สงครามรัสเซีย-ฟินแลนด์ ประวัติศาสตร์ที่อาจซ้ำรอยที่ยูเครน

Destroyed Russian tanks are seen, amid Russia's invasion of Ukraine, in the Sumy region, Ukraine, March 7, 2022. Picture taken March 7, 2022. Irina Rybakova/Press service of the Ukrainian Ground Forces/Handout via REUTERS THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY. MANDATORY CREDIT

วิกฤตการณ์สงครามในยูเครนที่ปะทุขึ้นจากการที่ชาติมหาอำนาจอย่างรัสเซียนำกำลังทหารเข้ารุกรานประเทศเพื่อนบ้านที่เล็กกว่าอย่างยูเครนจะจบลงอย่างไร เวลานี้ยังไม่มีใครรู้

แต่สถานการณ์การรบที่หลายฝ่ายเคยคาดเอาไว้ว่ารัสเซียจะสามารถบุกยึดกรุงเคียฟได้ภายในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง จัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดได้อย่างง่ายดาย กลับยืดเยื้อมาแล้วเกือบ 1 เดือน

รัสเซียเจอกับการต่อต้านจากยูเครนอย่างแข็งแกร่ง และต้องสูญเสียกำลังทหารไปจำนวนมาก

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้ย้อนกลับไปนึกถึงสงครามระหว่างสหภาพโซเวียตที่นำกำลังบุกฟินแลนด์เมื่อ 80 ปีก่อน ที่อาจเป็น “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” ที่เกิดขึ้นอีกครั้งในวันนี้

 

“สงครามฤดูหนาว” ระหว่างสหภาพโซเวียตและฟินแลนด์ ที่เป็นจุดกำเนิดของระเบิดเพลิงทำมืออย่าง “โมโลตอฟ ค็อกเทล” เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 1939 ถึงเดือนมีนาคม 1940

เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ถูกนำมาเปรียบเทียบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน

เหตุผลไม่ใช่เพียงแค่ข้ออ้างของสหภาพโซเวียตในการรุกรานในเวลานั้นจะคล้ายคลึงกับข้ออ้างของรัสเซียที่ใช้บุกยูเครนในเวลานี้เท่านั้น

แต่เพราะสงครามฤดูหนาวอาจเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าชาติที่เล็กกว่า มียุทโธปกรณ์ และกำลังทหารน้อยกว่าก็อาจเป็น “แจ๊กผู้ฆ่ายักษ์” ได้

จุดเริ่มต้นของสงครามมีขึ้นหลังจาก “นาซีเยอรมัน” และ “สหภาพโซเวียต” ลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานซึ่งกันและกันเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “โมโลตอฟ-ริบเบนทรอป” ที่ตั้งชื่อตามรัฐมนตรีต่างประเทศของสองชาติอย่าง “วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ” ของโซเวียต และ “โจอาคิม ฟอน ริบเบนทรอป” ของนาซีเยอรมัน

สหภาพโซเวียตและนาซีเยอรมันทำข้อตกลงลับในการแบ่งแยกยุโรปออกเป็นสองซีกภายใต้การยึดครองของสองฝ่ายโดยมีเส้นเขตแดนที่ผ่ากลางประเทศโปแลนด์ โดยฟินแลนด์นั้นอยู่ภายใต้การดูแลของสหภาพโซเวียต

สองสัปดาห์หลังจากนั้น นาซีเยอรมันรุกรานโปแลนด์จากทางตะวันตก และนั่นเป็นการจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ตามมาด้วยสหภาพโซเวียตที่บุกและยึดครองโปแลนด์ฝั่งตะวันออก

 

หลังจากโปแลนด์ถูกลบออกจากแผนที่โลก โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตหันไปหาฟินแลนด์ หวังจะฟื้นคืนเขตแดนในยุคจักรวรรดิรัสเซียขึ้นมาอีกครั้ง โดยสตาลินกล่าวหารัฐบาลฟินแลนด์ว่ามีแนวคิดฟาสซิสต์ และเป็นภัยคุกคามต่อเมืองเลนินการ์ด หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า “เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก” ซึ่งมีชายแดนติดกัน

ฟินแลนด์ปฏิเสธข้อเสนอของสหภาพโซเวียตในการยกดินแดนที่ติดกับเลนินการ์ด แลกกับการให้ดินแดนอื่นทดแทน

