คนรวยช่วยคนจน / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

คนรวยช่วยคนจน

 

พูดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม เหมือนเป็นเรื่องในนิยายเพ้อฝัน

ไม่เห็นที่ใดในโลกสามารถแก้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยได้สำเร็จจนสามารถลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้แคบลงได้เลย

แน่นอนว่าคนเลือกเกิดไม่ได้ คนที่เกิดในตระกูลร่ำรวยอยู่แล้วโอกาสทางสังคมย่อมเปิดกว้างกว่าคนที่เกิดในตระกูลยากจน

ลูกหลานคนรวยได้กินอาหารที่ครบถ้วนทางโภชนาการ ร่างกายเติบโต สมองงอกงามสมบูรณ์ อยู่ในโรงเรียนดี ครูสอนเก่ง อนาคตของลูกคนรวยสดใสก้าวหน้า เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้งานทำตำแหน่งใหญ่เงินเดือนเยอะ คุณภาพชีวิตถูกยกระดับให้สูงขึ้นไปอีก

ส่วนครอบครัวคนจนต้องกินอาหารตามสตางค์ที่มีอยู่ในกระเป๋า พ่อแม่ที่มีวิสัยทัศน์ไกลรักลูก อยากเห็นลูกมีร่างกายแข็งแรง สมองดี ก็เจียดเงินที่มีอยู่อันน้อยนิดซื้ออาหารดีๆ ให้ลูกกิน แต่ส่วนใหญ่แล้วลูกคนจนได้กินอาหารที่ด้อยคุณค่าทางโภชนาการ

เมื่อเด็กได้รับสารอาหารไร้คุณภาพ ร่างกายสมองเติบโตไม่เต็มที่ อยู่ในโรงเรียนที่ไร้ประสิทธิภาพ ขาดครูคุณภาพ ที่มีอยู่ก็สอนไปวันๆ อนาคตเด็กจึงรุ่งริ่ง

ที่สุดลูกคนจนส่วนใหญ่เดินเข้าสู่สังคมไร้อนาคต กลายเป็นเด็กมีปัญหา ครูดุด่าหาว่าสมองทึ่มทื่อ การเรียนตก เกรดต่ำ

ครอบครัวไม่มีเงินจะส่งไปเรียนต่อ ต้องออกจากโรงเรียน ไปสมัครทำงานที่ไหนไม่มีใครรับเพราะไร้ทักษะ ไม่มีความรู้ ต้องก้มหัวเป็นกรรมกรรับจ้างรายวัน หาเช้ากินค่ำซุกอยู่ในสลัม ติดยาแล้วคลุ้มคลั่งจี้ปล้นลักขโมย ติดคุก

กลายเป็นวงจรอุบาทว์

 

สังคมไทยพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนรวยกับคนจนมานานแล้ว แต่ยังไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนสรรค์สร้างนโยบายลดช่องว่างระหว่างความรวยและความจนแล้วนำมาจัดการบริหารได้สำเร็จ

ตรงกันข้าม วันนี้สังคมไทยกลายเป็นสังคม ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ สินทรัพย์ทั้งประเทศกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในมือของคนรวยที่สุดที่มีสัดส่วน 10%

ตระกูลร่ำรวยที่สุด 50 อันดับแรกของประเทศไทย ตามการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บส์ มีทรัพย์สินเท่ากับประชากร 13 ล้านครัวเรือน

คนจนมีหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ตัวเลขล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว ครัวเรือนไทยมีหนี้สินทั้งสิ้น 14.34 ล้านล้านบาท

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศบอกว่า 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้ ยอดหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว

ขณะที่จำนวนประชากรทั้งประเทศ เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 7มกราคมที่ผ่านมา มีอยู่ทั้งหมด 66.17 ล้านคน

ในจำนวนนี้ขอยื่นถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน 20 ล้านคน

นั่นเท่ากับประเทศไทยมีสัดส่วนคนจนมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ

 

ดัชนีความยากจนหลายมิติ หรือ MPI (Multidimensional Poverty Index) จัดทำโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ปี 2564 ซึ่งเก็บข้อมูลในประเทศกำลังพัฒนา 109 ประเทศ ครอบคลุมตัวชี้วัด 10 อย่าง ตั้งแต่มิติการศึกษา สุขภาพ คุณภาพชีวิต มาคำนวณพบว่าประเทศไทยอยู่ที่ 0.002 ต่ำที่สุดของกลุ่มประเทศอาเซียน

นับเป็นเรื่องน่าละอายยิ่งเพราะตัวชี้วัดของบ้านเรา ไม่เพียงต่ำกว่าลาวและเมียนมา หากยังสะท้อนช่องว่างระหว่างคนจน-คนรวยที่ถ่างห่างมากขึ้นอดีต ทั้งยังบ่งบอกถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศไทย

ที่น่าเศร้าไปกว่านั้น ในยุคโรคโควิดระบาด เกษตรกรไทย เพิ่มระดับหนี้สินรุงรังมากที่สุด ถัวเฉลี่ยต่อครัวเรือน มีหนี้ 262,317 บาท เพิ่มขึ้น 74% เมื่อเทียบกับปี 2561 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด

ต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มสูงเพราะซื้อปุ๋ยเคมีมากถึง 43.70% ค่ายาปราบศัตรูพืช 4.22%

เมื่อมีหนี้สิน เกษตรกรยิ่งเร่งผลผลิต เพราะเชื่อว่าการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงจะช่วยลดต้นทุนเพิ่มรายได้

ดูจากปริมาณการนำเข้าสารเคมีเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นมาตลอด ข้อมูลเมื่อปี 2561 นำเข้ากว่า 170,000 ตัน มูลค่ามากว่า 36,000 ล้านบาท

แสดงให้เห็นว่าความเชื่อของเกษตกรกรในเรื่องของการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงฝังรากลึกเกินกว่าจะลบล้างและเปลี่ยนทัศนคติมาใช้สารอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะเวลาอันสั้นๆ

 

ภูมิพันธ์ บุญญาปะมัย ผู้ก่อตั้งมูลนิธิณัฐภูมิ

ผมเพิ่งไปดูแปลงเกษตรปลอดภัยของมูลนิธิณัฐภูมิ ซึ่งมี “คุณอู้ด” ภูมิพันธ์ บุญญาปะมัย เป็นผู้ก่อตั้ง อยู่ในพื้นที่ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ได้เรียนรู้ว่า เกษตรกรในจังหวัดลำปางใช้สารเคมีในปริมาณสูงมากส่งผลร้ายต่อสุขภาพทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค

ผู้ป่วยมะเร็งมีจำนวนมากจนถึงขั้นต้องจัดตั้งโรงพยาบาลมะเร็งในจังหวัดลำปางตั้งแต่ปี 2536

สถิติปี 2563 ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จากพื้นที่ภาคเหนือมาขอรับการรักษา 2,691 ราย ในจำนวนนี้เป็นชาวลำปางมากสุด 970 ราย

“คุณอู้ด” บอกถึงที่มาของการจัดตั้งมูลนิธิว่า คุณสมควร โสมณวัฒน์ ซึ่งเป็นกัลยาณมิตร ย้ายหลักปักฐานมาอยู่ในจังหวัดลำปาง สำรวจพบผู้คนที่นี่เป็นโรคมะเร็งจำนวนมาก รวมถึงคนในครอบครัวคุณสมควรด้วย

“ผมชักชวนคุณสมควรมาร่วมจัดตั้งมูลนิธิ ซื้อที่ดินมาทำแปลงเกษตรปลอดภัยเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรและผู้สนใจรักสิ่งแวดล้อมวิถีธรรมชาติ อยากเห็นชุมชนพัฒนาอย่างยั่งยืน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

พืชผักของมูลนิธิใช้อินทรีย์วัตถุปลอดสารเคมี ปุ๋ยหมักเอง จึงเติบโตงอกงามสมบูรณ์มาก

มูลนิธิณัฐภูมิยังมีโครงการปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียว โครงการฟาร์มสเตย์ สถานพักฟื้นผู้สูงอายุ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่นและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

สยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด กับแปลงผักปลอดภัยของมูลนิธิณัฐภูมิ

คุณอู้ดซึ่งเป็นเจ้าของบริษัททีเคไอ ต๊อกกวง อินเตอร์เนชั่นแนล ตัวแทนขายนาฬิกาปาเต็ก ฟิลิปป์ และเครื่องประดับอัญมณี ยังชักชวนเพื่อนร่วมรุ่นหลากหลายสถาบันเข้าร่วมกิจกรรม อย่างเช่น คุณสยาม เตียวตรานนท์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาร่วมทำสมาร์ตฟาร์มมิ่ง เติมองค์ความรู้ให้กับชุมชน

“ความร่ำรวยเป็นแค่มายาภาพ ตายแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้ ทุกวันนี้ผมอยากเห็นผู้คนสุขภาพดี จิตใจดี และสังคมที่มีคุณภาพ เป็นดัชนีชี้วัดความสุข ซึ่งเป็นความมุ่งหวังของมูลนิธิณัฐภูมิ” คุณอู้ดเอ่ยก่อนชวนผมไปนั่งสวดมนต์ในโรงธรรม

พนักงานของมูลนิธิต้องเข้าร่วมสวดมนต์ฟังธรรมทุกเช้าตรู่ก่อนออกแยกย้ายไปทำงาน เป็นการทำงานด้วยจิตใจอันเบิกบานและเป็นสุข

มูลนิธิณัฐภูมิ เป็น 1 ในความพยายามของกลุ่มคนรวยกลุ่มเล็กๆ เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย •