อาลัย…สมเด็จพระวันรัต ผู้มีคุณูปการในแวดวงศาสนา / การศึกษา

การศึกษา

 

อาลัย…สมเด็จพระวันรัต

ผู้มีคุณูปการในแวดวงศาสนา

 

นับเป็นความสูญเสียพระเถระผู้ใหญ่อีกรูป เมื่อสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9) ปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร มรณภาพเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 เวลา 14.22 น. ภายหลังจากอาพาธด้วยโรคมะเร็งถุงน้ำดี และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 สิริอายุ 85 ปี 65 พรรษา

สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) นามเดิม “จุนท์ พราหมณ์พิทักษ์” เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2479 ที่บ้านเกาะเกตุ ต.ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด จบชั้น ป.4 โรงเรียนวัดคิรีวิหาร ต.ชำราก จากนั้นเข้าพิธีบรรพชาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2491 ที่วัดคิรีวิหาร ต.ชำราก โดยมีพระวินัยบัณฑิต เป็นพระอุปัชฌาย์ อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2499 ที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 13 เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยบัณฑิต (ถาวร ฐานุตฺตโร) วัดคิรีวิหาร จ.ตราด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิสุทธิธรรมภาณ (แจ่ม ธมฺมสาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังอุปสมบทได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค จากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศฯ

เมื่อปี 2516 ขณะที่ยังเป็นพระมหาจุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9 ได้นั่งเสลี่ยงอ่านพระอภิธรรมเวียนพระเมรุ 3 รอบ ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี ซึ่งทรงเป็นผู้อุปัฏฐากในคราวอุปสมบทพระมหาจุนท์ เป็นพระนวกะร่วมสมัยกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงผนวชวันที่ 22 ตุลาคม 2499 และประทับที่วัดบวรนิเวศฯ จนกระทั่งทรงลาผนวชวันที่ 5 พฤศจิกายน 2499

ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระอมรโมลี” ได้เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเรื่องพระธรรมวินัย แด่ในหลวงรัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ที่ทรงผนวชเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 ประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ ตลอดจนทรงลาผนวชในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2521

สมเด็จพระวันรัตยังมีโอกาสถวายงานในโอกาสสำคัญหลายงาน อาทิ ปี 2551 ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระพรหมมุนี” ได้ปฏิบัติหน้าที่นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว (พระยานมาศพระนำ) และราชรถน้อย (รถพระนำ) อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระศพ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน

ต่อมาปี 2555 สมเด็จพระวันรัตได้ปฏิบัติหน้าที่นี้อีกครั้ง นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว และราชรถน้อย อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระศพ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 9 เมษายน

ล่าสุดเมื่อปี 2560 สมเด็จพระวันรัตได้ปฏิบัติหน้าที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว และราชรถน้อย อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระบรมศพ ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม

สมเด็จพระวันรัตยังมีหน้าที่พิเศษที่ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม เป็นผู้ตรวจสอบการคำนวณปฏิทินหลวง หรือปฏิทินจันทรคติไทย และให้ความเห็นก่อนที่จะประกาศใช้ในแต่ละปี นอกจากนี้ ยังเดินหมุด และคำนวณปฏิทินปักขคณนาสำหรับวันลงอุโบสถให้กับคณะสงฆ์ธรรมยุตด้วย

รวมถึงดำรงตำแหน่งสำคัญด้านการศึกษา เช่น แม่กองธรรมสนามหลวง ด้านการปกครอง เช่น พระอุปัชฌาย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตฯ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ รักษาการเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร และวัดตรีทศเทพวรวิหาร

 

สําหรับพิธีบำเพ็ญกุศลศพ สมเด็จพระวันรัต วันที่ 17 มีนาคม เคลื่อนศพสมเด็จพระวันรัตออกจากโรงพยาบาลจุฬาฯ มายังห้องบำเพ็ญกุศล ชั้นที่ 2 อาคาร 100 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน ในการพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ พระสงฆ์ 10 รูป บังสุกุล พระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม

วันที่ 18-23 มีนาคม ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ในการสวดพระอภิธรรมศพ วันที่ 21 มีนาคม ทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน พระราชทานศพ วันที่ 22 มีนาคม ทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน พระราชทานศพ วันที่ 24 มีนาคม ไปจนถึงการบำเพ็ญพระราชกุศล 100 วัน เปิดโอกาสให้คณะสงฆ์ องค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนศิษยานุศิษย์ รับเป็นเจ้าภาพในการสวดอภิธรรมศพ ทุกวัน เวลา 18.00 น.

วันที่ 5 พฤษภาคม ทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 50 วัน พระราชทานศพ วันที่ 6 พฤษภาคม ทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 50 วัน พระราชทานศพ วันที่ 22 มิถุนายน ทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 100 วัน พระราชทานศพ และวันที่ 23 มิถุนายน ทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 100 วัน พระราชทานศพ

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเลื่อนชั้นเป็น “โกศมณฑป” ฉัตรเครื่องสูงทองแผ่ลวด ประกอบเกียรติยศประกอบศพสมเด็จพระวันรัต ได้แก่

1. สุพรรณบัฏ (แผ่นทองคำจารึกราชทินนาม)

2. พัดยศสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ

3. พัดรองที่ระลึกงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

และ 4. เครื่องถมปัด ประกอบด้วย ขันน้ำพานรอง, หีบตราจักรี, บาตร พร้อมฝา และเชิงบาตร, ถาดล้างหน้า, คนโฑ, พานหมาก, กาน้ำทรงกระบอก, กระโถนปากแตร และกระโถนเล็ก

 

พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ รองเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ กล่าวว่า สมเด็จพระวันรัตได้สานต่องานสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร โดยเฉพาะการพัฒนาวัดบวรนิเวศฯ สร้างอาคารมากมายที่เป็นประโยชน์ ในแง่ของการดูแลระเบียบวัดนั้น สมเด็จพระวันรัตเป็นผู้เคร่งครัดเอาจริงเอาจังในเรื่องกฎระเบียบ เพื่อจะรักษาประเพณีโบราณของวัดไว้

“ส่วนการเผยแพร่คำสอน สมเด็จพระวันรัตมีคำสอนที่แหลมคม และตรง ไม่ส่งเสริมความงมงาย ความเชื่อต่างๆ สอนโดยยึดหลักวิทยาศาสตร์ เช่น มีคนมาขอน้ำมนต์ สมเด็จพระวันรัตจะให้คำสอนว่าน้ำมนต์ไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ต้องนำน้ำคำ คือคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น” พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์กล่าว

ขณะที่นายธงทอง จันทรางศุ กรรมการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย และกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม ได้บอกเล่าในฐานะลูกศิษย์ว่า สมเด็จพระวันรัตเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่งที่มีโอกาสได้ใกล้ชิด และสนองงานในหลายวาระ ทั้งที่เป็นงานของคณะสงฆ์โดยส่วนรวม และงานของวัดบวรนิเวศฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วงเวลาดังกล่าวมีทั้งงานฉลองพระชันษา 100 ปีของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร หรือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พระอิสริยยศในเวลานั้น และงานพระศพของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้น ในเวลาต่อเนื่องกัน…

สมเด็จพระวันรัตยึดหลักการทำงานเรื่องของความถูกต้อง ความเรียบร้อย และความรอบคอบในการทำงาน ประพฤติให้เห็นเป็นแบบอย่าง ต่อไปจะน้อมนำมาใช้เป็นแนวทางในการทำงาน และการครองตน

เป็นเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นหลักของพระพุทธศาสนามาช้านาน สร้างคุณูปการ วางรากฐานการศึกษา พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าจำนวนมาก ทำให้พระพุทธศาสนายั่งยืนมากขึ้น

ทั้งนี้ เจ้าคณะภาค 1-2-3 (ธรรมยุต) มีคำสั่งแต่งตั้งพระธรรมวชิรญาณ (จิรพล อธิจิตฺโต) อายุ 68 ปี พรรษา 48 วิทยฐานะ ป.ธ.7, ศน.บ.วัดบวรนิเวศฯ ตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ และเจ้าคณะจังหวัดกรุงเทพมหานคร-สมุทรปราการ (ธรรมยุต) เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2565 •