ยูเครนรำลึก : อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

ยูเครนรำลึก

 

นับแต่สัปดาห์แรกที่รัสเซียถล่มยูเครน “อัญเจียแขมฺร์” ของเราก็ส่งพลังงานไปยังเรื่องราวสงครามเวียดนามภาค “โฮจิมินห์เทร็ล” ที่มีนักรบรับจ้างเป็นทหารไทยในหน่วยงานซีไอเอ

เป็นการสู้กันระหว่างเสรีนิยมกับคอมมิวนิสต์ในโลกสงครามเย็นที่เราคิดว่า มันคงยุติแล้ว นับแต่สหภาพโซเวียตล้มไปในปี ค.ศ.1989

แต่ 3 ทศวรรษเอง ทุกอย่างก็วนกลับมาจุดเดิม

ทันใดนั้น เรื่องราวเก่าๆ ของกัมพูชา ในปีที่ยังเป็นบริวารหลังม่านเหล็ก ซึ่งพวกเขาเรียกมันว่า ประเจียนิตหรือสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ที่มีเวียดนามเป็นหัวหน้าภูมิภาคและช่วยกันโค่น แปน โสวัน (1936-2016) นายกรัฐมนตรีคนแรกของระบอบนี้ ตั้งแต่ปี 1981 โดยหนุ่มกระทงฮุน เซนเป็นผู้ลงมือและส่งโสวันไปกักตัวที่ฮานอย จากนั้นก็ให้ จัน ซี นั่งตำแหน่งนี้แทน แต่เพียง 3 ปีก็ส่งจัน ซีไปกรุงมอสโก เพื่อให้เคจีบีช่วยวางยาพิษ (26 ธันวาคม 1984)

นี่แหละ งานถนัดของอดีตพี่เอื้อย (และสั่งสมมายังบริวาร) คือลอบสังหารผู้นำคนไหนที่ตนระแวงว่า แปรพักตร์!

และนี่คือคำตอบว่า ทำไมหน่วยความปลอดภัยของฮุน เซนจึงเข้มงวด ในปี 1989-1991 ระหว่างเขาปรากฏตัวต่อสาธารณชนในฝรั่งเศส จนฮุน เซนถูกเสียดสีด้อยค่าว่าไม่รู้ธรรมเนียมโต๊ะอาหารแบบตะวันตก และกินอาหารพื้นเมืองของเขมร

นี่อาจเป็นคำตอบที่ถูกมองข้ามถึงความรอบคอบของฮุน เซนในระดับเดียวกับสายลับเคจีบี

 

นั่นล่ะ ความสัมพันธ์สหภาพโซเวียตรัสเซีย-กัมพูชา ในฐานะประเทศบริวาร แต่เป็นบริวารรองในฐานะสมาชิก “สหพันธ์อินโดจีน” ที่มีนายหัวเวียดนามคอยกำกับดูแลอีกชั้น

และเป็นคำตอบว่า ทำไมผู้นำกัมพูชาจึง “สหการนิยม” กับม่านเหล็ก-ฮานอยชนิดไม่เคยแตกแถว พนมเปญจึงส่งคณะของตนไปไปศึกษาทั้งฮานอยและเมืองแม่

แต่เชื่อไหมว่าเขาไปไม่ถึงม่านเหล็ก อย่างมากก็แค่ยูเครน!

และตอนนั้น คำว่า “อุยกราน” (ยูเครน) ได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศนี้ โดยที่ผู้คนยังเข้าใจว่าเป็นรัสเซีย อย่างที่ฉันพบกับสหายเขมรอดีตนักเรียนเก่าสหภาพโซเวียต (1983-1988) ที่ชาวเขมรส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าตนไปเรียนต่อที่รัสเซีย แต่พวกเขามักถูกส่งไปเมืองเคียฟ หาใช่ มอสโกหรือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ที่เป็นแดนฝันและศูนย์กลางของสหภาพโซเวียตรัสเซียแต่อย่างใด

ตานี้ เราจึงกระจ่างว่า ยูเครนเป็นมากกว่าบริวารของรัสเซียในบรรดา 15 รัฐทั้งหมดที่รวมเป็นสหภาพโซเวียต

ยูเครนคือความมั่นคงจนเกือบจะเทียบเท่ากับส่วนกลางของสหภาพโซเวียตเวลานั้น ตั้งแต่สมัยสหการ ยูเครนเป็นเหมือนตักกสิลาด้านศึกษาของกลุ่มประเทศบริวารและยังด้านอื่นๆ

