ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ศัลยา ประชาชาติ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
ศัลยา ประชาชาติ
เอกชน-รัฐบาลปรับแผน
รับมือวิกฤติพลังงานอุตลุด
งัดมาตรการ “ประหยัด” สู้ศึกน้ำมันพุ่ง
สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบอย่างหนักต่อราคาพลังงานในตลาดโลกและยังไม่มีทีท่าว่าจะไปจบลงตรงที่ใด
ล่าสุดราคาน้ำมันดิบได้พุ่งทะลุ 130 เหรียญ/บาร์เรล ในขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาก๊าซ LNG ซึ่งประเทศไทยต้องนำเข้ามาเสริมกับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดน้อยลงไปจากช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผู้พัฒนา แหล่งก๊าซเอราวัณในอ่าวไทย ต้องซื้อก๊าซ LNG ในราคา Spot ที่แพงถึง 35 เหรียญ/ล้าน BTU ส่งผลต่อต้นทุนเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.แพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะด้วยราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นทั้งน้ำมันดิบ-ก๊าซธรรมชาติ ที่จะต้องถูกส่งผ่านไปยังค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft ในงวดที่ 2 ระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายนที่จะถึงนี้ ได้สร้างความกังวลให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค และภาคการขนส่ง ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่ไม่สามารถขึ้นราคาตามต้นทุนที่แท้จริง
เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบาย “ร้องขอ” ให้ผู้ผลิตสินค้า “ตรึงราคา” สินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีผลทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดต่ำลงไปมาก
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ทราบดีถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่สามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตสินค้าและการขนส่งไว้ที่ลิตรละ 30 บาทได้ตลอดไป เนื่องจาก “เงิน” ที่ใช้ในการอุดหนุนุมีจำนวนจำกัด
ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นทุกวันตามสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มว่าจะต้องยืดเยื้อยาวนาน ส่งผลให้ชาติตะวันตกที่เดิมจะต้องพึ่งพาพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซจากรัสเซีย ต้องหันมาซื้อในตลาดตะวันออกกลาง จากมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียที่กำลังดำเนินต่อไป
ผลกระทบจากราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นสูงเหล่านี้ทำให้บริษัทพลังงาน-กลุ่มผู้ผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค-ผู้จัดจำหน่ายสินค้าไฮเปอร์มาร์เก็ต และธุรกิจในภาคการขนส่ง ต้องปรับตัวด้วยการปรับแผนเพื่อลดต้นทุนการประกอบธุรกิจของตนให้ต่ำที่สุด
เนื่องจากทุกคนรู้ดีว่า ประเทศไทยยังไม่พ้นภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ขณะนี้เป็นเพียงแค่ช่วงเริ่มต้นฟื้นตัวจากโควิด-19 กลับต้องมาเผชิญกับปัญหาทางด้านพลังงานที่ยังไม่รู้ว่าจะไปจบลงที่ไหน
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีหน้าที่ที่จะต้องรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาพลังงานของประเทศ ได้ปรับแผนการดำเนินการจัดหาพลังงานของกลุ่มด้วยการเตรียมความพร้อมในการจัดหาน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป เพื่อให้มั่นใจว่า แม้ราคาพลังงานจะเพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยจะมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ได้บริหารความเสี่ยงด้วยการจัดหา “น้ำมันดิบ” จากหลายๆ แหล่งและให้โรงกลั่นน้ำมันในกลุ่ม ปตท. ทำการ “สำรองน้ำมันคงคลัง” ในระดับสูงสุด การประสานเครือข่ายคู่ค้าเพื่อเตรียมจัดหาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นจากภาวะปรกติ
โดยการดำเนินการของกลุ่ม ปตท.จะทำให้ประเทศไทยมีปริมารน้ำมันสำรองเพิ่มขึ้นอย่างน้อยอีก 640 ล้านลิตร ในส่วนน้ำมันสำเร็จรูปมีการสั่งระงับการส่งออกน้ำมันดีเซลเป็นการชั่วคราว ให้นำเข้าน้ำมันเบนซินเฉลี่ย 30 ล้านลิตร/เดือน รวมไปถึงการนำเข้าน้ำมันเตา เพื่อส่งต่อให้กับ กฟผ.ใช้ในโรงไฟฟ้าบางปะกงอีกเดือนละ 4,000 ตันด้วย
ส่วนการจัดหาก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซ LPG ที่ประเทศมีความต้องการใช้อย่างมากนั้น ปตท.พร้อมที่จะนำเข้าจากตลาดจรในราคา Spot (ซึ่งหมายถึงราคาที่แพงกว่าตลาดระยะยาวมาก) เพื่อเข้ามาเสริมความต้องการใช้ภายในประเทศท่ามกลางวิกฤตการณ์ด้านพลังงานที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สวนทางกับบริษัทผู้ค้าน้ำมันรายอื่นๆ ที่ไม่ได้มีภาระที่จะต้องรักษาความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ ส่วนใหญ่แล้วเลือกที่จะบริหารสต๊อกน้ำมันของตัวเองให้ “ต่ำที่สุด” และรักษากระแสเงินสดไว้
