หมาก : ล้านนาคำเมือง

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “หมาก”

ในเอเชียหลายชาตินิยมกินหมากมาตั้งแต่โบราณ ไม่ว่าจะเป็นไทย ลาว เขมร พม่า มอญ อินโดนีเซีย คนล้านนาก็เป็นเช่นเดียวกัน

คนล้านนาโบราณ ทั้งหญิงชายกินหมากทั้งสิ้น กินแบบดิบ แบบตากแห้ง กินกับใบพลู ปูน สีเสียด เส้นยาสูบ เปลือกต้นก่อ กานพลู เป็นต้น โดยเอาปูนป้ายใบพลู เอายางจากต้นสีเสียดซึ่งมีรสฝาดมาแก้ความเป็นกรดของปูน เอาเปลือกก่อมาทุบให้เป็นเส้นๆ ก่อนนำมารวมกับหมากเป็นคำ เรียกว่า “สุบหมาก”

หมากยังมีบทบาทในพิธีกรรมวิถีล้านนาเสมอ เพียงแต่ปรากฏรูปแบบที่แตกต่างกัน เช่น หมากรวมทั้งพลู ที่ใส่ลงไปในขันตั้ง ใช้ในพิธีกรรมไหว้ครู สืบชะตา ดำหัว ฯ

ผลหมากสดที่เอามาจัดเป็นพุ่มถวายเจ้านาย ถวายวัด เรียกว่า “หมากเบ็ง” ถ้าเอาหมากแห้งที่ร้อยเป็นสายที่เรียกว่า หมากไหม มาจัดเป็นพุ่มทำนองเดียวกัน เรียกว่า “หมากสุ่ม” ซึ่งทุกวันนี้เราจะเห็นได้จากขบวนแห่ครัวทานทางภาคเหนือ

ในเมื่อหมากมีความสำคัญ คนล้านนามักจะปลูกต้นหมาก ต้นพลู เอาไว้ในบ้านเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้หมากพลูขาดมือ

หมากในอดีตกาล ถือเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง มีการเก็บภาษีหมาก ใครปลูกหมากมากก็เสียภาษีมาก

แล้วหมากก็กลายเป็นพืชการเมือง เมื่อการเก็บภาษีหมากทวีความโหด มหาโหดเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประมูลภาษีได้ มากขึ้นเรื่อยๆ

คนปลูกหมากได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จึงเข้าร้องเรียนต่อ “พญาผาบ” หรือ “พระยาปราบสงคราม” ซึ่งเป็นผู้นำท้องถิ่น ในสมัยนั้นมีระดับยศเทียบเท่ากำนัน

พญาผาบตัดสินใจเข้าข้างกับชาวบ้านออกเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรม

จนเกิด “กบฏพญาผาบ” ขึ้นที่ตำบลหนองจ๊อมและแขวงกอก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2432

สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง คนล้านนาผู้นิยมเคี้ยวหมากได้รับความเดือดร้อนหนัก เพราะหมากขาดแคลน

อำเภอสันทรายในสมัยนั้นเป็นที่อพยพหลบภัยญี่ปุ่นของคนจากเวียงเชียงใหม่ หลายๆ คนหันมาขายหมาก ซึ่งยามนั้นหมากขายดิบขายดีมีราคาสูง

กระทั่งทำให้คนจำนวนหนึ่งถึงกับร่ำรวยเป็นเศรษฐีได้จากการค้าหมากล้วนๆ

ถึงยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐบาลมีนโยบายห้ามเคี้ยวหมาก โดยอ้างว่าน้ำหมากทำให้บ้านเมืองสกปรก ทั้งประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่เคี้ยวหมากกัน

ทางการออกคำสั่งให้ตัดต้นหมาก ต้นพลูทั่วประเทศ

จากนั้นมาการเคี้ยวหมากของคนไทย รวมทั้งคนล้านนาก็ค่อยๆ หายไป

ทุกวันนี้บางบ้านในล้านนายังคงมีต้นหมาก ต้นพลูเหลือรอดมาได้ แม้ว่าจะมีจำนวนไม่มากนัก

แต่อำเภอสันทรายก็ยังคงเป็นแหล่งการค้าหมากที่สำคัญของภาคเหนือ

หมากดิบขายกันลูกละ 1 บาทในหน้าฝน และมีราคาสูงถึงลูกละ 5-7 บาทในยามแล้ง

ส่วนหมากไหม ปีนี้ ราคาดีมาก ราคาส่งคือ 100 เส้น ตก 2,000 บาท ราคาที่ร้านค้า 100 เส้น ขายกัน 2,500 บาท ถ้าขายปลีกตกเส้นละ 28-30 บาท

นับว่ามีราคาสูงลิ่วทีเดียว