาพระปริยัติธรรมในจังหวัดพระนครและพักอยู่วัดใหม่คณิกาผล สอบได้ประกาศนียบัตรองค์นักธรรมชั้นตรี อยู่ศึกษา 6 ปี จึงกลับมาจำพรรษาที่วัดดอนตาเพชร

เห็นว่าที่วัดเก่าคับแคบมาก เพราะมีบ้านและนาอยู่ติดต่อกับวัด จึงย้ายมาตั้งที่ใหม่ ซึ่งอยู่คนละฝั่งคลองกับวัด อันมีชัยภูมิเหมาะดีและกว้างขวางมาก ต่อจากนั้นจึงสร้างกุฏิไม้ขึ้น 4 หลัง หลังละ 3 ห้อง

ต่อมาจึงทำเรื่องอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดจนเป็นผลสำเร็จ

หลวงพ่อซ้ง อินทสโร

อุปนิสัยชอบสงบ พอใจในการประพฤติและปฏิบัติธรรม ไม่ค่อยดุหรือว่ากล่าวใครนัก พูดน้อย ชอบปฏิบัติพระกัมมัฏฐานในตอนกลางคืน โดยใช้การจำวัดกลางวันพอประมาณ

นอกจากนี้ ยังเจียระไนเพชรเม็ดงามให้กับคณะสงฆ์กาญจนบุรีเป็นจำนวนมาก ดังเห็นได้จากลูกศิษย์ที่ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ มีตำแหน่งเป็นถึงเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรีถึง 2 รูป และเป็นเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส อาทิ

พระธรรมคุณาภรณ์ (ไพบูลย์ กตปุญโญ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี อดีตเจ้าอาวาสวัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้)

พระเทพเมธากร (ณรงค์ ปริสุทโธ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี และอดีตเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ประชุมชนาราม (วัดท่ามะขาม)

พระครูนิวิฐชยากร (หมุน อัคคจิตโต) อดีตเจ้าคณะอำเภอพนมทวน และอดีตเจ้าอาวาสวัดพังตรุ เป็นต้น

สร้างความประหลาดใจและประทับใจให้กับชาวดอนตาเพชร เมื่อคราวทำการผูกพัทธสีมา ตกราวปี พ.ศ.2494 ทางวัดได้รับความร่วมมือจากลูกศิษย์ที่เป็นนายทหารอากาศ นำเครื่องบินมาบริการให้ชาวบ้านได้นั่งรอบบริเวณวัด โดยนำรายได้จากค่านั่งเครื่องบินเข้าร่วมสมทบทุนสร้างอุโบสถ เป็นวัดเดียวของจังหวัดกาญจนบุรีที่สามารถนำเครื่องบินมาให้ชาวบ้านนั่งเป็นงานกุศล

มรณภาพลงด้วยโรคชรา เมื่อปี พ.ศ.2499 สิริอายุ 73 ปี พรรษา 51 •