อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (23)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (23)

 

ระยะสุดท้าย

พ.ศ.2561

อาการเข่าอ่อนไม่มีแรงของอาจินต์ยังอ่อนลงอย่างต่อเนื่อง 27 มกราคม จักรพาเดินต้องคอยโอบดึงขอบกางเกงพาขึ้นบ้าน ขึ้นได้แล้วขยับขาเดินต่อไม่ได้ กบต้องเอาเก้าอี้ขาวรองก้น ค่ำลง กินข้าวแล้วคุยไม่กี่คำก็บอกเหนื่อย จักรพูดว่าถ้าอีก 3 วันไม่ดีขึ้นต้องคิดแล้ว และอาจินต์ก็ดีขึ้นก่อน 3 วัน

13 มีนาคม 2561 ลงเดินได้ช้าๆ ขาขึ้นต้องช่วย

ในที่สุด เราตัดสินใจจะย้ายจากบ้านไม้ไปอยู่บ้านโรงสี ที่นี่ ลุงเดินรอบบ้านได้โดยไม่ต้องขึ้นลงบันได มันมีระเบียงที่กว้างพอไว้ให้เดินได้รอบบ้าน เราก็สุขสบายให้อาจินต์ได้เดินทุกเช้าเย็นโดยไม่ต้องออกแรงเข็นขึ้นลงบันได

แต่มันก็ไม่นานนัก

วันเวลาแห่งความสุขสบายมักสั้นเสมอ

 

วันสงกรานต์เดือนเมษายน 2561 ได้ต้อนรับทีมเดชา ศิริภัทร จากสุพรรณฯ เป็นครั้งสุดท้าย เขามาพร้อมกับยากัญชาชุดสุดท้ายเช่นกัน คราวนี้เขาเอาน้ำมันมะพร้าว กับน้ำมันกัญชาสกัด ใส่ไซริงค์มา ผสม 3% ให้ฉันบรรจุแคปซูลได้เอง มันใช้เวลาบรรจุนานมาก ฉันเคยทำเองมาหลายหนแล้ว เกรงใจไม่ต้องให้เขาทำให้

แล้ววันสุดท้ายของชีวิตอาจินต์ที่แก่งเสี้ยนก็มาถึง

เมื่อเมษายน เราพาอาจินต์ไปพักร้อนที่กรุงเทพฯ ระยะหนึ่ง พากลับมาเมื่อ 4 พฤษภาคม

รุ่งขึ้น 5 พฤษภาคม อาจินต์ปวดท้อง ปวดมาก ปกติถ้าจะพาไปโรงพยาบาลจะบอกไม่เป็นอะไร ไม่ไป แต่วันนี้รีบบอกให้พาไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ฉันรีบปรึกษาคุณเป้าหัวหน้าพยาบาลที่โรงพยาบาลพระยาพหลฯ และหมอนิทัศน์สามีคุณเป้า ซึ่งอยู่บ้านถัดจากบ้านเราลงไปข้างล่าง ทั้งสองรีบเดินขึ้นมาหาพร้อมอุปกรณ์ตรวจหัวใจเบื้องต้น ตรวจแล้วบอกถ้าจะรักษาที่กรุงเทพฯ ควรรีบเข้าไปเลย แล้วคุณเป้าก็จัดการหารถพยาบาลให้เข้ากรุงเทพฯ ทันที

เรามาถึงตึกฉุกเฉิน ER ที่ศิริราชกว่า 5 โมงเย็น หมอดูแลจัดการตรวจเบื้องต้น แล้วสั่ง admit ทันที เรารอการทำเอกสาร รอห้อง กว่าจะเสร็จย้ายเข้าตึก 72 ปี ชั้น 7 หอผู้ป่วยชาย ก็ใกล้เที่ยงคืน

 

เรื่องราวนับจากนี้ไปจนถึง 17 พฤศจิกายน เป็นเรื่องกระบวนการรักษา อาการขึ้นๆ ลงๆ ความเปลี่ยนแปลงที่ฉับไวเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย บางทีก็เหมือนหายดี รู้เรื่อง ยิ้มแย้มแจ่มใส คุยจ้อ แป๊บเดียวก็ทรุดลงอีก

เข้ามาวันแรก หมอตรวจเบื้องต้นให้นอนพักหนึ่งวัน ตรวจพบว่ามีหนองในตับ รุ่งขึ้นอีกวัน เข้า ICU ไปดูดหนองในตับออก รอพักให้ดีขึ้นแล้วจะต้องดูดถุงน้ำดีออก ยังไม่ดีขึ้นถึงขนาดนั้น ก็ย้ายจาก ICU ตึกสยามินทร์ไปอยู่ RCU ที่ตึกอัษฎางค์ แล้วก็ได้ย้ายออกอยู่ห้องพิเศษ คิดว่าใกล้จะได้กลับบ้านแล้ว พูดได้ เรียก…น้อยเอ๊ยๆ… ถามว่าพี่เป็นไรไหม …สบายมาก ต้องทำอะไรบ้าง… ไม่ต้องทำอะไรเลย นอนพักให้สบายๆ …ขอกินโอยัวะหน่อย ใส่กาแฟห้าช้อนนะ…พยาบาลบอกยังค่ะ ยังไม่ได้… งั้นขอช้อนเดียว… ก็ไม่ได้ค่ะ

ขึ้นเดือนมิถุนายน ถอดเครื่องช่วยหายใจแล้ว สบายแล้ว กบเป็นหวัดเลยได้พยาบาลเฝ้าไข้พิเศษอยู่คืนหนึ่ง รุ่งขึ้นเล่าว่า คุณลุงเรียกกบ… กบเอ๊ย ดูแลลุงดีๆ นะ ลุงกำลังไม่สบาย น้อยเอ๊ย น้อยดีที่สุด น่ารักที่สุด อาจินต์รักน้อยที่สุด อยู่กับน้อยอาจินต์มีความสุข… แล้วก็พูดถึงเพื่อนเก่าอีกสองคน ไม่รู้ใครค่ะ

รุ่งขึ้น พอเห็นฉันเข้าไปหาก็ยกสองมือจับมือทั้งสองข้าง จับมือไปแตะจมูก ตกกลางคืนก็ดึงสายยางให้อาหารออก หมอต้องบีบปากใส่เข้าไปใหม่ อีกไม่กี่วันก็ติดเชื้อปอด เข้า RCU รอบสอง

แล้วพยาบาลก็พูดเรื่องเจาะคอ ที่จริงพูดมาสองสามหนแล้ว ฉันยังไม่พยักหน้า เครียด

17 มิถุนายน หมอพูดว่า…ต้องทำใจ วันนี้อาการไม่ดี ดูทุรนทุราย ไหล่ซ้ายขวาสั่นดิกๆ เห็นหน้าฉันก็ได้แต่มองตาส่ายหน้าน้ำตาคลอ ดูเหนื่อยๆ heart rate กระโดดๆ

รุ่งขึ้น 18 มิถุนายน เช้า ไปถึงเห็นหมอพยาบาล 5-6 คน รุมอยู่รอบเตียงลุง หลอดลมตีบ 100% หมอนิธิพัฒน์มาคุยด้วยบอกว่า ตอนนี้ต้องทำให้ลุงเป็นอัมพาตชั่วคราวก่อน จากเหตุเมื่อวานก็เลยมีเยื่อหุ้มปอดซ้ายฉีก วันนี้เจาะเอาลมออก ตอนนี้ก็ต้องหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจเต็มร้อย

ผลสุดท้าย ก็ต้องเจาะคอจนได้

อัดอั้นมานาน เจาะคอแล้ว ฉันเดินไปมาหลั่งน้ำตานั่งอยู่หน้าตึกเวชศาสตร์โดยไม่รู้ตัว

 

กรกฎาคม พยาบาลบอกคุณลุงดีขึ้นแล้ว พอได้กลับบ้าน ต้องกลับไปดูแลเองที่บ้าน ให้กบไปฝึกพยาบาลลุงกับพยาบาลที่มาทำให้ดูและให้ทำไปด้วยทุกวัน

ต้องกลับไปเตรียมห้องที่จะให้ลุงอยู่ที่บ้าน ใช้เตียงพยาบาล ทำความสะอาดทุกซอกทุกมุมในห้อง ในบ้าน ใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้อาหารทางสายยาง ซักเครื่องนอนทุกวัน ต้องไปจัดเตรียมทุกอย่างให้ครบ เครื่องซักผ้าเสียต้องรีบเปลี่ยน

ฉันใช้เวลาเตรียมบ้านทั้งอาทิตย์ อาจินต์อยู่โรงพยาบาลกับกบและน้องผู้ช่วยพยาบาลอีกคน พอกลับไปหาอีกที อาจินต์จับมือสองข้างไม่ยอมปล่อย สองรอบ แต่เวลา suction ดูดเสมหะทีไรก็ทุกข์ทรมานมาก ส่ายหน้า เกร็งทั้งตัว น้ำตาคลอ

กรกฎาคม หมอศัลยกรรมคุยเรื่องเจาะกระเพาะให้อาหารแทนสอดทางจมูก ฉันคุยกับหมอนิธิพัฒน์ หมอให้เตรียมใจถ้าอาการหนักลง จะให้รักษาแบบไหน หมอบอกว่าคุณภาพชีวิตคุณลุงจำกัดลงมากแล้ว คุยสามสี่เรื่อง สายยางจากตับ จากหน้าท้อง สายอาหาร ทุกอย่างจะต้องยังคงอยู่ติดตัวไปบ้านด้วย

31 กรกฎาคม อาการดีอยู่ระยะหนึ่ง ติดเชื้ออีกแล้ว วันนี้เข้าไปดูตอนเช้าก็ยังดีอยู่ หลับ เข้าไปดูอีกทีบ่ายตามเวลาเยี่ยม ตกใจ หน้าตาบิดเบี้ยวคิ้วขมวด ส่ายหน้า น้ำตาไหล ต้องให้ออกซิเจนเครื่องใหญ่เต็มที่

