นิยายฮิตที่ย้อนมาอีกรอบ/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

นิยายฮิตที่ย้อนมาอีกรอบ

 

คดีการเสียชีวิตของดาราสาวแตงโม ซึ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทย ติดตามขุดคุ้ยจับผิดจับพิรุธกันอย่างเข้มข้น ก่อเป็นกระแสทวงความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตกันอย่างจริงจัง ทั้งที่คดียังดำเนินไปตามขั้นตอน ยังไม่มีการสรุปรูปคดีออกมาอย่างเป็นทางการ ยังไม่มีการแถลงผลสรุปการสืบสวนสอบสวนและตรวจสอบพยานหลักฐาน

เอาเข้าจริงๆ ก็ยังไม่รู้ว่าคดีจะมีความเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นจริงหรือไม่

แต่ส่วนหนึ่งเพราะสังคมไทยไม่เชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม มองอย่างไม่ไว้วางใจว่า ถ้าคนมีสถานะเข้ามาเกี่ยวข้อง คดีจะต้องบิดเบี้ยวแน่นอน จึงทำให้แสดงออกอย่างไม่ไว้วางใจ เกรงว่าดาราสาวจะตายฟรี

นี่เป็นปัญหาที่หน่วยงานในกระบวนการนี้ จะต้องสรุปบทเรียน สร้างความน่าเชื่อถือให้กลับคืนมา

แต่อีกส่วนหนึ่ง เพราะมีคนที่โดดเข้ามามีบทบาทในคดี โดยตั้งข้อสงสัยตั้งข้อสังเกตต่างๆ นานา มีทั้งมาด้วยเจตนาดี เพื่อให้คดีมีความถูกต้อง กับที่มาโดยวาระซ่อนเร้น เช่น แค้นเคืองอาฆาตกับตำรวจในคดีดังก่อนหน้านี้

ไปจนถึงบางคนที่ขอให้คดีไหนก็ตามที่มีเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการผ่าศพเมื่อไหร่ เป็นต้องได้จังหวะได้โอกาส เข้ามาเล่นบทโชว์

ทั้งที่หากไปย้อนทบทวนเรื่องราวในคดีต่างๆ ที่ผ่านๆ มา ก็จะเห็นอะไรต่อมิอะไรมากมาย

ที่สำคัญอีกประการ ในคดีความต่างๆ นั้น ไม่เคยมีคดีไหนที่ใช้กระบวนการผ่าศพพิสูจน์ศพอย่างเดียว แล้วสามารถคลี่คลายคดีได้ทั้งหมดจนไปสู่การจับกุมคนร้าย

ที่บอกว่าสืบจากศพแล้วไขคดีได้ทั้งหมดนั้น เป็นเพียงแค่ในนิยาย เป็นแค่ในซีรีส์ ประเภทหมอนักสืบ หมอมือปราบ!

ความจริงแล้ว คดีแต่ละคดีนั้น ในส่วนของกระบวนการทางนิติเวช นิติวิทยาศาสตร์ เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่ง ที่ช่วยยืนยันความหนักแน่นของการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานต่างๆ

แต่การคลี่คลายคดี จะต้องมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริง หาปมลึกๆ มีการสอบสวนที่ไขปริศนาต่างๆ จากปากคำของผู้เกี่ยวข้อง มีการตรวจพิสูจน์หลักฐาน มีการตรวจด้านเทคโนโลยี กล้องวงจรปิด โทรศัพท์มือถือ อะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย

การผ่าศพ การสืบจากศพ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่คำตอบของคดีทั้งหมด

มาในคดีแตงโม ในท่ามกลางกระแสร้อนแรงทางสังคม มีแนวโน้มจะปักใจเชื่อว่าเป็นการฆาตกรรม ไปๆ มาๆ ก็ต้องเกิดกระบวนการผ่าศพครั้งที่สอง โดยหน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อต้องการตรวจสอบการผ่าพิสูจน์ของสถาบันนิติเวชตำรวจ

ทำให้ต้องนึกถึงอีกหลายๆ คดี ที่ต่อให้ผ่าศพซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยข้ออ้างไม่เชื่อถือกระบวนการผ่าครั้งแรก

สุดท้ายหากผลการสืบสวนสอบสวนผลประกอบด้านอื่นๆ ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลง ต่อให้ผ่าศพถึง 3 ครั้ง ก็ไม่ทำให้ข้อเท็จจริงของคดีเปลี่ยนแปลงไป

ดังเช่นคดีการเสียชีวิตของนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ เมื่อหลายปีก่อน สุดท้ายผลคดีก็เป็นไปดังเดิม!

 

คดีการเสียชีวิตของนายห้างทอง ธรรมวัฒนะ เกิดเหตุเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2542 โดยเป็นศพถูกอาวุธปืนนอนตายในบ้านกงสีของตระกูล ที่มีนายนพดล ธรรมวัฒนะ น้องชายผู้ตายพักอาศัยอยู่

ความที่ตระกูลนี้มีข้อขัดแย้งระหว่างญาติพี่น้องมากมาย มีคนถูกฆ่าตายมาหลายศพ เป็นธรรมดาที่จะทำให้เกิดข้อสงสัยมากมาย

การตายของนายห้างทอง เกิดขึ้นระหว่างที่เดินทางมายังบ้านธรรมวัฒนะ เพื่อพบกับนายนพดล แล้วก็กลายเป็นศพนอนถือปืนเลือดท่วมร่าง

นายนพดลแจ้งเหตุว่า พี่ชายยิงตัวตาย ด้วยความเครียดจากปัญหาเรื่องมรดกเงินกงสีของตระกูล แต่พี่น้องฝั่งตรงข้ามกับนายนพพลสงสัยว่าจะถูกฆ่า

จึงไปร้องเรียนจากผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น หมอพรทิพย์ ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในราชการ คุมสำนักงานนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

เริ่มเกิดข้อโต้แย้งผลการพิสูจน์ศพ โดยนิติเวชตำรวจอธิบายสภาพศพ ท่านั่ง การไหลของเลือด เขม่าดินปืนในมือของนายห้างทอง สรุปว่าไม่มีอะไรผิดปกติ

ขณะที่การสืบสวนสอบสวนพยานหลักฐานอื่นๆ ตั้งแต่คนเข้าออกบ้านดังกล่าว ตรวจวงจรปิด ตรวจมือถือ ตรวจสภาพห้องเกิดเหตุ ไม่ปรากฏพบร่องรอยว่ามีบุคคลอื่นอยู่ในห้องนั้นด้วย ตรวจยาสลบยานอนหลับในร่างกายผู้ตายก็ไม่พบ

พูดๆ ง่ายว่า ถ้าจะฆ่าอำพราง ถ้าไม่วางยาสลบ แล้วเอาปืนมายิง ก็จะต้องใช้ชายฉกรรจ์หลายคนมาช่วยกันล็อกตัวนายห้างทองที่คงต้องดิ้นรนต่อสู้ เพื่อจับมือนายห้างทองลั่นไกปืนใส่หัวตัวเอง แต่ผลการตรวจพิสูจน์ในห้องนั้น ไม่มีร่องรอยคนอื่น ก้นบุหรี่ ที่เขี่ยบุหรี่ก็ตรวจกันละเอียด

นอกจากนี้ยังตรวจสอบไปถึงอาการความเครียดของนายห้างทอง ก่อนเกิดเหตุหลายวัน

แม้แต่ปืนกระบอกที่ใช้ยิง ก็ตรวจพบว่าเป็นของพ่อค้าในตลาด ที่เอามาจำนำไว้กับนายห้างทอง ย่อมไม่ใช่ปืนที่นายนพดลจะนำมาใช้เพื่อประกอบการฆ่าได้

ทำให้ตำรวจสรุปคดีว่าเป็นการฆ่าตัวตาย แต่พี่น้องอีกฝ่ายไม่เชื่อ ไปร้องกองปราบฯ ให้เข้ามารื้อคดี ให้หมอพรทิพย์เข้ามามีบทบาท อ้างอิงทฤษฎีการไหลของเลือด ซึ่งดูจากรูปถ่ายก็สามารถวิเคราะห์ได้เป็นฉากๆ

ลงเอยก็เอาศพมาผ่าใหม่

ก่อนจะนำไปสู่การดำเนินคดีนายนพดล ว่าฆาตกรรมนายห้างทอง

คดีนี้มีการผ่าศพนายห้างทองถึง 3 รอบ

สุดท้ายข้อเท็จจริงในคดีที่ประกอบกับการสืบสวนสอบสวน การสอบพยาน การตรวจหลักฐาน และอื่นๆ อีกมากมาย

สุดท้ายศาลยกฟ้องนายนพดล ไม่มีพยานหลักฐานที่จะชี้ได้ว่าเป็นการฆาตกรรม

คดีห้างทองจึงมีบทสรุปเป็นการฆ่าตัวตายอย่างไม่แปรเปลี่ยน แม้จะผ่าศพถึง 3 รอบ!!

 

ย้อนไปยังคดีประวัติศาสตร์ อุ้มฆ่า 2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ เริ่มต้นคดีตั้งเป้าหมายชัดเจน ให้เป็นคดีอุบัติเหตุทางรถยนต์ อ้างว่า 2 แม่ลูกขับรถเบนซ์มา แล้วเฉี่ยวชนกับรถบรรทุกกลางถนน ตำรวจท้องที่ก็บันทึกคดีไปในทำนองนั้น

สำคัญสุด สถาบันนิติเวชตำรวจ อธิบายอย่างเป็นตุเป็นตะ ยืนยันว่าผลตรวจพิสูจน์ชี้ว่า ตายเพราะการกระแทกจากเหตุรถยนต์ชนกับรถบรรทุกแน่นอน

แต่นิติเวช เป็นแค่ส่วนประกอบส่วนหนึ่งของการไขคดี

ตำรวจกองปราบฯ เข้ามาสืบสวนสอบสวน ได้ข้อมูลชัดเจนว่ามีการอุ้มตัวเหยื่อไปกักขัง ติดตามพยานหลักฐานประกอบได้หนักแน่น ก่อนจับกุมผู้กระทำผิด ซึ่งสารภาพว่า จัดฉากให้เป็นรถชนตาย

นี่ก็จะเห็นได้ชัดว่า กระบวนการผ่าศพไม่ใช่กระบวนการชี้ขาดในคดี ต่อให้การผ่าศพมีการบิดเบน แต่ด้วยการสืบสวนสอบสวนการติดตามพยานหลักฐานต่างๆ ชี้ได้ว่า เป็นการฆาตกรรมแน่นอน

หรือแม้แต่คดีฆ่า 2 นักท่องเที่ยวเกาะเต่า คดีดังเมื่อปี 2557 ซึ่งเป็นอีกคดีที่กระแสโซเชียลร้อนแรง ปักใจว่าตำรวจจับแพะ มีการขุดคุ้ยจับผิดจับพิรุธ อ้างว่า 2 แรงงานต่างด้าวที่ตำรวจจับกุมนั้นเป็นแพะรับบาปแทนผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

พอมีเรื่องเกี่ยวกับผลพิสูจน์ศพ การตรวจดีเอ็นเอต่างๆ ก็ต้องมีหมอพรทิพย์เข้ามาเกี่ยวข้องอีก โดยยืนตรงข้ามกับตำรวจ และถึงกับไปช่วยเบิกความในศาล ในประเด็นดีเอ็นเอด้วย

แม้ว่าคดีนี้พยานหลักฐานบางจุดจะไม่สามารถตรวจดีเอ็นเอได้ เช่น จอบที่ใช้ก่อเหตุ ซึ่งมีการโยนทิ้งลงน้ำ ทำให้ดีเอ็นเอเจือจาง

แต่การหยิบยกเรื่องดีเอ็นเอบกพร่องแค่ไม่กี่จุด ไม่สามารถลบล้างผลการสืบสวนสอบสวนพยานหลักฐานอื่นๆ อีกมากมายได้

ศาลพิพากษาประหารจำเลยในคดีนี้ทั้งสามศาล เพราะรับฟังแล้วพยานหลักฐาน การตรวจพิสูจน์ของตำรวจ น่าเชื่อถือรับฟังได้

คดีเกาะเต่า เป็นอีกคดีที่น่าเรียนรู้ เพราะกระแสในโซเชียลเป็นไปอย่างร้อนแรง ไม่เชื่อตำรวจ มีผู้รอบรู้ด้านศพด้านตรวจดีเอ็นเอ โดดเข้ามาโต้แย้งกับตำรวจ เหมือนซ้ำหนังม้วนเดิมยุคคดีห้างทอง

มาบัดนี้คดีแตงโม ดูเหมือนกำลังเป็นไปใกล้เคียงกัน แต่ผลสุดท้ายของคดีจะเป็นเช่นไร ต้องติดตาม!