พระเอกที่ชื่อ ‘เอก’ / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

พระเอกที่ชื่อ ‘เอก’

 

“เอก” ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ใคร นั่นคือ สรพงศ์ ชาตรี พระเอกภาพยนตร์ไทยที่จบชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งปอดในวัย 73 ปี

ผมเป็นแฟนภาพยนตร์ไทยคนหนึ่ง ติดตามผลงานของผู้สร้าง ผู้กำกับฯ และนักแสดงอยู่เสมอมาตั้งแต่วัยรุ่น เมื่อพะยี่ห้อว่าหนังเรื่องนี้สร้างโดยท่านใด ก็พาให้นึกถึง “ตัวหนัง” ออกว่าจะเป็นประมาณไหน เพราะแต่ละคนต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

อย่างถ้าเป็นของ “ฉลอง ภักดีวิจิตร” ก็เชื่อใจได้ว่าจะมีฉากแอ๊กชั่นน่าตื่นตาตื่นใจ และมีฉากทำลายล้างแบบลงุทนเพื่อความถูกอกถูกใจคนดู และมักจะมีนักแสดงต่างประเทศร่วมแสดง ทำให้หน้าหนังดูเป็นอินเตอร์มากขึ้น

หรือถ้าเป็นของ “หม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรชัย” ก็จะเป็นหนังรักหวานแหวว ภาพสวยด้วยวิวจากโลเกชั่นในต่างประเทศ พระเอก นางเอก แต่งตัวสวยสดใส สมัยใหม่ ดูไปอมยิ้มไปไม่ต้องคิดอะไรมาก

ถ้าเป็นของ “เปี๊ยก โปสเตอร์” ก็รู้สึกสนุกมากขึ้น เพราะเรามักจะได้พบกับหนังที่ไม่ค่อยซ้ำแนวกันจากอาเปี๊ยก แต่ไม่ว่าแนวไหนก็โดดเด่นเรื่องบทและการแสดงที่เอาคนดูอยู่ และน่าสนใจ

ส่วนถ้าเป็นของ “หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล” ก็ยิ่งดำดิ่งลงไปในโลกสีเทาๆ เพราะท่านมุ้ยมักนำเสนอหนังในมุมมองของคนตัวเล็กๆ ในสังคม ที่ถูกกดขี่ ถูกเอาเปรียบ ถูกตัดสินด้วยอคติของสังคม จนเกิดเรื่องราวที่สะท้อนสังคมได้อย่างดี

มีคนบอกว่า ท่านมุ้ยเป็นเจ้าที่ชอบทำหนังของไพร่…ฮะ ฮะ ฮ่า

และพระเอกของหนังท่ายมุ้ยที่ได้แจ้งเกิดและเติบโตโชว์ฝีมือทางการแสดงอย่างเอกอุในเวลาต่อมาก็คือ “พี่เอก-สรพงศ์ ชาตรี” นั่นเอง

 

ผมได้มีโอกาสได้ดูหนัง “มันมากับความมืด” ซึ่งเป็นผลงานเรื่องแรกของสรพงศ์ที่เป็นพระเอกเต็มตัว ออกฉายในปี 2514 ที่โรงภาพยนตร์เฉลิมเขต นับว่าท่านมุ้ยล้ำยุคมาก ที่กล้าสร้างหนังไทยแนวไซไฟออกมาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว และผู้ชมก็ได้รู้จักกับพระเอกหน้าใหม่ ใบหน้าหล่อคมสันแบบชายไทย ที่โดดเด่นคือรอยยิ้มที่ดูจริงใจ เป็นธรรมชาติ

มาถึงผลงานเรื่องที่สองของสรพงศ์ คือ “เขาชื่อกานต์” ที่สร้างจากบทประพันธ์ของคุณสุวรรณี สุคนธา โดยการกำกับฯ ของท่านมุ้ย เรื่องนี้สรพงศ์รับบทเป็น “หมอกานต์” หมอหนุ่มจบใหม่ที่มีอุดมการณ์สูงส่ง ตั้งใจไปอยู่ที่ต่างจังหวัดที่ห่างไกลความเจริญ เพื่อจะได้รักษาผู้ป่วยที่ไกลจากโรงพยาบาลที่ทันสมัย

เรื่องนี้สรพงศ์ได้ฉายแววความสามารถทางการแสดงมากขึ้นจากเรื่องแรก เพราะบทนั้นส่งให้เขาได้แสดงออกในหลากหลายอารมณ์ และสรพงศ์ก็มอบความเป็น “หมอกานต์” ที่น่าประทับใจในสายตาของผู้ชมอย่างสำเร็จงดงาม แจ้งเกิดในวงการอย่างเต็มตัว จนได้เสนอชื่อเข้าชิงนักแสดงนำชายจากงานรางวัลตุ๊กตาทองในปี 2517

จากนั้นแฟนๆ หนังไทยก็จะได้เห็นสรพงศ์แสดงในบทบาทที่แตกต่างกันออกไป และเขาสามารถสวมบทบาทนั้นๆ ได้อย่างน่าประทับใจ

ผมขอเลือกพูดถึงบทบาทที่ผมได้ชมและประทับใจมากล่าวไว้ เพื่อรำลึกถึงพี่เอก สรพงศ์ สักหน่อยกันนะครับ

 

แผลเก่า

สําหรับผลงานการแสดงที่โดดเด่นมากๆ จนกลายเป็นบทบาทประจำตัวของสรพงศ์ไปแล้ว นั่นก็คือ “ไอ้ขวัญ” จากหนัง “แผลเก่า” กำกับฯ โดยเชิด ทรงศรี

ด้วยความที่สรพงศ์เป็นเด็กต่างจังหวัดมาก่อน เคยคลุกคลีกับการทำไร่ทำนา จับปลาขี่ควาย จึงสวมบทบาทของไอ้ขวัญแห่งท้องทุ่งบางกะปิได้อย่างกลมกล่อม เมื่อบวกกับรูปลักษณ์ที่เหมาะกับความเป็นไอ้ขวัญมากๆ จึงเป็นหนึ่งในบทบาทที่คนประทับใจไม่รู้ลืม

จำได้ถึงฉากที่ไอ้ขวัญรำพันถึงอีเรียมที่เหมือนจงใจให้ชายชู้มาฆ่าตน เป็นฉากที่มีบทพูดไพเราะงดงามตามภาษาของไม้ เมืองเดิม ผู้ประพันธ์ ในฉากมีฝนตกลงมาพร้อมกับน้ำตาของลูกผู้ชายที่ชื่อไอ้ขวัญได้ไหลรินออกมาจากหัวใจ

ฉากนี้เรียกน้ำตาจากผู้ชมในโรงได้ไม่น้อย

ไอ้ขวัญ จากเรื่องแผลเก่า

อีกบทบาทหนึ่งของสรพงศ์ที่ผมชื่นชอบ คือบท “จ่าสมหมาย” จากเรื่อง “มือปืน” กำกับฯ โดยท่านมุ้ย จ่าสมหมายนั้นเป็นอดีตทหารนักรบที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงที่ขา จนกลายเป็นคนเดินขาเป๋ หาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นช่างตัดผม แต่เบื้องหลังคือการรับจ้างเป็นมือปืนเพื่อสังหารคน

สรพงศ์สวมบทบาทจ่าสมหมายที่ต้องเดินขาเป๋ทั้งเรื่อง และมีบุคลิกที่ซุกซ่อนความเป็นมือสังหารที่โหดเหี้ยมอยู่ภายใต้ช่างตัดผมจนๆ มีลูกติดหนึ่งคนที่ป่วยหนักจนจ่าสมหมายต้องรับงานผิดกฎหมายอีกครั้งเพื่อหาเงินมารักษาลูกชาย

เรื่องนี้มีความดราม่าจากความเป็นพ่อที่ไม่มีทางเลือก ยอมทำทุกอย่างเพื่อรักษาลูกให้มีชีวิตอยู่ต่อไป แม้เขาอาจจะต้องจบชีวิตลงก็ตามที

และด้วยการแสดงที่โดดเด่นนี้ ทำให้สรพงศ์ได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก 2 เวทีในปีเดียวกัน คือ รางวัลตุ๊กตาทอง และรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ

 

จาก “มือปืน” ข้ามมาถึงบทบาทหนึ่งที่ทำให้สรพงศ์ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากรางวัลพระสุรัสวดีเป็นตัวที่สอง นั่นคือ บท “ครูทม” จากเรื่อง “ชีวิตบัดซบ” ฝีมือการกำกับฯ ของเพิ่มพล เชยอรุณ เรื่องนี้เป็นดราม่าหนักเข้มข้น ของครอบครัวครูทมที่อยู่ในสลัม แวดล้อมด้วยชีวิตที่เลวร้ายย่ำแย่มากมาย จนสุดท้ายความระยำตำบอนจากคนนั้นก็ได้สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงให้กับครูทมและครอบครัว

จากความเก็บกดในเรื่องต่างๆ ที่ค่อยๆ สะสมเข้ามาในชิวิตของครูทม จนกระทั่งมาแตกหักถึงจุดระเบิดเมื่อลูกและเมียถูกย่ำยี การเอาคืนพวกกลุ่มจิ๊กโก๋อย่างเลือดเข้าตาจากการแสดงของสรพงศ์ สร้างความรู้สึกร่วมให้กับผู้ชมได้อย่างดียิ่ง