สอดคล้องกับการดำเนินการของบริษัทผู้ประกอบการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ส่วนใหญ่แล้วแทบจะไม่มีการนำเข้าก๊าซ LNG ในส่วนที่ขาดเข้ามาเลย ในเมื่อราคาก๊าซ LNG พุ่งสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ
ด้านผู้ประกอบการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่อย่างบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ก็ได้เตรียมความพร้อมของบริษัทในการรับมือกับวิกฤตด้านราคาพลังงาน โดยนายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ BJC กล่าวว่า ราคาพลังงานที่สูงขึ้นมีผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการโดยเฉพาะต้นทุนในการผลิตขวดแก้วของบริษัท
ขณะเดียวกันต้นทุนการขนส่งก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการผลิตสินค้า ดังนั้น บริษัทอาจจะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนรถขนส่งสินค้าในเครือที่มีอยู่หลายพันคันให้เป็น “รถไฟฟ้า” พร้อมจัดสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มเติมเพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย
น.ส.วรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาดบริษัทเดอะมอลล์ กรุ๊ป กล่าวถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของหลายธุรกิจ ในส่วนของเดอะมอลล์โดยเฉพาะ “กรูเมต์มาร์เก็ต” มีบางที่กระทบต่อต้นทุนสินค้า แต่บริษัทยังคงพยายามที่จะ “ตรึงราคา” สินค้าจำเป็น สินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภคให้น้อยที่สุด
นอกจากนี้ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ยังมีการเจรจากับ “ซัพพลายเออร์” ในการบริหารจัดการการส่งสินค้าต่อครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าให้มากขึ้นเพื่อลดจำนวนรอบในการขนสินค้าลง ส่วน “ธุรกิจเดลิเวอรี่” ยอมรับว่ามีผลกระทบบ้าง แต่เนื่องจากลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้แต่ละครั้งจะซื้อเป็นจำนวนค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงไม่ส่งผลกระะทบต่อต้นทุนมากนัก
ด้านธุรกิจโลจิสติกส์ก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน โดยนายคมสันต์ ลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแฟลช เอ็กซ์เพรส กล่าวว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่กระทบทุกภาคส่วนในเรื่องของ “ต้นทุน” ดังนั้น จึงต้องวางแผนการบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่าต่างๆ ให้สอดคล้องกับทรัพยากรที่มี แม้บริษัทจะมีต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น “แต่จะไม่ทำให้บริษัทต้องปรับขึ้นราคาค่าขนส่งกับลูกค้า”
โดยบริษัทมีนโยบายให้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงพลังงานทางเลือกอย่างน้ำมัน B10 รวมไปถึงการมองหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ อาทิ รถไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนทางด้านเชื้อเพลิง
สอดคล้องกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ที่แน่นอนว่า “น้ำมัน” เป็นต้นทุนหลักของธุรกิจขนส่ง ซึ่งถือเป็น 30% ของต้นทุนของ ปณท ทำให้ต้องมาเน้นการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีแผนระยะกลางและระยะยาวในการนำรถไฟฟ้ามาใช้ขนส่งพัสดุมากขึ้น
โดยในเดือนมีนาคมนี้ ปณท จะเซ็นสัญญากับบริษัทมิตชูมิชิ และ ปตท.OR ในการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ขนส่งพัสดุไปรษณีย์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ร่วมกับบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) นำรถบรรทุก 6 ล้อระบบขับเคลื่อนกำลังไฟฟ้า 100% มาทดลองใช้ขนส่งสิ่งของในกรุงเทพฯ ปริมณฑลไปแล้ว
ขณะที่ท่าทีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ก็มี “สุ้มเสียง” ที่เปลี่ยนไปจากที่เคยแสดงความมั่นใจว่า การอุดหนุนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งการกู้เงินจำนวน 20,000 ล้านบาท กับการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาท/ลิตร เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร จะสามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ด้านราคาพลังงานรอบนี้ได้
แต่เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความเชื่อมั่นว่า “จะรับมือไหว” ก็เปลี่ยนไป จนรัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนแผนการบริหารเงินที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการขอขยายเพดานเงินกู้ของกองทุนน้ำมันจาก 20,000 ล้านบาทเป็น 40,000 ล้านบาท
ไปจนกระทั่งถึงการ “ยกเว้น” การเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาที่ใช้ในโรงไฟฟ้าของ กฟผ.เพื่อลดค่าไฟฟ้าที่จำเป็นต้องปรับขึ้นตามค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า Ft ให้กระทบกับผู้ใช้ไฟฟ้าให้น้อยที่สุด
กระทั่งท้ายที่สุดต้องงัดไม้ด้วยการขอความร่วมมือให้ประชาชน “ต้องช่วยกันประหยัด”!!
นี่คือสถานการณ์ที่ยังยืดเยื้อและเกินกว่าจะคาดเดาได้ว่าจะจบลงแบบไหน