หลังการเจรจาทางการทูตไม่ประสบผล สหภาพโซเวียตนำกองทัพบุกฟินแลนด์ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ปี 1939 พร้อมกับกำลังทหารที่มากกว่าฟินแลนด์ถึง 2 เท่า มีรถถัง 5,000 คัน และเครื่องบินรบมากถึง 4,000 ลำ เทียบกับฟินแลนด์ที่มีรถถังและเครื่องบินรบจำนวนหลักสิบเท่านั้น โดยสหภาพโซเวียตคาดว่าฟินแลนด์จะยอมแพ้อย่างง่ายดาย

แต่สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น กองทัพฟินแลนด์รบท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บถึงติดลบ 45 องศาท่ามกลางหิมะหนายืดเยื้อยาวนานกว่า 3 เดือน

หลังสิ้นสุดสงครามภายใต้สนธิสัญญามอสโก กองทัพฟินแลนด์สามารถสังหารทหารโซเวียตได้มากกว่าที่โซเวียตทำได้ถึง 5 เท่า เสียดินแดนไป 10 เปอร์เซ็นต์

และที่สำคัญฟินแลนด์ยังคงสถานะประเทศที่มีเอกราชเป็นของตัวเอง

 

นักวิเคราะห์มองว่า ฟินแลนด์ทำเช่นนั้นได้ด้วยการสู้รบอย่างชาญฉลาด เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ มีแรงบันดาลใจในการปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนและครอบครัว และเช่นเดียวกันกับยูเครน

ระเบิดขวดที่บรรจุน้ำมันติดเศษผ้าเป็นที่รู้จักกันตั้งแต่สงครามกลางเมืองในสเปน แต่ชาวฟินแลนด์เป็นผู้ถือกำเนิดชื่อ “โมโลตอฟ ค็อกเทล” เพื่อหยาม “โมโลตอฟ” รัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพโซเวียตในเวลานั้น และนำมาใช้สู้กับทหารโซเวียตได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับที่ชาวยูเครนนำมาใช้กับรัสเซียในเวลานี้

ด้านกองทัพฟินแลนด์ใช้กลยุทธ์ “ม็อตติ” การสู้รบแบบกองโจรเคลื่อนที่ด้วยสกี พรางตัวในหิมะลอบโจมตีกองทหารและขบวนทัพของโซเวียตอย่างมีประสิทธิภาพ และนั่นเทียบได้กับเหตุการณ์ทหารยูเครนลอบโจมตีขบวนรถรัสเซียที่มุ่งหน้ากรุงเคียฟ จนติดขัดยาวกว่า 60 กิโลเมตรนานหลายวัน

อีกเหตุผลที่ฟินแลนด์ ต่อต้านโซเวียตได้แม้จะโดนโจมตีทางอากาศอย่างไม่เลือกหน้าเข้าใส่กรุงเฮลซิงกิอย่างต่อเนื่องก็คือความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับที่ยูเครนได้รับในเวลานี้

ฟินแลนด์ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านอย่างสวีเดน ได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์จากหลายๆ ชาติ องค์กรสันนิบาตแห่งชาติ ประณามการรุกรานฟินแลนด์ของโซเวียต เช่นเดียวกับที่องค์การสหประชาชาติประณามรัสเซียในเวลานี้

ขณะที่ยูเครนที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐที่อนุมัติงบฯ มากถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐช่วยเหลือยูเครนในด้านต่างๆ หลายชาติส่งขีปนาวุธต่อต้านรถถัง ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน อาวุธปืน เครื่องกระสุน จำนวนมากหลั่งไหลสู่ยูเครนอย่างต่อเนื่อง

 

จากนี้ไปยังไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตการณ์ในยูเครนจะจบลงเช่นไร ในทางหนึ่งอาจจะจบลงในแง่ดีด้วย “ประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอย” ที่เคยเกิดขึ้นในฟินแลนด์

นักวิเคราะห์มองว่า วิกฤตการณ์ในยูเครนอาจจบลงด้วยการเจรจาทางการทูตประนีประนอมกันระหว่างยูเครนและรัสเซีย โดยยูเครนอาจต้องยอมสูญเสียดินแดนทางตะวันออกบางส่วนอย่างเช่นไครเมีย และภูมิภาคดอนบาส ที่รัสเซียผนวกไปก่อนหน้านี้

ขณะที่รัสเซียอาจต้องยอมให้รัฐบาลยูเครนภายใต้การนำของโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ได้รับการันตีด้านความมั่นคงจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นการแลกเปลี่ยน

หรือในอีกทางหนึ่งสงครามในยูเครน อาจกลายเป็น “ประวัติศาสตร์หน้าใหม่” ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 3 ก็เป็นได้