สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ตามรอยรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี คุณสมบัติศึกษากับครูลาว (11)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

สัมมนาเชิงปฏิบัติการ Show and Share ถอดบทเรียนครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดำเนินมาถึงลำดับที่ 6 หัวข้อ การจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนสองภาษา (Bilingual) โดย ครูคำสร้อย วงสัมพัน (Mrs. Khamsoy Vongsamphanh) ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)

อายุ 61 ปี จบปริญญาตรีครู ปริญญาโทสองใบจากฝรั่งเศส ทางภาษาฝรั่งเศสและภาษาศาสตร์ สังกัดโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์ โรงเรียนขนาดใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของเวียงจันทน์ สอนตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษา มีความเชี่ยวชาญด้านการจัดการเรียนรู้แบบห้องเรียนสองภาษา (Bilingual Classroom)

ได้รับประกาศนียบัตรยกย่องความสามารถจำนวน 49 ฉบับ จากเจ้าแขวงกำแพงนครหลวงเวียงจันทน์และจากกระทรวงศึกษาธิการและกีฬาของ สปป.ลาว

นอกจากเป็นครูสอนภาษา แล้วยังเป็นวิทยากรฝึกอบรมการสอนสอนภาษาต่างประเทศ (ภาษาฝรั่งเศส) ระดับมัธยมศึกษา ใน 4 จังหวัด คือเวียงจันทน์ หลวงพระบาง สะหวันนะเขต และจำปาสัก

เน้นพัฒนานักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำเพื่อให้มีทักษะความสามารถในการเรียนที่ดีและมีคุณภาพยิ่งขึ้น

เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองนักเรียนเพื่อหารือแนวทางพัฒนาโรงเรียนและปรับปรุงผลการเรียนรู้ของนักเรียน

 

บันทึกของ ครูกฤษณพงศ์ กีรติกร เมื่อครั้งนำคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เดินทางไปเยี่ยมยามโรงเรียนมัธยมสมบูรณ์และพบครูเมื่อปี 2559 เล่าว่า โรงเรียนมัธยมสมบูรณ์มีนักเรียน 2,980 คน มีครู 160 คน เป็นครูหญิง 144 คน

มีการจัดตั้งคณะกรรมการดูแลสวัสดิการครูในโรงเรียน สวัสดิการจากรัฐบาล

นอกจากครูจะได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลแล้ว ยังสามารถทำงานพิเศษส่วนตัวอีกด้วย เช่น ทอผ้า ค้าขาย สอนพิเศษ เป็นต้น

ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญด้านสวัสดิการครู ด้วยการเพิ่มเงินเดือนและยกย่องให้อาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติสูงสุด รวมทั้งโรงเรียนสามารถรับครูอาสามาช่วยสอนเพิ่มเติมในห้องเรียนต่างๆ เป็นการช่วยเหลือครู

โรงเรียนมัธยมสมบูรณ์มีห้องเรียนรวม 84 ห้อง นักเรียนห้องละประมาณ 40 คน แบ่งเป็นสี่แบบ ได้แก่ ห้องเรียนทั่วไป ห้องเรียนสองภาษา 15 ห้อง ห้องเรียนพรสวรรค์-เด็กเก่ง 14 ห้อง และห้องเรียน ICT ห้องเรียนแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน

ห้องเรียนทั่วไป เรียนวิชาคณิตศาสตร์ 4 ชั่วโมง/สัปดาห์ ฟิสิกส์ 4 เคมี 2 ชีวะ 2 ภาษา 2 วรรณคดี 2 อังกฤษ 6

ห้องเรียนสองภาษา เริ่ม 1995 จัดการเรียนรู้เป็นสองภาษา โดยเน้นภาษาฝรั่งเศส และสอนภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ประเทศฝรั่งเศสให้ทุนนักเรียนห้องสองภาษาไปเรียนที่ฝรั่งเศส

ห้องเรียนพรสวรรค์ เริ่มปี 2000 ใช้หลักสูตรเดียวกับหลักสูตรปรกติ แต่สอนเข้มกว่า มีชั้นละ 150 คน มัธยม 1 รับจากนครเวียงจันทน์ มัธยม 5 รับจากทั่วประเทศ คัดเลือกนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ จังหวัดละ 4 คน ที่มีผลการเรียนสูงที่สุดในหลายๆ ด้าน และได้รับการสนับสนุนจากสมาคมจากประเทศญี่ปุ่น ให้โรงเรียนจัดหอพักฟรีสำหรับนักเรียนห้องพรสวรรค์ และให้ทุนการศึกษาเป็นรายบุคคล ประมาณ 30$/เดือน โดยในช่วงปีใหม่ลาว (สงกรานต์) สมาคมญี่ปุ่นจะมาเยี่ยมเพื่อพบปะ พูดคุย สอบถามความเป็นอยู่กับนักเรียนห้องเรียนพรสวรรค์

ห้องเรียน ICT สอนหลักสุตรปรกติ แต่เน้นการใช้สื่อและเทคโนโลยี

 

ก่อนครูคำสร้อยจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสอน ดูแล อบรมนักเรียนตลอดชีวิตที่ผ่านมา ครูสร้างบรรยากาศความกระปรี้กระเปร่าาด้วยการเชิญชวนเพื่อนครูจากทุกประเทศในห้องประชุมเต้นบาสโลบ สไตล์การเต้นของ สปป.ลาว ทำให้เวทีประชุมนานาชาติคึกคัก เป็นกันเองมากขึ้น

ครูเล่าว่า ในบริบทของประเทศลาวที่มีภาษาราชการคือ ภาษาลาว รองลงมาคือ ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส ตามลำดับ

เนื่องจากความนิยมในการใช้ภาษาฝรั่งเศสของเยาวชนลาวลดลง โรงเรียนจึงมีนโยบายจัดตั้งห้องเรียนสองภาษา (Bilingual Classroom) ขึ้น โดยจัดทำข้อตกลงกับประเทศฝรั่งเศส ในปี พ.ศ.2538 เพื่อให้ครูผู้สอนภาษาฝรั่งเศสได้มีโอกาสฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 2 ปี ณ ประเทศฝรั่งเศส และจะต้องผ่านการอบรมดังกล่าวจึงจะมีคุณสมบัติในการสอนที่โรงเรียนแห่งนี้

สำหรับโครงการห้องเรียนสองภาษา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นใช้เวลา 8 ชั่วโมง/สัปดาห์ และชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายใช้เวลา 6 ชั่วโมง/สัปดาห์

นอกจากนี้ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้นำหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการรายวิชาวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา) และวิชาคณิตศาสตร์ มาแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ส่วนวิชาสังคมศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวรรณคดี ยังคงใช้ภาษาลาวเช่นเดิม

โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างมาก ได้รับการยอมรับให้เป็นโรงเรียนต้นแบบเพื่อให้โรงเรียนอื่นๆ ในประเทศลาวได้มาศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปปรับใช้ สร้างเครือข่ายโรงเรียนสองภาษา

ตลอดจนเป็นต้นแบบกระตุ้นให้ครูมีการพัฒนาตนเองในการเรียนการสอน

 

การจัดหลักสูตรพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการลาวเน้นให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ได้แก่

1. คุณสมบัติศึกษา เน้นการสร้างให้เด็กและเยาวชนลาวเป็นคนดีผ่านการจัดกิจกรรม ได้แก่ โครงการสาวหนุ่มประชาชนปฏิวัติลาว มุ่งเน้นกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนเพื่อเป็นความเข้มแข็งของชาติ โดยทางโรงเรียนจะสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในระยะ 1 ปีการศึกษา ถ้านักเรียนคนใดมีความประพฤติไม่ดี ปฏิบัติตนไม่ถูกจารีต ประเพณี จะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาให้โอวาทและอบรมสั่งสอน

2. ปัญญาศึกษา ประกอบด้วย 4 ทักษะ คือ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ซึ่งพบว่าทักษะการเขียนเป็นทักษะที่มีปัญหามากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ไวยากรณ์ที่ไม่ถูกต้องอันเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสาร ในทุกๆ ปี นักเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนสามารถสอบแข่งขันภาษาฝรั่งเศสในระดับโอลิมปิกได้ สำหรับสาเหตุที่ทำให้นักเรียนยังไม่สามารถใช้ภาษาฝรั่งเศสได้ดี ส่วนใหญ่เกิดจากไม่ค่อยให้ความสำคัญ มองว่าเป็นภาษาที่ไกลตัว ดังนั้น วิธีที่ครูคำสร้อยนำมาใช้คือ การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาฝรั่งเศส ด้วยการให้กำลังใจและส่งเสริมให้นักเรียนค่อยๆ เข้าใจในหลักภาษาตามลำดับความยากง่าย นอกจากนี้ เสริมแรงจูงใจด้วยทุนการศึกษาที่รัฐบาลฝรั่งเศสสนับสนุนให้นักเรียนชาวลาวได้มีโอกาสไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศสจนจบระดับปริญญาเอก เพื่อกลับมาพัฒนาประเทศ แต่ในระยะหลังทุนการศึกษาเริ่มน้อยลง อย่างไรก็ตาม ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากผู้ปกครองประมาณ 300,000 กีบ/ปี (ประมาณ 1,000 บาท/ปี)

3. แรงงานศึกษา ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นักเรียนจะแบ่งเวรทำความสะอาดโรงเรียน เพื่อเป็นการฝึกความสามัคคี รู้จักพอเพียง พึ่งตนเองได้ และจิตอาสา

4. พลศึกษา ส่งเสริมให้นักเรียนเล่นกีฬา เช่น ฟุตบอล วอลเลย์บอล บาสเกตบอล เป็นต้น และกิจกรรมนันทนาการ โดยในแต่ละปีจะมีการแข่งขันกีฬาภายในโรงเรียนและแข่งขันกับโรงเรียนอื่นๆ เพื่อให้นักเรียนมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง

5. ศิลปศึกษา ส่งเสริมให้นักเรียนมีความสามารถด้านดนตรี การแสดงพื้นเมือง เช่น ร้องเพลง ฟ้อนลาว สาละวัน รำตังหวาย เป็นต้น และการรำแบบสากล ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่น โดยกระทรวงศึกษาธิการส่งเสริมการประกวดร้องเพลงสรรเสริญพระคุณครูในช่วงก่อนวันครู (7 ตุลาคม) ของทุกๆ ปี

โดยให้ความสำคัญด้านคุณสมบัติศึกษามากที่สุด เนื่องจากเน้นการสร้างคุณธรรม และจริยธรรมเพื่อพัฒนาให้นักเรียนเป็นคนดีและคนเก่งตามลำดับ

 

ครับ เรื่องราวของครูคำสร้อยกับการจัดการศึกษาของลาว ที่เน้นให้ความสำคัญกับ “คุณสมบัติศึกษา” ซึ่งก็คือ วิชาชีวิต นั่นเอง นอกจากวิชาการ และวิชาชีพ

ฟังแล้ว ทำให้อดคิดถึงองค์ 4 ของการศึกษาไทย ซึ่งประกอบด้วย พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา ไม่ได้จริงๆ