บทบาท-ท่าที ‘ประยุทธ์’ กลางศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. คำเตือนจากพรรค ปชป. กรณี คลองโอ่งอ่าง/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

บทบาท-ท่าที ‘ประยุทธ์’

กลางศึกชิงผู้ว่าฯ กทม.

คำเตือนจากพรรค ปชป.

กรณี คลองโอ่งอ่าง

 

สรุปรวมจำนวนผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าฯ กทม. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ทั้งสิ้น 31 คน เรียงตามลำดับหมายเลขผู้สมัคร ดังนี้

หมายเลข 1 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล, หมายเลข 2 พ.ท.หญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล, หมายเลข 3 นายสกลธี ภัททิยกุล, หมายเลข 4 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์, หมายเลข 5 นายวีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ

หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, หมายเลข 7 น.ส.รสนา โตสิตระกูล, หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, หมายเลข 9 น.ส.วัชรี วรรณศรี, หมายเลข 10 นายศุภชัย ตันติคมน์

หมายเลข 11 น.ต.ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย, หมายเลข 12 นายประยูร ครองยศ พรรคไทยศรีวิไลย์, หมายเลข 13 นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์, หมายเลข 14 นายธเนตร วงษา, หมายเลข 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที

หมายเลข 16 น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์, หมายเลข 17 นายอุเทน ชาติภิญโญ, หมายเลข 18 น.ส.สุมนา พันธุ์ไพโรจน์, หมายเลข 19 นายไกรเดช บุนนาค, หมายเลข 20 นางอมรพรรณ อุ่นสุวรรณ

หมายเลข 21 นายนิพัทธ์พนธ์ สุวรรณชนะ, หมายเลข 22 นายวรัญชัย โชคชนะ, หมายเลข 23 นายเฉลิมพล อุตรัตน์, หมายเลข 24 นายโฆสิต สุวินิจจิต, หมายเลข 25 นายประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ

หมายเลข 26 พล.ต.ท.มณฑล เงินวัฒนะ, หมายเลข 27 นายภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์, หมายเลข 28 นายสราวุธ เบญจกุล, หมายเลข 29 นายกฤตชัย พยอมแย้ม, หมายเลข 30 นายพงศา ชูแนม และหมายเลข 31 นายวิทยา จังกอบพัฒนา

ใน 31 คน เป็นผู้สมัครสังกัดพรรค 4 คน ผู้สมัครอิสระ 27 คน

 

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เเละ ส.ก. 50 เขตครั้งนี้ ประชาชนคนกรุงเทพฯ ตื่นตัวกันมาก

ทำให้หลายคนเชื่อว่าผลเลือกตั้ง กทม. จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกไม่นาน

ด้วยความสำคัญดังกล่าวจึงได้มีการจับตาไปยังท่าทีฝ่ายอำนาจปัจจุบัน ว่าจะถือหางผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนใด ในฐานะจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งในภาพใหญ่ของการสืบต่ออำนาจ

โดยเฉพาะต่อท่าทีและการเเสดงออกของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจากการลงพื้นที่พบปะประชาชนย่านตลาดสะพานขาว การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมคลองโอ่งอ่าง หนึ่งในโครงการพัฒนาคูคลองของ กทม.

ที่ก่อให้เกิดเสียงครหาว่า มีจุดมุ่งหมายแฝงหาเสียงช่วยผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.บางคนหรือไม่

ด้วยทั้งสองกรณีไม่ได้เป็นภารกิจที่กำหนดไว้ล่วงหน้า แต่เกิดขึ้นแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. 50 เขต

โดยเฉพาะการลงพื้นที่คลองโอ่งอ่าง ของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ไม่เพียงตรงกับวันเปิดรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.วันแรก แต่ยังมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เดินขนาบข้าง

เสียงวิพากษ์วิจารณ์เริ่มขยายวงกว้าง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรีบชี้แจงปฏิเสธทันที

“ลงพื้นที่คลองโอ่งอ่างที่ตรงกับวันรับสมัครผู้ว่าฯ กทม. แล้วเกี่ยวอะไรกับผม วันไหนว่างผมก็จะไป ผมไปเกี่ยวอะไรกับเขา วิเคราะห์กันไปเอง ถ้าแบบนี้คงไม่ต้องไปไหนเลย นั่งอยู่แต่ทำเนียบรัฐบาลก็แล้วกัน”

“ที่เลือกไปคลองโอ่งอ่าง เพราะนึกขึ้นได้ว่าผมเป็นคนสนับสนุนโครงการนี้ขึ้นมา คลองสวยน้ำใส และคูคลองใน กทม.จะต้องได้รับการพัฒนา ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลและเป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ทำเรื่องเกี่ยวกับคูคลอง”

“ไม่มีอะไรผิดไม่มีอะไรถูกทั้งหมด ไม่มีอะไรดีทั้งหมด ฉะนั้นจึงไม่อยากให้ย้อนกลับไปที่เดิม ไม่อยากให้บ้านเมืองกลับไปที่เก่า ไม่อยากให้ กทม.กลับไปที่เดิม ไร้ระเบียบรกรุงรัง ซึ่งก็ดีขึ้นมาตั้งเยอะแล้วไม่ใช่หรือ จะทำอะไรต่อ ก็ทำกันต่อไปŽ”

ช่วงหนึ่งยังได้ชี้นำถึงคุณสมบัติผู้ว่าฯ กทม.

“ขอให้ทุกคนใช้สติและปัญญาในการใคร่ครวญการเลือกใครอะไรต่างๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญคือคนที่จะเข้ามารับหน้าที่เหล่านั้น ต้องเป็นคนที่มีคุณภาพ เป็นคนที่เป็นแบบอย่างสังคม เป็นคนที่มีทัศนคติที่ดี เรื่องความสามารถทุกคนเข้าเกณฑ์หมด”

“หวังอย่างยิ่งหากใครจะได้ตำแหน่งหรือเป็นอะไรขึ้นมา ขอให้เข้ามาแก้ปัญหาที่ผมเจอมาหลายร้อยปัญหา ที่สำคัญขอฝากถึงประชาชนต้องเลือกนักปฏิบัติที่ทำงานได้จริง ทำงานได้สำเร็จ มีผลงานปรากฏ ไม่ว่าจะอาชีพใดก็แล้วแต่ ที่ผ่านมาสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เป็นสิทธิ์ของท่าน 1 สิทธิ์ 1 เสียงอยู่แล้ว”

 

แม้จะปฏิเสธว่าการลงพื้นที่คลองโอ่งอ่าง ไม่ใช่การช่วยหาเสียงให้ใคร

แต่บางคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ทำให้เกิดการตีความว่าอาจเป็นการชี้นำ อย่างเช่น “จะทำอะไรต่อ ก็ทำกันต่อไป” หรือ “ให้เลือกนักปฏิบัติที่ทำงานได้จริง ทำงานได้สำเร็จ มีผลงานปรากฏ”

อันสอดรับกับสโลแกนหาเสียง “กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ” ของผู้สมัครบางคน

ต่อมาผู้สมัครคนดังกล่าวได้ลงพื้นที่เขตประเวศ นั่งเรือดูคลองประเวศบุรีรมย์ ตอกย้ำความพร้อมในการเข้าไปสานต่อโครงการคลองสวยน้ำใส

เมื่อทุกอย่าง “ถึงบางอ้อ” แม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่ส่งผู้สมัครชิงผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ก็ยังรู้สึก

นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตคำพูดและการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ไว้ว่า

คงมีคนตั้งคำถามถึงท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะการลงพื้นที่และให้สัมภาษณ์กับสื่อ แม้ระบุไม่เชียร์ใคร แต่คนส่วนใหญ่ที่ได้ยินได้อ่านต่างตีความหมายถึง พล.ต.อ.อัศวิน

โดยเฉพาะคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ว่า “จะทำอะไรต่อ” ดันสอดรับกับสโลแกนของ พล.ต.อ.อัศวิน ที่ว่า “กรุงเทพฯ ต้องไปต่อ” อย่างบังเอิญ?

ก่อนตามมาด้วยการลงพื้นที่คลองโอ่งอ่างของทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ ซึ่งแปลกตรงที่เลือกลงพื้นที่วันเดียวกับการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และเป็นภารกิจที่ไม่อยู่ในกำหนดการ

จึงยิ่งทำให้คนปักใจเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังช่วย พล.ต.อ.อัศวินหาเสียงทางอ้อม แม้ไม่ได้มีประโยคไหนสื่อถึงก็ตาม

เพราะการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง จนได้รับรางวัลต้นแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ในเขตเมืองของเอเชียประจำปี ค.ศ.2020 เป็นสิ่งที่ พล.ต.อ.อัศวินใช้เป็นผลงานมาตลอดและนำมาหาเสียงในครั้งนี้ด้วย

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผู้นำฝ่ายค้าน ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้เช่นกันว่า การออกมาของ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถตีความได้ว่ากำลังช่วยผู้สมัครบางคนหาเสียงหรือไม่

โดยเฉพาะการไปตลาดหรือสถานที่เป็นผลงานของอดีตผู้ว่าฯ กทม. แถมยังพูดในลักษณะอยากให้เลือกบุคคลที่เป็นนักปฏิบัติ เป็นคนที่มีผลงานมาแล้ว เป็นการส่อเจตนาไปในทางปิดกั้นผู้สมัครรายอื่น และสนับสนุนบุคคลบางคน

“ตามกฎหมายนายกรัฐมนตรีถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง แต่การปฏิบัติของ พล.อ.ประยุทธ์กลับสวนทาง จึงอยากให้บรรดานักร้องไปร้องเรียนประเด็นนี้บ้าง”

 

นอกจากหมิ่นเหม่ต่อข้อกฎหมาย สังคมส่วนใหญ่ยังมองว่าไม่ใช่ช่วงเวลาเหมาะสมนักกับการที่นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ตรวจตลาด ร้านค้า คูคลอง ในตอนที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม

เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาลที่เสนอ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ถึงจะไม่ได้ส่งคนลงชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. แต่ก็ส่งผู้สมัคร ส.ก.ครบทั้ง 50 เขต

ที่สำคัญหนึ่งในผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็เคยส้มหล่น ได้รับการเลื่อนจากรองผู้ว่าฯ กทม. ขึ้นเป็นผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2559 โดยการออกคำสั่งแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ และหัวหน้า คสช.ในขณะนั้น

ขณะที่ นายสำราญ ตันพานิช ผอ.กกต.กทม. กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “ส่วนตัวมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ตามหน้าที่ ยังไม่มีผู้สมัครใดมาเกี่ยวข้อง หรือไปเกี่ยวข้องกับผู้สมัครคนใด”

เป็นการด่วนสรุปที่สวนทางกับความเห็นของ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ว่า พอเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นตั้งแต่วันแรกที่รับสมัคร จึงสร้างความหวาดระแวงและไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่ของรัฐ

จะจัดการเลือกตั้งได้บริสุทธิ์ยุติธรรมจริงหรือไม่ มีการใช้กลไกฝ่ายอำนาจมาเอื้อให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่

เมื่อทำกันแบบนี้ยิ่งตอกลิ่มให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แบ่งเป็นสองฝ่าย เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย

พล.ต.อ.อัศวินจะสลัดภาพ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ออก แม้จะพยายามทำตัวและลงแข่งในนามอิสระก็ตาม

ไม่แน่ใจว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำแบบนี้ จะช่วยกระตุ้นคะแนนให้ พล.ต.อ.อัศวินได้จริงหรือ อาจเป็นดาบสองคมทำลายคะแนนของ พล.ต.อ.อัศวินเสียด้วยซ้ำ

ระวังคนจะไม่เอา พล.ต.อ.อัศวิน เพราะกลัวจะได้ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีภาพของการสืบทอดอำนาจ