ท้าวเวสสุวรรณ คือ พระไพศพ ถูกยืมชื่อใช้เรียก ‘แม่โพสพ’ | สุจิตต์ วงษ์เทศ

ท้าวเวสสุวรรณ มีชื่ออีกว่า “พระไพศพ” ถูกยืมใช้เรียกแม่ข้าวว่า “แม่โพสพ” พบหลักฐานเก่าสุดอยู่ในพระไอยการเบ็ดเสร็จ พ.ศ.1884 ก่อนสมัยอยุธยา

แม่โพสพมีชื่อดั้งเดิมว่าแม่ข้าว เป็นชื่อเฮี้ยนในศาสนาผี หมายถึง ผีขวัญบรรพชนต้นโคตรของข้าว

แม่ข้าวครั้นหลังรับวัฒนธรรมอินเดียถูกเรียกว่าแม่โพสพ ซึ่งเท่ากับเจ้าแม่แห่งข้าวของชาวบ้านได้รับยกย่องเป็นเทวีข้าวและความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ของรัฐ เพราะข้าวในสมัยดั้งเดิมเป็นสิ่งแสดงความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ที่ได้จากดินและน้ำ

ท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวร คือพระไพศพในสมุดภาพไตรภูมิ
(ซ้าย) ภาพท้าวกุเวร ณ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ผู้เป็นใหญ่แก่ยักษ์ทั้งหลายอยู่ทิศอุดร ใน “สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา เลขที่ 6” (ภาพจาก สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1. กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ.2542)
(ขวา) ภาพท้าวกุเวร ณ สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ผู้เป็นใหญ่แก่ยักษ์ทั้งหลายอยู่ทิศอุดร ใน “สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี เลขที่ 10” (ภาพจาก สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 2. กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ.2542)

ท้าวเวสสุวรรณ คือพระไพศพ เป็นแม่โพสพ

1. ท้าวเวสสุวรรณมีหลายนาม ได้แก่ กุเวร, ชัมภล, ไพศพ ฯลฯ เป็นอธิบดีของเหล่ายักษ์ ผู้พิทักษ์ทิศเหนือ มีที่ประทับอยู่เหนือจอมเขายุคนธร ด้านทิศเหนือใกล้ทิวเขาพระสุเมรุ

2. ท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวร เป็นอมนุษย์จำพวกยักษ์ซึ่งเป็นเทพหรือผีของชาวบ้าน สัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ในสินทรัพย์และพืชพันธุ์ธัญญาหาร (สรุปจากบทความเรื่อง ท้าวเวสสุวรรณฯ ของ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์-3 มีนาคม 2565 หน้า 67)

3. เวสสุวรรณเป็นถ้อยคำสำเนียงสะกดแบบไทยๆ โดยมีต้นตอภาษาบาลีว่าเวสฺสวณฺณ และภาษาสันสกฤตว่าไวศฺรวณ หรือไพศฺรพณ จึงถูกเรียกอย่างสะดวกปากแบบไทยๆ ว่าไพศพ

4. ท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวรเป็นเทพผู้พิทักษ์ทรัพย์ในดินสินในน้ำความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ ครั้นได้รับยกย่องเป็นเทพแห่งข้าวเปลือกจึงถูกเรียกพระไพศพ หรือพระไพศพราช พบข้อความในเอกสารโบราณของกัมพูชาว่ามีพระราชพิธีเดือน 3 บูชาพระไพศพด้วยการทำพิธีต่อข้าวเปลือกที่ถูกเทรวมเป็นกองโตเหมือนภูเขา

5. แม่ข้าวในไทยได้รับยกย่องเป็นพระไพศพราช (อีกนามหนึ่งของท้าวเวสสุวรรณ) คือ เทวีแห่งข้าว พบหลักฐานในเอกสารโบราณพรรณนาพระราชพิธีเผาข้าว เดือน 3 (เรียก ธานย์เทาะห์ เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า เผาข้าว) แล้วมีรายการขั้นตอนทำพิธีอยู่ในทวาทศมาสโคลงดั้นว่าแม่ข้าวคือรวงข้าวขวัญ (ร่างเสมือนของแม่ข้าว) ถูกทำพิธีเผากลางลานพิธีกรุงศรีอยุธยา เป็นสัญญาณว่าผีขวัญแม่ข้าวถูกเชิญขึ้นฟ้าแล้วสถิตบนวิมานสวรรค์เป็นเทวีข้าวนามว่าพระไพศพราช แต่ถูกเรียกตามประเพณีท้องถิ่นว่าแม่โพสพ

[แม่ข้าว คือ ขวัญของต้นข้าวที่ถูกฆ่าตายเป็นผีด้วยเคียวเกี่ยวขาดจากต้นข้าว และขวัญสิงสู่อยู่ในรวงข้าวตกซึ่งถูกทิ้งในท้องนา]

6. เดือน 3 ตามประเพณี “ฮีต 12” ของชุมชนดั้งเดิมเรียกวันกำฟ้า มีพิธีทำขวัญข้าว คือ ขนข้าวขึ้นยุ้งฉางหรือเล้า ด้วยการเชิญผีขวัญแม่ข้าวที่สิงในรวงข้าวตกแล้วยกเป็นรวงข้าวขวัญประจำยุ้งฉางหรือเล้า จากนั้นหุงข้าวชุดแรกเลี้ยงผีฟ้า ซึ่งข้าวชุดแรกที่หุงเรียกข้าวขวัญ (คือบายศรี เป็นภาษาเขมร แปลว่าข้าวขวัญ) หุงในกระบอกไม้ไผ่ด้วยไฟสุมก่อล้อมเผาจากภายนอก ปัจจุบันเรียกข้าวหลาม (สมัยดั้งเดิมเป็นข้าวเหนียวล้วนๆ ไม่มีกะทิ)