บทบาทต่อมาที่จะพูดถึงคือบท “แกว่น แก่นกำจร” จากภาพยนตร์เรื่อง “ไผ่แดง” ที่นำมาจากบทประพันธ์ดังของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กำกับฯ โดยเพิ่มพล เชยอรุณ เรื่องนี้ “แกว่น” เป็นตัวละครเอกที่เดินเรื่องเคียงคู่กับ “สมภารกร่าง” ที่รับบทโดย ผศ.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ (ตำแหน่งตอนนั้น)

สรพงศ์ทำให้บทเจ้าแกว่น ชายผู้มีอุดมการณ์ทางสังคมแกร่งกล้าแบบหัวชนฝา ในช่วงที่คอมมิวนิสต์รุกรานประเทศไทยมีความกวนๆ ที่น่าสนใจ ในความเป็นผู้นำ ที่เด็ดเดี่ยวไม่ยอมใคร เชื่อมั่นในตัวเองสูง แต่ลึกๆ แล้วก็มีความอ่อนไหวซ่อนอยู่ บางครั้งก็แอบสับสนในสิ่งที่ตนเองเชื่อ และทำ

เวลาแกว่นกับสมภารกร่างปะทะกัน เป็นตอนที่สนุกของเรื่อง และสีสันของแกว่น แก่นกำจร นั้นก็มาจากฝีมือทางการแสดงของสรพงศ์นั่นเอง

 

จากหลายๆ เรื่องที่เข้มข้นหนักๆ ก็มาถึงบทสบายๆ จากภาพยนตร์ที่ผมเองก็ชื่นชอบเป็นพิเศษ คือ “ความรักครั้งสุดท้าย” บทที่สรพงศ์ได้รับ คือศิลปินหนุ่มเจ้าสำราญที่ชื่อ “พัท” เรื่องนี้ประกบกับภัทราวดี ศรีไตรรัตน์ กำกับฯ โดย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล

เรื่องนี้ผู้ชมจะได้เห็นรูปลักษณ์แบบ หนุ่มศิลปากรของสรพงศ์ ที่มีความสุขในชีวิตแบบง่ายๆ ด้วยการวาดรูปบ้าง เล่นดนตรี กินเหล้า และเที่ยวเตร่กลางคืน ในขณะเดียวกันก็แอบมีความสัมพันธ์ทางใจกับ “รส” หญิงหม้ายลูกติดที่อายุมากกว่าตน

แม้จะเป็นบทที่ดูสบายๆ ไม่ค่อยมีอะไรมากนัก แต่สรพงศ์ก็ไม่ทำให้ตัวละครนี้จมลงไปท่ามกลางบทที่ส่งเหลือหลายของ “รส” และฝีมือที่จัดจ้านของภัทราวดี

เขาสามารถทำให้ “พัท” เป็นหนุ่มที่หญิงสาวพร้อมจะมีความรักให้ ดูอบอุ่น มีความขี้เล่นแบบเด็กผู้ชายไม่ยอมโต แต่ก็จริงใจไม่เสแสร้ง

 

มหาเถรคันฉ่อง จากตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

บทบาทอีกเรื่องหนึ่งในยุคหลังๆ ของชีวิตการแสดงของสรพงศ์ที่อยากกล่าวถึง ก็คือเรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ในบทของ “พระมหาเถรคันฉ่อง” ซึ่งเป็นตัวละครที่มีอยู่ทั้ง 6 ภาคของเรื่องชุดนี้

ในบทนี้ สรพงศ์เล่นเป็นพระอาจารย์ของ “องค์ดำ” ที่ต้องเป็นสมณเพศท่ามกลางไฟสงครามของบ้านเมือง ด้วยมาดอันสงบนิ่ง สุขุม แต่ในท่วงท่า วาจา และสายตา ที่แสดงออกมาในแต่ละฉาก ก็สามารถทำให้ฉากนั้นมีน้ำหนักชวนติดตามมากขึ้น เข้าทำนองเล่นน้อยแต่ได้มาก

ที่กล่าวถึงนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากผลงานภาพยนตร์กว่า 500 เรื่องของสรพงศ์ ซึ่งไม่ใช่แต่จำนวนที่มาก หากหลายเรื่องนั้นมีคุณภาพทางการแสดงเป็นประจักษ์ จนได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งใน “พระเอกตลอดกาล” ของวงการภาพยนตร์ไทย

วันนี้สรพงศ์ ชาตรี ได้จากทุกบทบาทในชีวิตจริงและในโลกการแสดงไปแล้ว แต่ผลงานของเขาจะยังอยู่ในความประทับใจและความทรงจำของแฟนหนังไทยตลอดไป

จึงพูดได้เต็มปากว่าเป็น “พระเอก” ตัวจริง ที่ชื่อ “เอก” เสียด้วย •