สุรชาติ บำรุงสุข : 100 ปี สยามเข้าสงครามโลก – บทบาทใหม่ทางยุทธศาสตร์

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ย้อนอ่าน สุรชาติ บำรุงสุข 100 ปี สยามเข้าสงครามโลก ตอน   7   6   5

“เป็นการยากที่จะจินตนาการว่า ผู้แทนไทยได้ตระหนักในความจริงหรือไม่ว่า การนั่งในการประชุมสันนิบาตชาติในวันที่ 10 มกราคม 1920 นั้น เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการก้าวสู่ยุคใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับโลก”

Stefan Hell

Siam and the League of Nations

โลกใหม่ของการเมืองระหว่างประเทศ

ผลตอบแทนทางยุทธศาสตร์สำคัญที่สยามได้รับจากการเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 1 มักจะถูกเน้นในเรื่องของการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค ซึ่งเป็นพันธะผูกมัดสยามมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 และกษัตริย์สยามจากรัชสมัยรัชกาลที่ 5 จึงทรงถือเป็นภารกิจที่จะต้องปลดเปลื้องภาระดังกล่าวให้ได้

การประกาศสงครามของราชสำนักสยามจึงให้ผลตอบแทนอย่างชัดเจนในกรณนี้ จนชัยชนะที่เกิดขึ้นในสงครามโลกได้กลายเป็นโอกาสอย่างมีนัยสำคัญที่เป็นช่องทางให้รัฐบาลสยามสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างจริงจัง

แต่ผลตอบแทนอีกประการที่อาจจะไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนักก็คือ ชัยชนะในสงครามโลกได้กลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับบทบาทของสยามในเวทีโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ด้วยชัยชนะที่เกิดขึ้น สยามกลายเป็น “สมาชิกผู้ก่อตั้ง” สันนิบาตชาติไปโดยปริยาย

ดังคำอธิบายของ Stefan Hell ในกรณีนี้ก็คือผู้แทนของสยาม “นั่งในโต๊ะประชุมแบบตามองตากับมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมของโลก”

ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ความขัดแย้งระหว่างสยามกับมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมพุ่งสูงขึ้นจนเกือบจะแปรเปลี่ยน “วิกฤตการณ์ปากน้ำ 2436” ให้กลายเป็นสงครามระหว่างสยามกับฝรั่งเศสได้ไม่ยากนัก

ขณะเดียวกันก็ขมขื่นกับความสัมพันธ์แบบไม่จริงใจกับอังกฤษ

แต่แล้วก็แทบไม่น่าเชื่อว่า สยามตัดสินใจเก็บวิกฤตการณ์และความหมองใจในอดีตไว้เป็นเพียงความทรงจำ

และพร้อมกันนี้ก็ตัดสินใจแสดงออกถึงการสนับสนุนรัฐมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมทั้งสองนี้อย่างเต็มที่ ด้วยการประกาศเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในปี 2460 (ค.ศ.1917) และในปี 2461 (ค.ศ.1918) กองทหารอาสาจากสยามก็เดินทางเข้าสู่สมรภูมิยุโรป…

นโยบายต่างประเทศของสยามจากปี 2436 ถึง 2460 แปรเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

การเข้าสู่สงครามเป็นช่องทางที่ทำให้สยามได้รับการยอมรับจากชาติมหาอำนาจตะวันตกมากขึ้น

แต่บทบาทที่สำคัญในฐานะของรัฐผู้ร่วมก่อตั้งสันนิบาตชาติเป็นกรณีที่ส่งเสริมสถานะของสยามในเวทีโลกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

และเป็นบทบาทที่สยามไม่เคยได้รับมาก่อนในเวทีระหว่างประเทศ

ดังนั้น ผลตอบแทนสำคัญนอกจากการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมได้สำเร็จแล้ว การที่มีผู้แทนสยามในโต๊ะประชุมของสันนิบาตชาติถือเป็นบทบาทใหม่ทางยุทธศาสตร์ที่ไม่อาจละเลยได้

และอาจกล่าวได้ว่า การมีสถานะเช่นนี้ในเวทีระหว่างประเทศเป็นจุดเริ่มต้นของ “การทูตยุคใหม่” ของสยามในเวลาต่อมา

ระเบียบใหม่หลังสงคราม

หากย้อนกลับสู่การยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2461 ก็จะเห็นได้ถึงความพยายามในการจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศขึ้น โดยหวังว่าองค์กรเช่นนี้จะสร้างการทูตแบบพหุภาคีที่จะสามารถระงับความขัดแย้งของรัฐมหาอำนาจในอนาคตได้ เพราะสภาวะของสงครามโลกที่เกิดขึ้นนั้นใหญ่จนดูจะเรียกว่าเป็น “มหาสงคราม” และทำลายล้างสิ่งต่างๆ มากเกินกว่าที่ผู้คนในยุคนั้นจะคาดคิด

อย่างไรก็ตาม ความยุ่งยากของการจัด “ระเบียบโลกใหม่” ของยุคหลังสงครามก็คือ เป้าหมายการสงครามของรัฐมหาอำนาจ (war aims) นั้นอาจจะแตกต่างกันออกไป

คงต้องยอมรับว่าเป้าหมายของฝ่ายมหาอำนาจกลางมีความชัดเจนในตัวเองก็คือ การดำรงรักษาสถานะจักรวรรดิของเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี และขณะเดียวกันก็มุ่งสู่การทำลายความท้าทายที่เซอร์เบียได้สร้างขึ้น

แต่สำหรับแนวคิดในการจัดระเบียบของฝ่ายสัมพันธมิตรดูจะมีความสับสน เพราะมีเป้าประสงค์หลายอย่างดำรงอยู่ จนไม่เกิดความชัดเจนว่าถ้าสงครามยุติได้จริงแล้ว รัฐมหาอำนาจของฝ่ายสัมพันธมิตรต้องการอะไร

เว้นแต่เราอาจจะถือเอาว่า “คำประกาศ 14 ประการ” ของประธานาธิบดี วู้ดโร วิลสัน คือเป้าหมายของการสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งก็อาจไม่จริงทั้งหมด

ดังนั้น ภายใต้ความต้องการและเป้าประสงค์ที่ทับซ้อนกันของปัญหาหลายๆ ประการของฝ่ายสัมพันธมิตร การเปิดการประชุมสันติภาพในเดือนพฤษภาคม 2462 (ค.ศ.1919) จึงประสบปัญหาของการขาดความชัดเจนในทิศทางของการจัด “ระเบียบโลกใหม่” อย่างน้อยจะเห็นได้ว่าทิศทางความต้องการของ 3 รัฐมหาอำนาจหลักของฝ่ายสัมพันธมิตร คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกานั้น มีความแตกต่างกันอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองจากทิศทางความต้องการของฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสที่เสนอระเบียบใหม่ในปัญหาเยอรมนีแตกต่างกัน

แต่สุดท้าย ปัญหาของมุมมองที่แตกต่างกันต่ออนาคตของโลกเช่นนี้ก็จบลงด้วยการประชุมในเดือนมิถุนายน 2462 เพื่อจัดทำ “สนธิสัญญาแวร์ซายส์” สำหรับการยอมแพ้ของจักรวรรดิเยอรมนีโดยตรง

และเป็นที่รับรู้กันว่าข้อกำหนดในสนธิสัญญาสำหรับเยอรมนีเช่นนี้มีความรุนแรงอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการควบคุมทางทหาร

และการเก็บค่าปฏิกรรมสงครามในฐานะรัฐผู้แพ้ และขณะเดียวกันฝ่ายสัมพันธมิตรก็แยกทำความตกลงกับรัฐผู้แพ้สงครามอื่นๆ ของฝ่ายมหาอำนาจกลาง

ในอีกส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบโลกหลังสงครามก็คือการจัดตั้ง “สันนิบาตชาติ” (The League of Nations) ซึ่งสันนิบาตชาตินี้ถือเป็นดังผลผลิตทางความคิดของผู้นำสหรัฐคือประธานาธิบดีวิลสัน แต่ว่าที่จริงแล้วทั้งผู้แทนอังกฤษ ฝรั่งเศส และแอฟริกาใต้ก็มีส่วนอย่างสำคัญในทางความคิด

และในวันที่ 10 มกราคม 2462 (ค.ศ.1920 นับตามปฏิทินสากล) ผู้แทนของประเทศต่างๆ ก็ร่วมลงนามในการก่อตั้งสันนิบาตชาติขึ้น ซึ่งก็เป็นวันเดียวกับการที่สนธิสัญญาแวร์ซายส์มีผลบังคับใช้

สันนิบาตชาติมีสำนักงานใหญ่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการหลัก คือ

1) การรักษาสันติภาพด้วยระบบ “ความมั่นคงร่วม” (collective security)

และ 2) สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐ โดยมีสมาชิกก่อตั้ง 42 ประเทศ

ในสถานการณ์ของยุคหลังสงครามเช่นนี้ คงต้องถือว่าสันนิบาตชาติมีฐานะเป็นกลไกหลักในการจัดระเบียบการเมืองใหม่ของโลก

และถ้าเช่นนั้นสยามอยู่ตรงไหนและมีบทบาทอย่างไรในสันนิบาตชาติ เช่นเดียวกันก็คือแล้วสันนิบาตชาติอยู่ตรงไหนในนโยบายต่างประเทศของสยาม

สยามกับระเบียบโลกใหม่

สําหรับรัฐบาลสยามแล้ว ชัยชนะในฐานะรัฐผู้เข้าร่วมสงครามกลายเป็น “ของขวัญชิ้นใหญ่” ในทางการเมืองระหว่างประเทศ

รัชกาลที่ 6 ทรงมีความชัดเจนในทางนโยบายว่า สยามจะต้องอยู่ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรระหว่างประเทศที่ถือกำเนิดขึ้นเพื่อการจัดระเบียบโลกใหม่

และพระองค์ได้รับสั่งในเดือนมกราคม 2462 ว่า สยามจะต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติที่มีหน้าที่ในการกำหนดกิจการของโลกให้เป็นไปตามหลักของความถูกต้องและยุติธรรม

และผลจากการดำเนินการทั้งทางการเมืองและการทูต ในที่สุดรัฐบาลสยามก็สามารถผลักดันตนเองเข้าสู่การเป็น “รัฐผู้ตั้ง” สันนิบาตชาติได้สำเร็จ และในการประชุมครั้งแรกของสันนิบาตชาติที่ทะเลสาบเจนีวาในวันที่ 10 มกราคม 2462 ผู้แทนของรัฐบาลสยามก็นั่งเป็นหนึ่งในสมาชิกการประชุมก่อตั้งองค์กรนี้

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่สยามจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกในองค์กรระหว่างประเทศเช่นสันนิบาตชาตินั้น สยามมีโอกาสในเวทีระหว่างประเทศแบบพหุภาคีมาก่อนแล้ว ได้แก่ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพไปรษณีย์สากล (The Universal Postal Union, 1878) การประชุมสันติภาพครั้งแรกที่กรุงเฮก (The First Hague Peace Conference, 1899) คณะกรรมการฝิ่นเซี่ยงไฮ้ (The Shanghai Opium Commission, 1909) การประชุมเรื่องฝิ่นที่กรุงเฮก (The Hague Opium Conference, 1911) และการประชุมโทรเลขสากล (The International Telegraph Convention, 1911)

จากสมาชิกภาพของสยามในข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่า ผู้แทนของรัฐบาลสยามมีประสบการณ์กับการประชุมแบบพหุภาคีในเวทีระหว่างประเทศมาแล้วก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ

ฉะนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าบทบาทของการเข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศจึงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่สำหรับผู้แทนของรัฐบาลสยามแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังเห็นได้ชัดว่า เมื่อสยามเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรแล้ว ในเดือนธันวาคม 2461 (ค.ศ.1918) ผู้แทนของรัฐบาลสี่มหาอำนาจใหญ่ของโลกได้เชิญสยามให้เข้าร่วมการประชุมสันติภาพปารีสด้วย (The Paris Peace Talk, 1919)

ซึ่งการได้รับเชิญเช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนถึง “สถานะใหม่” ของสยามในเวทีระหว่างประเทศ

เพราะแต่เดิมในยุคก่อนสงครามนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เวทีการประชุมใหญ่ของการเมืองโลกจะมีผู้แทนของรัฐบาลสยามได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมด้วย

เพราะแม้สยามจะมีสถานะเป็นรัฐที่ไม่ได้ถูกยึดเป็นอาณานิคม

แต่ความเป็นรัฐเอกราชเช่นนี้ก็ไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นรัฐมหาอำนาจในแบบญี่ปุ่นหรือจีน

