แม่ขัน / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

แม่ขัน

 

‘ขัน’ คือ ภาชนะสำหรับตักหรือใส่น้ำ มีหลายชนิดหลายขนาดต่างกันตามความต้องการใช้งาน

‘แม่ขัน’ หรือ ‘ขันสาคร’ หมายถึง ขันขนาดใหญ่ใช้บรรจุน้ำปริมาณมากกว่าขันทั่วไป

“อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ให้คำจำกัดความว่า “แม่ขัน, เช่น ขันใหญ่โตสี่กำห้ากำ, เขาเรียกว่า แม่ขัน, เพราะขันใหญ่นั้น ขันสาคร, คือ ขันใหญ่, คนลงอาบน้ำได้นั้น”

“พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน” มีรายละเอียดชัดเจน

“ขันสาคร = ขันขนาดใหญ่ทำด้วยโลหะผสม ได้แก่ สัมฤทธิ์ (ทองแดงกับดีบุก) ทองเหลือง (ทองแดงกับสังกะสี) ตัวขันเป็นทรงลูกมะนาวตัด ก้นขันมีเชิง ข้างขันทำเป็นรูปหน้าสิงโตปากคาบห่วง ซึ่งใช้เป็นหูหิ้วข้างละหู ใช้บรรจุน้ำสำหรับทำน้ำมนต์ หรือสำหรับผู้มีบรรดาศักดิ์ใช้อาบ”

คำอธิบายเหล่านี้มิได้เกินจริง แม่ขันหรือขันสาครใหญ่ขนาดคนลงไปนั่งอาบได้สบายๆ วรรณคดีหลายเรื่องก็มีบันทึกไว้ ในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” นางละเวงวางอุบายให้นางยุพาผกาทำเสน่ห์สินสมุทรโดยเริ่มจากสระสรงทรงเครื่อง

 

“ฝ่ายละเวงวัณฬาออกมานั่ง สนมพรั่งพร้อมหน้าอัชฌาสัย

นางยุพามาถึงห้องทองประไพ อาบน้ำในแม่ขันอันบรรจง

แล้วนุ่งห่มสมเป็นที่บุตรีเอก จุดเทียนเสกมนต์ตามความประสงค์

แป้งน้ำมันจันทน์ลูบทั้งรูปทรง สุคนธ์ผงผัดผ่องละอองนวล

น้ำมันแก้วแววตาเจิมหน้าผาก แล้วสีปากจิ้มแก้มแล้วแย้มสรวล

กระจกส่องลองเยื้อนเบือนกระบวน ให้ยั่วยวนแย้มยิ้มทำพริ้มพราย”

 

‘แม่ขัน’ หรือ ‘ขันสาคร’ ใช้อาบใช้แช่ได้ทั่วถึงตั้งแต่สาวเอวบางร่างน้อยอย่างนางยุพาผกาไปจนถึงแม่ทัพ ‘สูงใหญ่รูปร่างเหมือนอย่างเสือ’ เช่น แสนตรีเพชรกล้า ที่สักและฝังของขลังไว้ทั่วตัว ไม่นอนกับเมีย ไม่เคยอาบน้ำตั้งแต่เป็นหนุ่ม ‘ต่อศึกมีเมื่อไรได้อาบน้ำ’ น้ำที่อาบก็เป็นน้ำว่านในแม่ขัน ดังที่เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” บรรยายว่า

 

“จะไปทัพจึงหาบรรดาว่าน มาเสกอ่านอาคมถมถนำ

เครื่องรางตะกรุดลงองค์ภควัม บริกรรมเสกเป่าเข้าทันใด

แล้วตักน้ำตีนท่ามาใส่ขัน หยิบเครื่องอานว่านนั้นเอาใส่

เสกเดือดพล่านพลั่งดังตั้งไฟ เห็นประจักษ์วักได้ใส่หัวพลัน

หยิบเครื่องอานว่านยาขึ้นมาไว้ เพชรกล้าลงไปในแม่ขัน

ประจงจบเคารพแล้วอาบพลัน ………………………………………..”

 

วรรณคดีบางเรื่อง แม้มิได้เล่าว่าตัวละครลงไปอาบน้ำในแม่ขันหรือขันสาคร แต่ข้อความที่บรรยายก็ทำให้เข้าใจได้ว่าขันสาครเกี่ยวกับการอาบน้ำโดยตรง ดังกรณีของท้าวสามนต์ก่อนสรงน้ำไปชมการตีคลี ได้กำชับหกเขยว่า ‘อย่าให้อายขายพักตร์พ่อตา แก้กู้พาราเอาหน้าไว้’ บทละครเรื่อง “คาวี” เล่าถึงท้าวสามนต์ดังนี้

 

“ว่าพลางย่างเยื้องจรจรัล มาสรงน้ำที่ขันสาครใหญ่

ตักวารีรดหมดเหงื่อไคล ลูบไล้แป้งกระแจะจันทน์ปรุง”

 

 

บทละครในเรื่อง “อิเหนา” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ตอนที่ปันหยี (อิเหนา) ชวนอุณากรรณ (บุษบา) อาบน้ำด้วยกันตามประเพณีหลังจากเสร็จศึกสงคราม ‘จำจะไปสระสรงคงคา ตามวิสัยสืบมาแต่บุราณ’ เพื่อพิสูจน์ว่า อุณากรรณเป็นหญิงหรือชาย อุณากรรณรีบปฏิเสธทันทีว่ามีโรคประจำตัว

 

“พี่ว่าขานก็ชอบระบอบมา

แต่ตัวข้าไม่อาจจะอาบได้ ด้วยน้ำในสระเย็นเป็นนักหนา

ถ้าแม้นขืนใจลงในคงคา วาตากำเริบทุกครั้งไป

ข้าเคยอาบแต่น้ำในสาคร ต่อเจือน้ำร้อนจึงอาบได้”

 

อุณากรรณให้เหตุผลว่าไม่ชอบอาบน้ำเย็น ไม่อาจจะอาบน้ำในสระเช่นนี้ได้ ถ้าขืนลงไปอาบก็จะป่วยด้วยโรคลมกำเริบเหมือนทุกครั้ง ข้อความว่า “ข้าเคยอาบแต่น้ำในสาคร ต่อเจือน้ำร้อนจึงอาบได้” คำว่า ‘สาคร’ ในที่นี้มิได้แปลว่า แม่น้ำ ลำคลอง หรือสระ แต่หมายถึง ‘ขันสาคร’ นั่นคืออุณากรรณเคยแต่อาบน้ำอุ่นในขันสาคร

จะเห็นภาพขันสาครได้กระจ่างจากคำอธิบายของอาจารย์ศุภร บุนนาค ในหนังสือ “สมบัติกวี ชุดอิเหนา”

“…ขันใบใหญ่มีเชิงตั้ง และมักจะมีหูติดสองข้างสำหรับหิ้วหรือหาบหรือหาม เพราะขันสาครใบใหญ่ๆ บางลูกเด็กลงไปนอนขดได้ทั้งคน โดยมากก็เป็นทองเหลืองหรือที่เขาเรียกว่าทองม้าล่อ เนื้อสีนวลๆ อย่างสีใบลานหรือมีดทองปอกผลไม้ ที่เป็นเงินทั้งใบก็มี แต่ราคาก็คงสูงขึ้นไปตามลำดับ ขันใหญ่อย่างนี้เรียกกันติดปากว่า ‘ขันสาคร’ หรือ ‘แม่ขัน’ ความหมายก็คือ แปลว่าใหญ่นั่นเอง เมื่อมีขันอย่างนี้ไว้ในห้องน้ำ จะเจือน้ำอุ่นหรือจะเจือน้ำหอมหรือจะใช้ดอกไม้ลอยอบไว้เวลากลางคืนก็ทำได้สะดวก…”

 

การใส่น้ำหอมไว้ใน ‘แม่ขัน’ หรือ ‘ขันสาคร’ มีบันทึกไว้ในบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” ตอนที่ท้าวสามนต์เชิญท้าวยศวิมลและนางจันท์เทวี บุพการีของพระสังข์ลูกเขย ‘เข้าที่สรงน้ำให้สำราญ’

 

“สองกษัตริย์ขัดสีวารีรด น้ำดอกไม้ใสสดหมดแม่ขัน

ครั้นเสร็จเสด็จจรจรัล นั่งเหนือแท่นสุวรรณบรรจง”

 

นอกจากน้ำหอมหรือน้ำดอกไม้ ยังแช่ดอกไม้ในแม่ขันอีกด้วย ดังตอนที่พระอภัยมณีอยากจะพบนางละเวงที่สนามรบ กวีเล่าถึงพระอภัยมณีว่า

 

“พอเช้าตรู่จู่มาสรงวารี กรีดพระหัตถ์ขัดสีฉวีวรรณ

อยู่กลางทัพอับจนสุคนธรส ดอกไม้สดใส่แช่ในแม่ขัน”

 

แม่ขันหรือขันสาครนอกจากใช้ใส่น้ำสำหรับอาบชำระกายแล้ว ยังใช้บรรจุน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 76 จังหวัด จำนวน 107 แห่ง ใน ‘พิธีพลีกรรมตักน้ำ’ เพื่อทำน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กำหนดพร้อมกันวันที่ 6 เมษายน 2562 เวลา 11.52-12.38 น.

หนึ่งใน 107 แห่งคือ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์บริเวณปากน้ำโจ้โล้ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

เริ่มด้วยพิธีถวายสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พราหมณ์อ่านโองการบวงสรวงบูชาเทพยดาเทพารักษ์ผู้ดูแลรักษาแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์

อ่านคาถาพลีกรรมตักน้ำ เริ่มพิธีตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ใส่ขันสาคร

อัญเชิญขันสาครและที่ตักน้ำเข้าไปเก็บรักษาไว้ ณ พระอุโบสถ วัดโสธรวรารามวรวิหาร พระอารามหลวง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา เป็นสถานที่จัดพิธีทำน้ำอภิเษกของจังหวัดนี้

‘แม่ขัน’ สำคัญตั้งแต่ ‘อดีต’ ถึง ‘ปัจจุบัน’ •