“กบไก้ปากงู หนูไก้บอกไม้ จิ๊นเกื๋อไก้ดังแมว” / ล้านนาคำเมือง

ล้านนาคำเมือง

ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

กบไก้ปากงู หนูไก้บอกไม้ จิ๊นเกื๋อไก้ดังแมว

 

 

ก฿บฯฯใกลฯ้ปากฯงู หนฯูฯใกลฯ้บอฯกไม้
ชิ้นฯเกลฯิอฯฯอใกลฯ้ดังฯแมวฯ

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “กบไก้ปากงู หนูไก้บอกไม้ จิ๊นเกื๋อไก้ดังแมว”

บอก แปลว่ากระบอก บอกไม้คือกระบอกไม้

จิ๊นเกื๋อ คือเนื้อเค็ม จิ๊นแปลว่าเนื้อ จะเป็นเนื้ออะไรก็ได้ เมื่อเอาเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัวหรือเนื้อหมู ไปแล่ คลุกเกลือ แล้วนำไปตากแห้ง เรียกว่า จิ๊นเกื๋อ เป็นวิธีถนอมอาหารเพื่อเก็บเอาไว้กินนานๆ ตามแบบพื้นบ้านล้านนา ส่วนมากนิยมใช้เนื้อวัว

ดัง ย่อมาจากคำว่า ฮูดัง แปลว่าจมูก

รวมความแล้วคำคมล้านนาสำนวนนี้จึงแปลว่า

“กบอยู่ใกล้ปากงู หนูอยู่ใกล้กระบอกไม้ เนื้อเค็มอยู่ใกล้จมูกแมว”

 

สํานวนดังกล่าว เป็นคำเตือนว่าทั้งหมดมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเสียหาย เพราะงูจะเขมือบกบได้ง่ายนิดเดียว หนูจะวิ่งหนีเข้ากระบอกไม้ได้สะดวกสบาย และแมวก็จะขโมยเนื้อเค็มที่เก็บไว้ได้โดยง่าย

ผู้ใหญ่ล้านนาจะสอนลูกหลานให้ระมัดระวังความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ตั้งแต่การตั้งวางสิ่งของให้สุ่มเสี่ยงต่อการหาย ถูกลักขโมย เช่น วางสร้อยทองของมีค่าทิ้งไว้ล่อตาล่อใจโจร

และหมายความรวมถึงการที่ชายหญิงอยู่ใกล้ชิดกันเกินไปจนอาจจะหักห้ามใจไม่ได้ และเกิดกรณีอื้อฉาวไม่ดีไม่งามขึ้น ก็ใช้คำสอนคำกล่าวเช่นนี้ได้

ละนาฯํ้ฯตาลฯไว้ใกลฯ้ม฿ดฯทึงฯบ่ได้
ละน้ำต๋านไว้ไก้มดตึงบ่ได้
แปลว่า ทิ้งน้ำตาลไว้ใกล้มดนั้น ไม่ได้เลย

 

สํานวนดังกล่าวนี้ น่าจะตรงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “น้ำตาลใกล้มด” หรือที่สำนวนเต็มกล่าวว่า “น้ำตาลใกล้มด ใครจะอดได้” ที่ห้ามชายหญิงไม่ให้ใกล้ชิดกันเกินไปจนความสัมพันธ์อาจจะเลยเถิด เกิดผิดประเพณีขึ้น แต่ในแง่หนึ่งการที่น้ำตาลใกล้มด ก็อาจจะทำให้หญิงชายยกระดับความสัมพันธ์ เกิดเป็นความชอบพอกันได้

ดูเหมือนว่า “กบใกล้ปากงู” “น้ำตาลใกล้มด” น่าจะเป็นสากล

อย่างน้อยก็มีคำกล่าวของโปแลนด์และอังกฤษอยู่ว่า “ฝูงผึ้งตอมไหน้ำผึ้ง” (bees around the honeypot) ซึ่งหมายถึงบรรดาชายหนุ่มที่กำลังรุมตอมจีบสาวสวยอย่างขะมักเขม้น

ซึ่งย่อมต้องเสี่ยงสูงกับปรากฏการณ์ กบใกล้ปากงู และน้ำตาลใกล้มด ทำให้เรื่องระหว่างหนุ่มสาวก็จะเกิดขึ้นตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ •