ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
พื้นที่ระหว่างบรรทัด
ชาตรี ประกิตนนทการ
กำเนิดศิลปะสุโขทัย
ในประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ (3)
ผู้ที่สนใจวรรณกรรมสมัยอยุธยาย่อมทราบดีว่ามีงานอย่างน้อย 3 ชิ้นที่มีการอ้างถึง “พระร่วง” และ “สุโขทัย” แทรกอยู่ คือ “โคลงประดิษฐ์พระร่วง”, “จินดามณีครั้งแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ” และ “คำให้การชาวกรุงเก่า” อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดมีเนื้อหาพูดถึงสุโขทัยอย่างจำกัดมาก
เล่มแรกเป็นหนังสือที่รวบรวมสุภาษิตโบราณของไทย มีเพียงชื่อบนสมุดไทยดำที่ระบุว่า “ปรดิดพระร่วง” (ประดิษฐ์พระร่วง) เพียงเท่านั้น เนื้อหาภายในไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพระร่วงเลย
ส่วนเล่มสองก็มีลักษณะไม่ต่างกัน เป็นเพียงตำราสอนเขียนอ่านภาษาไทยที่ใช้การอ้างชื่อพระร่วงเป็นแค่บทเปิดเรื่องเพียงไม่กี่คำ
ส่วน “คำให้การชาวกรุงเก่า” เนื้อหาเกี่ยวกับสุโขทัยเป็นเพียงส่วนประกอบเล็กน้อยในเนื้อความตอนต้นที่บรรยายบ้านเมืองก่อนหน้าการสร้างอยุธยาว่ามีเมืองอะไรบ้าง ซึ่งเมืองสุโขทัยเป็นหนึ่งในจำนวนเกือบสิบเมืองที่งานชิ้นนี้กล่าวถึง แม้แต่การกล่าวถึงพระร่วงก็มีลักษณะไม่ต่างจากการกล่าวถึงกษัตริย์เมืองอื่นๆ
โดยไม่มีอะไรถูกเน้นมากเป็นพิเศษ
ส่วนงานเขียนที่พูดถึงสุโขทัยในสมัยกรุงเทพฯ ก่อน พ.ศ.2337 (ซึ่งเป็นปีที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองเหนือครั้งใหญ่ลงมาที่กรุงเทพฯ) มี 2 เล่ม คือ “ราชาธิราช” และ “สังคีติยวงศ์”
เล่มแรก แม้จะกล่าวถึงพระร่วงสุโขทัยไม่น้อย แต่ก็ไม่ต่างจากงานสมัยอยุธยาคือเป็นเพียงส่วนประกอบย่อยของเนื้อหาหลักที่พูดถึง “พระเจ้าราชาธิราช” ที่เป็นจุดเด่นของหนังสือ
ส่วนเล่มหลังยิ่งน้อยไปกว่าเล่มแรก โดยเนื้อหาคือการเล่าเรื่องสังคายนาพระธรรมวินัยตั้งแต่ครั้งแรกในชมพูทวีปจนมาถึงครั้งสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งในจำนวนราว 330 หน้ากระดาษ มีเนื้อหาเกี่ยวกับสุโขทัยไม่ถึง 8 หน้า
แต่หลังจาก พ.ศ.2337 ดูเหมือนว่า ความสนใจเกี่ยวกับบ้านเมืองสุโขทัยในงานเขียนต่าง ๆ กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของงานเขียนชื่อ “พงศาวดารเหนือ”
“พงศาวดารเหนือ” แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2350 โดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) โดยเป็นการรวบรวมเรื่องเล่าและตำนานพื้นบ้านหลายๆ เรื่องเกี่ยวกับเมืองเหนือนำมาเรียงร้อยเป็นเรื่องเดียวกัน
เริ่มต้นด้วยการสร้างเมืองสวรรคโลก, ตำนานพระร่วง ซึ่งมีการเขียนซ้ำหลายสำนวนภายในเล่ม, เรื่องพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกสร้างเมืองพิษณุโลกและหล่อพระพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา, พระยาแกรก, พระเจ้าสายน้ำผึ้ง, โดยเนื้อหาจบลงที่การสร้างอยุธยาโดยพระเจ้าอู่ทอง
แม้จะมีหลายเรื่องประกอบเข้าด้วยกัน แต่เนื้อหาหลักคือการพูดถึงพระร่วงและสุโขทัย ยิ่งพิจารณาในส่วน “บานแพนก” ของผู้แต่งที่ยกมาไว้ด้านล่างนี้เรายิ่งเห็นถึงการเน้นย้ำเป็นพิเศษดังกล่าว
“…แลเรื่องพระราชพงษาวดารฝ่ายประเทศสยามนี้…ก็กล่าวตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองเปนปฐมกระษัตริย์สร้างกรุงศรีอยุทธยา แล้วลำดับกระษัตริย์เนื่องกันลงมา จนกรุงเสียแก่พม่า แล้วขุนหลวงตากมาสร้างกรุงธนบุรี…สืบกระษัตริย์กันลงมาจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่พระราชพงษาวดารเหนือ กล่าวความตั้งแต่สร้างเมืองศรีสัชนาไลยแลเมืองศุโขไทย แล้วสืบกระษัตริย์กันลงมาเปนอันมาก ก่อนแผ่นดินพระเจ้าอู่ทองขึ้นไปหลายสิบชั่วกระษัตริย์ ยังหาใคร่จะมีผู้ใดได้พบได้อ่านรู้เรื่องทั่วกันไปไม่ ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าพระราชพงษาวดารเหนือนั้น…ควรที่นักปราชแลผู้มีบันดาศักดิจะรู้ไว้…”
จากข้อความที่ยกมา แสดงให้เห็นว่า ความสนใจในอดีตของสยามก่อนหน้านี้ดูจะไปไกลสุดเพียงแค่พระเจ้าอู่ทอง แต่ “พงศาวดารเหนือ” ได้ฉายภาพเรื่องราวที่ย้อนไปไกลกว่านั้น
โดยเน้นสุโขทัยอย่างโดดเด่นแยกตัวออกมาจากเรื่องเล่าอื่นๆ ซึ่งไม่เคยมีหนังสือใดในยุคก่อนนั้น เน้นมากเช่นนี้มาก่อน
ผมอยากตั้งเป็นข้อสังเกตว่า “พงศาวดารเหนือ” ถูกแต่งขึ้นหลังจากเหตุการณ์การอัญเชิญพระพุทธรูปครั้งใหญ่ราว 13 ปี ดังนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า “พงศาวดารเหนือ” คือการแต่งขึ้นโดยอาศัยความทรงจำ เรื่องเล่า และประสบการณ์ของผู้คนที่เดินทางไปอัญเชิญพระพุทธรูปครั้งใหญ่ในคราวนั้น ซึ่งด้วยระยะเวลาอันยาวนาน ย่อมเป็นธรรมดาที่เรื่องเล่าเกี่ยวกับสุโขทัยจะถูกขนย้ายลงมาด้วยพร้อมๆ กับพระพุทธรูป
พิชญา สุ่มจินดา เคยวิเคราะห์ไว้ในงานวิจัยเรื่อง “การกำหนดอายุเวลาและการจำลองพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก” ว่าหนังสือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” และ “พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา” ซึ่งมีเนื้อความพูดถึงพระพุทธรูปสำคัญของพิษณุโลกนั้น มักจะกล่าวถึงพระพุทธรูปสำคัญเพียง 2 องค์เสมอ คือ พระพุทธชินราช และพระพุทธชินสีห์
ในขณะที่ “พงศาวดารเหนือ” จะกล่าวถึง 3 องค์โดยเพิ่มพระศรีศาสดาเข้ามาด้วย รวมไปถึงการอธิบายรายละเอียดแผนผังวัดอย่างละเอียดและถูกต้องตามผังที่เป็นจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้แต่ง “พงศาวดารเหนือ” (หรือผู้เล่าตำนานส่วนนี้ให้ผู้แต่งฟัง) จะต้องเคยไปเห็นสถานที่จริง และทราบว่า วัดนี้มีพระพุทธรูปสำคัญ 3 องค์ มิใช่แค่ 2 องค์ตามอย่างที่คนอยุธยาเข้าใจ
หลักฐานอีกชิ้นคือ การเรียบเรียงพงศาวดารเหนือนั้นมีการจัดทำแผนที่เมืองสวรรคโลก และพิษณุโลก ประกอบอยู่ด้วย (แผนที่ส่วนนี้ไม่มีปรากฏในฉบับที่ตีพิมพ์ แต่ปรากฏรวมอยู่ในเอกสารชื่อ พระราชพงศาวดารเหนือ เลขที่ 57 มัดที่ 7 เก็บรักษาอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ) โดยแผนที่ได้แสดงตำแหน่งที่ตั้งของเมืองทั้งสองพร้อมรายละเอียดของวัดและพระราชวังเอาไว้
แน่นอน หากดูด้วยสายตาปัจจุบัน แผนที่ชุดนี้เขียนขึ้นอย่างไร้มาตรฐานแผนที่ แต่ถ้าพิจารณาในบริบทต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แผนที่นี้คือหลักฐานสำคัญของการเดินทางสำรวจหัวเมืองเหนือเชิงประจักษ์ด้วยตาตนเองของคนยุคต้นกรุงเทพฯ
และผมอยากเสนอว่า แผนที่ชุดนี้น่าจะถูกจัดทำขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งการขนย้ายพระพุทธรูปครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2337
ที่สำคัญคือ เนื้อหาใน “พงศาวดรเหนือ” จะมีการเล่าเรื่องเดียวกันซ้ำกันหลายครั้งในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น เรื่องเกี่ยวกับพระร่วง ก็มีทั้งที่เป็นกษัตริย์มีบุญญาภินิหาร กษัตริย์ที่คึกคะนองชอบเล่นการพนันและเจ้าชู้ จนถึงนายร่วงลูกชาวบ้าน
ซึ่งแน่นอน บางสำนวนน่าจะมาจากหนังสือเดิมเมื่อครั้งอยุธยา เพราะเนื้อหาคล้ายมากกับที่บันทึกไว้ใน “คำให้การชาวกรุงเก่า” แต่บางสำนวน เช่น นายร่วงบุตรนายคงเครา ที่ดูจะมีลักษณะเป็นนิทานพื้นบ้านที่เล่าต่อๆ กันมาของชาวบ้าน มากกว่าที่จะเป็นบันทึกในเอกสารสำคัญ ซึ่งสำนวนแบบนี้จะได้มาจากไหนหากมิใช่คำบอกเล่าที่ติดมาพร้อมการอัญเชิญพระพุทธรูปครั้งใหญ่ในคราวนั้น
ลักษณะแบบนี้ยังปรากฏให้เห็นจากการสำรวจสุโขทัยในยุคต่อมาโดยเจ้านายจากกรุงเทพฯ กลางพุทธศตวรรษที่ 25 ที่บันทึกเอาไว้ว่า การสำรวจจะมีคนนำทางที่เป็นชาวบ้านละแวกนั้นและตลอดการเดินทางก็จะมีการเล่าตำนานพื้นบ้านนอกพงศาวดารประกอบการชมโบราณสถานต่างๆ เสมอ
แม้เจ้านายเหล่านั้นต่างบอกว่าเรื่องเล่าล้วนไม่น่าเชื่อถือ แต่ที่น่าสนใจกว่าความน่าเชื่อถือก็คือ รูปแบบการสำรวจที่มีชาวบ้านนำทางและเล่าตำนานพื้นบ้านเช่นนี้ชวนให้เรานึกย้อนกลับไปจินตนาการถึงภาพของการอัญเชิญพระพุทธรูปครั้งใหญ่เมื่อต้นกรุงเทพฯ ว่าคงจะมีลักษณะไม่แตกต่างกัน
และเรื่องเล่ามากมายจากการอัญเชิญครั้งนั้นคงถูกนำมาเรียงร้อยเป็น “พงศาวดารเหนือ” ในเวลาต่อมานั่นเอง
กระบวนการทั้งหลายเหล่านี้คือสิ่งที่เราอาจพูดได้ตามแบบที่ Stefan Tanaka เคยกล่าวไว้ในหนังสือ New Times in Modern Japan ว่าปรากฏการณ์นี้ เป็นกระบวนการที่นำไปสู่ “การค้นพบอดีตใหม่” ที่เปิดทางให้กับเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่
การเดินทางสำรวจพระพุทธรูปเมืองเหนือ การไปพบเจอเรื่องเล่ามากมาย ตลอดจนการจัดทำแผนที่ทั้งหมดนี้หลักฐานสำคัญของการเดินทางสำรวจเพื่อ “ค้นพบ” สุโขทัยอีกครั้งในนิยามและความหมายใหม่ที่ต่างจากคนรุ่นอยุธยา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการ “ตัดขาด” อดีตและความหมายเดิมๆ ที่คนสยามในอยุธยารับรู้สุโขทัย
สุโขทัยในสมัยอยุธยาจะมีนัยยะหรือสถานะอย่างไรนั้นมิใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป เพราะสุโขทัยนับจากนี้จะถือกำเนิดขึ้นใหม่บนความหมายใหม่ที่คนในยุคต้นกรุงเทพฯ ได้ร่วมกันประกอบสร้างขึ้น ซึ่ง “พงศาวดารเหนือ” ได้เข้ามาเป็นหลักฐานสำคัญของกระวนการประกอบสร้างสุโขทัยขึ้นใหม่ในช่วงเวลานั้น