ธงทอง จันทรางศุ | เมื่อจะถึง ’67’ ปี

ธงทอง จันทรางศุ

จากเก้าอี้ที่ผมนั่งอยู่ในขณะนี้ มองออกไปข้างนอกห้องทะลุกระจกใสที่อยู่รายรอบตัว มองเห็นต้นไม้ใหญ่น้อยจำนวนมากพอสมควร คั่นระยะสายตาก่อนถึงบ้านหลังใหม่ของน้องชายและครอบครัวของเขาที่ปลูกใกล้จะเสร็จเด่นเป็นสง่าอยู่ตรงหน้า

บ้านหลังใหม่นี้จะอยู่กันสี่คนจึงต้องมีพื้นที่ใช้สอยให้เพียงพอสำหรับการใช้งาน

นึกแล้วอุ่นใจดีเหมือนกันครับว่า ในอนาคตอันใกล้จะมีบ้านของน้องชายน้องสะใภ้และหลานสองคนมาอยู่ใกล้กันโดยไม่ต้องเดินออกไปนอกรั้วบ้านของเราเลย

เดือนมิถุนายนที่จะมาถึงคราวนี้ ผมจะมีอายุครบ 67 ปีบริบูรณ์ นึกถึงสมัยเมื่อตัวเองเป็นเด็ก เห็นคนแก่อายุ 67 ปีหงำเหงือกเต็มทน ยุคนั้นใครอายุเกิน 60 ปีย่อมถือว่ามีบุญมากแล้ว แต่มาถึงคราวของตัวเองเข้าจริงๆ กลับรู้สึกว่า อ๊ะ! ยังไม่ค่อยแก่เท่าไหร่ ฮา!

เมื่อนึกว่าอายุเฉลี่ยของคนไทยเวลานี้ ถ้าดูแลรักษาสุขภาพให้ดีพอสมควรก็น่าจะอยู่ไปได้จนถึง 80 ปีเป็นอย่างน้อย หักกลบลบเลขแล้วผมยังเหลือเวลาอีกตั้ง 13 ปี

แต่นี่ก็พูดไปตามวิชาสถิติเท่านั้นหรอกนะครับ ตามความจริงของชีวิตแล้ว ทุกอย่างเป็นไปตามวิชาสถิติทุกกระเบียดนิ้วเสียเมื่อไหร่ ใครเลยจะรู้ได้ว่า อีกหนึ่งชั่วโมงข้างหน้า เขียนบทความเรื่องนี้ยังไม่ทันเสร็จเลย ผมอาจจะหยุดหายใจเสียแล้วก็ได้

สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงสอนพวกเราว่า ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทเป็นนิจ

เริ่มตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก่อนก็แล้วกันครับ

บ่ายวันนี้ว่าจะตามตัวหลานสาวมานั่งคุยกันสักหน่อย หลานบอกว่าลุงอายุมากแล้ว ควรจดใส่กระดาษมอบให้หลานเก็บข้อมูลไว้ว่า แต่ละวันลุงกินยาอะไรบ้างในแต่ละมื้อ ตอนนี้ก็มื้อเช้าสามเม็ด ก่อนนอนอีกหนึ่งเม็ด หมอที่ลุงผูกปิ่นโตไว้และต้องไปหาเป็นประจำสามคน ไม่ว่าจะเป็นจักษุแพทย์ที่ดูแลเรื่องต้อกระจกก็ดี คุณหมอที่รักษาโรคกรดไหลย้อนที่เป็นโรคประจำตัวจนถึงขนาดเฉียดตายมาสองรอบแล้วก็ดี กับคุณหมออีกคนหนึ่งที่ช่วยดูเรื่องสุขภาพทั่วไป ชื่ออะไร อยู่โรงพยาบาลไหน หมายเลขโทรศัพท์อะไร มี LINE อยู่ในโทรศัพท์ของลุงบ้างหรือไม่

เวลาฉุกเฉินขึ้นมา ลุงอาการพะงาบๆ แล้วจะได้รู้ว่าควรจะโทร.หาใครแล้วบอกอะไรบ้าง

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำในวันสองวันนี้ คือพอบ้านหลังใหม่ของน้องชายใกล้จะปลูกสร้างเสร็จ ผมควรตามตัวช่างปูนช่างไม้ที่ทำงานอยู่มาปรึกษาว่า จากบ้านหลังที่ผมอยู่บนชั้นสองในเวลานี้ ถ้าผมย้ายลงมานอนห้องข้างล่างซึ่งเคยเป็นห้องนอนของแม่เมื่อครั้งที่แม่ยังมีชีวิตแล้ว ถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินทำให้ต้องมีใครมาโยกย้ายผมออกจากเตียงนอนไปขึ้นรถธรรมดาหรือรถพยาบาลก็แล้วแต่เพื่อพาตัวไปโรงพยาบาล จะใช้เส้นทางอย่างไรดีจึงจะขลุกขลักน้อยที่สุด

จำได้ดีครับว่าเมื่อเดือนเมษายน สองปีก่อน เป็นช่วงแรกที่ชาวโลกและชาวเรารู้จักกับโรคโควิด-19 รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว ไม่มีใครไปไหนมาไหนได้ ผมเองหยุดอยู่กับบ้านแล้วนอนดึกผิดปกติติดต่อกันหลายวัน

วันหนึ่งรู้สึกว่าบ้านหมุนขึ้นมา คุณหมอผู้รับแจ้งอาการทางโทรศัพท์เกรงว่าอาจจะเป็นเรื่องเส้นโลหิตในสมองแตก จึงรีบส่งรถพยาบาลมารับตัวผมไปโรงพยาบาล

