ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
ถ้าพูดถึงงานวรรณกรรมที่ถูกเขียนขึ้นด้วยภาษารัสเซีย แน่นอนว่าต้องมีชื่อโกกอล (Nikolai Gogol 1809-1852) เป็นหนึ่งในนักเขียนแถวหน้าผู้เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ในระดับที่ไม่ต่างไปจากพุชกินหรือดอสโตเยฟสกีแต่อย่างใด
โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าโกกอลเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกงานเขียนเกี่ยวกับชนชั้นล่างผู้ยากจนต่ำต้อย และริเริ่มการเขียนถึงตัวละครเอกที่ไม่ใช่บุคคลผู้ร่ำรวยดีงามสมบูรณ์พร้อม (อย่างในนิยายโรแมนติกช่วงก่อนหน้า) แต่เป็นสามัญชนธรรมดาๆ ผู้ต่ำต้อยไร้ความหมายและปราศจากสุ้มเสียง เช่น ข้าราชการระดับล่างผู้อัตคัดขัดสนเสียจนต้องใส่ชุดเครื่องแบบที่เก่าขาดรุ่งริ่งและไม่มีเงินจะซื้อใหม่ เป็นต้น
ว่ากันตามชาติกำเนิด โกกอลไม่ใช่ชาวรัสเซียแต่เป็นชาวยูเครน
เขาเกิดเมื่อปี 1809 ในเขตปกครองมีร์โกโรด มณฑลโพลโตวา ยูเครน ซึ่งในขณะนั้นถูกนับเป็นส่วนหนึ่งในจักรวรรดิรัสเซียของซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1
โกกอลเติบโตในครอบครัวผู้มีการศึกษาซึ่งสามารถพูดและเขียนทั้งภาษารัสเซียและยูเครน บิดาเป็นนักเขียนบทละครมือสมัครเล่นและนิยมจัดการแสดงละครในบ้าน เขาสำเร็จการศึกษาที่ยูเครนเมื่อปี 1828 ขณะอายุ 19 ปี
และเดินทางไปแสวงหาความก้าวหน้าที่เมืองหลวงของจักรวรรดิรัสเซียคือนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปีเดียวกันนั้นเอง
โกกอลรักงานวรรณกรรมและเริ่มเขียนบทกวีมาตั้งแต่สมัยเรียน
แต่เพื่อเลี้ยงชีพเขาจึงจำเป็นต้องรับราชการ โกกอลได้ตำแหน่งพนักงานชั้นผู้น้อยในกรมการคลังและฝืนทำอยู่ได้ราวปีครึ่ง จึงลาออกด้วยทนกับความซ้ำซากจำเจของงานราชการไม่ได้
จากนั้นเขาตีพิมพ์งานชุดเรื่องสั้นชิ้นสำคัญชุดแรก “ยามค่ำในฟาร์มใกล้ดิคานติ” ซึ่งบรรยายวิถีชีวิตของชาว “รัสเซียน้อย” ในยูเครน และได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก
ในช่วงนี้เองที่โกกอลได้รู้จักกับนักเขียนหัวสมัยใหม่คนสำคัญคืออเล็กซานเดอร์ พุชกิน และวาซิลี ชูคอฟสกี ทั้งสองชื่นชอบงานเขียนของโกกอล และต่อมาจะมีส่วนในการสนับสนุนโกกอลทั้งเรื่องความคิดและชีวิตความเป็นอยู่อย่างสำคัญ
ในปี 1836 บทละครชิ้นสำคัญของโกกอลคือ “ผู้ตรวจการ” ได้รับการนำออกแสดงและประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง
งานชิ้นนี้พูดถึงชายหนุ่มธรรมดาคนหนึ่งผู้เดินทางไปยังหัวเมืองต่างถิ่น เขาถูกข้าราชการชั้นสูงในเมืองเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ตรวจการรัฐที่ทางเมืองหลวงส่งมาตรวจราชการอย่างลับๆ จึงได้รับการปฏิบัติด้วยอย่างพิเศษผิดสามัญ
บทละครชิ้นนี้จึงเป็นการเปิดเผยความเน่าเฟะของระบบราชการรัสเซียในขณะนั้นว่าเต็มไปด้วยความฉ้อฉล มีแต่การประจบเอาใจบุคคลระดับสูงโดยละเลยหน้าที่ที่ข้าราชการพึงปฏิบัติ แต่ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความตลกขบขันในเรื่องผิดฝาผิดตัว
มีบันทึกว่าในการแสดงรอบปฐมทัศน์ ละครเรื่องนี้เรียกเสียงหัวเราะเฮฮาจากผู้ชมที่เป็นบุคคลธรรมดาได้อย่างครื้นเครง แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ข้าราชการชั้นสูงหลายคนในโรงละครต้องหงุดหงิดฉุนเฉียวเป็นอย่างมาก
(ในไทยบทละครเรื่องนี้เคยได้รับการแปล-ปรับแปลงใหม่โดยพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ในราว พ.ศ.2478 ในชื่อเรื่อง “ตรวจราชการ”)
หลังจากนั้นโกกอลออกเดินทางไปยังต่างประเทศ ทั้งเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี และทำงานเขียนหลายชิ้น โดยเฉพาะชิ้นที่อาจนับว่าสำคัญที่สุดคือ Dead Souls หรือ ชีวิตที่ตายแล้ว ภาคหนึ่ง นิยายขนาดยาวซึ่งเขาได้รับทั้งแนวคิดและพล็อตเรื่องจากพุชกิน
อย่างไรก็ตาม หลังจากอาการป่วยทางจิตใจในฤดูร้อนปี 1840 โกกอลมีความคิดความเชื่อโน้มเอียงไปทางศาสนา และเชื่อว่าหน้าที่ของเขาคือการพัฒนาจิตใจของมนุษยชาติ
ในปี 1846 เขาตีพิมพ์ “บางบทตอนที่คัดเลือกจากบทสนทนาทางจดหมายกับมวลมิตร” ซึ่งปฏิเสธทั้งสองแนวคิดที่กำลังเป็นข้อขัดแย้งในแวดวงปัญญาชนขณะนั้น คือ 1.กระแสนิยมแนวคิดแบบตะวันตก 2.กระแสชาตินิยมรัสเซีย และหันไปสู่เรื่องของการยกระดับจิตใจในแบบศาสนาคริสต์ออร์โธดอกซ์
โกกอลมั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้จะต้องขายดี เขาถึงกับกล่าวว่าหนังสือเล่มนี้คือ “หนังสือที่ดีที่สุดเพียงเล่มเดียว” ของเขา และแนะนำให้ผู้จัดพิมพ์เตรียมกระดาษสำรองไว้เพื่อตีพิมพ์ซ้ำครั้งที่สองในทันที
แต่ปรากฏว่างานชิ้นนี้ได้รับเสียงตอบรับในทางลบเป็นอย่างมาก และมิตรสหายจำนวนหนึ่งก็กล่าวประณามว่าโกกอลกำลังทรยศต่อแนวทางเดิม หรือไม่ก็ว่าเขาเป็นนักเขียนกลับกลอกผู้ไม่มีความจริงใจในงานเขียน
ความลังเลและรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่ตนเองต้องการได้อย่างสมบูรณ์และถูกต้อง ทำให้การเขียนนิยายเรื่อง ชีวิตที่ตายแล้ว ภาคสอง เป็นไปอย่างยากลำบาก (โกกอลตั้งใจไว้แต่แรกว่านิยายเรื่องนี้จะมีสามภาค) ต้นฉบับจึงผ่านการแก้ไขครั้งแล้วครั้งเล่า
ในช่วงปี 1852 เมื่อเดินทางกลับมายังรัสเซียแล้ว โกกอลได้พบและพูดคุยถกเถียงกับบาทหลวงมัตเฟ คอนสตานตินอฟสกี หลายครั้งในเรื่องเกี่ยวกับงานเขียนและนิยายเรื่อง ชีวิตที่ตายแล้ว ภาคสอง ซึ่งหลังจากที่บาทหลวงได้นำต้นฉบับไปอ่านแล้วก็ได้แสดงความเห็นต่อโกกอลว่า หลายบทในนิยายไม่ควรได้รับการตีพิมพ์และควรถูกทำลาย และว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอันตราย
ความกลัดกลุ้มกังวลในหลายสาเหตุทำให้โกกอลตัดสินใจอดอาหารก่อนเทศกาลมหาพรตหนึ่งสัปดาห์
และต่อมาในเวลาตีสามของเช้าวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เขาเผาต้นฉบับ ชีวิตที่ตายแล้ว ภาคสอง ทั้งหมด จากนั้นจึงหยุดกินอาหารโดยสิ้นเชิงโดยไม่ใส่ใจคำทัดทานของมิตรสหายและนายแพทย์
ก่อนจะเสียชีวิตลงในตอนเช้าวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 1852 ขณะอายุได้ 42 ปี
ในเชิงอุดมการณ์ งานเขียนของโกกอลจึงมิใช่ว่าจะบรรสานกลมกลืนสอดคล้องกันไปทั้งหมด โดยเฉพาะงานในช่วงหลังที่ผู้เขียนหันไปฝักใฝ่กับศาสนาคริสต์แบบออร์โธดอกซ์นั้นย่อมถือเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรง เมื่อเทียบกับท่าทีแบบเสรีนิยมในวัยหนุ่มที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเก่าและรัฐราชการอย่างไม่ไว้หน้า
