วัดระยะห่าง ‘บิ๊กตู่-กองทัพ’ ส่งท้าย สนามไชย 1 ส่อง ออร่า ‘บิ๊กจอร์จ’ หลังคัมแบ๊ก ทร. ตท.23 ลุ้น ‘เสธ.แจ๊ค’ ‘อะดุง-ชลธิศ’ จ่อ/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

วัดระยะห่าง ‘บิ๊กตู่-กองทัพ’

ส่งท้าย สนามไชย 1

ส่อง ออร่า ‘บิ๊กจอร์จ’

หลังคัมแบ๊ก ทร.

ตท.23 ลุ้น ‘เสธ.แจ๊ค’

‘อะดุง-ชลธิศ’ จ่อ

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังถูกจับตามองในบทบาทของการเป็น รมว.กลาโหม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้เกิดระยะห่างกับ ผบ.เหล่าทัพมากขึ้นๆ

เพราะโดยรุ่นเตรียมทหาร 12 กับ ผบ.เหล่าทัพ ที่เป็น ตท.20, ตท.21 และ ตท.22 นั้น ก็ห่างกันอยู่ แถม ผบ.ทหารสูงสุด และ ผบ.ทบ.ก็ไม่ได้เป็น บูรพาพยัคฆ์ หรือทหารเสือราชินี ที่ทำงานใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์มา

ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์จึงต้องมีตัวเชื่อมประสานระยะห่างหรือช่องโหว่ กับ ผบ.เหล่าทัพ ทั้งบิ๊กช้าง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ที่เป็น ตท.16 และเป็น รมช.กลาโหมมาตั้งแต่ปี 2560

เมื่อมีเรื่องอะไร ผบ.เหล่าทัพก็จะคุยกับ พล.อ.ชัยชาญ ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์หากต้องการจะสื่อสารไปถึง ผบ.เหล่าทัพ ก็จะสั่งการผ่าน พล.อ.ชัยชาญ มากกว่าที่จะติดต่อทางโทรศัพท์ หรือพบปะพูดคุย หรือส่งไลน์สั่งการ แม้จะมีไลน์กลุ่มระหว่างนายกฯ กับ ผบ.เหล่าทัพก็ตาม

แต่กับ ผบ.เหล่าทัพที่เป็นทหารบก อย่างบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และบิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ที่ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะพอคุ้นเคยมาบ้าง ก็จะโทรศัพท์หรือไลน์สั่งการโดยตรง

แต่เป็นที่รู้กันว่าผู้ประสานสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์กับ ผบ.เหล่าทัพ ก็ยังคงเป็นบิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. ตท.20 ที่แม้วันนี้จะเป็นรองราชเลขาธิการแล้ว แต่ความเป็นน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ยังคงเหนียวแน่นและยังคงเป็นฝ่ายสนับสนุนเป็นกำลังสำคัญอยู่เบื้องหลัง

จึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งใช้การรับประทานอาหารในการกระชับสัมพันธ์ทางการเมืองกับพรรคร่วมรัฐบาล จะมีการใช้ดินเนอร์กระชับระยะห่างกับ ผบ.เหล่าทัพ จนมีประเพณีการรับประทานอาหารร่วมกันเดือนละครั้งเกิดขึ้น

แต่กระนั้น ระยะห่างก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ แม้แต่ในงานวันสถาปนากระทรวงกลาโหม 135 ปี เมื่อ 8 เมษายนที่ผ่านมา ที่ พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นประธานในงานเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ควบตำแหน่ง รมว.กลาโหมมา 3 ปี เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา ช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดกระทรวงกลาโหมจึงจัดงานวันสถาปนาเป็นการภายใน และมี พล.อ.ชัยชาญเป็นประธาน แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก และก็จะเป็นครั้งสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนที่จะจบสมัยครบเทอม หรืออาจจะจบโดยการยุบสภาก่อน

งานนี้ บิ๊กหน่อย พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ดูจะเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพคนเดียวในเวลานี้ที่เคยทำงานใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์มาสมัยอยู่ ป.พัน.21 รอ. ที่ขึ้นตรงกับ ร.21 รอ. เชิญผู้บัญชาการเหล่าทัพมาร่วมงานพร้อมหน้า

แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้แสดงออกถึงความสนิทสนมใกล้ชิดคุ้นเคยกับ ผบ.เหล่าทัพเท่าใดนัก แม้แต่กับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ที่บางจังหวะก็ดูมีระยะห่าง แต่ก็อาจเพราะเป็นงานพิธีการ

