ทร.ร้าวระอุ เกม ‘บิ๊กเฒ่า’ วางทายาท ‘จอร์จ 4 ช.’ เบียด ‘เสธ.แจ๊ค’ จับตา ‘บิ๊กดุง-โอ๋-น้อย’ เวฟ 2 ส่อง ‘คอแดง’ ทัพฟ้า/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

ทร.ร้าวระอุ เกม ‘บิ๊กเฒ่า’

วางทายาท ‘จอร์จ 4 ช.’

เบียด ‘เสธ.แจ๊ค’

จับตา ‘บิ๊กดุง-โอ๋-น้อย’ เวฟ 2

ส่อง ‘คอแดง’ ทัพฟ้า

บรรยากาศ “มาคุ” เข้าปกคลุมกองทัพเรือทันทีที่มีข่าวแพร่สะพัดว่า บิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. จะเด้งบิ๊กปู พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผช.ผบ.ทร. ไปอยู่ บก.กองทัพไทย

แล้วดึงบิ๊กจอร์จ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ รองเสนาธิการทหาร สลับกลับมา ทร.ขึ้นแท่น 5 ฉลามทัพเรือ

ที่นอกจากทำให้เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 22 อย่าง พล.ร.อ.สุทธินันท์ และ พล.ร.อ.เชิงชาย ไม่มองหน้ากันแล้ว

ระหว่าง พล.ร.อ.สุทธินันท์ กับ พล.ร.อ.สมประสงค์ ก็เพิกเฉย มึนตึงต่อกัน เพราะหากจะย้ายกันจริง ก็ควรจะต้องบอกเหตุผล หรือแจ้งเตือนให้รู้ตัวกันก่อน แต่ พล.ร.อ.สุทธินันท์ต้องมารู้จากข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์

จนเกิดกระแสข่าวในหมู่ทหารเรือใกล้ชิดว่า หากถูกเตะโด่งไปเป็นรองเสธ.ทหาร ที่ บก.ทัพไทยจริง พล.ร.อ.สุทธินันท์อาจจะฟ้องศาลปกครอง เนื่องจากโยกย้ายไม่เป็นธรรม เนื่องจากตำแหน่ง ผช.ผบ.ทร. อาวุโสกว่ารองเสนาธิการทหาร

แต่อย่างไรก็ตาม ทหารเรือก็ไม่เคยถึงขั้นต้องฟ้องร้องกัน เพราะทหารเรือยึดมั่นในธรรมเนียม แต่ทว่า การโยกย้ายครั้งนี้ ไม่เป็นไปตามธรรมเนียม ที่จะไม่มีการย้ายตำแหน่งหลัก โดยเฉพาะ 5 เสือในโยกย้ายกลางปี จึงทำให้เกิดปัญหาตามมา

พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์,พลเรือเอก สุทธินันท์ สมานรักษ์

แม้ พล.ร.อ.สมประสงค์จะมีเหตุผลในการดึง พล.ร.อ.เชิงชายกลับ ทร.เพื่อเตรียมมาเป็น ผบ.ทร.ในโยกย้ายกันยายนนี้ ต่อจากตนเองก็ตาม

แต่เพราะมีแคนดิเดต ผบ.ทร.มากถึง 4 คนอยู่แล้ว แต่เพราะ 3 คนถูกมองว่าเป็นแคนดิเดตที่บิ๊กลือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีต ผบ.ทร. ผลักดันขึ้นมา

ทั้งบิ๊กโต้ง พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ (ตท.21) รอง ผบ.ทร. ที่อาวุโสสูงสุด เพราะเป็นพลเรือเอกพิเศษ และ พล.ร.อ.สุทธินันท์ (ตท.22) ที่ก็อาวุโสรองลงมา เพราะเป็นพลเรือเอกเข้าปีที่ 2 จากที่เคยเป็น ผบ.กองเรือยุทธการ และเสธ.แจ๊ค พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ (ตท.23) เสธ.ทร. ที่ทั้ง 3 คนเกษียณกันยายน 2566

ส่วน พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผบ.กองเรือยุทธการ (ตท.25) ที่ถูกมองว่า ยังมีอายุราชการถึงปี 2568 จึงถูกมองข้ามไป เพราะต้องให้รุ่นพี่เป็นก่อน แม้จะเกษียณพร้อมรุ่นพี่ ตท.23-24 ที่กำลังขยับขึ้นมา และจะเติบโตมาในสายกำลังรบ สายบู๊ เคยเป็นผู้การเรือหลวงสุโขทัย และเรือหลวงรัตนโกสินทร์ และเป็น ผช.ทูตทหารเรือ ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และเป็น ผบ.กองเรือลำน้ำ ผบ.ฐานทัพเรือกรุงเทพ และหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสธ.ประจำ ผบ.ทร. และ ผบ.กองเรือยุทธการ คุมกำลังรบทางเรือ

แต่อาจต้องร้องเพลงรอ

 

ดูเหมือนตัวเลือกที่มีอยู่นี้ ยังไม่โดนใจ พล.ร.อ.สมประสงค์ ที่มีความขัดแย้งกับ พล.ร.อ.

พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย,พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์

จนถูกมองว่า การดึง พล.ร.อ.เชิงชายกลับมา ทร. เพื่อจ่อเป็น ผบ.ทร.นั้น เป็นการสะท้อนว่าไม่เอาคนของ พล.ร.อ.ลือชัย ขึ้นเป็น ผบ.ทร. แถมทั้งการเด้ง พล.ร.อ.สุทธินันท์ ยังเป็นการล้างบางน้องรักบิ๊กลือด้วย

แม้ พล.ร.อ.สมประสงค์จะยืนยันมาเสมอว่า ไม่ได้ขัดแย้งกับ พล.ร.อ.ลือชัย แต่หลายกรณีก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะถูกมองเช่นนั้นได้ ทั้งการสั่งรื้อถอน ตัดต้นไผ่ที่ปลูกไว้สมัยบิ๊กลือ ที่เน้นฮวงจุ้ยตามความเชื่อแบบจีน ทั้งที่กองทัพเรือ พระราชวังเดิม และ บก.ทร. วังนันทอุทยาน และการรื้อป้ายม็อตโต้ของบิ๊กลือทิ้ง และการปรับปรุงห้องทำงาน ผบ.ทร.ใหม่

ตามมาด้วยการเช็กบิลนายทหารเรือที่ใกล้ชิด พล.ร.อ.ลือชัย ที่ทำผิดระเบียบ แบบไม่มีการช่วยเหลือ แม้แต่ทหารเรือคนในครอบครัวบิ๊กลือ ก็ถึงขั้นต้องลาออกจากราชการ

รวมทั้งการรื้อฟื้นการตั้งศูนย์ฝึกทหารใหม่ที่สัตหีบ ที่ พล.ร.อ.ลือชัยเคยยุบไป ขึ้นมาใหม่ หลังจากที่บิ๊กลือสั่งยุบไปเพราะมองว่าเป็นแหล่งรายได้ผลประโยชน์จากการดูแลพลทหาร ผลัดละกว่า 5 พันคน และมอบให้หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ฝึกเอง

 

ทั้งนี้ พล.ร.อ.สมประสงค์ได้พิจารณาแล้วว่า บุคคลที่ตนเองเลือกมีความเหมาะสม รวมถึงการได้หารือบิ๊กหน่อย พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกลาโหม เพื่อนรัก ตท.20 และนำเรียนบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว

ดังนั้น ในการประชุมบอร์ด 7 เสือกลาโหม พิจารณาโผทหารเมื่อ 4 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงไฟเขียว ไม่ได้ทักท้วงใดๆ เพราะ พล.ร.อ.สมประสงค์ได้รายงานแล้วว่า ตั้งแต่สมัย พล.ร.อ.ลือชัยได้สร้างปัญหาใดไว้บ้าง พล.ร.อ.สมประสงค์จึงต้องตามมาแก้ไข

ถึงจะมีข่าวออกในหน้าสื่ออย่างแพร่หลายกับการโยกย้ายล้างบางบิ๊กลือครั้งนี้ แต่ พล.ร.อ.สมประสงค์ก็ไม่ได้สั่งให้แก้ข่าวใดๆ เพียงแค่เช็กกระแส และปฏิกิริยาของฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่านั้น และมั่นใจว่าควบคุมปัญหาได้

รวมทั้ง พล.ร.อ.สมประสงค์เห็นว่า แคนดิเดตทั้งหมดยังคงมีความหวัง เพราะจะดูที่ผลงาน ให้ทุกคนทำงานแข่งกันก็ตาม ทุกคนจึงมีโอกาสลุ้น

แต่การย้าย พล.ร.อ.เชิงชายกลับมา ทร.ในโผนี้ ก็ชัดเจนแล้วว่า เพื่อมารอเป็น ผบ.ทร.

นอกเหนือจากความสนิทสนมของหลังบ้านแล้ว เหตุผลที่ พล.ร.อ.สมประสงค์เลือก พล.ร.อ.เชิงชาย เพราะพิจารณาเรื่องรุ่น เห็นว่าเป็น ตท.22 และเคยเป็น ผบ.ทัพเรือภาคที่ 3 แล้วถูกย้ายออกไป จึงอยากที่จะคืนความชอบธรรมให้

เหมือนเช่นที่ตัว พล.ร.อ.สมประสงค์เคยถูกเด้งจาก ทร. ไปเป็นรองปลัดกลาโหมถึง 2 ปี ก่อนจะได้กลับมาเป็น ผบ.ทร. เพราะพลังของเพื่อนๆ ตท.20 ที่ช่วยกัน ทั้ง พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม และบิ๊กอุ้ย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร.ในเวลานั้น

แต่หากมองย้อนไป การที่ พล.ร.อ.สมประสงค์ถูกย้ายข้ามไปเป็นรองปลัดกลาโหมครั้งนั้น กลายเป็นคุณ เพราะทำให้มีอาวุโส ครองอัตราพลเรือเอกพิเศษ จนทำให้เป็นเหตุผลที่ พล.ร.อ.สมประสงค์ได้กลับมาเป็น ผบ.ทร.ในปีสุดท้ายก่อนเกษียณ

แต่อาจแตกต่างจาก พล.ร.อ.เชิงชาย ที่ไม่ใช่อาวุโส เพราะเพิ่งเป็นพลเรือเอก 6 เดือน ส่วน พล.ร.อ.สุทธินันท์เป็นพลเรือเอกเข้าปีที่ 2 แล้ว อีกทั้งเป็น 5 ฉลาม ทร.

ดังนั้น จึงจะทำให้ตั้งแต่ 1 เมษายนนี้ เมื่อ พล.ร.อ.เชิงชายกลับมาอยู่กองทัพเรือ เกมอำนาจใน ทร.ก็จะเปลี่ยนไป

 

แคนดิเดตตัวเลือก ผบ.ทร. กันยายนนี้ จึงจับตามองไปที่ พล.ร.อ.เชิงชายที่เป็นเต็งหนึ่ง และ พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นเต็งหนึ่ง และจะเป็นการชิงกันของ ตท.22 และ ตท.23

สำหรับ พล.ร.อ.เชิงชายนั้นได้ชื่อว่าเป็นดาวเด่นใน ทร.ของ ตท.22 จนมีการพูดถึง “จอร์จ 4 ช.” ที่เป็นฉายา เพราะชื่อและนามสกุลมี ช. 4 ตัว

แต่ในระยะหลังๆ พล.ร.อ.เชิงชายแผ่วไป จนต้องขยับไปอยู่ ศรชล. ศูนย์รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล

พล.ร.อ.เชิงชายเคยเป็น ผบ.เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เคยเป็นผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือประจำวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ เติบโตในสายบุ๋น ฝ่ายอำนวยการมากกว่า ในกรมยุทธการทหารเรือ เคยเป็น ผอ.สํานักกิจการความมั่นคง และรองเจ้ากรมยุทธการ ทร. และ พล.ร.อ.ลือชัย ผบ.ทร.ในขณะนั้น ตั้งเป็น ผบ.ทัพเรือภาคที่ 3 และในยุค พล.ร.อ.ชาติชายเป็น ผบ.ทร. ได้ส่ง พล.ร.อ.เชิงชายไปเป็นรองเสธ.ทหาร ก่อนที่ พล.ร.อ.สมประสงค์จะดึงกลับมา

ขณะที่ พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์เคยเป็น ผช.ทูตทหารประจำอินเดีย จึงมีฉายาว่า “อินเดียนน่า แจ๊ค” และเติบโตมาในกรมยุทธการ ทร. จนเป็นเจ้ากรมยุทธการ ทร. รองเสธ.ทร. และเสธ.ทร. และได้รับมอบหมายจาก พล.ร.อ.สมประสงค์ในการดูแลโครงการสำคัญ รวมทั้งเรือดำน้ำจีน

แน่นอนว่า การที่ พล.ร.อ.สมประสงค์ดึง พล.ร.อ.เชิงชายกลับมาจ่อเป็น ผบ.ทร.เช่นนี้ ย่อมกระทบจิตใจของ พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ที่ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างผลงานให้เห็น

ทั้ง พล.ร.อ.เชิงชาย และ พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ แม้จะเป็น ตท.22-23 แต่เกษียณ 2566 พร้อมกัน ดังนั้น จึงมีแค่ 1 เดียวเท่านั้นที่จะได้เป็น ผบ.ทร.

พลเรือเอกเถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์, พลเรือเอกสุวิน แจ้งยอดสุข

หาก พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ พลาดเก้าอี้ ผบ.ทร.ในโยกย้ายกันยายนนี้ แต่ก็ยังมีเพื่อน ตท.23 อีก 2 คนที่จะขึ้นมาชิงเก้าอี้ ผบ.ทร.คนต่อๆ ไป

เพราะในโผนี้ กำลังเป็นที่จับตามองและวัดใจว่า พล.ร.อ.สมประสงค์จะเลือกใคร ระหว่างเจ้ากรมดุง พล.ร.ท.อะดุง พันธุ์เอี่ยม เจ้ากรมสื่อสารทหารเรือฯ กับ “เจ้ากรมโอ๋” พล.ร.ท.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เจ้ากรมข่าวทหารเรือ ที่มีข่าวว่าจะขึ้นรองเสธ.ทร.ในโผนี้ เพื่อเตรียมจ่อขึ้น 5 เสือ ทร. โดยเฉพาะเสธ.ทร. ในโยกย้ายกันยายนนี้

แม้ใน ตท.23 จะสนับสนุนให้ พล.ร.ท.อะดุงที่เกษียณ 2567 ขึ้นก่อน เพื่อที่จะเป็น ผบ.ทร.ต่อจาก พล.ร.อ.เชิงชายที่จะเกษียณกันยายน 2566 แต่มีข่าวว่า พล.ร.อ.สมประสงค์ เลิฟ พล.ร.ท.ชลธิศ มากกว่า เพราะสนิทสนมกันทั้งในส่วนของครอบครัว และยังเคยทำงานเป็นฝ่ายเสธ. หน้าห้องบิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ตอนเป็น ผบ.ทร.มาด้วยกัน

จึงมีข่าวสะพัดใน ทร.ว่า พล.ร.อ.สมประสงค์วางตัว พล.ร.ท.ชลธิศเป็นเสธ.ทร. และ ผบ.ทร.ในอนาคต

หาก พล.ร.อ.สมประสงค์ และ พล.ร.อ.เชิงชาย มีสัญญาใจกัน ก็จะส่งไม้ต่อให้ พล.ร.ท.ชลธิศเป็น ผบ.ทร.ต่อ 2 ปีเลย พล.ร.ท.อะดุงอาจต้องหลบไป

 

หากเทียบประวัติ เส้นทางของ 2 เพื่อนรัก ตท.23 ทั้ง พล.ร.ท.อะดุง และ พล.ร.ท.ชลธิศ แล้วก็สูสีกันไม่น้อย

พล.ร.ท.อะดุงเติบโตมาจากกองเรือฟริเกตที่ 1 เคยเป็น ผบ.ร.ล.ปิ่นเกล้า และเคยเป็นผู้ช่วยทูตทหารเรือ ประจำแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย พร้อมทำหน้าที่รองผู้ช่วยทูตทหารไทย แคนเบอร์รา และรักษาการผู้ช่วยทูตทหารเรือไทย ประจำเวลลิงตัน นิวซีแลนด์ ตำแหน่งหนึ่งด้วย

ที่สำคัญ เคยเป็นฝ่ายเสธ. หน้าห้องบิ๊กติ๊ด พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ตอนเป็น ผบ.ทร. และถือเป็นอดีต ผบ.ทร.ที่สนิทสนมกับ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ที่ พล.ร.อ.สมประสงค์ให้ความเคารพ และเคยเป็น ผบ.รร.ชุมพลทหารเรือ รองเลขานุการ ทร. และเป็นหัวหน้านายทหารฝ่ายเสธ.ประจำเสธ.ทร. และเคยเป็น ผอ.สำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารเรือ และ ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา ทร. และเป็นพลเรือโท เจ้ากรมสื่อสารทหารเรือ เมื่อตุลาคมที่ผ่านมา

ขณะที่ พล.ร.ท.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เติบโตใน กองเรือตรวจอ่าว เคยเป็น ผบ.เรือ ต.99 และ ผบ.เรือหลวงภูเก็ต และเคยเป็นผู้ช่วยทูตทหารเรือไทย ประจำวอชิงตัน ดี.ซี. และทำหน้าที่รองผู้ช่วยทูตทหารอีกหน้าที่หนึ่ง แล้วกลับมาเติบโตในสายบุ๋นในกรมข่าวทหารเรือ จนเป็นรองเจ้ากรมข่าว ทร. และ ผอ.สำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารเรือ ก่อนกลับมาเป็น ผอ.สำนักนโยบายและแผน กรมข่าวทหารเรือ และเป็นรอง ผบ.ทัพเรือภาคที่ 2 และเป็นพลเรือโท เจ้ากรมข่าวทหารเรือเมื่อตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา

พล.ร.ท.อะดุงเกษียณกันยายน 2567 ส่วน พล.ร.ท.ชลธิศเกษียณกันยายน2568 ในฐานะเพื่อน ตท.23 และมีผู้ใหญ่ที่เคารพรับถือเป็นทีมเดียวกัน จึงอาจใช้สูตรรอมชอมให้ พล.ร.ท.อะดุงเป็น ผบ.ทร.ในอนาคตก่อน 1 ปี แล้วต่อด้วย พล.ร.ท.ชลธิศอีก 1 ปี

 

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูการวางหมากของ พล.ร.อ.สมประสงค์ ว่าจะดันใครขึ้นมาจ่อไว้ เพราะ พล.ร.ท.ชลธิศอายุน้อยแม้เป็นรุ่นพี่ ตท.23 แต่เกษียณ 2568 พร้อม ตท.24 และ ตท.25

ขณะเดรยวกัน จับตากันใน ทร.ว่า พล.ร.อ.สมประสงค์ยังมีน้องรักที่จะผลักดันขึ้นมาอีกคน คือ เสธ.น้อย พล.ร.ท.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง (ตท.24) หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสธ.ประจำ ผบ.ทร. ที่วางตัวจะขึ้น 5 ฉลาม ทร.ในโยกย้ายกันยายนนี้ เพราะเคยทำงานกับ พล.ร.อ.ธีระ ห้าวเจริญ สมัยเป็น ผบ.ทร.มาด้วยกัน

พล.ร.ท.วรวุธเป็น ตท.24 หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสธ.ประจำ ผบ.ทร. ที่เติบโตมาจากเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่เป็นผู้ช่วยต้นปืน ต้นหน และเป็นผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์

ก่อนขึ้นฝั่งมาเป็นผู้บังคับกองพันรักษาฝั่งที่ 11 กรมรักษาฝั่งที่ 1 สอ.รฝ. ก่อนจะลงเรืออีกครั้ง เป็นผู้บังคับการเรือหลวงพุทธเลิศหล้านภาลัย รองผู้อำนวยการกองยุทธการ กรมยุทธการทหารเรือ และไปเป็น ผช.ทูตทหารเรือ ประจำลอนดอน ผบ.กองเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ ก่อนขึ้นเป็นพลเรือโทเมื่อตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่หน้าห้อง พล.ร.อ.สมประสงค์

 

ขณะที่ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข หากพลาดเก้าอี้ ผบ.ทร.ในโยกย้ายกันยายนนี้ ก็อาจต้องไปชิงกับ พล.ร.ท.อะดุง พล.ร.ท.ชลธิศ และ พล.ร.ท.วรวุธ ที่ตอนนั้น พล.ร.อ.สุวินจะอาวุโสกว่า เพราะติดยศพลเรือเอกแล้วตั้งแต่ตุลาคม 2564

งานนี้ พล.ร.อ.สมประสงค์คงต้องวางหมากอย่างรอบคอบ ตั้งแต่โผนี้และโผหน้า เพราะไม่เช่นนั้น อาจกลายเป็นระเบิดเวลา ทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำ และอาจระเบิดเสมือนภูเขาไฟใต้ทะเล และมีสึนามิตามมาก็เป็นได้

น.อ.พันเทพ เนียมพลอย

ขณะที่กองทัพอากาศมีความเคลื่อนไหวสำคัญ นอกจากการปรับโครงสร้างกรมควบคุมปฏิบัติการทางอากาศ (คปอ.) เป็นหน่วยบัญชาการ คปอ. เพื่อยกระดับให้เป็น 6 เสืออากาศแล้ว ยังมีการปรับโครงสร้างในหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (อย.) อีกด้วย

โดยจะมีการตั้งกองพลอากาศโยธิน (พล.อย.) ที่จะเป็นกองพลใหม่ในหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ที่จะเป็นหน่วยรักษาพระองค์ (รอ.) ด้วยการรวมกรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์ (ทย.รอ.) ที่มีกำลัง 3 กองพัน และกรมต่อสู้อากาศยาน รักษาพระองค์ (ตอ.รอ.) อีก 2 กองพัน ที่เป็นทหารคอแดงอยู่แล้ว

ซึ่งจะทำให้กองทัพอากาศมีกองพลอากาศโยธิน รักษาพระองค์ ที่จะเป็นกองพลทหารคอแดง

และจะมีการตั้งผู้บัญชาการกองพลฯ ที่จะเป็นนายทหารยศพลอากาศตรี และมีระดับรอง ผบ.พล.อย. และเสนาธิการกองพล อย. ที่คาดกันว่า เสธ.เบิร์ด น.อ.พันเทพ เนียมพลอย รองเสธ.อย. จะขึ้นเป็นนายพล และเป็น ผบ.พล.อย. คอแดงคนแรกของ ทอ.

ตามกำหนดการเดิม การปรับโครงสร้าง จะเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2565 นี้ จึงอาจตั้ง ผบ.พล.อย.คนใหม่ไม่ทันโยกย้ายกลางปีในโผเมษายน ที่กำลังจะประกาศนี้ จึงจะไปตั้งในโผโยกย้ายปลายปีเลย

จึงจะทำให้กองทัพอากาศมีกองพลที่เป็นทหารคอแดง กองพลแรก จากเดิมที่มีทหารอากาศคอแดงในส่วนของกรมนักเรียนนายเรืออากาศรักษาพระองค์ และกรมทหารอากาศโยธิน รักษาพระองค์ (ทย.รอ.) และกรมต่อสู้อากาศยาน รักษาพระองค์ (ตอ.รอ.)

โดยที่ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (ผบ.อย.) คนเดียวเท่านั้น ที่เป็นระดับนายพล ที่ต้องไปฝึกหลักสูตรทหารรักษาพระองค์ ของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.) หรือหลักสูตรคอแดง ซึ่งล่าสุด พล.อ.ท.วิญญา โพธิ์คานิช ผบ.อย. ก็เพิ่งจบการฝึกหลักสูตรคอแดง หลังจากที่เลื่อนการฝึกมา 1 ปี ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด

และเมื่อตั้งกองพล อย. แล้ว ผบ.พล.อย.ก็ต้องไปฝึกหลักสูตรคอแดงด้วย

พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้,พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์

ขณะที่ในส่วน ทบ. ระงับการฝึกหลักสูตรคอแดงของระดับนายพล ไม่ใช่แค่เพราะสถานการณ์โควิด แต่เพราะเกรงจะเกิดความแตกแยกในกองทัพ ที่คอแดงได้เปรียบทหารคอเขียวทั่วไป พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. และ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 จึงให้มีทหารคอแดงนายพลเท่าที่มีอยู่เพียงพอแล้ว

โดยคนสุดท้ายคือ บิ๊กตั้ง พล.ต.ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล ผบ.พล.ร.11 แกนนำ ตท.27 ที่เกษียณ 2572 และถูกมองว่าจะเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และ ผบ.ทบ.คอแดง คนต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด คอแดงคนแรก และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ผบ.ทบ.คอแดง เกษียณกันยายน 2566 นี้ มีคำถามว่าเกิดผลกระทบต่อสถานภาพทหารคอแดงหรือไม่

เพราะหาก พล.อ.เฉลิมพลไม่ตั้ง ผบ.ทหารสูงสุดคนต่อไปที่เป็นทหารคอแดง ไม่ว่าจะเป็นบิ๊กบุ๋ม พล.อ.สุวิทย์ เกตุศรี ผบ.ศปร. น้องรักทหารม้าคอแดง หรือบิ๊กอ๊อฟ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ที่อาจข้ามจาก ทบ.ไปเสียบเป็นเสธ.ทหาร ในตุลาคมนี้

แต่ตั้งบิ๊กจ่อย พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง รองเสธ.ทหาร ที่จ่อขึ้นเสธ.ทหารในโผกันยายนนี้ และขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ต่อจาก พล.อ.เฉลิมพล ก็อาจเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดทหารคอแดงใน บก.ทัพไทย จะคงเหลือแต่ใน ทบ. ที่จะมีนายพลคอแดงถึงปี 2572 นี่ก็เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในกองทัพ

เพราะไม่เช่นนั้น กองทัพจึงมีแรงกระเพื่อมเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป ในแต่ละแหล่าทัพ ที่ล้วนส่งผลต่ออุณหภูมิทางการเมือง ที่ต้องจับตาดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สนามไชย 1 จะเอาอยู่หรือไม่