คนมองหนัง | ‘ทหารเกณฑ์คนเศร้า’ 2544-2565

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘ทหารเกณฑ์คนเศร้า’ 2544-2565

 

“ลมพัดต้นกล้า เดือนเมษาฯ ปีก่อน

พี่จำจากจร เมื่อตอนลมร้อนแผ่วมา

ทหารเกณฑ์คนยาก ต้องพรากจากลา

กอดน้องแก้วตา เจ้าอย่าร้องไห้

เห็นน้ำตาน้อง ใจพี่หมองหม่น

สงสารหน้ามน คนจนคงเหงาเศร้าใจ

แต่นี้ไปใครเล่า ช่วยเจ้าหว่านไถ

ห่วงน้องคนไกล ไม่อยากจากลา

จำพี่จำได้มั่น เมื่อวันสงกรานต์ปีกลาย

พี่สวมเสื้อลาย ส่วนแม่หวานใจเจ้าใส่เสื้อฟ้า

ได้กลิ่นแก้มนวล อบอวลน้ำปรุงฟุ้งมา

พี่ให้สัญญา จะกลับมาปีหน้าสงกรานต์

ข้างแรม 15 เดือนเมษาฯ ปีใหม่

พี่อยู่เดียวดาย คิดถึงขวัญใจไกลบ้าน

ทหารเกณฑ์คนเศร้า ห่วงเจ้านงคราญ

ผ่านพ้นสงกรานต์ ไม่ได้กลับไป”

“มนต์รักทรานซิสเตอร์” (2544) ผลงานการกำกับฯ และเขียนบทโดย “เป็นเอก รัตนเรือง” (ดัดแปลงจากนิยายของ “วัฒน์ วรรลยางกูร” ผู้ล่วงลับ) คือหนึ่งใน “หนังไทยรุ่นเก่า” ที่เพิ่งถูกนำมาจัดฉายใหม่ทางเน็ตฟลิกซ์

ผู้ที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ คงจะจดจำเหตุการณ์ที่ “แผน” (รับบทโดย “ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ”) ขณะเป็นทหารเกณฑ์ ออกไปเที่ยวงานรื่นเริงนอกค่าย แล้วมีโอกาสขึ้นไปประกวดร้องเพลงบนเวทีของวงดนตรีลูกทุ่งวงหนึ่งได้เป็นอย่างดี

เพลงที่ “แผน” เลือกมาขับร้องโดยปราศจากเสียงเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบ ก็คือเพลง “ทหารเกณฑ์คนเศร้า” ซึ่งไม่มีใครรู้จัก (ผู้กำกับฯ เหมือนจะปล่อยให้คนดูเข้าใจว่า “แผน” แต่งเพลงนี้ขึ้นมาด้วยตัวเอง)

ฉากร้องเพลงดังกล่าวถือเป็นซีนที่ดีที่สุดซีนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ทั้งยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักไส-ถีบส่งให้ชีวิตของหนุ่มบ้านนอกเช่น “แผน” ต้องไถลออกนอกลู่ทางไปอย่างมากมาย จนแทบกู่ไม่กลับ

หลายคนอาจไม่ทราบว่า แท้จริงแล้ว เพลง “ทหารเกณฑ์คนเศร้า” นั้นเป็นผลงานการประพันธ์ของ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” คนทำโฆษณารุ่นเดียวกับเป็นเอก ซึ่งเข้ามาแผ้วถาง-ปฏิรูปอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยหลัง พ.ศ.2540 พร้อมๆ กัน

“ทหารเกณฑ์คนเศร้า” ยังมีพี่น้อง-คู่แฝดอยู่อีกหนึ่งเพลง นั่นคือเพลง “แม่สาวเสื้อฟ้า” เพลงลูกทุ่ง-อะแคปเปลลา (ขับร้องโดย “วันชนะ เกิดดี”) ซึ่งวิศิษฏ์แต่งขึ้น แล้วนำไปใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง “หมานคร” ของตัวเอง

หากพิจารณาในแง่นี้ “วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง” จึงนับเป็น “คนทำหนัง” ซึ่งมีทักษะในการใช้ภาษาที่แพรวพราวและหลากหลายมากๆ คนหนึ่ง

เพราะเขาสามารถเขียนบทภาพยนตร์ได้ แต่งเพลงลูกทุ่งได้ และเขียนนิยายได้ (เช่น “คนจรดาบ” นิยายเลียนขนบการเขียนพงศาวดารและวรรณกรรมจีนกำลังภายใน ซึ่งเพิ่งตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน)

การได้ดูฉาก “แผน” ร้องเพลง “ทหารเกณฑ์คนเศร้า” ผ่านทางเน็ตฟลิกซ์ในปี 2565 มีความน่าสนใจอย่างไร?