แม่โพสพ (ซ้าย) ด้านข้างซ้าย  (กลาง) ด้านหน้า (ขวา) ด้านข้างขวา [ลายเส้นจากบทความเรื่อง “แม่โพสพ” ของ เสฐียรโกเศศ ใน ศิลปากร นิตยสารของกรมศิลปากร ปีที่ 3 เล่ม 1 (มิถุนายน 2492) หน้า 76-84]

แม่โพสพ “เทวีข้าว” อุษาคเนย์

แม่โพสพเป็นเทวีข้าว มีความหมายโดยรวมว่าหญิงเป็นใหญ่มีอำนาจเหนือทั้งน้ำและดิน สามารถบันดาลความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาข้าวปลาอาหารและโชคลาภทั้งปวง ความเฮี้ยนเหล่านี้เกี่ยวข้องใกล้เคียงทั้งแม่โพสพ, แม่ศรี, แม่นาค (เอกสารบางแห่งเรียกนางนาค)

แม่โพสพอยู่ในความเชื่อและความทรงจำสืบเนื่องยาวนานมาจนปัจจุบัน ส่วนแม่ข้าวถูกลืมจนไม่มีใครรู้จักอีกแล้ว รวมทั้งข้าวขวัญของแม่ข้าวที่ถูกทำให้สุกแล้วเรียกบายศรีเพื่อเซ่นสังเวยผีฟ้าโดยใส่ภาชนะทำจากใบไม้ ก็ถูกให้ความสำคัญแก่ภาชนะโดยทำจากใบตองซ้อนชั้นทรงสูงขึ้น ในที่สุดก็ลืมเรื่องข้าวขวัญของแม่ข้าว

 

ลัทธิเทวราชยกแม่ข้าวเป็นแม่โพสพ

เผาข้าว หมายถึง เผาศพแม่ข้าวเพื่อส่งผีขวัญแม่ข้าวขึ้นฟ้าไปรวมเป็นหนึ่งเดียวกับเทวะบนสวรรค์ คือพระไพศพ แต่หลังจากนั้นคนทั่วไปเลื่อมใสเรียกเป็นเพศหญิงตามความเชื่อเดิมว่า “แม่โพสพ” ซึ่งเท่ากับแม่ข้าวถูกยกเป็นแม่โพสพ ทั้งนี้ เป็นพิธีกรรมผสมกลมกลืนระหว่างความเชื่อศาสนาผีของพื้นเมืองกับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดีย ดังนี้

1. ศาสนาผีมีความเชื่อเรื่องขวัญว่าคนตายส่วนขวัญไม่ตาย โดยมีวิถีเหมือนยังมีชีวิต แต่อยู่ในมิติอื่นเรียกผีขวัญ ซึ่งจับต้องไม่ได้และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า

ร่างคนตายที่เป็นบุคคลสำคัญของเผ่าพันธุ์ร่วมกันเอาไปฝังดิน (ไม่เผา) จนเนื้อหนังเน่าเปื่อยเหลือกระดูก เพื่อรอขวัญคืนร่างกลับมีชีวิตเหมือนเดิม แต่ขวัญไม่เคยกลับ จึงทำพิธีส่งขวัญขึ้นฟ้าไปรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับแถน (ผีฟ้า) เพื่อคอยปกป้องคุ้มครองคนที่มีชีวิตให้พ้นจากภัยพิบัติ

2. ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจากอินเดียมีเทวดา (เป็นอมตะไม่มีเกิด-ตาย) อยู่สวรรค์บนฟ้า ส่วนคนอยู่บนโลกมีเวียนว่ายตายเกิด เมื่อมีคนตายลงวิญญาณดวงเดียวของคนตายนั้นไปเกิดใหม่ทันที จึงเอาร่างคนตายไปเผาไฟเป็นเถ้าอัฐิ แล้วเอาอัฐิโยนลงน้ำลอยไปไม่เก็บไว้

3. เมื่อผ่านพิธีเผา (ตามความเชื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) ขวัญของบุคคลสำคัญยังไม่ตาย (ตามความเชื่อศาสนาผี) จะถูกเชิญขึ้นฟ้าไปรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวกับผีฟ้า (ตามความเชื่อศาสนาผี) ถูกปรับเป็นเทวดา (ตามความเชื่อศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) ต่อมาเรียกพิธีกรรมนี้ว่า “ลัทธิเทวราช” [ตัวอย่างเรื่องนี้มีในอาณาจักรกัมพูชา เรื่องพระเจ้าสุริยวรรมัน (ที่ 2) หลังสวรรคตได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระวิษณุ แล้วสถิตบนบรมวิษณุโลก (ปัจจุบันเรียกปราสาทนครวัด)]

ด้วยการประสมประสานดังกล่าวตามความเชื่อดั้งเดิมของอุษาคเนย์กับความเชื่อใหม่จากอินเดีย (รับเข้ามาราวหลัง พ.ศ.1000) ส่งผลให้มีความเชื่อว่าแม่ข้าวเป็นแม่โพสพเมื่อหลังการเผาศพผีขวัญของแม่ข้าวถูกเชิญขึ้นฟ้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับพระไพศพบนสวรรค์

[แม่โพสพฯ มีข้อมูลละเอียดกว่านี้อยู่ในบทความเรื่อง แม่โพสพ “เทวีข้าว” รัฐนาฏกรรม มาจากแม่ข้าวในศาสนาผี เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็บไซต์มติชนสุดสัปดาห์ วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2563] •

 

…………………………………..

อ่านเพิ่มเติม : ท้าวเวสสุวรรณ who are you? / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

https://www.matichonweekly.com/column/article_522991

ท้าวเวสสุวรรณ who are you? | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง