ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | เอกภาพ |
ผู้เขียน | พิชัย แก้ววิชิต |
เผยแพร่ |
เอกภาพ
พิชัย แก้ววิชิต
ภาพถ่ายกับมุมมอง
ที่เห็นจากการฟังเสียงหัวใจของตัวเอง
บางครั้งมันก็ไม่ง่ายที่จะตอบคำถามว่าสิ่งที่อยู่ในภาพมีอะไรที่น่าสนใจเป็นพิเศษ
อะไรที่เป็นสิ่งเร้าให้ผมหยิบกล้องขี้นมาแล้วกดชัตเตอร์เพื่อถ่ายบันทึก
คำตอบที่ดูจะไม่ง่ายนักกับคำบรรยาย เพราะคำบรรยายมันมีขอบเขตของภาษาที่ไปไม่ถึงกับสิ่งที่ผมเห็นได้จากความรู้สึก
ผมไม่ได้ถ่ายภาพเพียงบันทึกสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า
สำหรับผม ขอบหน้าต่างไม่ใช่ขอบของหน้าต่างที่หลายคนรู้จัก
แต่เป็นขอบเขตของอะไรบางอย่างที่ความรู้สึกจะเป็นตัวชี้วัดว่าชอบหรือไม่ชอบ และเห็นอะไรที่สัมผัสได้
มันคือรักแรกพบที่ไม่ต้องการเหตุผล เพราะเหตุผลไม่มีอยู่จริง และ ณ ขณะที่เวลาได้หายตัวไปโดยสิ้นเชิง เมื่อเจอสิ่งที่ต้องตาต้องใจอยู่ตรงหน้า
มันเป็นการเปรียบเทียบเปรียบเปรย ที่อาจทำให้ผมตกอยู่ในอันตราย ถ้าภรรยาที่บ้านมาอ่านเจอและใช้จินตนาการไปอีกมุมมอง และอาจเข้าใจความจริงผิดพลาดไป
แต่มันก็คุ้มที่จะเสี่ยงเพื่อทุกคน เพราะผมกำลังจะบอกว่ามุมมองที่ผมเห็นขณะที่ได้กดชัตเตอร์มันก็คล้ายๆ กันกับรักแรกของผม
มันเป็นความสุขเมื่อแรกเห็น ได้สัมผัส
และได้บันทึกไว้ในความทรงจำ
หลายคนลังเลและพยายามใช้ความคิดคำนวนความงามออกมาเป็นระบบในแบบคณิตศาสตร์
ในการมองหามุมมองในการถ่ายภาพ ถ้าหากจะหาวิธีถ่ายภาพที่สวยเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่สะดวกอยู่ไม่น้อย เพราะมันจะมีวิธีวางอยู่ในกรอบพร้อมคำบรรยายที่ให้ไว้เป็นของแถม
แต่ผมกำลังพูดถึงภาพถ่ายที่มีความงาม การถ่ายภาพที่มาจากความรู้สึกอันเป็นอิสระ การถ่ายภาพที่สะท้อนให้ได้เห็นตัวเองในภาพถ่ายนั่น
เมื่อเห็นตัวเองชัดขึ้นก็จะรู้จักตัวเองได้ในที่สุด
ผมมักจะบอกตัวเองเสมอกับการถ่ายภาพว่า การถ่ายภาพไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ค่อยๆ เรียนรู้
เพราะเมื่อความผิดพลาดเกิดขึ้นก็จะก่อให้เกิดคำถาม และก็จะสนุกทุกครั้งที่ต้องหาคำตอบ
มันเหมือนกับเด็กที่วิ่งไล่จับกันบนสนามหญ้า วิ่งไปล้มไป เมื่อล้มก็ลุกขึ้นไปวิ่งเล่นใหม่ด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ
การที่ผมไม่รู้อะไรมากมายของกฎการถ่ายภาพ ทำให้ผมได้ตระหนักถึงเรื่องของความเชื่อและความสำคัญของจินตนาการที่มาจากความเป็นมนุษย์
ไม่น้อยคนกลัวภาพจะไม่สวยตามมาตรฐานโรงงาน
บางครั้งผมเองก็เกิดคำถามลึกๆ ขึ้นในใจ สรุปว่าอะไรที่เป็นสิ่งผลิตที่มาจากโรงงาน กล้องถ่ายภาพ หรือความเป็นมนุษย์
ความพอดีที่ไม่เคยดีพอ สำหรับผมในการถ่ายภาพ
ภาพจะมืดไปบ้าง สว่างไปบ้าง ก็เป็นเรื่องของการออกแบบในใจ
ความพอดีของค่าแสงที่กล้องบอกอาจใช้อ้างอิงได้ในการถ่ายภาพ
แต่ผมคงไม่ทำตามถ้าขัดมันต่อจินตนาการของผม
ผมไม่คิดที่จะปฏิเสธการเกิดประโยชน์ของความรู้พื้นฐานในการถ่ายภาพ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้เรารู้คำตอบเมื่อมีคำถาม
ความรู้พื้นฐานจะเป็นป้ายบอกให้เราได้ไปต่อ
แต่ไม่ควรทำให้หลงทางหรือกักขังนักถ่ายภาพที่ต้องออกสำรวจโลกภายนอกและโลกแห่งภายในของตัวเอง
ความเชื่อมโยงกันระหว่างคนถ่ายภาพกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า สำหรับผมไม่เคยพยายามที่จะเห็นความงาม มันไม่มีวิธีที่เฉพาะตายตัว มันเป็นเรื่องของการแนะนำมากกว่าการที่จะชี้นำถ้าต้องมีใครสงสัยใคร่รู้
ผมมักจะบอกให้โฟกัสไปที่ตัวผู้ถ่ายภาพเองว่าเห็นอะไรที่อยู่ในใจ
อยากถ่ายสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากน้อยแค่ไหน
บางทีเลนส์คมๆ ก็ไม่อาจชัดได้ถ้าไม่รู้ว่าตัวเองอยากถ่ายอะไร
ในทางตรงกันข้าม คนที่ตั้งใจถ่ายภาพให้ออกมาเบลอๆ มันก็จะคมชัดในตัวเองไปในทันที
ในท้ายที่สุดไม่มีอะไรต้องเชื่อกันกับการถ่ายภาพในแบบที่ผมเป็นอยู่ เพราะมันไม่สมบูรณ์แบบ และสุดท้ายสำคัญที่ลงมือทำ เมื่อทำได้แล้วไม่ต้องเชื่อผม ให้เชื่อตัวเองและขอบคุณตัวเองและเคารพตัวเองให้ได้ก็พอ
ขอบคุณมากมายครับ •