แม้จะมีรายงานข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดคุยกับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ในการรับประทานอาหารค่ำ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมาแล้วก็ตาม

แต่ด้วยภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องรีบกลับ และไม่ได้ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกับ ผบ.เหล่าทัพ และบรรดานายทหารระดับห้าเสือเหล่าทัพที่มากันพร้อมหน้า

จึงทำให้เกิดกระแสข่าวที่ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นรัฐบาล เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง คงจะไม่ควบ รมว.กลาโหมเอง แต่เร่งหาอดีตบิ๊กทหารน้องรักมาเป็น รมว.กลาโหมแทน เพื่อกระชับระยะห่างเรื่องรุ่น และเตรียมทหารอายุด้วย

พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ได้กังวลกับความสัมพันธ์หรือระยะห่างกับ ผบ.เหล่าทัพเท่าใดนัก จนเป็นช่องโหว่ให้เกิดกระแสข่าวลือเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายปลายปีนี้ที่อาจจะมีการขยับแบบฟ้าผ่าในบางตำแหน่ง ส่งท้ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเปิดทางสำหรับการกลับเข้ามาใหม่และจะไม่มีระยะห่างกับกองทัพและ ผบ.เหล่าทัพอีก

ดังนั้น การแต่งตั้งโยกย้ายในเดือนกันยายนนี้จึงถูกจับตามองอย่างยิ่งว่าจะมีการขยับผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปลัดกลาโหม และ ผบ.ทบ. ในสูตรสไลด์ข้าง เช่น กระแสข่าวลือก่อนหน้านี้หรือไม่

ในการขยับ พล.อ.เฉลิมพล ผบ.ทหารสูงสุด รุ่นพี่ ตท.21 ที่นั่งมา 2 ปีแล้ว ไปเป็นปลัดกลาโหม แทน พล.อ.วรเกียรติที่เกษียณพอดี แล้วโยก พล.อ.ณรงค์พันธ์ขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุดคอแดง คนที่ 2 และให้บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ (ตท.23) ผช.ผบ.ทบ. น้องรักสายทหารเสือราชินีของ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. เพื่อนั่งยาว 2 ปีจากเดิมที่จะต้องรอจน พล.อ.ณรงค์พันธ์ (ตท.22) เกษียณในเดือนกันยายน 2566 แล้วจึงจะได้ขึ้น และนั่งได้ปีเดียว เพราะจะเกษียณกันยายน 2567 แล้ว

ที่จะคงต้องรอดู “สัญญาณ” กันในอีกไม่นานนี้

 

ขณะที่กองทัพเรือ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา บิ๊กจอร์จ

พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์

ก็ได้กลับมาเป็น ผช.ผบ.ทร. โดยมีพิธีรายงานตัวกับบิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. และพิธีแสดงความยินดี ตามธรรมเนียมทหารเรือ พร้อมนายพลเรือที่ได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง

เช่นเดียวกับที่สมาคมภริยาทหารเรือ ที่คุณอ้อม ศิริรัตน์ นิลสมัย นายกสมาคมภริยา ทร. ก็เชิญคุณแดง จตุพร ชมเชิงแพทย์ ภริยา พล.ร.อ.เชิงชาย มารับหน้าที่อุปนายกสมาคม ตั้งแต่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา และถือเป็นการอำลา คุณสุนันท์ สมานรักษ์ ภริยาของบิ๊กปู พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ที่ถูกเด้งจาก ผช.ผบ.ทร.ไปเป็น รองเสธ.ทหาร บก.ทัพไทย ที่ก็มีสปิริต มาร่วมงานเป็นครั้งสุดท้าย

กล่าวกันใน ทร.ว่า ทั้ง พล.ร.อ.เชิงชาย และภริยา ได้รับการต้อนรับกลับ ทร.อย่างดี และดูมี “ออร่า” เปล่งประกาย เพราะเป็นว่าที่ ผบ.ทร. และนายกสมาคมภริยาทหารเรือ ที่ ใครๆ ก็จับตามอง

ในขณะที่แคนดิเดต ผบ.ทร.คนอื่นๆ ก็ล้วนต้องทำใจยอมรับการวางตัวทายาทของ พล.ร.อ.สมประสงค์

พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์

จากที่เดิมก่อนหน้านี้ บิ๊กโต้ง พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ รอง ผบ.ทร. ก็ยังถือว่ามีความหวัง ในฐานะที่อาวุโสสูงสุด และเป็นรุ่นพี่เตรียมทหาร 21 ในบรรดาแคนดิเดต ผบ.ทร.ทั้งหมด

แต่ด้วยเพราะถูกมองว่าเป็นน้องรักอีกคนหนึ่งของบิ๊กลือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีต ผบ.ทร. ที่มีเรื่องคาใจกับ พล.ร.อ.สมประสงค์ จึงย่อมไม่ใช่ตัวเลือกของ พล.ร.อ.สมประสงค์แน่

ส่วนบิ๊กวิน พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผบ.กองเรือยุทธการนั้น ยังถูกมองข้าม เพราะเป็นรุ่นน้อง ตท.25 ที่อาจต้องรอไปก่อน แม้จะเกษียณ 2568 แต่ถ้าไม่ได้ขึ้น ผบ.ทร.ในปลายนี้ ก็อาจถูกขยับ

จึงทำให้ เสธ.แจ๊ค พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ ( ตท.23) เสนาธิการทหารเรือ กลายเป็นแคนดิเดตอีกคนหนึ่งที่มีน้ำหนัก เพราะ พล.ร.อ.สมประสงค์ก็ไว้วางใจมอบหมายงานสำคัญให้ดูแลโดยเฉพาะโครงการเรือดำน้ำจีน

แม้ว่าจะขยับขึ้นตำแหน่งเจ้ากรมยุทธการทหารเรือ ในสมัย พล.ร.อ.ลือชัย และถูกจัดว่าเป็นสายตรง พล.ร.อ.ลือชัยด้วย แต่ความจริงแล้ว พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ไม่ได้สนิทสนมกับ พล.ร.อ.ลือชัยมาก่อน แต่เพราะเป็นคนที่ไม่ว่าใครเป็นนาย เป็นผู้บังคับบัญชา ก็ล้วนทำงานให้อย่างเต็มที่

แต่เป็นที่รู้กันดีในกองทัพเรือว่า พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์มีนายอยู่แค่ 3 คน คือ บิ๊กกบ พล.ร.อ.เถกิงศักดิ์ วังแก้ว อดีต เสธ.ทร. พล.ร.อ.สุรินทร์ เริงอารมณ์ อดีต เสธ.ทร. และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และบิ๊กหมอ พล.ร.อ.ชุมพล ปัจจุสานนท์ องคมนตรี อดีต ผบ.ทร.เท่านั้น ที่ไปมาหาสู่กันตามเทศกาลต่างๆ

จึงยังเป็นแคนดิเดตอีกคนหนึ่งที่ยังไม่อาจตัดชื่อออกไปจากแคนดิเดต ผบ.ทร. แต่ถือว่าโยกย้ายกันยายนนี้จะเป็นโอกาสลุ้นสุดท้ายแล้ว เพราะจะเกษียณราชการ กันยายน 2566 นี้แล้ว

แต่หาก พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์พลาดเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารเรือ ก็ยังมีเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 23 ที่กำลังขยับขึ้นมาเพื่อจ่อชิงเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารเรืออีกถึง 2 คน คือ บิ๊กดุง พล.ร.ท.อะดุง พันธุ์เอี่ยม เจ้ากรมสื่อสารทหารเรือฯ และบิ๊กโอ๋ พล.ร.ท.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ที่คาดหมายกันว่าในโยกย้ายเดือนกันยายนนี้จะขยับขึ้นห้าฉลามกองทัพเรือ

แต่อยู่ที่ว่าเพื่อนกันจะตกลงกันอย่างไรว่าจะให้ พล.ร.ท.อะดุง ขึ้นเป็น ผบ.ทร.ก่อน หรือให้ พล.ร.ท.ชลธิศ ขึ้นเป็น ผบ.ทร.ยาว 2 ปีเลย เพราะ พล.ร.ท.อะดุงเกษียณกันยายน 2567 ส่วน พล.ร.ท.ชลธิศเกษียณกันยายน 2568

ที่น่าสังเกตคือ ในการแต่งตั้งโยกย้ายเมษายนที่ผ่านมา การที่ พล.ร.อ.สมประสงค์ยังไม่ดัน พล.ร.ท.ชลธิศขึ้นรองเสนาธิการทหารเรือ ตามที่เคยมีกระแสข่าวก่อนหน้านั้น แต่ย้ายระนาบจากเจ้ากรมข่าวทหารเรือ ไปเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ก็ถูกมองว่าเป็นการรอ พล.ร.ท.อะดุงหรือไม่

นอกเหนือจากเหตุผลที่จะให้ พล.ร.ท.ชลธิศไปคุมการฟื้นศูนย์ฝึกทหารใหม่ที่ พล.ร.อ.สมประสงค์สั่งปัดฝุ่นใหม่ หลังจากที่ พล.ร.อ.ลือชัยสั่งยุบไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เพราะไม่เช่นนั้น พล.ร.ท.ชลธิศก็จะอาวุโสตำแหน่งกว่า หากขึ้นรองเสนาธิการทหารเรือก่อน

และเป็นจังหวะที่มี พล.ร.ท.อำนวย ทองรอด นายทหารรุ่นพี่ ที่อาวุโสกว่า จึงให้ขึ้นรอง เสธ.ทร.ไป

ที่สำคัญขึ้นอยู่กับ พล.ร.อ.เชิงชายด้วยว่า เมื่อขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารเรือแล้ว 1 ปี จะส่งไม้ต่อให้ใคร ซึ่งก็มีแนวโน้มว่าจะเป็น พล.ร.ท.ชลธิศ จะขึ้นเป็น ผบ.ทร.เลย 2 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม ผลพวงของสิ่งที่ พล.ร.อ.ลือชัยได้ทำไว้คือ การให้นายทหารเรือระดับเจ้ากรม ขึ้นห้าฉลามกองทัพเรือได้เลย โดยไม่ต้องผ่านรอง เสธ.ทร.ก่อน ก็ไม่ได้ถูกยกเลิก

แต่คาดว่า พล.ร.อ.สมประสงค์ก็จะใช้หลักการนี้ในการโยกย้ายครั้งต่อไป ในการดันทั้ง พล.ร.ท.อะดุง และ พล.ร.ท.ชลธิศ ขึ้นห้าฉลามทัพเรือ เพื่อเตรียมขึ้นชิงเก้าอี้แม่ทัพเรือคนต่อๆ ไป

นี่จึงเป็นเหตุผล ที่ยังไม่จำเป็นที่ พล.ร.อ.สมประสงค์จะดันทั้งคู่ขึ้นเป็นรองเสนาธิการทหารเรือในการโยกย้ายที่ผ่านมา แต่รอขยับขึ้นท็อปไฟว์ ในโยกย้ายกันยายนนี้ได้เลย

หากมองในระดับเจ้ากรม ก็ยังมีเจ้ากรมคลื่น พล.ร.ท.ปกครอง มนธาตุผลิน เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ที่ทำหน้าที่โฆษกกองทัพเรือด้วย ก็เป็น ตท.23 อีกคน ที่สามารถลุ้นขึ้นระดับท็อปไฟว์ได้เช่นกัน เห็นทีว่า ตท.23 คงจะต้องคุยกันเป็นการภายในก่อน ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นศึกภายใน ตท.23 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ครั้นจะให้ ตท.23 นั่งห้าฉลามทัพเรือ ถึง 3 หรือ 4 คนเลย ก็อาจจะมากไป ต้องกระจายรุ่น เพราะ พล.ร.อ.เชิงชาย เป็น ตท.22 ก็อาจจะเปิดทางให้ ตท.24 และ ตท.25 ด้วย

และที่สำคัญ ต้องรอดูว่า พล.ร.อ.สมประสงค์ก่อนเกษียณจะมีสัญญาใจใดกับ พล.ร.อ.เชิงชายไว้หรือไม่ ในการวางตัวทายาทในกองทัพเรือ

เพราะประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือหลายครั้งก็สะท้อนว่าสัญญาใจหรือสัญญาสุภาพบุรุษอาจไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เพราะเมื่อใครขึ้นมาเป็น ผบ.ทร. ก็ถือว่ามีอำนาจและจะตัดสินใจในสิ่งที่เห็นว่าเหมาะสมทั้งสิ้น

รวมทั้งต้องรอดูด้วยว่ายังคงมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหมในเวลานั้นอยู่หรือไม่

เหล่านี้เป็นเกมการเมืองในกองทัพ ศึกชิงอำนาจ ที่มีมาทุกยุคทุกสมัย