เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2490 หลวงพ่อฮะ จันทสโร วัดดอนไก่ดี กระทุ่มแบน / โฟกัสพระเครื่อง : โคมคำ

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.2490

หลวงพ่อฮะ จันทสโร

วัดดอนไก่ดี กระทุ่มแบน

 

“พระสมุทรคุณาจารย์” หรือ “หลวงพ่อฮะ จันทสโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนไก่ดี ต.ตลาดกระทุ่มแบน อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

พระเกจิดังชื่อดังที่มีวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก

วัตถุมงคลที่สร้าง มีทั้งพระบูชา รูปหล่อ และเหรียญ ทุกรุ่นล้วนสร้างเพื่อหาปัจจัยบูรณะและสร้างเสริมศาสนวัตถุภายในวัด รวมทั้งพัฒนาสาธารณูปการแก่ชุมชุนในพื้นที่และใกล้เคียงทั้งสิ้น

กลายเป็นที่นิยมและแสวงหามาตั้งแต่อดีตเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ค่านิยมยิ่งสูงขึ้นตามกาลเวลา โดยเฉพาะ “เหรียญรุ่นแรก”

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2490 ที่ระลึกเนื่องจากได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นประทวนและในวันเกิด สร้างเป็นเนื้อเงินและเนื้อทองแดง จำนวนไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม รูปดอกจิก แบบมีหูในตัว

ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อฮะ ครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ ด้านบนมีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “พระอาจารย์ฮะ” ใต้รูปเหมือนมีโบและเขียนคำว่า “วัดดอนไก่ดี”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์ตรีนิสิงเห ใต้ยันต์มีอักขระเขียนคำว่า “ทำบุญวันเกิด พ.ศ.๙๐”

ถือเป็นสุดยอดวัตถุมงคลอีกรุ่นหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง

เหรียญหลวงพ่อฮะ รุ่นแรก

 

อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า ฮะ ละม้ายสกุณ เกิดเมื่อวันอังคาร แรม 9 ค่ำ เดือน 7 ปีกุน จ.ศ.1249 ตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน 2430 เป็นปีที่ 20 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ที่บ้านซากงชี หมู่ที่ 10 ต.บางยาง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

บิดา-มารดาชื่อ นายเหมือนและนางริ้ว ละม้ายสกุณ

ในสมัยนั้น ยังไม่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาขึ้นในประเทศ ดังนั้น ในช่วงปฐมวัยจึงได้รับการศึกษาอักษรสมัยจนสามารถอ่านออกเขียนได้ แล้วช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพกสิกรรม

เป็นผู้มีจิตใจโน้มเอียงเข้าหาพระธรรมตั้งแต่วัยเยาว์ มักจะไปช่วยงานที่วัดในหมู่บ้านสม่ำเสมอ

เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ บิดามารดาจัดการบรรพชาอุปสมบท ที่วัดดอนไก่ดี มีพระครูนิ่ม วัดสุนทรสถิต (กำแพง) อ.บ้านแพ้ว เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูสังวรศีลวัตร (อาจ) วัดดอนไก่ดี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ได้รับนามฉายาว่า จันทสโร

 

หลวงพ่อฮะ จันทสโร

อยู่จำพรรษาที่วัดดอนไก่ดีเรื่อยมา และร่ำเรียนวิชาอาคมกับหลวงพ่ออาจ รวมทั้งเมื่อมีเวลาว่าง ก็จะเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาความวิเวก

ต่อมาได้รับความไว้วางใจจากเจ้าอาวาสวัดดอนไก่ดีในยุคนั้น มอบหมายภารกิจสนองงานเจ้าอาวาส ทั้งในด้านการปกครอง การศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และอื่นๆ อีกมากมาย

ด้านศึกษา พ.ศ.2470 เป็นกรรมการสอบธรรมสนามหลวง

พ.ศ.2480 เป็นกรรมการศึกษาพระปริยัติธรรมจังหวัดสมุทรสาคร

พ.ศ.2501 เป็นประธารกรรมการสอบธรรมสนามหลวง

ต่อมาจึงพร้อมด้วยนายบุญล้อม ศรีสุวรรณ ส.ส.จังหวัดสมุทรสาคร และนายพงษ์ชัย ชุนบางยาง ผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอกระทุ่มแบน ในขณะนั้น เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษา จึงได้ร่วมมือกันติดต่อกระทรวงศึกษาธิการ ขอให้เปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ขึ้นที่วัดดอนไก่ดี จนบรรลุผลสำเร็จในปี พ.ศ.2494

ช่วงแรกได้อาศัยเรียนที่โรงเรียนเทศบาลวัดดอนไก่ดี (สังวรจันทสรราษฎรวิทยา) ซึ่งขณะนั้นเปิดสอนระดับประถมศึกษาอยู่ จากนั้นจึงเริ่มก่อสร้างโรงเรียน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2498 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2498 ด้วยคุณความดีของท่าน จึงตั้งนามโรงเรียนว่า โรงเรียนกระทุ่มแบน วิเศษสมุทคุณ

พ.ศ.2497 หลวงพ่ออาจ เจ้าอาวาสมรณภาพลง ชาวบ้านและศิษย์ต่างพร้อมใจกันนิมนต์หลวงพ่อฮะขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน

 

ลําดับงานปกครอง

พ.ศ.2466 เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พ.ศ.2497 เป็นเจ้าอาวาสวัดดอนไก่ดี

พ.ศ.2498 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2501 เป็นเจ้าคณะอำเภอกระทุ่มแบน

พ.ศ.2505 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะตำบลท่าเสา

พ.ศ.2517 เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร

 

ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.2490 เป็นพระครูชั้นประทวน

พ.ศ.2494 เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรที่ พระครูวิเศษสมุทคุณ

พ.ศ.2505 เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2507 เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม

วันที่ 5 ธันวาคม 2518 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสมุทรคุณาจารย์

 

หลังได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส มุ่งมั่นพัฒนาวัดดอนไก่ดี อย่างสุดความสามารถ จนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ

ส่วนงานสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชน ก็ทำอย่างสม่ำเสมอ อนุเคราะห์ส่วนรวมโดยการสร้างถนนหนทางและโรงเรียน อนุเคราะห์ด้วยความรู้ส่วนตัวที่มีอยู่ คือ วิชาแพทย์แผนโบราณ

นานวันเข้าใบสั่งยาที่เขียนให้คนอื่น กลายเป็นตำรายากลางบ้านไป และกลายเป็นหมอชาวบ้านไปโดยปริยาย

เพราะถือว่า วัดเป็นศูนย์กลางของทุกฝ่าย ทั้งในด้านศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและการพัฒนาประเทศ

พระสงฆ์ควรทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เมื่อชาวบ้านช่วยวัดแล้ว วัดก็ควรช่วยเหลือชาวบ้านบ้าง นอกเหนือจากการสั่งสอนให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ที่พึ่งของชาวบ้านก็คือวัด ฉะนั้น วัดควรช่วยเหลือตามความสามารถ

ปกครองวัดเรื่อยมาจวบจนถึงแก่มรณภาพลง ด้วยอาการอันสงบ ณ กุฎิวัดดอนไก่ดี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2523 เวลา 02.41 น.

สิริอายุ 93 ปี พรรษา 72

แม้จะละสังขารไปนานหลายปี แต่ยังคงอยู่ในศรัทธาของศิษยานุศิษย์ ตราบจนปัจจุบัน •