วงจรของน้ำและทะเลในคัมภีร์กุรอาน (1) มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

วงจรของน้ำและทะเลในคัมภีร์กุรอาน (1)

 

ในปัจจุบันนี้เมื่อมีการอ่านโองการของกุรอานเกี่ยวกับบทบาทของน้ำในชีวิตของมนุษย์ โองการทั้งหมดดูเหมือนแสดงความคิดที่ออกจะชัดเจนและเหตุผลค่อนข้างจะง่าย คือในยุคสมัยของเรานี้ เราทั้งหมดต่างก็ได้รู้ถึงเรื่องน้ำและวงจรของน้ำในธรรมชาติไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพิจารณาดูแนวความคิดต่างๆ ที่คนโบราณมีอยู่ในเรื่องนี้ ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าข้อมูลในกุรอานมิได้รวมเอาแนวคิดของนิยายปรัมปราที่มีอยู่ในสมัยของการลงวะห์ยุ (วิวรณ์) ซึ่งเกิดจากการคาดคะเนทางด้านปรัชญามากกว่าการสังเกตดูปรากฏการณ์มากล่าวไว้ ถึงแม้ว่าสามารถที่จะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้เป็นจำนวนนิดหน่อยก็ตาม แต่ความรู้อันมีประโยชน์นั้นก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการแก้ไขการขาดน้ำ

แนวความคิดที่มีอยู่ในเรื่องวงจรของน้ำโดยทั่วๆ ไปในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ใคร่จะเป็นที่ยอมรับกันนัก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะจินตนาการไปว่าน้ำใต้ดินนั้นสามารถจะมาจากการไหลซึมเข้ามาของน้ำที่ไหลแรงลงมาในเนื้อดิน อย่างไรก็ตาม ในสมัยโบราณความคิดเช่นนี้ซึ่งเป็นของวิทรูเวียส โพลิโอ มาร์คุส (Vitruvius Polio Marcus) ในกรุงโรมเมื่อศตวรรษที่ 1 ค.ศ. ยังถูกถือว่าเป็นข้อยกเว้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้ว (และวะห์ยุหรือการเปิดเผยของกุรอานก็ลงมาในระหว่างช่วงเวลานี้) ที่มนุษย์มีทรรศนะอย่างไม่ถูกต้องเลยเกี่ยวกับวงจรของน้ำ

ผู้ชำนาญการพิเศษในเรื่องนี้สองคนคือ จี. กาสทานี (G.Gastany) และบี.บลาโว (B.Blavoux) ได้เขียนไว้ในหนังสือเอนไซโคลปิเดีย ยูนิเวอร์ชาลิส (Encyclopedia Universalis) ภายใต้หัวข้อว่า อุทกศาสตร์ โดยกล่าวถึงประวัติศาสตร์เรื่องความเชื่อถือในเรื่องน้ำไว้

ดังนี้

 

ในศตวรรษที่ 7 ก่อน ค.ศ. ธาเลสแห่งมิเลตุส (Thales of Miletus) ถือต่างๆ ได้ถูกดันเข้ามายังส่วนในของทวีปภายใต้ผลกระทบของลม

ดังนั้น น้ำจึงตกลงบนผืนแผ่นดินและไหลแทรกเข้าไปในเนื้อดิน เพลโต (Plato) ก็มีทรรศนะเช่นเดียวกันและคิดว่าน้ำกลับมายังมหาสมุทรโดยผ่านเหวใหญ่คือทาร์ทารุส (Tartarus) ทฤษฎีนี้มีผู้สนับสนุนจำนวนมากจนถึงศตวรรษที่ 18

ผู้สนับสนุนคนหนึ่งคือเดสคาร์ต (Descartes) ส่วนอริสโตเติลคิดว่าน้ำระเหยจากพื้นดินและไปจับตัวกันเข้มข้นอยู่ในถ้ำเย็นๆ ในภูเขาและก่อให้เกิดทะเลสาบใต้ดินซึ่งป้อนน้ำให้แก่ลำธารต่างๆ

ผู้ที่มีความคิดเช่นเดียวกับเขาคือเชเนก้า (Seneca) (ศตวรรษที่ 1 แห่ง ค.ศ.) และคนอื่นๆ อีกหลายคน มาจนกระทั่งปี 1877 คนหนึ่งในจำนวนนั้นคือโอ.โวลเกอร์ (O.Volger) แต่ความคิดที่ชัดเจนอันแรกเกี่ยวกับเรื่องวงจรของน้ำ อาจจะเป็นของเอยร์นาร์ด พาลิสชีย์ (Bernard Palissy)

เมื่อปี 1580 เขาอ้างว่าน้ำใต้ดินมาจากน้ำฝนที่ไหลซึมลงไปในเนื้อดิน ทฤษฎีนี้ได้รับการยืนยันโดยอี.มาริโอต์ (E.Mariotte) และเป.เปอรอลต์ (P.Perrault) ในศตวรรษที่ 7

ในข้อความต่อไปนี้จากกุรอานไม่มีร่องรอยของความคิดที่ผิดๆ ซึ่งมีอยู่ในสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัดเลย

 

ซูเราะฮ์ที่ 50 โองการที่ 9-11 : “เรา (คือพระผู้เป็นเจ้า) ได้ส่งน้ำที่ดีมาจากท้องฟ้าซึ่งเราได้ทำให้ส่วนต่างๆ เติบโตขึ้น มีธัญพืชให้เก็บเกี่ยว มีต้นอินทผลัมพร้อมด้วยยวงของมันซึ่งวางซ้อนอยู่บนกันและกันเป็นปัจจัยเลี้ยงชีพแก่บรรดาข้า (ของเรา) จากนั้นเราได้ให้ชีวิต (ใหม่) แก่แผ่นดินที่ตายแล้ว ดังนั้น จะได้มีการออกมา (จากหลุมฝังศพ) เช่นเดียวกัน”

ซูเราะฮ์ที่ 23 โองการที่ 18-19 : “เราได้ส่งน้ำลงมาจากฟ้าเป็นสัดส่วนและให้มันอยู่ในพื้นดิน แน่นอนเราสามารถดึงมันกลับไปได้ จากน้ำนั้นเราได้ทำให้เกิดสวนอินทผลัมและไร่องุ่นสำหรับพวกเจ้าซึ่งมีผลไม้อุดมสมบูรณ์สำหรับพวกเจ้าและพวกเจ้าจะได้กินมัน”

ซูเราะฮ์ที่ 15 โองการที่ 22 : “เราได้ส่งลมซึ่งมีประโยชน์มาให้ เราทำให้น้ำตกลงมาจากท้องฟ้า เราจัดหาน้ำให้แก่พวกเจ้า พวกเจ้านั้นไม่ (สามารถ) เป็นเจ้าของที่สะสมมันไว้ได้”

ซูเราะฮ์ที่ 35 โองการที่ 9 : “พระผู้เป็นเจ้าคือผู้ที่ทรงส่งลมมาซึ่งทำให้ก้อนเมฆลอยจึ้นสูง เราขับมันไปยังแผ่นดินที่ตายแล้ว และจากมันเราทำให้พื้นดินฟื้นคืนชีวิตมาหลังจากความตายของมัน ดังนั้น จึงเป็นการฟื้นคืนชีพใหม่”

 

ควรสังเกตว่าคำบรรยายในส่วนแรกของโองการนี้มีสไตล์อย่างไร ครั้นแล้วก็เปลี่ยนไปเป็นคำประกาศจากพระผู้เป็นเจ้าโดยไม่มีหัวเลี้ยวหัวต่อ การเปลี่ยนวิธีการบอกเล่าอย่างกะทันหันเช่นนี้มีอยู่บ่อยมากในกุรอาน

ซูเราะฮ์ที่ 30 โองการที่ 48 : “พระผู้เป็นเจ้าคือผู้ที่ทรงส่งลมซึ่งทำให้ก้อนเมฆลอยสูงขึ้น พระองค์ทรงแผ่มันไปในท้องฟ้าตามที่พระองค์ทรงประสงค์และทำให้มันแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ ครั้นแล้วพวกเจ้าจะได้เห็นหยดน้ำฝนออกมาจากภายในก้อนเมฆเหล่านั้น พระองค์ทรงทำให้มันไปถึงที่ของพระองค์ซึ่งพระองค์ทรงประสงค์ และพวกเขาต่างก็ยินดี”

ซูเราะฮ์ที่ 7 โองการที่ 57 : “(พระผู้เป็นเจ้า) คือผู้ที่ทรงสั่งลมเสมือนเป็นผู้นำเอาความเมตตาของพระองค์มาให้ เมื่อนำเอาก้อนเมฆที่หนักหน่วงเพราะสิ่งที่มันบรรทุกมา เราก็ขับมันไปยังแผ่นดินที่ตายแล้ว ครั้นแล้วเราก็ทำให้น้ำตกลงมาและจากนั้นทำให้เกิดผลไม้ทุกชนิด เราได้ทำให้สิ่งที่ตายแล้วมีชีวิตขึ้นมาใหม่ดังนี้ เพื่อว่าบางทีพวกเจ้าจักระลึกได้”

ซูเราะฮ์ที่ 25 โองการที่ 48 และ 49 : “(พระผู้เป็นเจ้า) คือผู้ที่ทรงสั่งลมเสมือนเป็นผู้นำเอาความเมตตาของพระองค์มาให้ เราทำให้น้ำบริสุทธิ์ตกลงมาเพื่อทำให้แผ่นดินที่ตายแล้วมีชีวิตขึ้นมาใหม่ด้วยน้ำนั้น และเพื่อให้ปศุสัตว์และมนุษย์จำนวนมากมายที่เราได้สร้างขึ้นได้ดื่มกิน”

ซูเราะฮ์ที่ 45 โองการที่ 5 : “…ในปัจจัยยังชีพที่พระผู้เป็นเจ้าทรงส่งลงมาจากท้องฟ้าและจากสิ่งนั้นพระองค์ทรงทำให้พื้นดินมีชีวิตขึ้นมาใหม่หลังจากที่มันตายไปแล้ว และในการเปลี่ยน (ทิศทาง) ของลมที่เปลี่ยนแปลงวงจรของฝน”