ในด้านหนึ่ง การมีที่นั่งในฐานะรัฐผู้ก่อตั้งสันนิบาตชาติทำให้เป็นโอกาสอย่างดีกับความพยายามของรัฐบาลสยามในการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

เพราะการเข้าร่วมการประชุมเช่นนี้ สยามสามารถผลักดันได้ว่าแนวคิดเรื่อง “ความเท่าเทียมระหว่างประเทศ” (international equality) ที่สันนิบาตชาติต้องการผลักดันนั้น ไม่ควรจะจำกัดอยู่กับภูมิภาคของโลกตะวันตกเท่านั้น แต่ควรจะครอบคลุมถึงภูมิภาคของโลกตะวันออกด้วย

ซึ่งก็จะเป็นโอกาสที่จะนำไปสู่การจัดความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันระหว่างสยามรัฐกับบรรดารัฐตะวันตกอื่นด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสยามเชื่อว่าการมีส่วนในสงครามน่าจะมีนัยหมายถึง “การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่” บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันในความสัมพันธ์กับรัฐตะวันตก

ดังนั้น ในการประชุมสันนิบาตชาติ ผู้แทนของสยามจึงมักเรียกร้องให้มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันระหว่างรัฐตะวันตกกับสมาชิกที่ไม่ใช่รัฐตะวันตก

และขณะเดียวกันผู้แทนของรัฐบาลสยามก็ย้ำว่าการเรียกร้องเช่นนี้

สยามไม่ได้มี “ความทะเยอทะยานหรือมีผลประโยชน์ที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของยุโรปแต่อย่างใด”

ขอบคุณภาพจากสถานทูตฝรั่งเศส

สยามกับสันนิบาตชาติ

แม้การประชุมคณะกรรมการของสันนิบาตชาติครั้งแรกในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2461 (ค.ศ.1919) ผู้แทนสยามอาจจะไม่มีโอกาสเข้าร่วมโดยตรง เพราะการประชุมครั้งนี้เป็นเรื่องของรัฐมหาอำนาจ และ 4 รัฐมหาอำนาจใหญ่คือสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลีต้องการจำกัดสมาชิกในการประชุมเพื่อให้เวทีไม่ใหญ่มากจนเกินไป

แต่ขณะเดียวกันการที่อังกฤษพยายามผลักดันให้อินเดียมีบทบาทในสันนิบาตชาติก็กลายเป็นโอกาสโดยตรงให้สยามสามารถใช้ข้ออ้างเดียวกันได้ และทั้งสยามยังอยู่ในฐานะรัฐผู้เข้าร่วมสงครามด้วย

ในการนี้อังกฤษเรียกร้องให้เวทีสันนิบาตชาติยอมรับอินเดียในฐานะ “รัฐเอกราช” ไม่ใช่ในฐานะ “เมืองขึ้น” ทั้งที่ในขณะนั้นอินเดียยังไม่ได้รับเอกราช

แต่ในสภาพเช่นนี้สยามก็ไม่ดำเนินนโยบายแบบรุกมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความเห็นตรงกันทั้งจากกรุงเทพฯ และผู้แทนสยามในสันนิบาตชาติว่าสยามจะไม่เอา 2 ประเด็นมาผูกโยงกันในเวทีการทูต

คือ จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคเข้ากับการมีบทบาทในสันนิบาตชาติ

ดังจะเห็นได้ว่า แม้กระบวนการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคอาจจะต้องเปิดการเจรจาและต่อรองทางการทูต

แต่สมาชิกภาพของสยามในสันนิบาตชาติได้มาโดยไม่ต้องอยู่ในสถานะของการกดดันและการเผชิญหน้า

ฉะนั้น จึงไม่ผิดนักที่จะประเมินว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งสันนิบาตชาติถือว่าเป็น “ความสำเร็จทางการทูตที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” ของสยามในยุคสมัยดังกล่าว

และเห็นได้ชัดว่าด้วยสถานะของการเป็นสมาชิกเช่นนี้ สยามได้รับการปฏิบัติในฐานะที่เป็นรัฐที่มีความเท่าเทียมกับบรรดารัฐมหาอำนาจตะวันตก

ซึ่งในอดีตนั้น รัฐเหล่านี้คือ “รัฐเจ้าอาณานิคม” ที่ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลาดังกล่าว สถานะระหว่างประเทศของสยามไม่อยู่ในฐานะที่จะเปรียบเทียบได้เลย