เมื่อจุฬาฯ ปลด “เนติวิทย์” พ้น ปธ.สภานิสิตฯ เหมือนจบ แต่ไม่จบ…

รายงานพิเศษ โดย อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์

เมื่อช่วงเย็นของวันสุดท้ายในเดือนสิงหาคมก่อนเข้าสู่เดือนใหม่ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานสภานิสิตของจุฬาฯ ที่ล่าสุดตำแหน่งดังกล่าวได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวพร้อมภาพหนังสือคำสั่ง ระบุว่า

“ในวันนี้ (31 สิงหาคม) ผมได้รับคำสั่งจากทางจุฬาฯ ให้ปลดผมและเพื่อนๆ อีก 4 คน ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นออกจากตำแหน่ง เนื่องจากถูกตัดคะแนนความประพฤติในกรณีถวายสัตย์คนละ 25 คะแนน ซึ่งรวมถึงเพื่อนอีก 3 คน ที่กรรมาธิการสภา ทำให้ผมพ้นจากตำแหน่งประธานสภานิสิตด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อหาหนึ่งคือการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังปัญหาของผู้ค้าสวนหลวงสแควร์ ซึ่งยังไม่ได้รับคำตัดสิน…….”

หนังสือคำสั่งฉบับนั้นเอง ที่กลายเป็นบทสรุปท่าทีของจุฬาฯ จากกรณีพิธีถวายสัตย์ที่ปรากฏภาพอาจารย์เดินไปเข้าล็อกนักศึกษาซึ่งเป็นสมาชิกสภานิสิต แต่แล้วกระแสกลับตีว่าเนติวิทย์และกลุ่มเพื่อนที่มีตำแหน่งรองประธานสภาและสมาชิกสภาเป็นผู้สร้างความวุ่นวาย จนนำไปสู่การดำเนินการสอบสวนพฤติกรรม โดยคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตในฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ใครหลายคนต่างคาดการณ์ไว้

แต่เนติวิทย์ได้ระบุตอนท้ายว่า

“อย่างไรก็ดี ทางเราจะยังต่อสู้ต่อไปโดยอุทธรณ์ต่อทางมหาวิทยาลัย”

และตอนนั้นเองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเผชิญหน้า ระหว่าง “นิสิตคนหนึ่ง” กับ “มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ”

 

หนังสือแจ้งจากสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯส่งถึงนายเนติวิทย์ โดยนายเนติวิทย์ระบุว่า 1.ใช้สถานที่ราชการในการจัดประชุมโดยไม่รับอนุญาต – เกิดจากการที่ผมทำ Public Hearing รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของผู้ค้าสวนหลวงสแควร์ที่ห้องสภานิสิต 2. แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมโดยเจตนาเดินออกจากแถวขณะประกอบพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อมาในช่วงค่ำของวันเดียวกัน เฟซบุ๊กของสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ภาพแถลงการณ์ต่อกรณีปลดเนติวิทย์และเพื่อนๆ สภานิสิต โดยเนื้อหาระบุว่า

“ตามที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งเรื่อง ให้สมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นจากตำแหน่ง จากกรณีที่สมาชิกสภานิสิตสามัญได้ประพฤติตนไม่เหมาะสม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา

สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันมาจากการเลือกตั้งของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอแสดงจุดยืนไม่ยอมรับคำสั่งทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการชี้แจงกระบวนการพิจารณาและข้อกล่าวหาอย่างชัดเจนแก่นิสิตที่ถูกสอบสวน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นิสิตที่ถูกสอบสวนได้มีระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานและแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ในชั้นของการอุทธรณ์ต่อไป

นอกจากนี้ สภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังขอแสดงความกังวลต่อกระบวนการสอบสวนทางวินัยกับอาจารย์ที่เข้าไปทำร้ายร่างกายนิสิตที่ไม่มีความคืบหน้าออกมาแต่อย่างใด ให้เกิดความเป็นธรรมต่อนิสิตที่ถูกกระทำความรุนแรงด้วย” โดยนายเนติวิทย์ระบุหลังมีแถลงการณ์จากสภานิสิตจุฬาฯ ว่า ขอบคุณที่ยังไว้วางใจผม ในช่วงวิกฤตินี้ เราจะผ่านพ้นมันไปให้ได้เพื่อสวัสดิการและสิทธิของเพื่อนนิสิตและบริการสังคมให้มหาวิทยาลัยของเรามีศักดิ์ศรีในประชาคมโลก

และทันทีที่แถลงการณ์ของสภานิสิตปรากฏขึ้น ได้มีการแสดงความคิดเห็นไปในหลายทิศทาง รวมถึงข้อสงสัยที่ว่า ขั้นตอนการออกแถลงการณ์นั้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งต่อมา (2 กันยายน) สภานิสิตได้ออกแถลงการณ์ยอมรับว่ากระบวนการที่นำไปสู่การประกาศนั้นไม่ถูกต้อง จึงได้จัดให้มีการประชุมใหม่อย่างถูกต้องเป็นองค์ประชุมซึ่งเป็นที่มาของมติข้างต้น พร้อมกำหนดแนวทางการออกแถลงการณ์หรือข้อประกาศอื่นๆ ต่อไป

หนังสือคำสั่งจุฬาฯ ที่นำไปสู่การให้นายเนติวิทย์และเพื่อนอีก 4 คน พ้นจากตำแหน่งในสภานิสิต

ไม่ว่าเรื่องปลดเนติวิทย์จะออกมาในทิศทางใด การปลดครั้งนี้ได้ขยายประเด็นออกสู่สังคมภายนอก และเกิดการตั้งคำถามมากมาย ไม่ว่า รายละเอียดกรณีงานถวายสัตย์อันนำไปสู่การตัดคะแนนนั้นชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ เรื่องอาจารย์ที่ล็อกคอนิสิตเข้าข่ายใช้ความรุนแรงหรือไม่ และข้อสงสัยเรื่องอำนาจในการตัดสินชี้ขาดของจุฬาฯ ที่นำไปสู่การปลดเนติวิทย์

นอกจากชาวโซเชียลที่คอมเมนต์กันดุเดือดแล้ว ยังมีบุคคลสำคัญได้ร่วมแสดงทัศนะต่อเรื่องดังกล่าวด้วย ไม่ว่าจะเป็น รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า จุฬาฯ มีขั้นตอนการพิจารณาโทษ ไม่ได้สั่งปลด แต่ตัดคะแนนความประพฤติ จึงนำไปสู่การพ้นสภาพของสมาชิกสภานิสิตฯ ส่วนที่หลายคนเถียงว่าจุฬาฯ ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ ก็วิพากษ์ต่างมุมมองกันไป

“ผมคิดว่าคงมีการลงโทษอยู่ แต่ไม่คิดว่าจะตัดคะแนนเยอะขนาดนี้ แต่ในอีกด้านก็เห็นว่าพฤติกรรมของนายเนติวิทย์ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่นด้วย” รศ.ดร.เจษฎา ระบุ

ส่วนอีกมุม นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ “ส.ศิวรักษ์” ปัญญาชนสยาม ที่เนติวิทย์ร่วมงานและนับถือเป็นอาจารย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นว่า ไม่แปลกใจกับคำตัดสินทั้งที่เนติวิทย์ให้การกับคณะกรรมการสอบสวน โดยพูดจาฉะฉาน แสดงจุดยืนว่าจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และดำเนินตามกรอบของประเพณีทุกประการ การที่เนติวิทย์ก้มศีรษะคารวะพระบรมรูปนั้น ก็เป็นไปตามพระบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 5 ความข้อนี้ คณะกรรมการที่สอบสวนเขาไม่สงสัยอะไรเลย แม้จะเสียเวลาซักไซ้รายละเอียดอยู่มาก แต่ก็ไม่มีใครประณามว่าเขาทำผิด

นายสุลักษณ์ยังระบุอีกว่า แต่การที่มหาวิทยาลัยลงโทษเนติวิทย์เช่นนี้เป็นการแสดงให้เห็นชัดว่า ผู้ที่มีอำนาจในมหาวิทยาลัยปราศจากคุณธรรม ถึงแม้จะเปิดโอกาสให้อุทธรณ์ ผมก็เชื่อว่าเนติวิทย์และเพื่อนๆ ของเขาที่ถูกลงโทษก็จะไม่ได้รับความยุติธรรมอยู่ดี

เช่นเดียวกับ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแกนนำเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ คนส. แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ท่าทีของผู้บริหารจุฬาฯ ชัดเจนว่าต้องการจะจัดการกับนิสิตที่เห็นต่างหรือต่อต้านขนบธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานทั้งที่เป็นธรรมเนียมที่ไม่สอดคล้องกับวิธีคิดของนักศึกษายุคปัจจุบัน และยังเป็นการสะท้อนถึงความล้าหลังของสถาบันอุดมศึกษาที่เก่าแก่อย่างจุฬาฯ

“ขณะที่การเอาผิดกับอาจารย์ที่บีบคอนิสิตกลับไม่มีความคืบหน้าและพยายามจะช่วยเหลือให้พ้นผิดด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ใช้ความรุนแรงกับนิสิตเป็นการทำลายชื่อเสียงของจุฬาฯ มากกว่า” ดร.อนุสรณ์ระบุ

ในขณะที่สังคมกำลังถกเถียงกัน นายเนติวิทย์ ได้ตัดสินใจโกนผมประท้วงคำสั่งดังกล่าว

และทันทีที่ภาพนั้นปรากฏ ก็เกิดการแสดงความเห็นมากมาย หนึ่งในนั้นคือ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “นักศึกษาไม่ประพฤติปฏิบัติและไม่ยินดีปฏิบัติตามระเบียบวินัยขนบธรรมเนียมประเพณีของมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญในแนวทางการศึกษาของสถาบัน แสดงว่านักศึกษาไม่ประสงค์ที่จะศึกษาที่สถาบันนี้แล้ว สถาบันมีสิทธิให้ออกจากการเป็นนักศึกษาของสถาบันนั้นได้”

ทั้งนี้ เรื่องการปลดนายเนติวิทย์ ไม่เพียงจะเป็นประเด็นในสังคมไทย แต่เรื่องนี้ได้กลายเป็นข่าวในสื่อต่างประเทศอย่างรอยเตอร์สและบีบีซีไปแล้ว 

 

จากที่ประมวลท่าทีต่อกรณีปลดเนติวิทย์ครั้งนี้ จะเห็นการแบ่งฟากได้ชัดเจน หากไม่นับเรื่องรายละเอียดยิบย่อย ก็สามารถแยกออกได้เป็น 2 ฝั่ง

โดยฝั่งหนึ่ง สนับสนุนท่าทีของผู้บริหารจุฬาฯ ที่ตัดสินและไม่ชอบถึงขั้นมีอคติอย่างรุนแรงต่อนายเนติวิทย์ไม่ว่าในแง่ความคิดหรือการกระทำ อยากให้เนติวิทย์หมดสิทธิ์ที่จะเป็นนิสิตรั้วจามจุรี

กับอีกฝั่งที่คัดค้านท่าทีของผู้บริหารจุฬาฯ และสนับสนุนจุดยืนของเนติวิทย์ พร้อมกับมองว่าจุฬาฯ ล้าหลังและคับแคบ

และกลุ่มคนทั้งสองฟากจะยังคงโต้เถียงกันได้อยู่ เว้นเสียแต่จู่ๆ เกิดเงียบ เลือกไม่อยากสานต่อประเด็นนี้ และเฝ้ารอความคืบหน้าแทน

ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา จุฬาฯได้ออกแถลงการณ์ครั้งแรกต่อกรณีดังกล่าวว่า ประการแรก ในกรณีการลงโทษทางวินัยอื่นๆที่ผ่านมา จุฬาฯ มิได้เปิดเผยรายละเอียดคำตัดสินลงโทษต่างๆ ด้วยเกรงว่าจะส่งผลต่ออนาคตของนิสิตที่ถูกลงโทษ แต่ปรากฏว่าในกรณีนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จและบิดเบือนในสื่อต่างๆ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องแถลงให้ทราบถึงข้อมูลที่ถูกต้อง โดยละเว้นการเปิดเผยรายชื่อของนิสิตที่เกี่ยวข้อง