วันนั้นทุลักทุเลมากครับ กว่าจะพาตัวผมลงไปจากบ้านซึ่งมีบันไดหลายขั้นลงถึงระดับพื้นดิน แล้ววางตัวผมลงบนเตียงพยาบาลขนาดเล็กเพื่อเข็นไปใส่รถพยาบาลได้

เรื่องมันเป็นอย่างนี้ จึงต้องวางแผนเตรียมการเผื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ผมอาจจะต้องทำทางลาดหรือเทปูนเพื่อให้การสัญจรจากห้องนอนไปลานจอดรถสะดวกขึ้น

นี่ก็หมดไปสองเรื่องแล้วนะครับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพทั้งสองข้อ

เรื่องต่อไปที่ต้องเตรียมตัวเผื่อวันข้างหน้าไว้ให้ชัดเจน คือเรื่องพินัยกรรม ในฐานะที่ผมเป็นนักกฎหมาย การทำพินัยกรรมสั่งการเผื่อตายไว้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก อย่าได้ไปคิดถือสาเลยครับว่าเป็นการสาปแช่งตัวเอง เพราะแช่งหรือไม่แช่งก็ตายด้วยกันทั้งนั้น

ข้อสำคัญคือตายแล้วอย่าให้คนข้างหลังเขาเดือดร้อน ต้องไปควานหาว่าสมบัติพัสถานของเรามีอะไรบ้าง และควรจะจัดการอย่างไร สมุดบัญชีธนาคารมีกี่เล่ม เก็บไว้ที่ไหนบ้าง ทำให้เป็นระบบเสียตั้งแต่วันนี้ก็สบายใจครับ นอนตายได้สนิท

ในฐานะคนคุ้นเคยกัน ผมอยากจะบอกว่า สมบัติที่เป็นทรัพย์สินเงินทองของผมไม่ได้มีจนล้นเหลือ มีแค่พอกินพอใช้อย่างที่เห็นกันอยู่ แต่ที่ผมร่ำรวยมากกว่าคนอื่นคือหนังสือครับ เคยมีคนมาประเมินด้วยสายตาคร่าวๆ ว่า หนังสือในบ้านผมน่าจะมีไม่น้อยกว่า 20,000 เล่ม

ส่วนมากก็เป็นหนังสือแนวเดียวกันคือเป็นเรื่องที่ผมสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา กฎหมายหรืออะไรทำนองนี้ อยู่บ้านก็อ่านหนังสือกันเพลินเชียวล่ะ คุ้มค่ากับที่สะสมมาตลอดชีวิต

อายุถึงขนาดนี้แล้วต้องวางแผนครับว่าตายแล้วจะให้หนังสือเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน

ถ้ากระจัดกระจายไปอยู่ตามห้องสมุดหลายแห่งก็เสียดายว่า จะเสียความเป็น “คอลเล็กชั่น” ที่มีลักษณะเฉพาะและน่าจะใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าง่ายกว่าถ้ายังอยู่รวมกัน

ข้อนี้ยังคิดไม่ออกว่าจะเขียนพินัยกรรมไว้อย่างไรดี

เขียนหนังสือมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ให้รู้สึกสะอึกขึ้นมาในอกว่า จนชั้นแต่ตัวจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ยังมาคิดห่วงโน่นห่วงนี่อีก ถ้าปลงธรรมสังเวชได้จริงก็ไม่ต้องห่วงอะไร ห่วงตัวเองว่าทำบุญมามากพอแล้วหรือไม่ นั่นแหละเป็นข้อสำคัญ

ถ้าคิดแบบที่ว่านี้ได้จริงทุกนาที คอยเตือนตัวเองอยู่เรื่อยๆ ผมคงจะมีความสุขกับเวลาในชีวิตที่เหลืออยู่อีกไม่มากได้เต็มที่ เห็นอะไร มองให้เป็นมุมบวกเสียก็สิ้นเรื่อง

แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์มาหลอกลวงเพราะอยากได้สตางค์เรา ก็อยากแนะนำให้เขาเปลี่ยนไปทำอาชีพสุจริต พอผมแนะนำไปแล้วเขาด่ากลับมา เราหัวเราะเสียหน่อยก็สบายใจ และอย่าไปคิดฟุ้งซ่านว่าประเทศเรามีหนึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับหนึ่งกระทรวงดีอี ทำไมจึงยังจับผู้ร้ายไม่ได้ ขำจัง

เห็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครบางคนเสนอนโยบายเฉิ่มเชยอะไรออกมา ก็หัวเราะอีก เพราะขำว่าเธอไปอยู่ที่ไหนมา ไม่รู้หรือว่าโลกหมุนไปข้างหน้าไกลแล้ว น่าสงสารจัง

ได้ยินข่าวเรื่องรัฐบาลตั้งคณะกรรมการชุดที่เก้าร้อยแปดสิบหกขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องสลากกินแบ่งราคาแพงเกิน 80 บาท แล้วบอกว่าจะทำให้เห็นผลทันตาภายในเดือนสองเดือน ผมก็หัวเราะร่วนไป เพราะอะไร ข้อนี้ไม่ต้องอธิบายนะครับ ฮา!

มองโลกให้สบายใจแบบนี้ดีเป็นบ้า

คนอื่นเขาเป็นบ้ากันไปหมดแล้ว แล้วเราจะรอดเป็นคนสติดีอยู่คนเดียวได้อย่างไร

ฮึ