ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | นงนุช สิงหเดชะ |
เผยแพร่ |
เมื่อเดือนที่ผ่านมา มีข่าวเกี่ยวกับเฟซบุ๊กอยู่ประเด็นหนึ่ง จนทำให้ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดนิยม ต้องรีบออกมาแก้ไขสถานการณ์และชี้แจงต่อสาธารณะอย่างรวดเร็ว
ประเด็นนั้นก็คือ ถูกกล่าวหาว่า “เอนเอียงทางการเมือง” และไม่ชอบ “พวกอนุรักษนิยม” ซึ่งจุดประเด็นขึ้นโดย Gizmodo เว็บไซต์ที่นำเสนอเกี่ยวกับเทคโนโลยีและแกดเจ็ตใหม่ๆ โดยระบุว่าเหล่าบรรณาธิการของเฟซบุ๊ก จงใจ ไม่นำเสนอข่าวของฝ่ายอนุรักษนิยมด้วยการกดไม่ให้หัวข้อข่าวของฝ่ายอนุรักษนิยมไปปรากฏอยู่บนเซ็กชั่น Trending ของเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นเซ็กชั่นเกี่ยวกับข่าวและบทความที่ได้รับความนิยมหรือเป็นที่สนใจ
ไม่เพียง Gizmodo เท่านั้นที่เขียนถึงเรื่องนี้ แต่สื่อกระแสหลักอย่างบลูมเบิร์กก็นำเสนอประเด็นนี้ด้วย
เช่น บทความโดย เมแกน แม็กอาร์เดิล ซึ่งระบุว่า ข่าวในเซ็กชั่นดังกล่าวของเฟซบุ๊ก ดูเหมือนจะไม่ trending อย่างที่มันแสดงให้เห็นเสียแล้ว เพราะว่าข่าวที่อยู่ในความสนใจของฝ่ายอนุรักษนิยมอย่าง CPAC (การประชุมของฝ่ายการเมืองซีกอนุรักษนิยม ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ปี 1973 ) ถูกกดเอาไว้ ไม่นำเสนอ
ส่วนข่าวเกี่ยวกับซีเรียและกิจกรรมของ BLM (องค์กรที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิคนผิวดำ) ถูกยัดเข้าไปใน Trending แบบจงใจไม่เป็นธรรมชาติ (ปลอมๆ)
เมแกน แม็กอาร์เดิล ตั้งข้อสังเกตว่าปัญหานี้ของเฟซบุ๊ก อาจจะไม่ใช่เรื่องนโยบายของบริษัท แต่ปัญหาน่าจะอยู่ที่การตัดสินใจของทีมงานบรรณาธิการคนหนุ่มสาวอายุน้อยของเฟซบุ๊กที่เอียงไปทางฝ่ายเสรีนิยมและเลือกหัวข้อข่าวตามรสนิยมของตน
คอลัมนิสต์ของบลูมเบิร์กเห็นว่า การกระทำของเฟซบุ๊ก เสมือนการขัดแย้งกันเองในหลักการของฝ่ายเสรีนิยม เพราะในเมื่อหลักการของฝ่ายเสรีนิยมก็คือเห็นว่ารัฐไม่ควรมาแทรกแซงสื่อ ดังนั้น บริษัทขนาดใหญ่อย่างเฟซบุ๊กที่มีอำนาจในตลาดอย่างมหาศาลก็ยิ่งไม่สมควรจะได้รับอนุญาตให้ละเมิดหลักการนี้เลย แม้จะไม่ตั้งใจก็ตาม
เธอบอกว่า ตอนนี้เฟซบุ๊กมีอำนาจมหาศาลจริงๆ เพราะเป็นสื่อที่ครอบงำเนื้อหาข่าวในรอบพันปีและมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
คงไม่ผิดนักที่จะเทียบว่าอิทธิพลของเฟซบุ๊กนั้นสำคัญเทียบเท่ากับที่มาสเตอร์การ์ดและวีซ่าการ์ด ครอบครองตลาดบัตรเครดิต
และมันไม่ใช่เรื่องเล็กๆ ถ้าหากบริษัทที่กำลังจะกลายเป็นแหล่งข่าวสำคัญที่สุดของประเทศเอนเอียงด้วยการเลือกเฉพาะข่าวที่ตรงกับความชอบทางการเมืองของตัวเองมานำเสนอ
“การเซ็นเซอร์โดยรัฐบาล ก็แย่มากอยู่แล้ว แต่การเซ็นเซอร์โดยกลุ่มคนหนุ่มสาวเล็กๆ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่น่ายินดี” แม็กอาร์เดิล ระบุ
เธอว่า อันที่จริงปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นกับทุกสื่อ แต่ว่าสื่อเหล่านั้นก็ทำงานแบบแข่งขันกัน และที่ผ่านมาไม่มีสื่อใดมีอำนาจทางการตลาดมากเท่าเฟซบุ๊ก สื่อแต่ละประเภทมีหลายบริษัทดำเนินการและมีการอิงขั้วการเมืองหลากหลายแตกต่างกันไป
แต่สำหรับเฟซบุ๊กแล้ว นับได้ว่าครอบงำองค์กรหรือบริษัทสื่อสังคมออนไลน์ (ด้านข่าว) อื่นๆ ทั้งหมดในระดับที่ไม่เคยมีสื่อสิ่งพิมพ์ใดเพียงแห่งเดียวสามารถครอบงำภูมิทัศน์สื่อในอเมริกามาก่อน
จะมีเพียงกรณีเดียวที่เคยเกิดขึ้นก็คือปัญหาครอบงำของเครือข่ายโทรทัศน์เจ้าใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1950-1980 แต่อย่างน้อยตอนนั้นก็ยังมีทีวีถึง 3 ราย ไม่ใช่รายเดียว
นอกจากนั้น ส่วนใหญ่แล้วทีวีเหล่านั้นก็ดำเนินการภายใต้หลักการที่แฟร์ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือรัฐบาลยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยวเพื่อจำกัดอำนาจของทีวีเหล่านั้นไม่ให้เป็นผู้กำหนดทิศทางการอภิปรายระดับชาติ
หลังจากมีการนำเสนอประเด็นของเฟซบุ๊กออกไป ทำให้ จอห์น ทูน ประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ วุฒิสภา ของสหรัฐ ส่งจดหมายไปถึงเฟซบุ๊กสอบถามว่าพวกเขาตัดสินใจอย่างไรในการเลือกข่าวมานำเสนอบน Trending
หลังจากนั้น 2 วัน เฟซบุ๊ก ได้ตีพิมพ์คำชี้แจงบนบล็อกของตัวเอง แจกแจงรายละเอียดการคัดเลือกข่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กไม่เคยเปิดเผยมาก่อน พร้อมกับอ้างว่าจากการสอบสวนภายในพบว่าข่าวของฝ่ายเสรีนิยมและอนุรักษนิยมถูกนำเสนอในสัดส่วนใกล้เคียงกัน
“แต่เราก็ไม่สามารถปฏิเสธได้อย่างสิ้นเชิงเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่เหมาะสมเฉพาะตัวหรือการเอนเอียงอย่างไม่ตั้งใจอันเนื่องจากความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์” เฟซบุ๊กชี้แจง
อธิบายให้ชัดแบบภาษามนุษย์อีกทีหนึ่งก็คือ เฟซบุ๊กไม่พบการกระทำที่เอนเอียงอย่างเป็นระบบในการคัดเลือกข่าว แต่ความผิดพลาดอาจเกิดจากเฉพาะบุคคล (ไม่ใช่จากนโยบาย) ที่มีแรงจูงใจทางการเมืองในบางข่าวหรือบางแหล่งข่าว
เฟซบุ๊กมีจดหมายไปถึงประธานคณะกรรมาธิการการพาณิชย์วุฒิสภา ว่าจะทำการปรับปรุงกระบวนการทำงานเกี่ยวกับการคัดเลือกข่าว อาทิ ปรับปรุงแนวปฏิบัติใหม่ โดยการตัดสินใจด้านเนื้อหาอาจไม่กระทำบนพื้นฐานทางการเมืองหรืออุดมการณ์ / จะสร้างระบบควบคุมและระบบสอดส่องดูแลทีมงานพิจารณาข่าวเพิ่มขึ้น / จะขยายศูนย์ให้ความช่วยเหลือด้านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ Trending เพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาข่าวหรือบทความนั้นๆ
เฟซบุ๊ก ยังแจ้งด้วยว่า จะเลิกพึ่งพาเว็บไซต์และองค์กรสื่อภายนอก ในการระบุตัวตน ตรวจสอบความสมบูรณ์หรือประเมินความสำคัญของ Trending อันหมายความว่าเฟซบุ๊กจะเลิกใช้บริการ feed ข่าวของบริษัทสื่อภายนอก ที่ปกติเฟซบุ๊กใช้บริการอยู่ คือ Media 1 K และ RSS
ซึ่งหมายความว่าในการกำหนดระดับความสำคัญของข่าวนั้น ต่อไปเฟซบุ๊กจะไม่อาศัยการดูจากบริษัทข่าวภายนอก แต่จะอ้างอิงจากบทสนทนาที่เกิดขึ้นบนเครือข่ายของเฟซบุ๊กเท่านั้น
ขณะเดียวกัน มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ก ก็ได้รุดไปพบและประชุมกับนักการเมืองอนุรักษนิยมกว่า 10 คน รวมทั้งคนในวงการสื่อเพื่อถกเถียงปัญหานี้
ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า ประเด็นที่ถกเถียงกันนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับบทความที่ปรากฏบน “Facebook News Feed” ที่เพื่อนๆ ของเราแชร์บนเฟซบุ๊กหรือเพจต่างๆ ที่เราลิงก์ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาหมายถึงเฉพาะลิงก์ตรงมุมขวาของโฮมเพจเฟซบุ๊กที่เรียกว่า Trending
คงไม่เป็นการพูดเกินเลย ถ้าจะบอกว่าอำนาจการตลาดของเฟซบุ๊กนั้น กว้างใหญ่ไพศาล เพราะคงไม่มีบริษัทใด ไม่ว่าจะประกอบธุรกิจสื่อหรือธุรกิจอื่นๆ จะมีลูกค้ามากเท่าเฟซบุ๊กคือ 1,600 ล้านคนทั่วโลก
เฟซบุ๊ก จะกลายเป็นปัญหาใหม่ในวงการสื่อที่จะก่อให้เกิดการถกเถียงอีกนานถึงผลกระทบของมัน โดยเฉพาะด้านลบ เช่นกรณี Facebook Live-ถ่ายทอดสด ก็เกิดขึ้นแล้ว