เปิดหู | อูคูเลเล่เดือนละตอน : การกลับมาของอูคูเลเล่

อัษฎา อาทรไผท

หลังจากการมาของ The Beatles, Elvis Presley และ อีกหลายๆ ศิลปินดังในช่วงปลายยุค 60’s ที่ต่างก็ใช้กีตาร์เป็นเครื่องดนตรีชูโรง ความนิยมของอูคูเลเล่ก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ จนในที่สุดจากที่เคยเป็นเครื่องดนตรีที่ใครๆ ก็เล่น อูคูเลเล่กลับกลายเป็นเครื่องดนตรีเฉพาะกลุ่มไป

ในช่วงนั้นความนิยมในอูคูเลเล่น้อยจนผู้ผลิตรายใหญ่ๆ พากันไปเน้นผลิตกีตาร์เป็นหลักแทน จะเหลือก็แต่สำนักอูคูเลเล่ดั้งเดิมของฮาวายเช่น Kamaka (ที่จะมาเล่าตำนานให้ทราบในโอกาสต่อไป) และผู้ผลิตรายเล็กรายน้อยอีกไม่มากนัก ที่ยังคงสร้างอูคูเลเล่อย่างจริงจังกันอยู่ ทั้งนี้ไม่รวมประเภทที่สร้างมาเพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับวางโชว์ ที่มีขายเป็นของเล่นเสียมากกว่าจะเป็นเครื่องดนตรีจริงๆ

สำหรับในอเมริกา ณ ช่วงเวลานั้น อูคูเลเล่เติบโตต่อไปอย่างเงียบๆ ในรูปแบบ Jazz ที่มีศิลปินอย่าง Lyle Litz ที่นำอูคูเลเล่มาเล่นแนวนี้ได้อย่างน่าตราตรึงหู และ Ohta-san ที่นำมาเล่นแนว Jazz และ Bossanova จนโด่งดังระดับตำนานในโลกของอูคูเลเล่ หากใครชอบแนวนี้ขอแนะนำให้ลองฟังผลงานที่งามหยดย้อยหูของเขาครับ

Ohta-san

ส่วนอีกซีกโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น การเต้นระบำฮูล่าเริ่มได้รับความสนใจอย่างมาก จนเกิดเทรนด์กิจกรรมใหม่ขึ้นที่ญี่ปุ่น (หากใครเคยชมภาพยนต์เรื่อง Hula Girls จะทราบดี) ทำให้วัฒนธรรมฮาวายต่างๆ ได้รับความนิยมขึ้นมา อูคูเลเล่ก็เช่นกัน เหตุการณ์นี้ทำให้อูคูเลเล่แม้หายไปจากกระแสนิยมหลักในช่วงเวลานั้น แต่ก็ยังมีเวทีเล็กๆ ของมันอยู่บ้าง

เวลาผ่านไปจนเมื่อสัก 10 กว่าปีที่แล้ว อูคูเลเล่ยังคงมีอยู่ตามมุมต่างๆ ของโลก อย่างเจียมตัวและไม่เป็นที่น่าสนใจนัก สำหรับคนรุ่นที่ทันเมื่อครั้งอูคูเลเล่บูมครั้งแรก ที่เคยสัมผัสความฮ็อตฮิตของมัน ถ้าไม่ชรามากพวกเขาก็ได้จากโลกนี้ไปแล้ว ส่วนคนรุ่นที่อูคูเลเล่กลับมาฮิตอีกครั้งในต้นยุค 60’s ก็เห็นอูคูเลเล่เป็นเครื่องดนตรีของเด็กหรือดาวตลกบ้าง เป็นของเล่นบ้าง (อย่างที่เคยเล่าไปแล้วในตอนก่อนหน้า) แต่สำหรับคนที่เกิดและโตมาในยุคที่ไม่มีอูคูเลเล่ในกระแส เขาแทบไม่เคยเห็น ไม่เคยรู้จักมันเลย

และแล้วอูคูเลเล่ก็กลับมาอีกครั้ง ครั้งนี้กลับมาอย่างสวยงามมาก ต้องขอบคุณอินเตอร์เน็ทและ YouTube ที่ทำให้คลิปการเล่นอูคูเลเล่ของ Jake Shimabukuro ที่ถ่ายเล่นๆ ที่ฮาวาย แต่สิ่งที่เขาเล่นจากเจ้าเครื่องสายตัวจิ๋วนี้ กลับซับซ้อนจนผู้ที่ชมคลิ๊ปแทบไม่อยากเชื่อ ว่าอูคูเลเล่ที่มีแค่สี่สาย สามารถสร้างเสียงดนตรีได้ล้ำลึกรายละเอียดได้ขนาดนั้น ในที่สุดคลิ๊ปของ Jake ก็กลายเป็นไวรัล ช่วยจุดพลุให้คนทั้งโลกหันมาสนใจอูคูเลเล่อีกครั้ง

Jake Shimabukuro

ศิลปินอูคูเลเล่สมัครเล่นฝีมือดีมากมาย ที่ซุ่มซ้อมเล่นอยูที่บ้านมานาน ต่างพากันอัพโหลดคลิ๊ปเล่นอูคูเลเล่ของพวกเขา มีทั้งบรรเลง ทั้งร้องเล่น ไปจนถึงการสอน ให้เลือกดู เลือกติดตามกันได้ง่ายๆ

จากนั้นบรรดาศิลปินดังก็พร้อมใจกันหยิบอูคูเลเล่มาบันทึกเสียง ออกเป็นเพลงฮิตให้คนทั้งโลกได้ฟังอยู่หลายเพลง ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เกิดมาไม่คุ้นเคยกับอูคูเลเล่ ได้พบกับอูคูเลเล่และการนำมาเล่นในแบบร่วมสมัย ซึ่งแน่นอนว่าเป็นที่ถูกใจจนเกิดกระแสขึ้นอีกครั้ง

หากเป็นสมัยก่อน การจะครอบครองอูคูเลเล่สักตัวอาจไม่ง่ายเท่าสมัยนี้ เพราะกำลังผลิตน่าจะไม่พอ และราคาน่าจะสูงหากผลิตที่อเมริกาหรือญี่ปุ่น ทว่าในการกลับมาของอูคูเลเล่รอบนี้ เรามีประเทศจีนเป็นครัวของโลก คอยผลิตอูคูเลเล่คุณภาพใช้ได้ในราคาที่จับต้องได้ ในจำนวนที่เยอะพอต่อความต้องการ ทำให้ในช่วงปี 2009-2010 ได้เกิดกระแสอูคูเลเล่บูมไปทั่วโลก

ณ วันนี้ในปี 2022 นี้ เด็กที่เริ่มเป็นวัยรุ่น ได้เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กับอูคูเลเล่ และเห็นมันเป็นเครื่องดนตรีปกติชนิดหนึ่ง ต่างจากคนยุคก่อนหน้า ที่ไม่คุ้นเคยกับมัน และเห็นเป็นแฟชั่นจนเกิดเทรนด์ขึ้นมาในช่วงราว 10 ปีที่แล้ว

วันนี้อูคูเลเล่แม้ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนต้องหามาครอบครองตามกระแส แต่มันก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะด้วยความที่ครั้งนี้อูคูเลเล่หาง่ายกว่าแต่ก่อนมาก หลายๆ สถาบันการศึกษาได้บรรจุอูคูเลเล่เป็นวิชาดนตรีในโรงเรียน ส่วนตามโรงเรียนดนตรีก็มีการเปิดสอนอูคูเลเล่กัน ซึ่งที่ไทยมีผู้ได้รับประกาศนียบัตรการสอนอูคูเลเล่จากสถาบันระดับโลก JHUI ของแคนาดาแล้ว เช่นที่ Kumabee Ukulele Studio ที่ๆ ช่วยยกระดับการสอนให้สากลและตรงตามตำรับอูคูเลเล่แท้ๆ จนสามารถส่งนักเรียนไปแข่งชนะเลิศประกวดอูคูเลเล่นานาชาติที่ฮาวายมาแล้ว

Kumabee

การมาครั้งที่ 3 ของอูคูเลเล่ยังคงดำเนินอยู่ และมีแนวโน้มจะไม่หายไปไหนอีก หากแต่จะรอวันที่จะมีใครหรืออะไรสักอย่าง มากระตุ้นให้เกิดกระแสความฮิตในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งขึ้น ถ้าวันนั้นมาถึง ผมในฐานะคนบ้าอูคูเลเล่คนหนึ่ง จะปิดซอยฉลองเลยครับ