ท่วงท่า และลีลา สำนวน พุทธทาสภิกขุ ว่าด้วย “จิตว่าง”

สังเกตหรือไม่ว่าพุทธทาสภิกขุเมื่อใช้คำย้ำคำมิได้มีไม้ยมก ตรงกันข้าม อย่างที่เห็นก็คือ “คำคำนี้” แทนที่จะเป็น “คำๆ นี้”

นี่สะท้อนให้เห็น “ท่วงทำนอง” สะท้อนให้เห็น “ลีลา”

ขณะเดียวกัน ตรงที่ระบุว่า เป็นความรู้สึกนึกคิดที่สำคัญมั่นหมาย ตรง “สำคัญมั่นหมาย” ได้เน้นอย่างพิเศษ

เมื่อนำมาตีพิมพ์ก็ให้เป็น “ตัวหนา” อย่างที่เรียกว่าเป็นอักษรประเภท “ฝรั่งเศส”

อย่าได้แปลกใจที่ตาแก่จะเสนอคำถามโดยพลันว่า “ทำไมท่านจึงไม่ใช้คำว่า “สำคัญมั่นหมาย” แต่ไปใช้คำว่ายึด ซึ่งทำให้รู้สึกเหมือนกับจิตมีมือ”

คำตอบจาก “หลวงตา” ครอบคลุมอย่างยิ่ง

คำว่าสำคัญมั่นหมายเป็นภาษาทางจิต เกิดทีหลังคำว่ายึดซึ่งเป็นภาษาทางวัตถุ คำว่ายึดย่อมแสดงภาพให้เห็นได้รุนแรงกว่า

ดังนั้น ภาษาธรรมะจึงนิยมใช้คำประเภทนี้ ซึ่งสั้น กะทัดรัดดีกว่า แต่กระทบความรู้สึกของผู้ฟังดีกว่า

มีคำอีกเป็นอันมากที่มีลักษณะหรือกฎเกณฑ์อย่างนี้

ตาแก่ยิงคำถามต่อไปว่า จิตที่คิดนึกอะไรง่วนอยู่โดยไม่มีความสำคัญมั่นหมายอะไรเลยนั้นจะมีได้อย่างไรกัน

เท่ากับเป็นการสอบลึกเข้าไปยังรายละเอียดของจิต

คำตอบจากหลวงตาก็คือ นี่แหละเป็นจุดที่จะต้องทำความเข้าใจกันให้ดี โดยสังเกตให้ดีๆ ถ้าสำคัญมั่นหมายด้วยความโง่ก็สำคัญมั่นหมายไปในทางเป็นตัวตนหรือของตน

มีอาการแห่งการยึดมั่น ถือมั่นแท้

แต่ถ้าสำคัญมั่นหมายโดยสติสัมปชัญญะหรือปัญญา เพื่อทำหน้าที่ไปตามหน้าที่และเพื่อหน้าที่ (ไม่ใช่เพื่อเงิน เพื่อเกียรติ หรือแม้แต่เพื่อมหากุศล ที่กำลังถูกเพ่งเล็งด้วยญาณวิปยุต) อย่างนี้ไม่เรียกว่ายึดมั่นถือมั่น

เพราะไม่ประกอบด้วยอุปาทานหรือความโง่

หรืออาจจะเรียกว่าเป็นสัจจะ หรืออธิฏฐานะ อย่างอื่นไป

คําถามจากตาแก่คือ ก็คนเรามิได้มีความโง่หรืออุปาทานเกิดอยู่เป็นประจำดอกหรือ เมื่อเป็นดังนั้นเสียแล้วจะสำคัญมั่นหมายโดยไม่มีความโง่ได้อย่างไรกัน

คำตอบจากหลวงตาดำเนินไปดังนี้

คนพวกหนึ่งเขาถือว่ากิเลสเกิดอยู่เป็นพื้นฐานไม่ขาดสาย คนมีความโง่หรืออวิชชาอยู่ในจิตไม่ขาดตอน ทำอะไร หรือแม้แต่อยากอะไรก็ต้องอยากไป ทำไป ด้วยความโง่หรือกิเลสทั้งนั้น

นั่นคือ พวกที่จะจมอยู่ในวัฏฏะอย่างไม่รู้จักผุดจักเกิดต่อไปอีกนานเป็นอสงไขยกัป

หลักธรรมในพุทธศาสนิกถือว่า ตามปรกติจิตนี้เป็นประภัสสร คือ ว่างจากกิเลสหรือความโง่ ต่อเมื่อมีอารมณ์มากระทบแล้วทำผิดไปในทางที่ขาดสติสัมปชัญญะหรือขาดความรู้ จึงจะเกิดโลภะ โทสะ โมหะ อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นตามสมควรแก่กรณี

ลักษณะประภัสสรนั้นใสกระจ่าง พอที่จะรู้จะเห็นอะไรได้ในระดับธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่าจิตหรือวิญญาณธาตุ

จึงไม่เรียกว่าเศร้าหมอง

นี้คือภาวะที่ว่างจากกิเลสอยู่โดยปรกติ หรือตามปรกติ และเป็นพื้นฐาน และเรียกว่ายังเป็นจิตที่ว่างจากอุปาทานอยู่เหมือนกัน (ไม่มีอุปาทานก็ยังไม่มีทุกข์) ครั้นมีเรื่องหรือมีอารมณ์มากระทบก็มีปัญหาอยู่ที่ว่า ภาวะประภัสสรนั้นจะสูญเสียไป เพราะกิเลสเกิดขึ้นครอบงำ

หรือว่ายังคงอยู่เป็นพื้นฐานของสติสัมปชัญญะหรือปัญญาต่อไปอีกหรือไม่เท่านั้น

ถ้าความเจนจัดแต่หนหลังมีมากพอจะเป็นไปในทางให้เกิดสติสัมปชัญญะหรือสมบูรณ์อยู่ด้วยความรู้ ก็อาจที่จะคิดหรือทำอะไร หรือสำคัญมั่นหมายอะไรไปในทางที่จะไม่เกิดทุกข์

กล่าวคือ ไม่เกิดโลภะ โทสะ โมหะ หรือความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกูหรือของกูนั่นเอง

นี่แหละคือการที่เราจะทำการคิดนึก หรือสำคัญมั่นหมายอะไรได้ โดยไม่ต้องมีความโง่เป็นทุน หรือเป็นพื้นฐาน

ดังที่คนบางพวกคิด

อย่าไปบัญญัติเอาเองว่า ขึ้นชื่อว่าความอยาก ความต้องการแล้วจะเป็นกิเลสตัณหาไปเสียทั้งนั้น ถ้ามีปัญญาหรือวิชชาเข้าเกี่ยวข้องแล้ว สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็นกิเลสไปไม่ได้

แต่จะกลับเป็นเครื่องประหัตประหารกิเลส หรือป้องกันกิเลสไปเสียเอง

ต้องยอมรับว่าเมื่อสำแดงออกผ่าน “ภาษาเขียน” รสชาติและความรับรู้แตกต่างไปจากอาการสำแดงออกผ่าน “ภาษาพูด”

ที่สัมผัสได้อย่างแน่นอน คือ ความรัดกุม

เป็นความรัดกุมในทางความคิด อันสะท้อนออกผ่านกระบวนการของการใช้คำ กระบวนการของการอธิบาย

เป็นเสน่ห์อันดำรงอยู่ภายในภาษาเขียนของท่านพุทธทาสภิกขุ

วิเวกา นาคร