Third Place คนรุ่นใหม่ ‘ร้านกาแฟ’ มาแทนที่ ‘วัด’/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

Third Place คนรุ่นใหม่

‘ร้านกาแฟ’ มาแทนที่ ‘วัด’

 

ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง สถานการณ์โรคระบาด และโรคอุบัติใหม่

คนรุ่นใหม่เติบโตมากับชีวิตที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ซึ่งดูดกลืนเวลาในแต่ละประจำวันไปเกือบหมด ตั้งแต่เรื่องการเรียน ไปจนถึงการทำงาน

แตกต่างจากสภาพการเป็นอยู่ในยุคก่อน ที่เรามีเวลาว่างในชีวิตแบบสบายๆ และคนไทยมีความผูกพันกับศาสนา ผูกพันกับวัด วัดอยู่ใกล้บ้าน

และแม้ว่าวัดจะอยู่ใกล้บ้าน แต่ความศรัทธาที่ลดลงจากการที่คนรุ่นใหม่เห็นข่าวพระดื่มเหล้า นอนกับสีกา พิธีกรรมไสยศาสตร์ พุทธพาณิชย์เต็มรูปแบบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่คน Generation ใหม่ ได้ขึ้นมาแทนที่คน Generation เก่าผู้เข้าวัดเข้าวากันเป็นกิจวัตร ได้ทยอยจากไป

คนรุ่นเก่าเรียนหนังสือกับพระที่วัด เรียกพระสงฆ์ว่าพระครู พระเป็นผู้รอบรู้ในทางวิชาการ (ทางโลก) และอบรมสั่งสอนศีลธรรม (ทางธรรม) อยู่ในคนคนเดียวกัน

ขณะที่ระบบการศึกษายุคใหม่ แม้จะเป็นโรงเรียนวัด แต่คนสอนหนังสือไม่ใช่พระ แต่เป็นฆราวาส (ครู) ซึ่งบางครั้งเป็นคนต่างถิ่นต่างวัฒนธรรม ไม่ใช่คนในชุมชน

อีกปัจจัยหนึ่ง การเดินทางอาจไม่สะดวก วัดหลายแห่งไม่มีที่จอดรถ และถึงมีที่จอดรถสะดวก แต่คน Generation ใหม่ แทบไม่มีกิจกรรมที่วัด

ยิ่งมีความพยายามแปรรูปศาสนาให้เป็นแบบ Online แทนที่จะดึงคนรุ่นใหม่ให้กลับมาสนใจวัด กลับผลักพวกเขาออกไป จากความน่าเบื่อของ App ที่ทำได้ไม่ดี (ฮา)

จึงเกิดประโยคประชดทำนองว่า “คนรุ่นใหม่ไปร้านกาแฟมากกว่าเข้าวัด”

แต่ดูเหมือนไม่ใช่คำพูดลอยๆ

อย่างน้อย มีผลสำรวจมากมายเกี่ยวกับเหตุผลที่คนรุ่นใหม่ไม่ไปวัด ข้อมูลหนึ่งซึ่งน่าสนใจก็คือ คนรุ่นใหม่ใช้เงินซื้อกาแฟดื่มมากกว่าเก็บเงินหรือทำบุญ

เพราะในยุคปัจจุบัน การดื่มกาแฟ และใช้เวลาส่วนใหญ่ในร้านกาแฟ กลายเป็นกิจวัตรประจำวันของคน Generation ใหม่ ตั้งแต่วัยเรียนยันวัยทำงานไปแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลสำรวจที่พบว่า คน Generation ใหม่ ใช้จ่ายเงินไปกับการดื่มกาแฟแพงๆ มากกว่าเก็บเงินวางแผนเกษียณเสียอีก

โดยมีการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง คน Generation ใหม่ จำนวน 1,900 คน พบว่า 44% ใช้เงินซื้อกาแฟดื่มใน 1 ปี มากกว่าเงินเก็บในธนาคาร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลสำรวจที่ระบุว่า คน Generation ใหม่ 41% อาจต้องทำงานเกินอายุ 65 ถึงจะมีเงินเก็บเพียงพอหลังเกษียณ

 

ไม่เพียงปัญหาศาสนาพุทธกับคนรุ่นใหม่ในบ้านเรา ในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกาก็ประสบวิกฤตเกี่ยวกับศาสนาไม่น้อย

เนื่องจากมีผลสำรวจว่าชาวอเมริกันเข้าร่วมพิธีทางศาสนาน้อยลง จากความเสื่อมถอยของโบสถ์

ในปี ค.ศ.1999 มีชาวอเมริกันมากถึง 70% เป็นสมาชิกโบสถ์ ขณะที่ปี ค.ศ.2020 สมาชิกโบสถ์ลดลงเหลือ 47% และพบว่า มีชาวอเมริกันเพียง 3 ใน 10 คนเท่านั้นที่ยังเข้าร่วมพิธีทางศาสนาอยู่ทุกสัปดาห์

Daniel Cox ผู้อำนวยการ Survey Center on American Life ภายใต้หน่วยงาน American Enterprise Institute กล่าวว่า ศาสนจักร และการชุมนุมของคริสต์ศาสนิกชนในโบสถ์ ในมุมมองคนอเมริกันรุ่นก่อนนั้น มีความสำคัญมาก

“แน่นอนว่า โบสถ์มีบทบาทโดยตรงต่อชุมชน ในการสร้างความสามัคคี และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทางการเมือง” Daniel Cox กระชุ่น

Daniel Cox บอกว่า “ไม่ใช่เรื่องของโชค หรือความบังเอิญ ที่ขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองทั้งหมด ล้วนเกิดขึ้นที่โบสถ์” และว่า

“สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่รวมคนหลายเชื้อชาติ เราจึงสามารถพบเห็นคนในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมารวมกันที่โบสถ์ ไม่ว่าจะเมืองใหญ่ ในชนบท ชานเมือง หรือที่ไหนๆ ก็ตาม”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทเดิมของโบสถ์ คือการช่วยให้ผู้อพยพได้ซึมซับวัฒนธรรมเมื่อมาถึงอเมริกาครั้งแรก” Daniel Cox กล่าว และว่า

ทุกวันนี้ ผู้คนต่างมี Third Place ใหม่ที่ไม่ใช่ “โบสถ์” หาก “บ้าน” คือ First Place และ “ที่ทำงาน” หรือ “โรงเรียน” คือ Second Place

สอดคล้องกับ Ray Oldenburg นักสังคมวิทยาเมือง ที่ระบุว่า Third Place มีความสำคัญในฐานะจุดรวมตัวสาธารณะ ซึ่งเป็นสิ่ง First Place และ Second Place ไม่มี

 

“Third Place” เป็นสถานที่ซึ่งมีความสำคัญต่อพลังทางสังคมของชุมชน ผลการสำรวจของ American Survey Center ในเดือนตุลาคมปี ค.ศ.2021 ที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านกาแฟ เป็นสถานที่ซึ่งชุมชนให้ความไว้วางใจมากกว่าโบสถ์” Ray Oldenburg กล่าว และว่า

การมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ของคนในชุมชน ทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อนบ้าน ซึ่งส่งผลเชิงบวกทางสังคมมาแล้วมากมาย

“แต่ทุกวันนี้ ต้องบอกว่า Third Place ของชาวอเมริกันจำนวนมาก กลายเป็นร้านกาแฟ” Ray Oldenburg สรุป

ต่างจากในอดีต ที่โบสถ์ หรือศาสนสถานอื่นๆ เคยเป็น Third Place สำหรับชาวอเมริกันทั้งประเทศ

ในปี ค.ศ.2019 ได้มีการเผยแพร่ผลสำรวจที่ระบุว่า 67% ของกลุ่มตัวอย่างผู้ตอบแบบสอบถาม มีความคิดเห็นว่า Third Place ในปัจจุบันนั้น “ไม่ใช่โบสถ์”

แต่เป็นสถานที่ประเภท ร้านกาแฟ บาร์ ร้านอาหาร สวนสาธารณะ หรือสถานที่อื่นๆ ในชุมชนที่พวกเขาไปร่วมกิจกรรมเป็นประจำ

โดยตัวเลขดังกล่าวได้ลดลงเหลือ 56% ในปี ค.ศ.2021 แม้ส่วนหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่า เกิดจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากระบาดของ COVID-19

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Maria Espinola อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์และพฤติกรรมด้านประสาทวิทยา จาก University of Cincinnati College of Medicine ชี้ว่า ถ้าคุณเป็นลูกค้าประจำของร้านกาแฟ Barista จะรู้เลยว่าคุณชอบกาแฟแบบไหน

“Barista จะรู้เลยว่าคุณชอบกาแฟรสชาติใด หรือชอบทานกับขนมอะไร จากนั้นก็จะนำกาแฟในแบบที่คุณชอบมาเสิร์ฟให้ ซึ่งแน่นอนว่า นั่นจะเป็นสิ่งที่ทำให้คุณมีความรู้สึกที่ดี” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Maria Espinola กล่าว และว่า

ข้อดีของร้านกาแฟก็คือ มันมีอยู่เกือบทุกซอกทุกมุม ทุกถนนหนทาง เราสามารถแวะไปนั่งดื่มกาแฟเป็นครั้งคราว หรือจะเป็นลูกค้าประจำก็ได้ และหลายแห่งก็เปิดขายทุกวัน

“ร้านกาแฟ จึงอาจเป็นการช่วยเติมเต็มช่องว่างที่โบสถ์ทิ้งเอาไว้ก็เป็นได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Maria Espinola กล่าว และว่า

แน่นอนว่า ความผูกพันกับของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อโบสถ์ ซึ่งกำลังลดน้อยถอยลงในปัจจุบัน อาจทำให้พวกเขาไม่ได้สัมผัสประสบการณ์เหมือนที่คนรุ่นก่อนได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานะ Third Place ของโบสถ์

“แต่ฉันคิดว่า ร้านกาแฟเหมาะที่จะเป็น Third Place สำหรับคนรุ่นใหม่ เพราะสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากมาย ร้านกาแฟหลายแห่งจึงมีคนหน้าเดิมๆ เข้ามาเล่นหมากรุก และมีกลุ่มคนเกษียณอายุมาทานอาหารกลางวันด้วยกัน”

การมานั่งฆ่าเวลาในร้านกาแฟ อาจดูเหมือนว่า คนเหล่านั้นไม่มีที่ไป แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย พวกเขามาร้านกาแฟเพื่อพูดคุย ให้กำลังใจกัน และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ

“หากไม่ใช่โบสถ์ ก็คงต้องเป็นที่ร้านกาแฟนี่แหละค่ะ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. Maria Espinola ทิ้งท้าย