โซเชียลมีเดีย อาวุธใหม่ในสงครามยูเครน-รัสเซีย/บทความต่างประเทศ

Ukrainian President Volodymyr Zelenskiy speaks in a video statement with sand bags behind him, as the Russian invasion continues, in Kyiv, Ukraine March 8, 2022 in this still image obtained from social media. Instagram/Volodymyr Zelenskiy via REUTERS THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY. NO RESALES. NO ARCHIVES. MANDATORY CREDIT

บทความต่างประเทศ

 

โซเชียลมีเดีย

อาวุธใหม่ในสงครามยูเครน-รัสเซีย

 

สงครามที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ยังคงดำเนินไปอย่างดุเดือด รัสเซียนำกำลังทหารบุกเข้าปฏิบัติการพิเศษโจมตียูเครนจากทั้งทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ของประเทศ

รัสเซียรุกคืบยึดครองได้หลายเมือง สองฝ่ายขนกำลังพลยุทโธปกรณ์ทุกชนิดที่มีเข้าโจมตีใส่กันเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศตัวเอง

อาวุธยุทโธปกรณ์ทุกอย่างที่ถูกใช้ในสมรภูมิครั้งนี้เป็นสิ่งที่โลกคุ้นเคยแต่มีอาวุธชนิดหนึ่งที่กลับถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสงครามครั้งนี้ได้อย่างไม่มีใครคาดคิด

นั่นก็คือ “โซเชียลมีเดีย” หรือ “สื่อสังคมออนไลน์” ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง

 

ยูเครนใช้ “โซเชียลมีเดีย” ในการเผยแพร่ข่าวสารและหาแนวร่วมในความขัดแย้งได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถครองพื้นที่สื่อในเวที่โลกได้ และนั่นพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีจากความคิดเห็นเกี่ยวกับสื่อสังคมออนไลน์ของฝ่ายรัสเซียเอง

“วยาเชสลาฟ โซโลดิน” ประธานสภาดูมา สภาผู้แทนราษฎรของรัสเซีย ออกมายอมรับว่าโซเชียลมีเดียเป็น “อาวุธ” ที่ถูกใช้กับรัสเซีย และรัสเซียจะต้องต่อต้านให้ถึงที่สุด

การใช้โซเชียลมีเดียในการทำสงครามข้อมูลข่าวสารกันระหว่างสองฝ่ายดุเดือดไม่แพ้ในสมรภูมิรบ

ด้านรัสเซียเองก็ใช้โซเชียลมีเดียเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ ในมุมของรัสเซีย ผ่านสำนักข่าวของรัฐหลายสำนักในทุกช่องทางทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ รวมไปถึงยูทูบ

ไม่ว่าจะเป็นการอ้างว่าการบุกยูเครนเป็นการปกป้องกลุ่มคนพูดภาษารัสเซียทางตะวันออกของยูเครน การเลี่ยงใช้คำว่า “รุกราน” เป็นคำว่า “ปฏิบัติการพิเศษ” หรือการปล่อยข่าวว่า สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนยูเครนในการผลิต “อาวุธชีวภาพ” ในยูเครน เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ‘ยูเครน’ นับว่าได้เปรียบอย่างยิ่งในสมรภูมินี้โดยเฉพาะการมีประธานาธิบดีของประเทศอย่างนายโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ที่รู้วิธีการสร้าง “ไวรัล” ในโซเชียลมีเดียเป็นอย่างดีจากประสบการณ์การเป็นนักแสดงชื่อดังมาก่อน

ตัวอย่างเช่น การอัดคลิปวิดีโอเซลฟี่พร้อมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลใจกลางกรุงยูเครนยามค่ำคืนหลังรัสเซียเปิดฉากบุกไม่กี่ชั่วโมง เพื่อยืนยันว่าตนในฐานะประธานาธิบดีจะยืนหยัดในกรุงเคียฟ ต่อสู้ไปพร้อมๆ กับชาวยูเครน สร้างความประทับใจให้กับชาวยูเครนรวมถึงคนทั่วโลก

โซเชียลมีเดียเปรียบได้กับอาวุธที่อยู่ในมือของประชาชนทุกคน รวมไปถึง “วีรา ลีตอฟเชนโก” นักไวโอลินและครูชาวยูเครน ใช้โซเชียลมีเดียแสดงให้เห็นความโหดร้ายของสงครามด้วยการเผยแพร่คลิปตัวเธอเองเล่นไวโอลินในชุดราตรีสีดำยาวที่เป็นภาพอันขัดแย้งกับหลุมหลบภัยใต้ดินที่มีแต่หินและดินทราย แสดงให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชาชนชาวยูเครนที่ชัดเจนจากการรุกรานของรัสเซีย