การสูญเสียยูเครนจึงเทียบเท่ากับการสูญเสียจิตวิญญาณไปกึ่งหนึ่ง และนั่นคือสิ่งที่รัสเซียรู้สึกเสมอมา

 

จริงอยู่ สหภาพโซเวียตมักจะคัดเอาเจ้าหน้าที่สำคัญเท่านั้นที่ไปอบรมในมอสโก แต่เครดิตเช่นนี้ก็ไปอยู่ที่ฮานอย ส่วนลาว-กัมพูชามีค่ารองลงไปเว้นเสียแต่จะมีลำดับเป็นนักวิจัย หรือผู้นำระดับนโยบาย

ดังนั้น ชาวเขมรจำนวนมากจึงถูกส่งไปยูเครน หรือไม่ก็เชโกสโลวาเกีย (สาธารณรัฐเช็ก)

ทำไมเราจึงทราบ? ก็เพราะเมื่อพวกเขากลับบ้าน บางคนถูกเรียกขานว่า “เช็กโก”

แต่ให้ตายเถอะ ไม่มีใครเลยที่อยากมีชื่อเป็น “อุยกราน!”

อ๋อ งั้นชาวเขมรเขาเรียก “ยูเครน” อย่างนี้สินะ? สำหรับ “อุย” ที่มาจาก “u”, “กรา” ที่ออกเสียงตาม “-kra-” และ “เอ็น” ท้ายเสียงที่มาจาก “-ine”

แล้วทำไมฉันจึงต้องให้ความสำคัญกับชื่อนั้นด้วย? ก็เพราะว่า ทันทีที่ได้ยิน “อุยกราน” (ukraine) เป็นครั้งแรกที่นั่น! ฉันก็ไม่เคยนึกจะลืมมันได้อีกเลย!

โดยเฉพาะในยามที่เราได้เห็นภาพสงครามและการถูกโจมตี พลัน คำว่า “อุยกราน” ก็วิ่งเข้ามารบกวนใจ

 

แน่นอน กลิ่นอายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตนิยมนั้นเคยจับต้องได้ในพนมเปญ เช่นถนน “สหภาพโซเวียตรุสซี” ถนนสายหลักของเมืองหลวงที่ชาวเขมรเล่ากันว่านี่คือเส้นทางเดินทัพของเวียดนามวันที่ 7 มกราคม 1979, ศูนย์วัฒนธรรมรัสเซียที่บัดนี้เหลือแต่โรงละครเก่าคากรุงเป็นอนุสรณ์ รอเพียงวันเลือนหายกลายเป็นอื่น

แต่ในปีที่ฉันได้พบกับอดีตนักเรียน “อุยกราน” เขาน่าจะซึมซับความเป็นรัสเซียมาเต็มคราบ ให้ตายสิ! เขายังไม่ยอมรับมันอยู่ดี ว่านี่คือยูเครนวิทยา! ก็ในเมื่อภาษาและทุกอย่างที่เขารับมา มันคือรัสเซียนี่นา

แต่ถ้าเขายังมีลมหายใจ สหายคนนี้คงรู้แล้วว่า สิ่งที่เขารับมาทั้งหมดนั้น มันคือยูเครน เมืองเคียฟที่ตนเคยอาศัย

และไม่แปลกว่า แม้จะรับเอาจิตวิญญาณแบบยูเครนแต่ด้วยความเป็นชนชาติที่ทับซ้อนกับรัสเซียมาหลายศตวรรษก่อน สหายเขมรคนนี้ จึงไม่รู้สึกแตกต่าง

แต่ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมยูเครนที่นั่น ฉันไม่แปลกใจเลย อุยกรานช่างน่าทึ่งและมันคือสิ่งที่เราสัมผัสได้จากอดีตนักศึกษาเก่าคนนี้ แม้จะถูกหลอมมาจากม่านเหล็กอันเย็นชา แต่เขาช่างมีอารมณ์ขัน ละม้ายกับผู้นำยูเครนที่เก่งกาจในการปรับตัวทุกสถานการณ์ และมันคือความน่าหลงใหล

แต่ดูเหมือน ความเป็นอดีต “ปรอเจียมะนิต” หรือลัทธิคอมมิวนิสต์แบบโซเวียตนิยมได้ล่มสลายไปแล้วและไม่เหลือไว้ให้จดจำได้อีก ตั้งแต่เรื่องฮือฮาที่มหาเศรษฐีรัสเซียคนหนึ่ง เขาเคยครอบครองเกาะเขมรทางตอนใต้ในสมัยที่กัมพูชายังไม่รู้จักคำว่าท่องเที่ยว และตำรวจทหารมีหน้าที่เป็นแค่ “บอดี้การ์ด”

กระทั่ง “หมอถูกจับและถูกอัปเปหิออกนอกประเทศ!” และนั่นคือชาวรัสเซียคนสุดท้ายในกัมพูชาที่ฉันรู้จัก

พลัน เรื่องราวรัสเซียทั้งหมดก็เกือบจะหายไปกับสร๊กเขมร แม้แต่ “ตลาดรัสเซีย” ที่ลือลั่นและจมหายไปทันที เมื่อเขมรเปิดรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสิ้นซากความทรงจำ เมื่อผู้นำเขมรถึงกับกล่าวประณามการกระทำของปูติน

 

สมกับเป็น 38 ปีแห่งการรอคอย ในที่สุด หลักเหลี่ยมความเป็นผู้นำยุคใหม่ที่มากไปด้วยกุศโลบายและการฉวยโอกาส สมเด็จฮุน เซนก็เลือกที่จะ “ประณาม” ประเทศที่ครั้งหนึ่งตนเคยเป็นบริวาร

และผลงานชิ้นนี้ยังสร้างคะแนนนิยมจากตะวันตกให้กลับมาหลังจากเสียรังวัดจากกรณีของเมียนมา

ไม่แต่เท่านั้น ฮุน เซนยังฉวยโอกาสจากวิกฤตยูเครน ประกาศ “อิสรภาพ” ให้ตนเอง ปลดแอกจากฮานอยและอดีตสหภาพอินโดจีนอย่างเห็นได้ชัด

แม้บางฝ่ายจะมองว่า เรื่องแบบนี้ช่างล้าหลัง แต่สงครามในยูเครนก็ทำให้เราเห็นแล้วว่า มรรควิธีแบบ “ลัทธิอำนาจจักรวรรดิโซเวียตนิยม” นั้นมีอยู่จริง! และปฏิเสธไม่ได้ว่า ฮานอยจำลองมรรควิธีนั้นมาตั้งแต่อดีต กระทั่งลาว-กัมพูชาอยู่ใต้ชายคาของคำว่า “อาเซียน” และเขมรแสดงตนเป็นบริวารจีน และมันคือ มรรควิธีที่เขมรดิ้นรนเพื่อให้ตนเอง “เป็นอื่น” จากระบอบจักรวรรดินั้น

เมื่อยูเครนถูกรัสเซียบุกทำลาย มันจึงทำให้เราสงสัยว่า ฤๅจริงๆ แล้วระเบียบโลกใหม่ที่เราเชื่อมาตลอดนั้น มันไม่เคยมีอยู่จริง!?

และคนที่พิสูจน์เรื่องนี้ก็คือสมเด็จฮุน เซน ที่ผ่านมาแล้วทุกระบอบ/system ทั้งเก่าใหม่และไฮบริดลูกผสม แต่ด้วย หลักเหลี่ยมทางการเมือง ฮุน เซนทำให้เราเห็นได้ทุกอย่าง ตั้งแต่มรณกรรมของจัน ซีเมื่อ 38 ปีก่อนและเรื่องลับมากมายของระบอบพนมเปญ

สงครามยูเครนจึงมากไปด้วย มรรควิธีที่มากกว่าเรื่องของขีปนาวุธทำลายล้าง แต่มันคือลัทธิสงครามเย็นที่ไม่เคยสลาย และก้อนน้ำแข็งมหึมานั้นก็ยังกระจัดกระจายอยู่ไปทั่วในหมู่บริวาร

และมันขึ้นอยู่กับว่า ใครจะเหลือรอด!

 

ในเชิงโครงสร้างของความเป็นประเทศแล้ว ฉันเห็นใจมากที่ยูเครนตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ มีสภาพบอบซ้ำแหลกสลาย

แต่เมื่อหันกลับมามองเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ฉันก็ให้รำลึกว่า นี่สินะ มรรควิธีเอาตัวรอด และ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ชายคนนี้ได้ลงมือทำแล้วทุกอย่าง

สำหรับประเทศเล็กๆ มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเอาตัวออกมาจาก “ระบอบ” บริวารนั้น และเลือกไปสู่ “บริวาร” แม้ว่ามรรควิธีนั้นจะมีมูลจูงใจจากการคงไว้ซึ่งอำนาจ

แต่อย่างนั้น ความน่าพิศวงฉบับฮุน เซนที่ลึกเร้นไปด้วยการเอาตัวรอดอย่างน่าทึ่งนี้ จะมีผลในทางใด? หากการเผชิญหน้าสงครามเย็นจะเวียนกลับคำรบสอง?

ไม่มีคำตอบอนาคต