กะหรี่ แรงงานที่ถูกลืม | คำ ผกา

คำ ผกา

ฉันได้ตั้งข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาที่กำลังจะเกิดขึ้น เราไม่พบเลยว่ามีแคนดิเดตนายกเมืองพัทยาคนไหนพูดเรื่องมาตรการดูแลสถานบันเทิงและอุตสาหกรรมการให้บริการทางเพศและแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้

ทั้งๆ ที่เราทุกคนรู้ดีว่าเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจเมืองพัทยาล้วนแต่ขับเคลื่อนจากธุรกิจและอุตสาหกรรมการให้บริการทางเพศอันมีผู้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้จำนวนมาก และเป็นประชากรหลักของเมืองพัทยา

เวลาที่พูดเรื่องอุตสาหกรรมการให้บริการทางเพศ และเศรษฐกิจของมัน เราทุกคนก็รู้ว่าไม่ได้มีแต่ sex workers แต่ผู้คนที่อยู่ในเศรษฐกิจนี้มีตั้งแต่พ่อค้าแม่ค้าขายอาหาร หาบเร่ แผงลอย คนขับวินมอเตอร์ไซค์ คนขับตุ๊กตุ๊ก หอพัก บ้านเช่า หรือแม้แต่เซเว่น อีเลฟเว่น ก็ทำมาค้าขายกับผู้คนเหล่านี้

ต่อให้อุตสาหกรรมการให้บริการทางเพศยังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่มันไมได้แปลว่า คนในอุตสาหกรรมนี้จะไม่อยู่ในโจทย์การพัฒนาเมืองหรือไม่ได้รับการคุ้มครอง ดูแล

ฉันเชื่อว่าในทางปฏิบัติ เมืองพัทยาก็น่าจะได้ดูแลพลเมืองกลุ่มนี้อยู่เสมอมา

แต่สิ่งที่ฉันสนใจคือ มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะเลิกกระมิดกระเมี้ยนในเรื่องนี้ เผชิญหน้ากับความจริง และเริ่มที่จะพูดถึงมันได้อย่างเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ

และในฐานะที่เป็น “ข้อเท็จจริง”

ตัวเลขอย่างเป็นทางการจากกลุ่ม swing องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับผู้ให้บริการทางเพศมายาวนาน บอกว่า ประเทศไทยมี sex workers อยู่ประมาณ 200,000 คน

ทั้งนี้ ยังไม่ได้รวมถึง sex workers ที่แฝงมาในรูปแบบของอาชีพอื่นๆ

ในแง่ของเม็ดเงิน ประมาณว่าหากรายได้จากการท่องเที่ยวของเราอยู่ร้อยละ 14 ของจีดีพี รายได้จากอุตสาหกรรมทางเพศน่าจะอยู่ที่ร้อย 2 ซึ่งมีเม็ดเงินประมาณ 3 แสนล้านบาท – และนี่เป็นจำนวนเงินไม่น้อย

สาหัสกว่านั้น ท่ามกลางวิกฤตโควิด ผู้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมทางเพศได้รับผลกระทบทางรายได้หนักมากเช่นเดียวกับคนในธุรกิจบันเทิง ดนตรี ท่องเที่ยว แต่คนเหล่านี้นอกจากจะอยู่ในลิสต์ของคนที่จะได้รับการเยียวยาจากรัฐ (ไม่ต้องพูดถึงการเยียวยานั้นก็กะพร่องกะแพร่งด้วย) ยังได้ชื่อว่าเป็นอาชีพที่ไม่พึงปรารถนา ทำผิดกฎหมายแล้วยังจะมีหน้ามาขอความช่วยเหลืออะไรจากรัฐอีก

และยังต้องหมายเหตุไว้ตรงนี้อีกว่า ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่แรงงานในหลายภาคส่วนได้รับผลกระทบ มีคนที่หลุดจากแรงงานในระบบต้องดิ้นรนหางานหาเงินมาเลี้ยงชีพให้ได้

และคนจำนวนมากต้องเลือกมาเป็นโสเภณีมือสมัครเล่น

ข้อมูลจากกลุ่ม swing เช่นกันบอกว่า มีโสเภณีสูงวัยอายุ 60-70 ปี เพิ่มขึ้นหลังวิกฤตโควิด

หรือแม่บ้านที่สามีตกงาน ตัวเองตกงาน สุดท้ายก็เลือกเป็นโสเภณีทั้งที่ไม่มีทั้งทักษะและประสบการณ์

นี่คือข้อเท็จจริงที่ฉันอยากถามสังคมไทยว่า เราพร้อมจะเผชิญหน้ากับมันอย่างที่มันเป็นแล้วหรือยัง?

อันดับแรก เราต้องรู้ว่า การค้าประเวณีไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ “วัฒนธรรมประเพณีไทยอันดีงาม” เพราะกฎหมายป้องกัน ป้องปรามการค้าประเวณีฉบับแรกของไทยเกิดขึ้นในปี 2503 ในยุคที่เผด็จการ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีแคมเปญให้คนไทยว่า สามล้อไม่ขี่ กะหรี่ไม่เที่ยว

แต่การทำให้โสเภณีผิดกฎหมาย ไม่ได้ทำให้อาชีพโสเภณีหายไป

ตรงกันข้าม ธุรกิจบ่อน ซ่อง หวย กลายเป็นบ่อเงินบ่อทองเอาไว้เลี้ยงดูเจ้าหน้าที่รัฐ แลกกับการคุ้มครอง กลายเป็นขุมอำนาจสีเทา ของเจ้าพ่อ มาเฟีย และทำให้ “การบังคับค้าประเวณี” กลับสาหัส หนักหน่วงขึ้น เพราะทุกอย่างที่ถูกผลักลงไปอยู่ใต้ดินย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย

และนั่นเท่ากับปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่าสกปรกเต็มรูปแบบ

เป็นบ่อเกิดแห่งการข่มขู่ รีดไถ จ่ายส่วย แบบที่เราคนไทยรู้จักกันดี

อันดับต่อมาเราพึงรู้ว่า คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการให้บริหารทางเพศ มีทุกเพศและมีทุกวัย สิ่งที่เราควรกังวลให้มากคือ หากธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนี้อยู่ใต้ดิน ผิดกฎหมาย เท่ากับว่า เราไม่มีทางรู้หรือปกป้องเด็กให้รอดพ้นจากขบวนการบังคับค้าประเวณีเลย

นั่นแปลว่ายิ่งปัญหาสังคมทวีความรุนแรง ยิ่งวิกฤตเศรษฐกิจทวีความรุนแรง มันมีความเสี่ยงสูงมากที่เด็กอายุต่ำว่า 18 หรือแม้แต่เด็กเล็กๆ ก็อาจถูกส่งไปบังคับค้าประเวณีได้

อันนี้มันน่าสยดสยองกว่าเรื่องศีลธรรมเมืองพุทธอะไรที่คนไทยชอบอ้างกันเสียอีก

สุดท้ายเราพึงรู้ว่า อุตสาหกรรมการให้บริหารทางเพศ ไม่ได้หมายถึงการ “ร่วมเพศ” เพียงอย่างเดียว

การให้บริการก็คือการให้บริการ และนิยามของคำว่า “มีเพศสัมพันธ์” ก็กินความกว้างขวางมาก กว้างขวางไปจนถึงการมีเพศสัมพันธ์เชิงเสมือน เป็น virtual reality หรือการนวด การเป็นเพื่อนเที่ยว งานเอ็นเตอร์เทน รับดริงก์ รับกินข้าว รับเป็นเพื่อนคุย รับจ้างเป็นแฟนเพื่อไปเยี่ยมพ่อแม่ที่แก่แล้ว

และอะไรต่อมิอะไรอีกร้อยแปดล้านอย่างเท่าที่มนุษย์จะจินตนาการได้ และเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ว่านี่คือความสุขทางเพศของใครสักคน เช่น บางคนใช้บริการ sex workers เพื่อให้นั่งดูตัวเองสำเร็จความใคร่ และอื่นๆ

ดังนั้น มันจึงถึงเวลาแล้วที่เราควรจะยอมรับว่า มันมีสิ่งนี้อยู่ และเราพึงปรับ เปลี่ยน แก้กฎหมายให้เป็นประโยชน์กับทุกอย่าง

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นคือการบังคับค้าประเวณี ซึ่งมันควรไปอยู่ในหมวดหมู่ของกฎหมายการค้าทาสและการค้ามนุษย์ ไม่ใช่อยู่ในกฎหมายการป้องปรามการค้าประเวณี

แล้วกฎหมายป้องปรามการค้าประเวณีล่ะ?