ความน่าสนใจข้อแรกคือในกลางทศวรรษ 2540 ที่พรรคไทยรักไทยเพิ่งชนะเลือกตั้งหนแรก “ทักษิณ ชินวัตร” เพิ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรี และยังไม่มีความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์การเมือง (สีเสื้อ) อุบัติขึ้นในสังคม

คนชั้นกลางบางส่วน (อาทิ คนทำหนัง-ทำโฆษณาในอุตสาหกรรมบันเทิง) ก็เริ่มตั้งคำถามกับความชอบธรรมของนโยบาย “เกณฑ์ทหาร” กันแล้ว

ปัญหาของการ “เกณฑ์ทหาร” ที่ถูกบรรยายไว้ในเพลง “ทหารเกณฑ์คนเศร้า” ก็คือการต้องไกลบ้าน ห่างคนรัก และขาดแคลนแรงงานสำหรับภาคเกษตรกรรมในชนบท

ขณะที่เนื้อหาโดยรวมของหนัง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” นั้นบ่งชี้ว่าชีวิตคนหนุ่มจากชนบทอย่าง “แผน” ต้องเลอะเทอะ เละเทะ และ “ผิดแผน” ไปไกล ชนิดกลับไม่ได้ไปไม่ถึง แถมยังกลายเป็นคนพิกลพิการ ก็เพราะเขาต้องออกจากบ้านไปเป็น “ทหารเกณฑ์”

เท่ากับว่าเมื่อย้อนไปในช่วงสงกรานต์ของทศวรรษ 2540 (“มนต์รักทรานซิสเตอร์” ออกฉายตอนปลายเดือนธันวาคม 2544) คำถามที่มีต่อกระบวนการ “เกณฑ์ทหาร” ได้ล่องลอยอยู่แล้วในสังคมไทย

นี่จึงเป็นเชื้อมูลซึ่งดำรงอยู่มาเนิ่นนาน มิใช่อาการต่อต้านอำนาจรัฐและภาวะขบถอันแปลกปลอม ที่เพิ่งสร้างหรือก่อตัวขึ้นสดๆ ร้อนๆ เมื่อเร็วๆ นี้

ความน่าสนใจประการถัดมา คือ นัยยะความหมายของเพลง “ทหารเกณฑ์คนเศร้า” นั้นอาจผันแปรไปตามยุคสมัย

เช่น ถ้ามีใครได้ดู “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ตอนช่วงกลางทศวรรษ 2550 หลังสถานการณ์การเมืองปี 2552-53 “แผน” ก็อาจมิได้เป็นแค่คนหนุ่มไกลบ้าน ที่เฝ้าคิดถึงสาวคนรักในระหว่างเทศกาลสงกรานต์

แต่อาจมีคนดูหนังที่ตั้งคำถามขึ้นว่า “แผน” คือหนึ่งใน “ทหารเกณฑ์” ที่ถูกสั่งให้เคลื่อนพลเข้าไปปราบปรามผู้ชุมนุม “กลุ่มคนเสื้อแดง” ที่อาจเป็น “ญาติพี่น้อง” ร่วมสังคมชนบทของเขาเอง ด้วยหรือไม่?

และแน่นอนว่าถ้าคนรุ่นใหม่ได้เปิดดู “มนต์รักทรานซิสเตอร์” และฟังเพลง “ทหารเกณฑ์คนเศร้า” ผ่านทางเน็ตฟลิกซ์ในช่วงวันหยุดสงกรานต์ปี 2565

แนวคิดประเภท “สนับสนุนให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร” หรือ “ตัด-ลดงบประมาณกองทัพ” รวมทั้งคำถามใหญ่อย่าง “ทหารมีไว้ทำไม?” จะต้องผุดพรายขึ้นในกระแสความคิดของพวกเขา

ในฐานะแนวคิดใหม่อันเร่าร้อน-รุนแรง ที่สานต่ออุดมการณ์มาจากคำถามเก่าๆ ซึ่งปรากฏตัวแบบหลบๆ ซ่อนๆ มาอย่างยาวนาน

 

ประการสุดท้าย ถ้าสาระหลักของเพลง “ทหารเกณฑ์คนเศร้า” ณ ปี 2544 คือการพยายามเห็นอกเห็นใจลูกหลานชาวบ้านที่ต้องกลายมาเป็น “ทหารชั้นผู้น้อย” ในกรมกอง

ความหมายที่เปลี่ยนแปลงไปของเพลง “ทหารเกณฑ์คนเศร้า” ในช่วงสิบกว่าปีหลัง ก็แสดงให้เห็นถึงระยะห่างระหว่าง “สังคม” กับ “กองทัพ” ที่ถ่างกว้างออกมากขึ้น ผ่านความรู้สึกว่า “ทหาร” กับ “ประชาชน” ไม่ใช่พวกเดียวกัน

และ “ประชาชน” สามารถแสดงเจตจำนงเสรีว่าตนเองไม่ต้องการเป็น “ทหาร (เกณฑ์)” ออกมาได้อย่างชัดเจนขึ้น •

 

ชมคลิปเพลง ทหารเกณฑ์คนเศร้า ได้ที่นี่

 

ชมคลิปเพลง แม่สาวเสื้อฟ้า ได้ที่นี่