ประการที่สอง จุฬาฯขอรับรองว่าการพิจารณาทางวินัยของกลุ่มนิสิตดังกล่าว เป็นไปตามขั้นตอน และกฎ ระเบียบตามปกติของมหาวิทยาลัย ซึ่งระเบียบทางวินัยเช่นนี้มีในทุกมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการพิจารณาที่เป็นอิสระ และดำเนินการในรูปแบบเดียวกันกับกรณีสอบสวนทางวินัยเรื่องอื่นๆ หากนิสิตไม่พอใจกับผลการตัดสินก็มีสิทธิอุทธรณ์ในลำดับต่อไปได้

ประการที่สาม ท่ามกลางเสียงวิพากษ์เกี่ยวกับความเป็นอนุรักษนิยมของมหาวิทยาลัย พร้อมคำวิจารณ์ว่า จุฬาฯ ไม่ได้เปิดกว้างสำหรับความคิดที่แตกต่าง ทางจุฬาฯ ขอย้ำว่ามหาวิทยาลัยเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างและพร้อมรับความแตกต่างนั้น พิธีการทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัยเป็นกิจกรรมที่นิสิตเข้าร่วมโดยสมัครใจและมีสิทธิที่จะไม่เข้าร่วม โดยไม่มีผลเสียใด ๆ ต่อตัวนิสิต แนวปฏิบัตินี้ใช้กับพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 สำหรับนิสิตชั้นปีที่หนึ่งทุกคน เพื่อแสดงความเคารพและปฏิญาณตนต่อหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าในฐานะผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยด้วย

นอกจากนี้ “การถวายบังคม” ยังเป็นรูปแบบการแสดงความเคารพที่ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องสำหรับพิธีถวายสัตย์ฯต่อพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล โดยในปีนี้ ทางผู้จัดได้มีการกำหนดพื้นที่ในการแสดงความเคารพด้วยวิธีอื่นเช่น การถวายคำนับ สำหรับนิสิตที่มีข้อจำกัดด้านสภาพร่างกายที่เป็นอุปสรรคต่อการคุกเข่าและถวายบังคม และสำหรับนิสิตที่มีความเชื่อทางศาสนา ทัศนคติทางการเมือง และอุดมการณ์ที่ไม่เห็นด้วยกับวิถีปฏิบัตินี้ ทั้งนี้นิสิตที่เข้าร่วมพิธีในวันนั้นได้รับทราบถึงพื้นที่ที่ว่านี้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ จุฬาฯแถลงในตอนท้ายว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีประวัติอันยาวนานที่ผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งความเชื่อและประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมานี้อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับผู้ที่ยึดถือในแนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตก แม้ว่าจุฬาฯ จะสนับสนุนความคิดเสรีนิยมและเสรีภาพในการแสดงออก แต่มหาวิทยาลัยก็มีรากฐานทางวัฒนธรรมและพันธกิจในการสร้างนิสิตที่เคารพในประเพณีปฎิบัติของสถาบัน ตลอดจนสิทธิเสรีภาพและความคิดของผู้อื่นด้วย

และแน่นอนว่า แถลงการณ์ของจุฬาฯ ต่อสาธารณชนครั้งนี้ ได้สร้างผลลัพธ์ทั้งความเข้าใจ การยอมรับ เช่นเดียวกันกับคำถามและคำวิจารณ์ตามมา

ถึงที่สุดแล้ว เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับกรณีของนายเนติวิทย์นั้นไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ชวนติดตามกันต่อ ซึ่งเร็วสุดคงจะเป็นบนโลกโซเชียล แต่ที่แน่นอนที่สุดสำหรับตอนนี้ เรื่องการปลดนายเนติวิทย์เพื่อตั้งใจให้จบลงนั้น ดูเหมือนจะไม่จบจริงๆ เสียแล้ว