“ติ๊กต็อก” เป็นอีกแพลตฟอร์มที่ทำให้เรื่องราวที่เกิดขึ้นในยูเครน ถูกเล่าสู่สายตาชาวโลกอย่างกว้างขวาง

แอพพลิเคชั่นของบริษัท “ไบต์แดนซ์” ที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกเดือนละกว่า 1,000 ล้านคน และทำให้ชาวยูเครนธรรมดาอย่าง “มาร์ตา วาสยูตรา” กลายมาเป็นผู้สื่อข่าวสงครามในยูเครนที่โด่งดังที่สุดในชั่วข้ามคืน

คลิปวิดีโอเหตุการณ์โจมตีทางอากาศที่ถล่มใกล้กรุงเคียฟที่เผยแพร่โดยวาสยูตรา มีผู้ชมมากถึง 50 ล้านครั้งในเวลาไม่กี่วันเท่านั้น นับเป็นการสื่อสารเรื่องราวความโหดร้ายของกองทัพรัสเซียสู่โลกภายนอกได้โดยตรง

 

การทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ และคลิปวิดีโอผ่านทางเฟซบุ๊กของเซเลนสกี รวมไปถึงมิไคโล เฟโดรอฟ รัฐมนตรีข่าวสารยูเครนวัย 31 ปี สร้างแรงกระเพื่อมในโลกแห่งความจริง และเป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่ความช่วยเหลือต่างๆ เช่น ความช่วยเหลือจากอีลอน มัสก์ ผู้บริหารบริษัท “สเปซเอ็กซ์” ที่ส่งอุปกรณ์รับสัญญาณอินเตอร์เน็ตดาวเทียม “สตาร์ลิงก์” เพื่อให้รัฐบาลยูเครนใช้ในการสื่อสาร ในช่วงเวลาที่อินเตอร์เน็ตในประเทศใช้การไม่ได้

ด้วยยุทธวิธีนี้ ยูเครนได้รับความช่วยเหลือผ่านช่องทางดิจิตอล เช่น การบริจาคสกุลเงินดิจิตอล การจองห้องพักโดยไม่เข้าพักเพื่อช่วยเหลือเจ้าของที่พักในยูเครนผ่านระบบของ Airbnb ขณะที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ทั่วโลกก็เข้ามายืนเคียงข้างยูเครนด้วย ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล, แอปเปิล, เมต้า ทวิตเตอร์, ติ๊กต็อก

รวมไปถึงเน็ตฟลิกซ์ที่ยุติบริการบางอย่างในรัสเซียลงทั้งหมด

 

รัสเซียที่เหมือนจะเสียเปรียบในสมรภูมิโซเชียลมีเดียต่อสู้ในสมรภูมินี้ ด้วยการออกกฎหมายห้ามเผยแพร่ “ข่าวปลอม” โดยมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี การออกกฎหมายดังกล่าวส่งผลให้สำนักข่าวต่างประเทศ เช่น บีบีซี, บลูมเบิร์ก และซีเอ็นเอ็น ประกาศยุติการรายงานข่าวในรัสเซียลงทันที เนื่องจากหวั่นเกรงว่าอาจถูกใช้กฎหมายขัดขวางการทำงาน

และนั่นกลายเป็นการปิดกั้นข่าวสารจากโลกภายนอกที่จะเข้าถึงชาวรัสเซียด้วยเช่นกัน

ยุทธวิธีดังกล่าวถูกโต้กลับด้วยเช่นกันเมื่อโปแกรมเมอร์ชาวโปแลนด์สร้างเว็บไซต์เพื่อให้คนทั่วโลกเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามในยูเครน โดยใช้ฐานข้อมูลจากเบอร์โทรศัพท์และอีเมลของชาวรัสเซียกว่า 140 ล้านคน เพื่อส่งข้อมูลทะลุม่านเหล็กของรัฐบาลรัสเซียไปถึงชาวรัสเซียโดยตรง

นั่นคือบางส่วนของเท่านั้นของสมรภูมิสื่อสังคมออนไลน์ ที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่าเป็น “สงครามโซเชียลมีเดีย” ครั้งแรกของโลก ซึ่งนับว่าเป็นอีกสมรภูมิที่แม้จะไม่ได้สร้างความเสียหายทางกายภาพ แต่สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในสงครามครั้งนี้ได้อย่างมากมาย