ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : สถูปของอินเดีย พัฒนามาจากวัฒนธรรมหินใหญ่/หินตั้ง?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

มักจะอ้างต่อๆ กันมา โดยไม่รู้ว่าใครเริ่มอ้างเป็นคนแรกว่า สถูปเจดีย์ในพุทธศาสนายุคแรกเริ่มในอินเดียเมื่อ พ.ศ.200 กว่าๆ นั้นวิวัฒนาการมาจาก “เนินดินหลุมฝังศพ”

ซึ่งก็ฟังเข้าทีดีนะครับ เพราะว่าคติการสร้างสถูปเจดีย์ทั้งหลายแต่เริ่มแรกนั้น ก็สัมพันธ์อยู่กับการเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ทรงปรินิพพานไปแล้วนั่นแหละ สังเกตดูง่ายๆ ก็จากการเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ เพื่อให้ศาสนิกชนสามารถนมัสการกันได้นี่เอง

แต่ว่าอันที่จริงแล้ว หากจะเรียกว่าเนินดินก็ไม่ถูกต้องเท่าใดนัก เพราะที่ถูกต้องนั้นควรจะเรียกว่า “เนินหิน” หรือ “สุสานหิน” เสียมากกว่า

ที่ผมพูดอย่างนี้ก็หมายความอย่างที่พูดจริงๆ อาจเป็นเรื่องที่ไม่ผิดอะไรเลยถ้าจะกล่าวว่า บรรพบุรุษแรกสุดของสถูปคือ เนินดินหลุมฝังศพ แต่กว่าจะพัฒนามาเป็นสถูปได้นั้น ยังผ่านขั้นตอนการกลายรูปเป็น “เนินหิน” ที่ก่อขึ้นเป็นสุสานแบบใหม่ขึ้นเสียก่อน

(และแน่นอนว่าในยุคที่มีการสร้างสุสานเนินหินแล้ว ก็ยังมีการสร้างสุสานที่เป็นเนินดินหลุมฝังศพด้วย)

 

นักโบราณคดีชื่อดังชาวอินเดียอย่าง หิมันศุ ประภา เรย์ (Himanshu Prabha Ray) เคยเขียนพาดพิงถึงเรื่องนี้นิดหน่อยในบทความที่ชื่อ “Early Maritime Contacts Between South and Southeast Asia” ที่อาจแปลเป็นไทยได้อย่างง่ายๆ ในชื่อ “การติดต่อทางทะเลระยะแรก ระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้กับอุษาคเนย์” ไว้ตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีก่อนแล้วว่า

“ด้วยเหตุดังนั้นในศตวรรษที่ 2-1 ก่อนคริสตกาล ชายฝั่งทะเลตะวันออก (ของประเทศอินเดียปัจจุบัน) ได้ถูกเชื่อมโยงเข้าเป็นวงจรการค้าเดียวกัน มีผู้นำในบริเวณที่ราบลุ่ม ลุ่มแม่น้ำคงคา เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ ในขณะที่ทางบริเวณอื่นของคาบสมุทรนั้นยังคงเป็นสังคมเผ่า และอยู่ในวัฒนธรรมหินใหญ่ (megalithic culture)”

วัฒนธรรมหินใหญ่ หมายถึงวัฒนธรรมที่มีการนับถือหิน และมีการจัดการกับหินด้วยกรรมวิธีที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อของแต่ละกลุ่ม พบกระจายอยู่ทั่วทั้งโลก

นักโบราณคดีเรียกวัฒนธรรมเหล่านี้ด้วยคำรวมๆ สองคำว่า “megalith” ที่มักแปลกันว่า “หินใหญ่” และ “standing stone” ที่มักแปลกันว่า “หินตั้ง” สังคมเผ่าที่เรย์กล่าวถึงนับถือหินเหล่านี้

ในโลกของภาษาอังกฤษมักใช้คำว่า “megalith” และ “standing stone” มักจะถูกใช้สลับกันไปมา เพราะวัสดุที่นำมาใช้คือ “หิน” มักมีขนาด “ใหญ่” ไม่ว่าจะนำมันมาจับ “ตั้ง” ตรงเป็นมุมฉากกับพื้นโลก หรือจับ “ตั้ง” วางนอนขนานกับพื้นโลกก็ตามที แต่หินตั้งบางชนิดอาจจะก่อขึ้นจากหินขนาดไม่ใหญ่นักก็ได้ คำว่า “หินใหญ่” จึงอาจทำให้เกิดความสับสนได้ในบางครั้ง

อย่างไรก็ตาม คำเก่าในภาษาตระกูลไท(ย)-ลาว ในเอกสารโบราณ เรียกหินประเภทนี้ว่า “หินตั้ง” เช่น พระราชพงศาวดารเหนือ ซึ่งชำระขึ้นสมัยรัชกาลที่ 1 เล่าถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ของวัฒนธรรมสุโขทัย และปริมณฑลโดยรอบ ไม่ใช่ภาคเหนือของประเทศไทยตามความหมายปัจจุบัน มีคำว่า “หินตั้ง” อยู่ในเรื่องพระยาแกรก ตอนมหาเถรไลยลาย (ไหล่ลาย) แจกพระบรมสารีริกธาตุไปยังพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในสุโขทัย หนึ่งในนั้นคือที่ “เขาหินตั้ง”

หลักฐานสำคัญอีกอย่างอยู่ในภาษาของพวกลัวะ ที่เชียงใหม่ ซึ่งจะเรียก หินตั้งว่า “หินแมน” โดยคำว่า “แมน” ในที่นี้แปลว่า “ตั้ง” ร่องรอยมีอยู่ในโองการแช่งน้ำ ดังความที่ว่า “ผีดง ผีหมื่นถ้ำ ล้ำหมื่นผา มาหนน้ำหนบก ตกนอกขอกฟ้าแมน แดนฟ้าตั้งฟ้าต่อ” ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในแดนที่ฟ้าตั้งฟ้าต่อนั้น บรรดาผีที่มาแต่หนน้ำหนบกสามารถเข้ามาสู่ขอบ (“ขอก” ยังมีความหมายตกทอดในภาษาอีสานแปลว่า “ขอบ”) ฟ้าแมน หรือฟ้าตั้งได้ ซึ่งก็คงจะต้องผ่านอะไรที่เรียกว่า “หินแมน” หรือ “หินตั้ง” ที่ทำหน้าที่เชื่อมขอกฟ้าแมนนี่เอง

นอกจากนี้ ในภาษาบาฮาซาอินโดนีเซีย ยังมีคำเรียกหินเหล่านี้ว่า “batu berdiri” ซี่งแปลเป็นไทยได้ว่า “หินยืน” ซึ่งก็มีความหมายไปในทิศทางเดียวกันกับคำว่า “หินตั้ง” อันแสดงให้เห็นถึงแนวคิดเกี่ยวกับพวกหินเหล่านี้ในวัฒนธรรมอุษาคเนย์ ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย

 

อินเดียในช่วงเวลาที่เรย์กล่าวถึงตรงอยู่กับยุคที่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีเรียกว่า อินเดียโบราณ ตรงกับราชวงศ์โมริยะ-ศุงคะ

ประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะพูดถึงคือ ราชวงศ์โมริยะ เพราะมีบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่งซึ่งพุทธศาสนิกชนในไทยรู้จักกันดี ใครคนนั้นคือพระเจ้าอโศกมหาราชของชาวพุทธ โดยเฉพาะฝ่ายเถรวาท

ในพระราชประวัติของพระเจ้าอโศก พระองค์ทรงหันมานับถือศาสนาพุทธ และเลิกคร่าชีวิตมนุษย์จากสงคราม โดยเปลี่ยนมาประกาศธรรมวิชัยแทน หลังจากการศึกของพระองค์ที่แคว้นกลิงคะ

แคว้นกลิงคะในสมัยพระเจ้าอโศก ตรงกับแคว้นโอริสสา ที่ครอบครองพื้นที่ชายฝั่งทะเลทางด้านทิศตะวันออกในประเทศอินเดียปัจจุบัน ส่วนศูนย์กลางอำนาจของพระเจ้าอโศกคือ บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำคงคา ที่เรย์อ้างว่า เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยงการค้าชายฝั่งทะเลตะวันออกเข้าเป็นวงจรเดียวกันในสมัยนั้น แน่นอนว่าคนพวกนี้คือกลุ่มสังคมเผ่านับถือ “หินใหญ่” หรือ “หินตั้ง” ที่เรย์อ้างถึง

สถูปในพระพุทธศาสนาก็พัฒนามาจากวัฒนธรรมหินใหญ่ของคนพวกนี้แหละครับ เพราะวัฒนธรรมหินใหญ่ หรือหินตั้งส่วนใหญ่นั้น มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องบรรพบุรุษ และความตาย ตัวหินใหญ่/หินตั้งเองจึงมักจะเป็นสุสานด้วย กรุภายในสถูปเจดีย์ของชาวพุทธ ก็พัฒนามาจากช่องเก็บศพที่มักจะใส่ของมีค่าลงไปนี่แหละ

ก่อนหน้าสมัยพระเจ้าอโศกอาจจะมีวัดในศาสนาพุทธ แต่ยังไม่มีสถูป ชาวพุทธเถรวาทเชื่อว่า พระเจ้าอโศกโปรดให้สร้างสถูปเป็นจำนวนถึง 84,000 องค์ ตามจำนวนพระธรรมขันธ์ในพระไตรปิฎกในดินแดนของพระองค์และปริมณฑลโดยรอบ

สถูปเหล่านี้นอกจากจะถูกสร้างขึ้นเพื่อประกาศความศักดิ์สิทธิ์ และความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา รวมถึงตัวพระเจ้าอโศกแล้ว ยังถูกใช้สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมโยงกับความเชื่อและหน้าที่การใช้งานดังเดิมของสุสานด้วย

ลักษณะอย่างนี้ทำให้เห็นได้ว่า โดยนัยยะหนึ่ง พระเจ้าอโศกได้พยายาม “กลืน” ศาสนาความเชื่อพื้นเมืองของพวกสังคมเผ่าในอินเดียที่นับถือ “หินใหญ่/หินตั้ง” โดยนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลัทธิของคนเหล่านี้มาเป็นสัญลักษณ์ในพระพุทธศาสนา ที่มีพระองค์เป็นองค์อัครนูปถัมภกองค์สำคัญ

และอะไรทำนองนี้ก็อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ในอินเดียเท่านั้น เพราะยังมีร่องรอยการใช้งานศาสนสถานในวัฒนธรรมหินตั้งพื้นเมืองในอุษาคเนย์ เพื่อกลืนกลาย “หินตั้ง” ในศาสนาผี ให้กลายเป็น “เจดีย์” ในพระพุทธศาสนาด้วยเหมือนกัน

 

ที่มาภาพ : http://www.sujitwongthes.com


บนเทือกเขาที่รายล้อมอยู่รอบเมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งประกอบไปด้วย เขาพระ เขาพุหางนาค เขาทำเทียม เขารางกะปิด และเขาถ้ำเสือ (หรือเขาคอก) เรียงตัวกันจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ตามลำดับ มีสิ่งปลูกสร้างก่อหิน ที่พบกระจายตัวอยู่เต็มพื้นที่ของเทือกเขาแห่งนี้ไม่น้อยกว่า 38 จุด และยังมีการค้นพบกระจายตัวออกไปในเขาอื่นๆ ใกล้เมืองอู่ทอง เช่น เขาดีสลัก เขาไข่เต่า เป็นต้น

สิ่งปลูกสร้างก่อหินเหล่านี้ก็สร้างขึ้นในวัฒนธรรมหินตั้ง ตามความเชื่อในศาสนาผี สุวรรณภูมิ โดยมีประเภทที่พบมากที่สุดในเมืองอู่ทอง (38 แหล่ง) คือ แบบที่นักโบราณคดีในสากลโลกเรียกกันว่า “cairns” ซึ่งศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี นักโบราณคดีรุ่นบุกเบิกของประเทศเคยบัญญัติศัพท์เอาไว้ว่า “เนินหิน”

หินตั้งประเภทนี้สร้างขึ้นบนผังรูปทรงกลม กรุขอบนอกด้วยหินก่อสูงขึ้นไปในรูปทรงคล้ายผลส้มผ่าครึ่ง จำแนกย่อยได้เป็นสองรูปแบบ คือ แบบที่มีแผ่นหินแบนรูปคล้ายวงกลม ปิดทับอยู่ที่ด้านบนยอดสุดของหินตั้ง กับแบบที่ไม่มีแผ่นหินดังกล่าว อนึ่ง หินตั้งประเภทที่ไม่มีแผ่นหินแบนรูปคล้ายวงกลมปิดทับอยู่ อาจเป็นเพราะแผ่นหินดังกล่าวถูกทำลายไปเพราะการลักลอบขุดหาโบราณวัตถุก็ได้

หินตั้งประเภท “เนินหิน” เหล่านี้ก็พบร่องรอยของการพยายาม “กลืน” ให้กลายเป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธด้วยกลวิธีต่างๆ

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเจดีย์ทับอยู่ข้างบน หรือการบรรจุเอาพระพิมพ์ หรือพระพุทธรูปเอาไว้ข้างใน

ไม่ต่างอะไรไปจากที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียก่อนหน้านั้น