‘สุโขทัย’ โชว์ภูมิปัญญาไทย / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน
วัดมหาธาตุ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีทั้งวิหาร มณฑป ซุ้มพระ ประเมินคร่าวๆ ราว 200 องค์ ฉากหลังเป็นเขาหลวง เมื่อถึงฤดูฝน น้ำจากเขาหลวงไหลมาหล่อเลี้ยงชาวสุโขทัย

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

‘สุโขทัย’ โชว์ภูมิปัญญาไทย

 

ร่วมทัวร์ประวัติศาสตร์เมืองสุโขทัยกับคณะคุณชาญชัย สงวนวงศ์ เจ้าของหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ ซึ่งมอบให้ “มติชนอคาเดมี” เป็นผู้จัด และเชิญ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถี ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้

เคยมาสุโขทัยหลายครั้งแต่สัมผัสอุทยานประวัติศาสตร์แค่ผิวๆ เห็นพระพุทธรูปเจดีย์ถืออิฐถือปูน กำแพงศิลาแลง ประสาทสัมผัสของผมบอกได้เพียงว่าสวยงามตระการตา แต่ไม่ได้เข้าถึงความรู้ซึ่งต่างกับการมาร่วมในทริปนี้อย่างสิ้นเชิง

ดร.ปรีดีบรรยายให้เห็นภาพของสุโขทัยในอดีตที่แสดงว่าวิสัยทัศน์ของผู้นำในยุคนั้นก้าวล้ำไม่ว่าจะเรื่องของสถาปัตยกรรม การวางผังเมืองการบริหารจัดการเมืองมีสภาพแวดล้อมสมบูรณ์ มีน้ำเต็มสระ มีทำนบเขื่อนคลองระบายน้ำทดน้ำในหน้าฝน มีพื้นที่ไร่นา ผลหมากรากไม้อุดมสมบูรณ์

ทั้งยังเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรม ศูนย์กลางการค้าขาย มีวัดมากมายให้ผู้คนเข้าไปสักการะกล่อมเกลาจิตใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

 

สุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบสูง ทิศตะวันออกเป็นแม่น้ำยม ด้านหลังหรือทิศตะวันตกเป็นเขาหลวง เชื่อกันว่าก่อนหน้ายุคพ่อขุนรามคำแหงสร้างอาณาจักรสุโขทัยให้ยิ่งใหญ่ บริเวณแห่งนี้เคยเป็นแหล่งชุมชน ดูได้จากหลักฐานการค้นพบขวานหินขัด ลูกปัด โครงกระดูกยุคก่อนประวัติศาสตร์และสมัยทราวดี

ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ของเมืองสุโขทัย เมื่อถึงฤดูฝน น้ำทะลักจากเขาหลวงและแม่น้ำยม ไหลบ่าลงมาสู่พื้นล่างอย่างรวดเร็ว

ถ้าไม่วางแผนป้องกันน้ำท่วม การกักเก็บน้ำและการขนส่งทางน้ำอย่างชาญฉลาด สุโขทัยจะจมอยู่ใต้น้ำทุกๆ หน้ามรสุม

ลักษณะการวางผังเมืองสุโขทัยเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ห่างจากแม่น้ำยมราวๆ 12 กิโลเมตร ล้อมรอบด้วยกำแพงเมือง 3 ชั้นและคูน้ำ

เขื่อนทำนบรับน้ำจากลำน้ำแม่ลำพันไหลจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือและน้ำที่ไหลลงมาจากเทือกเขาหลวงด้านทิศตะวันตกส่งเข้าสู่ตระพังหรือสระน้ำขนาดใหญ่ภายในเมืองสุโขทัย ระบายน้ำจากลำน้ำทั้งสองลงสู่แม่น้ำยมทางทิศตะวันออก

นักประวัติศาสตร์สืบค้นหลักฐานศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช นอกจากจะมีแนวคิดขุดคูคลองป้องกันน้ำท่วมและกักเก็บน้ำที่มีเหลือเฟือในฤดูฝนเอามาใช้ในช่วงหน้าแล้งแล้ว พ่อขุนรามคำแหงยังชักชวนให้ราษฎรปลูกต้นไม้ ต้นตาล ต้นมะม่วง ต้นหมาก ต้นมะพร้าว มะขาม และสมุนไพรนานาชนิด เอาพืชผลมากินทำยารักษาโรค

อดีตของเมืองสุโขทัยยังเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสตร์ ร่องรอยภายในอุทยานประวัติศาสตร์ แสดงว่ามีวัดวาอารามมากมายไม่น้อยกว่า 20 วัด ก่อสร้างภายในกำแพงเมืองสุโขทัยซึ่งเนื้อที่ราว 2,000 ไร่

อย่างเช่น วัดมหาธาตุ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเก่าสุโขทัย ประเมินจากซากปรักหักพังเจดีย์ วิหาร มณฑป ซุ้มพระ ราวๆ 200 องค์ก็เห็นถึงความยิ่งใหญ่อลังการและความเป็นปึกแผ่นของพุทธศาสนาในยุคนั้น

หรือวัดสระศรี ทางตะวันตกเฉียงเหนือของวัดมหาธาตุ มีความงดงามมากเพราะตั้งอยู่กลางตระพังตระกวน เป็นสระน้ำขนาดใหญ่

เจดีย์ทรงระฆังหรือทรงลังกาของวัดสระศรี เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกว่าสุโขทัยรับพระพุทธศาสนามาจากลังกา

โบสถ์ที่ตั้งสง่าอยู่กลางน้ำ ชาวสุโขทัยมีความเชื่อในทางศาสนาว่าน้ำมีความบริสุทธิ์และเป็นสัญลักษณ์การแบ่งอาณาเขตเพื่อทำสังฆกรรม หรือเรียกว่า อุทกสีมา เป็นสีมากลางน้ำใช้น้ำแทนหินสีมา

การสร้างตระพังและดึงน้ำมาเป็นอุทกสีมา ถือเป็นนโยบายอันยอดเยี่ยม เพราะดึงน้ำมาไว้ในตระพังแล้ว พระสงฆ์จะทำหน้าที่ผู้ดูแลเมื่อถึงหน้าแล้ง ราษฎรขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ก็จะขอน้ำจากวัดได้ฟรีๆ

การมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ในเมืองสุโขทัย เท่ากับช่วยเหลือเกษตรกรปลูกพืชผลการเกษตรอย่างอุดมสมบูรณ์ ต้นไม้เติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาสร้างความร่มรื่นให้กับเมือง

เมื่อประชาชนมีกินมีใช้ จิตใจเบิกบาน รื่นรมณ์สุนทรีย์ องค์ความรู้ในวิทยาการและศิลปวัฒนธรรมก็เจริญงอกงามตามไปด้วย

 

สุโขทัยเป็นแหล่งผลิตเครื่องสังคโลกแห่งใหญ่ ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์มีเตาทุเรียงมากมาย ทั้งเตาขนาดใหญ่ ผลิตโถ ไห โอ่งน้ำ ถ้วยชาม เตาขนาดเล็ก สำหรับผลิตตุ๊กตา กระเบื้องมุงหลังคา

แหล่งเตาทุเรียงที่พบเป็นหลักฐานชัดเจนว่า ชาวสุโขทัยมีความรู้มีเทคโนโลยี สามารถสร้างเตาที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,000 องศาเซลเซียส ควบคุมความร้อนและการใช้เคมีเคลือบเครื่องสังคโลก นำศิลปะสุโขทัยมารังสรรค์สินค้าให้สวยงามเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า

เครื่องสังคโลกของสุโขทัยเป็นหนึ่งในสินค้าหลักหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของเมือง มีชื่อเสียงขจรไกลไปถึงต่างประเทศ พบหลักฐานการส่งออกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เครื่องสังคโลกสุโขทัยบางชิ้นที่ส่งไปต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ มีลวดลายเฉพาะเป็นการสั่งซื้อพิเศษ

ลวดลายและศิลปะปรากฏในวัดวาอาราม พระพุทธรูป หรือเครื่องสังคโลกยุคสุโขทัย ไม่ว่าจะเป็นลวดลายรูปปลา ดอกบัว ดอกเบญจมาศ หรือตุ๊กตารูปสัตว์นานาชนิด อาทิ ไก่ วัว ควาย แสดงสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เป็นสังคมที่มีความสุขสงบ ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส

 

ในการขนส่งวัตถุดิบและสินค้าของชาวสุโขทัยใช้ทางน้ำเป็นหลัก ส่งผ่านคลองแม่ลำพันอยู่ใกล้กับแหล่งเตาทุเรียง เชื่อมต่อไปยังแม่น้ำยม ออกสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา

ดร.ปรีดีบอกว่า แนวคิดการดึงน้ำมาใช้ประโยชน์กับเมืองหรือชุมชนนั้นๆ มีมาตั้งแต่โบราณ

“เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเมืองที่อยู่กับน้ำใช้น้ำเป็นคูเมือง เป็นคันดินดึงน้ำมาใช้เหมือนกันหมด ชุมชนสมัยทราวดีก็เข่นกัน”

ดร.ปรีดีขยายความอีกว่า ในอดีตเมืองสุโขทัย อยุธยา เชียงใหม่ หรือแม้กระทั่งกรุงเทพมหานคร ล้วนได้รับการวางผังเมืองอย่างฉลาดลุ่มลึก วิสัยทัศน์กว้างไกล ทุกหน้าฝนพื้นที่เหล่านี้ต้องเผชิญกับน้ำไหลบ่าจากทิศเหนือ จึงคิดโครงการป้องกันไม่ให้น้ำท่วมในหลากหลายวิธี

เมื่อถามว่า แนวคิดการใช้คูคลองเหมาะกับสภาพแวดล้อมของประเทศ ทำไมระยะหลังๆ จึงเปลี่ยนนโยบายเป็นถมคลองสร้างถนน

ผมได้คำตอบสั้นๆ จาก ดร.ปรีดี ว่า ก็มันโง่ขึ้นไง •