เปิดใจ ผู้พันปุ่น ‘ศิธา ทิวารี’ จากคนขับเครื่องบินรบ สู่สนามรบการเลือกตั้งเมืองหลวง ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ จะทำอะไร ?

ถ้าเปรียบการทำงาน กทม.กับการขับเครื่องบินรบ น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ ในนามพรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า ศัตรูของเรา คือการที่ไปยึดมั่นในระเบียบแบบแผนต่างๆ โดยที่ไม่ได้มองถึงภารกิจหลักของ กทม. ที่จะดูแลคนกรุงเทพฯ

เช่น ปัจจุบันถ้าลงไปถามคนกรุงเทพฯ ทั้งหมด ว่ามีปัญหาที่คับข้องใจและอยากร้องเรียนกับ กทม.มากที่สุดคือ “เรื่องปากท้อง”

ถ้า กทม.บังคับใช้กฎหมายโดยที่ไม่ได้อำนวยหรือจัดสถานที่ หาที่ทางให้ประชาชนสามารถทำมาหากินได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหาบเร่แผงลอย หรืออื่นๆ เช่น ถ้ากระทบการสัญจรไปมาไม่สะดวกสบาย เราก็ต้องทำให้เกิดการสัญจรไปมาได้

แต่จุดไหนที่ขยับขยายการค้าขายได้สามารถอะลุ้มอล่วยได้ ผ่อนผันได้ ผู้ว่าฯ กทม.ควรจะทำ เพื่อให้ดีมานด์และซัพพลายมาเจอกัน ควรจัดสรรให้ดีและกวดขันดูแลไม่ให้มีการเบียดบังรายได้ประชาชน

ผู้พันปุ่นอธิบายว่า “คาแร็กเตอร์ของนักบิน” คือเราต้องแม่นในตำรา การทำหน้าที่ตรงนี้เราต้องรู้จักการประยุกต์ใช้ในสถานการณ์เฉพาะหน้า ดังนั้น ส่วนของผู้ว่าฯ กทม.ความเป็นพ่อเมืองหรือแม่บ้านของเมืองหลวง เราไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ตามตำราได้เพียงอย่างเดียว

ที่ผ่านมาจะมีคำถามหลายเรื่อง เช่นว่า ถ้าเกิดมีการชุมนุมในกรุงเทพฯ คุณจะจัดการอย่างไร? ผมมองว่าถ้ามีผู้ชุมนุมเข้ามาในพื้นที่ มีการกีดขวางการจราจร หรือทำผิดระเบียบปฏิบัติของกฎหมาย กรณีเช่นนี้เราต้อง Balance ระหว่างเรื่องมนุษยธรรมการช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ไม่ว่าจะเดือดร้อนจากจังหวัดไหนก็แล้วแต่ แต่ในเมื่อคุณเข้ามาอยู่ในบ้านเรา เราต้องเข้าไปดูแล ต้องแยกแยะว่าการอำนวยความสะดวก เช่น การบริการห้องน้ำต้องทำ

ขณะเดียวกันเราต้องใช้ความเป็นคนกลาง ที่จะไปเจรจากับหน่วยงานที่เป็นบ่อเกิดของข้อขัดแย้งหรือปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ให้เขาไปช่วยดูแลชาวบ้านและรับเรื่องไปแก้ไข เพื่อให้การกีดขวางการจราจรหรือกระทำผิดกฎหมายหายไปโดยเร็ว ผ่านการเจรจา แทนที่จะไปเข้มงวดว่าอันนั้นไม่ได้อันนี้ไม่ได้ เพราะประชาชนเขาก็เป็นคนที่ได้รับความเดือดร้อนมา เขาต้องการได้รับการแก้ไข

ถ้าเราไม่เป็นตัวกลาง อะไรก็ไปต่อไม่ได้ ผมคิดว่าพ่อเมืองต้องมีคาแร็กเตอร์ Balance ทุกอย่างให้ได้

: ถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ จะทำอะไรเป็นอย่างแรก?

สิ่งแรกที่จะทำคือการพูดคุยกับข้าราชการของกรุงเทพฯ ทั้งหมด พร้อมกับถ่ายทอดส่งข้อมูลให้กับบุคลากรทุกภาคส่วนรับรู้เพื่อปรับมายด์เซ็ตให้ตรงกัน ว่าที่เราเข้ามา เราจะไม่แก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก หรือจะทำแบบที่ผู้ว่าฯ กทม.ในอดีตทำมา จะต้องเปลี่ยนความคิด ให้ “การดูแลประชาชน” โดยให้ข้าราชการเป็นข้ารับใช้ประชาชน เพื่อให้คุ้มกับภาษีอากรที่ประชาชนจ่ายมา จะมีการจัดเรตติ้งตั้งแต่ผู้ว่าฯ ลงไปถึงรองผู้ว่าฯ-ข้าราชการทุกระดับชั้น

ส่วนในเรื่องนโยบาย ผมมองว่าฝนกำลังจะมา ประชาชนเดือดเรื่องน้ำท่วมจำนวนมาก และหลังเลือกตั้งเรากำลังจะเข้าสู่ฤดูฝนอีกแล้ว ระหว่างช่วงที่ไม่มีผู้ว่าฯ ตอนนี้เป็นรอยต่อสุญญากาศ ผมก็ไม่ทราบว่า กทม.ได้เตรียมการรับมือเรื่องนี้หรือยัง ผมเองวันแรกถ้าได้เข้าไปทำหน้าที่ ผมจะเทสต์ระบบการระบายน้ำของกรุงเทพมหานครเป็นอันดับแรก ในทุกเขต

ปัจจุบันการแก้ไขปัญหาของกรุงเทพฯ เราลงทุนกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำท่วมไปแล้วแสนกว่าล้าน แต่ระบบทำงานได้เพียงแค่ 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ผมมองว่าปัญหามันอยู่ที่การบริหารจัดการ ถ้าผมเข้าไปผมจะเทสต์การระบายน้ำ เราต้องทำให้อุปกรณ์ทุกอย่างทุกเครื่องมือที่เรามีทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่น้ำลำคลองต้องช่วยระบายน้ำ เราต้องพร่องน้ำในคลองให้รองรับตลอดเวลา ถ้ามีแก้มลิงก็ผันให้ไปอยู่ในพื้นที่แก้มลิงไม่ใช่ไปอยู่ในถนนที่กระทบคนสัญจร ผมมองว่าคลองเป็นหัวใจสำคัญเหมือนกับเส้นเลือดฝอย

ถ้าเราทดลองระบบเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำดีขึ้นกว่าปัจจุบันได้ เป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำให้เร็วที่สุด

: ทำไมถึงใช้สโลแกน จะทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่เคยทำ?

สิ่งที่เราจะทำในที่นี้ก็คือสิ่งที่คนกรุงเทพฯ เคยติดใจว่าทำไมปัญหาต่างๆ ไม่แก้ ไม่ทำ ทำไมถึงปล่อยให้สิ่งนี้ยังอยู่

เช่น ทำไมปล่อยให้คลองเน่าเหม็น ขยะเต็มเมือง ทำไมปล่อยให้น้ำท่วม สิ่งเหล่านี้เราจะเข้าไปทำ โดยที่เรามองปัญหาของกรุงเทพฯ เหมือนภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งมันลอยอยู่เหนือน้ำ ส่วนที่เราเห็นอยู่คือข้างบน

แต่ในส่วนที่เราพยายามจะแก้ไขอีก 10 ส่วนอยู่ในฐานข้างล่างที่ทำให้น้ำแข็งนี้มันลอยอยู่ มันคือก้อนที่อยู่ข้างใต้เราจะตีน้ำแข็งใต้ตรงนี้ ในสิ่งที่คนมองไม่เห็น เช่น องค์กรต่างๆ ของ กทม.ที่แฝงอยู่ เช่น กรุงเทพธนาคมเราไม่ได้บอกว่าไม่ดี เพียงแต่ว่าเราจะเข้าไปนำข้อมูลมาเปิดเผยให้โปร่งใสชัดเจน ว่าการทำงานเป็นอย่างไร งบประมาณเป็นอย่างไร สัญญาที่ไปดีลกับรถไฟฟ้าแบบไหน โดยเข้าไปทำอย่างจริงจังแบบไม่ลูบหน้าปะจมูก ไม่ทำงานแบบไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่

ผมจะเข้าไปทุบหม้อข้าว ทำลายสิ่งที่ปล่อยให้เกิดปัญหาแบบนี้ให้หมดสิ้น ผ่านการใช้เทคโนโลยีเข้ามาจัดการระบบของกรุงเทพฯ เราต้องฟังเสียงประชาชน ให้ประชาชนตรวจสอบถ่วงดุล และที่สำคัญต้องกระตุ้นให้ข้าราชการทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

: การเปิดตัวช้ากว่าเสียเปรียบหรือไม่

ก็มองว่าตัวเองเสียเปรียบในเรื่องการหาเสียง เพราะกว่าที่คนจะเข้าใจเรา อาจจะใกล้วันเลือกตั้งไปแล้ว และกว่าที่จะซึมซับรับข้อมูลทั้งหมดอาจจะผ่านวันเลือกตั้งไปแล้วก็ได้ ต้องยอมรับว่าตรงนี้เป็นจุดอ่อนจุดหนึ่ง แต่ผมมองว่าสิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอคือตัวผมเองเป็น ส.ส.กทม.ตั้งแต่ 2544 และโดนรัฐประหารตอนปี 2549 ต่อมาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ไม่ได้กลับเข้ามาทางการเมืองเบื้องหน้า แต่ว่าช่วยอยู่เบื้องหลังตลอด

