เหรียญปืนแตก-4 ยอด หลวงพ่อสุด สิริธโร วัดกาหลง สมุทรสาคร / โฟกัสพระเครื่อง : โคมคำ

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

เหรียญปืนแตก-4 ยอด

หลวงพ่อสุด สิริธโร

วัดกาหลง สมุทรสาคร

 

พระเกจิอาจารย์ชื่อดังมหาชัยมีอยู่จำนวนมาก ทั้งที่ละสังขารไปแล้วและยังดำรงขันธ์อยู่

แต่ที่กล่าวขวัญถึงอย่างมากคือ หลวงพ่อสุด สิริธโร หรือ “พระครูสมุทรธรรมสุนทร” อดีตเจ้าอาวาสวัดกาหลง อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

เคยสร้างวัตถุมงคลมากมายที่ได้รับความนิยม รวมถึงเครื่องรางของขลัง โดยเฉพาะ “ตะกรุด”

อีกทั้งเคยจัดสร้างเหรียญที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ เหรียญรุ่นปืนแตก

เหรียญปืนแตก หลวงพ่อสุด

เหรียญรุ่นนี้มีชื่อเรียกขานว่า เหรียญสี่ยอด ซึ่งเรียกตามลักษณะยันต์ด้านหลัง แต่ในกลุ่มลูกศิษย์เรียกอีกชื่อว่า “เหรียญปืนแตก”

จากการบอกเล่าประสบการณ์ เคยมีลูกศิษย์นำปืนมาทดลองยิง ปรากฏว่ายิงไม่ออก 3 ครั้ง และครั้งที่ 4 ปืนถึงกับแตก จนเป็นที่เล่าขานสืบต่อมา

ออกแบบสวยงาม และปลุกเสกยาวนานมาก สร้างปี พ.ศ.2514 แต่มาแจกหลังเหรียญสรงน้ำ ปี พ.ศ.2515 จัดสร้างเป็นเนื้อนวโลหะและเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างไม่ได้จดบันทึกไว้

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อสุดครึ่งองค์ ห่มจีวรลดไหล่พาดผ้าสังฆาฏิ มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “ศิษย์สร้างบูชาพระคุณอุปัชฌาย์ (สุด) อายุ ๖๙ ปี พ.ศ.๒๕๑๔”

ด้านหลัง เป็นยันต์ตะกร้อ ซึ่งเป็นยันต์ครูที่เป็นเอกลักษณ์ของหลวงพ่อ และมียันต์สี่ยอดครอบไว้ที่ชั้นนอก มีอักขระภาษาไทยเขียนคำว่า “ลาภผลพูลทวี วัดกาหลง”

เป็นสุดยอดเครื่องรางของขลังที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักกันอย่างมาก ส่งผลให้สนนราคาเช่าหาบูชาขยับขึ้นสูงตามไปด้วย

 

หลวงพ่อสุด สิริธโร

มีนามเดิมว่า สุด สัตย์ตัง เป็นชาวอำเภอพนมไพร จ.ร้อยเอ็ด เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2445

บรรพชาเมื่ออายุ 16 ปี ที่วัดกลาง อ.พนมไพร โดยมีพระครูเม้า เป็นพระอุปัชฌาย์

อายุครบ 20 ปี อุปสมบทที่วัดกลาง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2465

ออกธุดงค์เดินทางรอนแรมจากจังหวัดร้อยเอ็ด รอนแรมไปตามสถานที่ต่างๆ จนมีชาวบ้านที่ตำบลกาหลง นิมนต์ให้อยู่จำพรรษา

ในห้วงเดินท่องธุดงค์ มีโอกาสร่ำเรียนวิทยาคมจากพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อรุ่ง ติสสโร วัดท่ากระบือ จ.สมุทรสาคร, หลวงพ่อคง ธัมมโชโต วัดบางกะพ้อม จ.สมุทรสงคราม เป็นต้น

มีความรู้ด้านภาษาลาวและภาษาขอม เข้าใจว่าหลังจากบวชเณรแล้วคงได้เดินธุดงค์อยู่ละแวกอีสานระยะหนึ่ง กว่าจะเดินทางมาถึงจังหวัดสมุทรสาครได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

ในยุคนั้นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของภาคอีสาน เดินทางมาแสวงหาความรู้ในกรุงเทพฯ มากมาย เช่น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จันทร์ สิริจันโท) เป็นต้น

พระเถระอาวุโสหลายรูปเคยเล่าว่าพระเณรจำนวนไม่ใช่น้อยที่มาตายอยู่ในป่า ด้วยต้องการจะเดินทางมาศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ ผู้ที่ผ่านป่าดงดิบลึกมาได้โดยตลอดปลอดภัยจึงแก่วิทยาคมพอสมควร จำเป็นอย่างยิ่งต่อการเดินผ่านเข้าดงดิบลึกที่มีทั้งไข้ป่า พิษว่าน สัตว์ร้ายนานาชนิด

ผ่านมาจนถึงวัดกาหลงได้นับว่าเป็นยอดหนึ่งเดียวด้านวิทยาคม

 

ได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลมากมายหลายพิธีไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง โดยเฉพาะพิธีปลุกเสกพระพุทธ 25 ศตวรรษ

มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วจากการเป็นพระอาจารย์ของตี๋ใหญ่ จอมโจรชื่อดัง ร่ำลือกันว่าท่านเป็นคนมอบเครื่องรางของขลังให้ตี๋ใหญ่ ทำให้รอดพ้นแคล้วคลาดจากการถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเข้าจับกุม

อีกทั้งยังเป็นเกจิต้นตำรับยันต์ตะกร้อ ที่มีพุทธคุณด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรี

ยันต์ตะกร้อ เป็นยันต์ที่จัดทำขึ้นมาด้วยการปลุกเสกลงอาคม โดยใช้ภาษาขอม เขมร และลาว ได้รับความนิยมจากบรรดาสานุศิษย์เป็นอย่างยิ่ง

แต่เดิมเป็นอาจารย์สักยันต์เลื่องชื่อ มีคนนิยมไปสักยันต์มาก ทั้งยันต์เสือเผ่นและยันต์ตะกร้อ ซึ่งผู้ที่ได้รับการสักยันต์จะอยู่ยงคงกระพัน โดยเฉพาะลูกศิษย์ชาวตังเก แต่บางคนประพฤติเป็นโจร ทำให้ยากต่อการปราบปรามโดยตำรวจ ตอนหลังทางการต้องขอร้องให้หลวงพ่อสุดเลิกทำการสักยันต์

หลวงพ่อสุดเล่าเรื่องยันต์ตะกร้อไว้ว่า “ยันต์ตะกร้อทนทานแคล้วคลาด เมื่อตอนเป็นเด็กหลวงพ่อชอบดูการเตะตะกร้อมาก สวยดี ลองเตะบ้างมันเจ็บ ก็ลองคิดดูว่าจะเขียนอักขระยันต์อย่างไรให้งดงามไม่ไปซ้ำของใคร ได้เห็นเด็กๆ เตะตะกร้อเล่นที่ลานวัดกาหลง ก็เลยวาดแบบรอยสานตะกร้อดู พยายามอยู่นานจนได้ดี จุดสำคัญคือ สวยงาม และตะกร้อนั้นแข็งแรงทนทาน หมายถึงความอดทนแคล้วคลาดของคนเรา โดนเท่าไรก็ไม่เป็นไร ใครเคยเห็นตะกร้อโดนเตะเพียงทีสองทีก็เสียเคยเห็นไหม เห็นมีแต่คนเตะบ่นปวดเท้า ถือเป็นปรัชญาแห่งชีวิต ข้อหนึ่งคือความอดทนและมีศิลปะ”

ศิลปะในการออกแบบยันต์ตะกร้อ นับว่าสุดยอดทั้งความงดงาม การลากเส้นอักขระขอม ลวดลายของยันต์สง่างามและสวยงามอย่างยิ่ง

 

ลําดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2490 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี

พ.ศ.2511 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท

พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิมที่ พระครูสมุทรธรรมสุนทร

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2526 สิริอายุ 81 ปี •