ซูเราะฮ์ที่ 13 โองการที่ 17 : “(พระผู้เป็นเจ้า) ทรงส่งน้ำลงมาจากท้องฟ้าจนทำให้แม่น้ำไหลไปตามจำนวนของมัน กระแสน้ำพัดพาเอาฟองน้ำที่เพิ่มขึ้นออกไป”

ซูเราะฮ์ที่ 67 โองการที่ 30 : “พระผู้เป็นเจ้าทรงสั่งศาสดาว่า “จงกล่าวเถิดว่า “พวกท่านเห็นไหมว่าถ้าน้ำของพวกท่านหายไปในพื้นดินแล้วใครเล่าจะให้น้ำที่ไหลพุ่งแก่พวกท่านได้?

ซูเราะฮ์ที่ 39 โองการที่ 21 : “พวกเจ้าไม่เคยเห็นดอกหรือว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงส่งน้ำลงมาจากท้องฟ้าและทำให้มันไหลผ่านแหล่งต่างๆ เข้าไปในพื้นดินได้อย่างไร? ครั้นแล้วพระองค์ทรงทำให้ทุ่งนาที่ไถหว่านซึ่งมีสีสันต่างๆ กันเติบโตขึ้น”

ซูเราะฮ์ที่ 36 โองการที่ 34 : “ในนั้นเราได้วางสวนอินทผลัมและไร่องุ่นลงและเราทำให้น้ำพุพลุ่งขึ้นมา”

ความสำคัญของน้ำพุและวิธีที่มันถูกหล่อเลี้ยงด้วยน้ำฝนที่ไหลลงไปหามันนั้นได้ถูกเน้นในโองการสามโองการสุดท้าย สมควรจะได้หยุดสักนิดเพื่อตรวจตราดูข้อเท็จจริงนี้และรำลึกถึงทรรศนะที่มีอยู่ในสมัยกลางอย่างของอริสโตเติล (Aristotle) ซึ่งถือว่าน้ำพุได้รับการป้อนน้ำจากทะเลสาบใต้ดิน

 

ในบทความเรื่อง อุทกศาสตร์ (Hydrology) ของเขาในเอนไซโคลปีเดียยูนิเวอร์แซล เอ็ม.อาร์.เรมังนิแยร่า (M.R.Remenieras) ได้บรรยายถึงขั้นตอนสำคัญๆ ของอุทกศาสตร์ และกล่าวถึงงานชลประทานที่ยิ่งใหญ่ของคนโบราณโดยเฉพาะในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม เขาได้กล่าวว่า ทรรศนะที่ได้มาจากการสังเกตไม่ใช่เหตุผลที่มีอยู่ในทุกๆ สิ่ง เนื่องจากความคิดในสมัยนั้นได้มาจากแนวความคิดที่ผิดๆ เขาได้กล่าวต่อไปว่า

จนกระทั่งสมัยเรอเนซอง (คือระหว่างประมาณปี 1400-1600) แนวความคิดที่อาศัยปรัชญาอย่างแท้จริงจึงได้หลีกทางให้แก่การวิจัยที่ขึ้นอยู่กับการสังเกตแบบภววิสัย (Objective คืออาศัยข้อเท็จจริง ไม่ใช่อาศัยความคิดของตนเอง)

ในเรื่องปรากฏการณ์เกี่ยวกับน้ำนั้น ลีโอนาร์โด ดาวินซี (Leonardo da Vinci 1452-1519) ได้แข็งข้อต่อต้านคำกล่าวของอริสโตเติล

เบอร์นาร์ด พาลิสซีย์ ได้ให้ความหมายอย่างถูกต้องเกี่ยวกับวงจรของน้ำและโดยเฉพาะเรื่องที่น้ำพุได้รับการป้อนน้ำจากน้ำฝนไว้ในหนังสือชื่อ Wonderful Discourse on the Nature of Waters and Fountains Both Natural and Artificial (คำบรรยายอันน่าพิศวงถึงธรรมชาติของน้ำและน้ำพุ ทั้งในแบบธรรมชาติและแบบสิ่งประดิษฐ์) (พิมพ์ในปารีส, 1570)

เนื้อหาในซูเราะฮ์ที่ 24 โองการที่ 43 เกี่ยวกับฝนและฝนลูกเห็บ : “พวกเจ้าไม่เห็นดอกหรือว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงทำให้ก้อนเมฆเคลื่อนไหวไปช้าๆ ครั้นแล้วก็มารวมกัน แล้วทรงทำให้มันเป็นกองกลุ่ม และพวกเจ้าจะเห็นน้ำฝนออกมาจากภายในนั้น พระองค์ทรงส่งฝนลูกเห็บเป็นกองเท่าภูเขาลงมาจากท้องฟ้า พระองค์ทรงโจมตีผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ด้วยสิ่งนั้น และทรงเบนมันไปเสียจากผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ แสงแวบวับของฟ้าแลบของมัน (ของก้อนเมฆ) เกือบจะเด็ดสายตา (ของมนุษย์) ไปเสียแล้ว”