ผมมีโอกาสช่วยคิดช่วยแก้ปัญหาชาวบ้าน ลงไปพูดคุยกับพี่น้องตลอดเวลา กระบวนการที่ผมใช้คือ การร่วมคิดร่วมใจร่วมทำ การร่วมใจคือเราเห็นว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในชุมชน เราก็ไปคุยกับชาวบ้านว่าเห็นด้วยหรือไม่ว่าควรจะต้องแก้ไข ถ้าเห็นด้วยให้มาร่วมใจกัน แล้วต่อมาก็ร่วมกันคิด ว่าจะทำอย่างไรดี วางแผนอย่างไร มีข้อเสนออย่างไร ก็มาร่วมกันทำ

ผมมีโอกาสอยู่ในกระบวนการแทบจะทุกปัญหาของกรุงเทพฯ ที่ถูกสะท้อนอยู่ในเขตคลองเตย ที่ผมเคยเป็น ส.ส.พื้นที่นี้มีอยู่ทุกปัญหา เพราะมีตั้งแต่ถนนสุขุมวิทย่านคนรวย มีถนนพระราม 4 ย่านร้านค้าขายมีตลาดคลองเตย ตลอดจนมีชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเป็นสลัมที่ใหญ่ที่สุด

ผมเองได้ช่วยงานคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มามากกว่า 22 ปี ในการร่วมคิด เราทำแบบนี้มาตลอด การที่ลงไปรับฟังปัญหา ผมคิดว่าน่าจะเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งผมเองเคยลงพื้นที่เคยคลุกคลีกับชาวบ้านเคยไปกินนอนกับชาวบ้านเป็นเดือนๆ มันทำให้เรามีโอกาสซึมซับและรู้ว่าปัญหาจะต้องแก้อย่างไรและได้ข้อมูลที่มาทำนโยบาย แม้ว่าตัวเองอ่อนการประชาสัมพันธ์ก็ตาม

อย่างช่วงนี้มีนักข่าวมาถามผมว่า สิ่งที่นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามพูดโน้มน้าวคน กทม.ช่วงที่ผ่านมา หรือลงพื้นที่ใน กทม.บ่อยๆ ว่าจะเอื้อใครหรือเปล่า

ในความคิดของผมท่านนายกฯ ควรลงไปทำในพื้นที่ให้ได้สัก 10 เปอร์เซ็นต์ของคุณหญิงสุดารัตน์ ควรลงสม่ำเสมอ ควรใส่ใจดูแลชาวบ้านให้เป็น ผมคิดว่า ณ เวลานี้ จะลงก็ไม่มีใครว่า แต่ที่คนเขาตั้งข้อสังเกตกันเพราะว่าที่ผ่านมาท่านไม่เคยลงเลย

จะบอกว่านั่งทำงานอยู่ที่ทำเนียบ ผมก็เช็กกับข้าราชการคนที่ไป Present งานกับนายกฯ เขาก็บอกว่าถึงเวลาในที่ประชุมเวลาจะนำเสนออะไรแกก็ทำนู่นทำนี่ไปเรื่อย กดอะไรไปต่างๆ พอถึงเวลา ก็ทุบโต๊ะว่าจะเอาแบบนี้

แล้วสิ่งที่คนตั้งใจทำข้อมูลมาพูด ข้อเสนอดีๆ ทั้งนั้นไม่ได้อยู่ในสิ่งที่นายกฯ พูดเลย เหมือนจะพูดให้จบๆ ไป นี่มันไม่ใช่การบริหารงาน มันไม่ใช่การรับฟัง มันไม่ใช่การระดมสมองจากคนที่เขารู้ปัญหาและนำมาตัดสินใจ

พล.อ.ประยุทธ์ควรจะลงพื้นที่ให้มากกว่านี้ให้มากๆ และควรจะลงมานานแล้ว เพราะอยู่มา 7-8 ปี ประเทศไทยจะก้าวหน้ามากกว่านี้ได้อีก ถ้าท่านใส่ใจปัญหาประชาชน หากอยากจะดูแลประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าท่านทำแบบนี้มาตลอด ก็จะได้รู้ลึกว่าประชาชนคิดกับท่านอย่างไร มันตรงกับสิ่งที่บุคคลรอบตัวท่านพูดให้ฟังหรือเปล่า แล้วจะได้กลับมาคิดทบทวนตัวเองว่าตกลงแล้วทำประโยชน์ให้ประเทศ หรือเป็นตัวถ่วงประเทศกันแน่?