ไม่ต้องทำอะไร แค่ยกเลิกไปเท่านั้น แล้วหันไปปรับปรุงกฎหมายสถานบริการ จากนั้นเลิกไปนิยามว่าอะไรคือการค้าประเวณี อะไรไม่ใช่การค้าประเวณี เพราะการค้าประเวณีสมัยนี้สามารถทำ online มีเพศสัมพันธ์ผ่านบลูทูธได้แล้วด้วยซ้ำ

นี่ยังไม่พูดถึงนวัตกรรมของ sex toy wireless เชื่อมต่อสัญญาณอินเตอร์เน็ตทำให้การ “ร่วมเพศ” ไร้พรมแดนที่ไม่มีใครบอกได้อีกต่อไปแล้วว่า โลกจริงกับโลกเสมือนนั้น อะไร “จริง” กว่ากัน

การจ่ายเงินค่าบริการอาจจ่ายผ่านเหรียญคริปโต ผ่านสติ๊กเกอร์ ผ่านระบบ wallet ต่างๆ อันเป็นสกุลเงินนอกการจัดการของรัฐโดยสิ้นเชิงเพราะไปอยู่ในระบบ บล็อกเชน เป็นต้น

(เขียนไปก็ท้อใจเพราะราชการไทยยังไล่จับคนทำ only fan อยู่เลย)

เขียนมาทั้งหมดเพื่อจะบอกว่า เราไม่มีความจำเป็นต้องไปทำให้โสเภณีถูกกฎหมาย เพราะถึงที่สุดเราอาจจะนิยมคำว่า ขายบริการทางเพศ หรือโสเภณีไม่ได้เลย เอาเป็นว่า ในท่ามกลางความหลากหลายของรูปแบบการให้ “บริการ” ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและกำลังจะเกิดขึ้นในโลกอนาคต เราควรจะหยุดทุกอย่างไว้ที่คำว่า “คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมบริการ” ก็เพียงพอแล้ว

จากนั้นให้เจ้าตัวเขานิยามเองว่าเขาเป็น sex workers หรือเป็นอะไร

และหากเขาทำงานโดยมีนายจ้างและเป็นต้นสังกัด บริษัท ห้างร้าน อยู่ เขาก็คือ “ลูกจ้าง” เป็นแรงงานที่อยู่ในระบบ ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิแรงงานที่กฎหมายระบุ สามารถเข้าอยู่ในระบบประกันสังคมได้

เพียงเท่านี้ก็จะลดภาระของรัฐต่อการไปคัดกรอง แยกแยะ นิยาม เพราะมันจะจบแค่ลูกจ้างก็คือลูกจ้าง แรงงานก็คือแรงงาน เมื่อลูกจ้าง/แรงงานทั้งหมด ได้รับการคุ้มครองดูแล รัฐก็ไม่ต้องไปกังวลว่า คนเหล่านี้เมื่อแก่ตัวแล้วจะกลายคนนอกระบบ ตกงาน ยากจน กลายเป็นลักเล็กขโมยน้อย กลายเป็นคนป่วยกาย ป่วยจิต สุดท้ายมันก็มาจบที่เป็นภาระต่อรัฐอยู่ดี

สู้วางตำแหน่งแห่งหนให้เราได้รับการดูภายใต้สวัสดิการของรัฐ และระบบประกันสังคมก็จบ อย่างที่บอกว่า แรงงานก็คือแรงงาน จะขายตัวไม่ขายตัวก็คือแรงงาน

ส่วน sex workers ที่เป็น freelance รับงานอิสระ พวกเขาก็สามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมแบบ freelance และที่สำคัญทุกคนยังมีศักดิ์ มีสิทธิในฐานะพลเมืองของประเทศ จะเป็นนายกฯ หรือเป็นกะหรี่ก็เป็นพลเมืองของประเทศไทยเหมือนกัน พึงได้รับการดูจากรัฐโดยไม่เลือกปฏิบัติ

สําคัญที่สุด เมื่อเราลบอคติเรื่องการค้าบริการทางเพศ แต่หันมาโฟกัสที่ “คุณภาพชีวิต” ที่พลเมืองทุกคนพึงมีเหมือนๆ กัน จะทำให้รัฐมีสมองมีเวลา มาดูแล จัดการอุตสาหกรรมการให้บริการทางเพศให้มันปลอดภัย สวยงาม สนุกสนาน เป็นมิตร ทั้งต่อประชาชนในฐานะปัจเจกบุคคล และสังคมโดยรวมด้วย

พึงระลึกไว้เถอะว่า อะไรที่ลับหูลับตามันยิ่งสกปรกมันยิ่งอันตราย แต่อะไรที่อยู่ในที่แจ้งมันย่อมอยู่ในฐานะที่จะถูกตรวจสอบ ถูกประเมิน ถูกวิจารณ์ และนั่นเท่ากับว่ามันจะอยู่ในสถานะที่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ

หยุดหลอกตัวเองแล้วเริ่มถามตัวเองให้บ่อยขึ้นมา เราพูดและฟังเรื่องเรื่องตีกะหรี่ทั้งทางลบและทางบวกมาตลอดชีวิต

แต่ทำไมเราถึงเชื่อว่าประเทศนี้ไม่ควรมีกะหรี่

จากนั้นถามต่อว่า แล้วทำไมอาชีพกะหรี่จะถูกกฎหมายไม่ได้