สรุปกันไว้ว่า ต่อไปนี้ ถ้าต้องทำหัตถการใหญ่ เช่น ปั๊มหัวใจ เจาะเส้นเลือดดำ ไม่ทำ ถ้าเป็นหัตถการเล็กๆ ปกติก็ทำไป

สิงหาคม อาการดีมาตลอด แต่ก็ต้องกลับบ้านทั้งสายยางเต็มตัว เจาะคอ ต้องซื้อ bipap เครื่องทำ suction ด้วย นอกจากเครื่องให้ออกซิเจน ซึ่งหมอนิธิพัฒน์แนะนำและสั่งให้แล้ว

ด้วยสภาพอย่างที่เป็นอยู่ ฉันไม่มีทางจะดูแลที่บ้านได้ พี่ชายพี่สะใภ้ที่โรงพยาบาลบางไผ่ จึงต้องรับไปพักฟื้นต่อที่โรงพยาบาลบางไผ่ 21 สิงหาคม

ที่บางไผ่ หมอบอกจะดูแลตามที่ศิริราชทำทุกอย่าง สิ่งที่ศิริราชไม่ทำ ก็จะไม่ทำ

ลุ่มๆ ดอนๆ อยู่บางไผ่มานานพอสมควร ยิ่ง suction มากยิ่งน่าสงสาร มันเหนื่อย มันเจ็บ ทุกข์ทรมานจนไม่อยากมอง ดูดเสมหะทีก็ทรุดลงที นานเข้าๆ ก็หมดเรี่ยวหมดแรงลงไปเรื่อยๆ ติดเชื้อก็ง่าย เดี๋ยวก็ขาดออกซิเจน ขาดทีก็ลง ICU เสียที

เป็นแบบนี้ตลอดเวลาเกือบ 3 เดือน ขึ้นลง ICU หลายหนเหมือนๆ ที่ศิริราช

 

จนวันเกิดครบ 91 ปี 11 ตุลาคม ฉันนิมนต์พระมารับบาตรจากอาจินต์ข้างเตียงคนป่วย อาจินต์ก็หลับตาไม่ยอมลืม จับมือไหว้พระก็แข็งๆ ไม่เข้ารูป พระท่านบอกช่างเถอะๆ ไม่เป็นไร อย่าไปฝืน ปลายเดือนนี้ก็เกือบหมดแรงแล้ว แต่อาจินต์ก็แสนทรหด ลง ICU แล้วก็ขึ้นมาได้อีก

26 ตุลาคม เย็นอาการดีมาก ตาใสแจ๋ว คุยรู้เรื่อง ฉันพยายามคุย

“พี่รู้ไหมว่ากำลังอยู่ที่ไหน”

เงียบ

“อยู่โรงพยาบาลหรือเปล่า”

ส่ายหน้า

“งั้นอยู่ไหน บ้านหรือ?”

พยักหน้า

“บ้านไหน”

เงียบ

“บ้านสุทธิสารหรือ”

พยักหน้า

ตกค่ำ suction ทีเดียวก็เหนื่อย หลับตา ส่ายหน้าตลอด

“ส่ายหน้าแบบนี้จะบอกอะไรหรือ?”

พยักหน้า

“บอกว่าไม่สบายหรือ”

พยักหน้า

“รู้แล้ว ไม่สบายถึงมารักษาที่โรงพยาบาลไง พี่เจ็บตรงไหน คอ ท้อง หรือ?”

ส่ายหน้า

“อ๋อ ไม่สบายรวมๆ ทั้งตัวใช่ไหม?”

พยักหน้า

“งั้นหลับซะนะ ค่ำแล้ว”

พยักหน้า

พฤศจิกายน อาการทรงๆ

วันที่ 8 หายใจไม่ดี เหนื่อย เสมหะเหนียว

วันที่ 9 ซึม ลง ICU

วันที่ 14 พยาบาลเอาเอกสารให้เซ็นยินยอมหรือไม่ยินยอมให้ทำอะไรบ้าง ความจริงก็เซ็นไปแล้วเยอะแยะ แต่มีเอกสารต้องเซ็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

วันที่ 17 อาจินต์เหน็ดเหนื่อยเกินไปแล้ว ฉันขึ้นลงๆ หลายหน

สักห้าโมงเย็น กบบอกว่าคุณลุงพูดกับกบว่า… “กบ อยู่น้อย…อยู่…กับ…น้อย”

สุดท้าย หมอพยาบาลยืนล้อมรอบเตียงลุงหลายคน บอกให้ฉันพูดอะไรกับลุงก็ได้ ลุงจะได้ยิน ฉันก้มลงข้างหู

“พี่อยากทำอะไร อยากไปไหน พี่ไปเลยนะ ทำใจสบายๆ ไม่ต้องห่วงอะไร” สักครู่เดียว พยาบาลก็ถอดสายทุกอย่างออก…

17:44 น. วันที่ 17 พฤศจิกายน 2561