ดังนั้นเอง เมื่อบอลเชวิคล้มล้างระบอบซาร์และสถาปนาสหภาพโซเวียตขึ้นหลังปี 1917 และมีนโยบายใช้ศิลปะวรรณกรรมเพื่อโปรโมตและปลูกฝังลัทธิสังคมนิยม งานของโกกอลจึงเป็นอะไรที่มีสถานะค่อนข้างอีหลักอีเหลื่อ เพราะมีทั้งสองแง่สองมุม
คือทั้งที่ฉายภาพความคิดถึงอุดมคติ “คนเท่ากัน” แบบงานเขียนกระแสสัจนิยมชนิดที่พรรคคอมมิวนิสต์ต้องการ
แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีงานบางส่วนที่อิงอยู่กับความเชื่อทางศาสนาซึ่งย่อมถือเป็นหนึ่งเดียวกับระบอบซาร์ดั้งเดิมด้วย
ในบทความ The Soviet Interpretation of Gogol ของ Robert L. Strong JR. (1955) ให้ข้อมูลว่าตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 1920 เริ่มมีการถกเถียงของเหล่าปัญญาชนสังคมนิยม ว่างานเขียนของโกกอลออกจะไม่คงเส้นคงวาและมีทวิลักษณะ
เช่นในงานของปัญญาชนสายมาร์กซิสต์อย่างปโยตร์ โคกาน (P. S. Kogan) ก็มีการวิเคราะห์ว่างานของโกกอลนั้นมีทั้งคุณลักษณะในแบบของ “นักปฏิวัติ” และฝ่าย “ปฏิกิริยา” ในเวลาเดียวกัน
บางคนวิพากษ์ว่าเนื้อแท้ในงานเขียนโกกอลหาใช่ความต้องการ “เปลี่ยนแปลง” ระบอบการปกครองไม่ แต่แค่ต้องการจะหาหนทางให้ “ระบอบเก่า” ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนขึ้นต่างหาก
บางคนก็วิเคราะห์เนื้องานของโกกอลว่าเป็นทั้งแบบ “โรแมนติก” และ “สัจนิยม” ในเวลาเดียวกัน
แต่ที่น่าสนใจคือความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเกิดขึ้นในช่วงปี 1930 เมื่อนักเขียนจำนวนหนึ่งเริ่มหันมาเน้นย้ำแนวคิดว่าด้วยการวิพากษ์รัฐราชการของโกกอล และเห็นว่าท่าทีของโกกอลที่ค่อนข้างประนีประนอมกับระบอบซาร์นั้นเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ ด้วยบริบทของยุคสมัย
ยิ่งเมื่อโซเวียตเผชิญภัยคุกคามจากเผด็จการฟาสซิสต์ในช่วงเดียวกัน ภาพลักษณ์ “ชาตินิยม” รัสเซียของโกกอลก็ยิ่งถูกขับเน้นให้เด่นชัดยิ่งขึ้น มีการกล่าวอ้างว่าทั้งมาร์กซ์ เลนิน และสตาลิน ล้วนยกย่องชื่นชมงานเขียนของโกกอลเป็นอย่างมาก
จนในที่สุดนำมาสู่การจัดวางโกกอลในฐานะนักเขียน “สัจนิยม” อย่างเต็มตัว
(ทั้งที่ความจริงเมื่อเทียบกับงานของนักเขียนอย่างตอลสตอยหรือดอสโตเยฟสกี – เหล่านักเขียนสัจนิยมตัวจริงแล้ว – งานของโกกอลยังมีลักษณะที่แตกต่างออกไปอย่างเห็นได้ชัดทีเดียว)
การเชิดชูเกียรติของโกกอลดำเนินไปถึงขีดสุดเมื่อมีการจัดงานฉลอง 100 ปีมรณกรรมโกกอลในปี 1952 มีการจัดกิจกรรมต่างๆ และกล่าวเชิดชูเกียรติของโกกอลอย่างเป็นทางการโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ในฐานะศิลปินผู้ต่อสู้เพื่อประชาชน
แล้วยังไปไกลถึงขนาดนำโกกอลไปเป็นสัญลักษณ์ของชาตินิยมและการต่อต้านลัทธิทุนนิยมอเมริกาอีกด้วย
นอกจากนั้น ด้วยความที่งานของโกกอลซึ่งจัดพิมพ์ในสมัยซาร์นั้นมีข้อความที่ถูกเซ็นเซอร์ออกจำนวนมาก ในการตีพิมพ์งานเขียนของโกกอลทางสหภาพโซเวียตจึงได้ทำการรื้อฟื้นต้นฉบับเดิมที่โกกอลเหลือทิ้งไว้ในรูปของลายมือ และนำมาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ให้ตรงตามความประสงค์ดั้งเดิมของผู้แต่ง
ถือเป็นการแสดงความยุติธรรมของลัทธิสังคมนิยม ซึ่งในที่สุดก็เปิดโอกาสให้โกกอลได้พูดในสิ่งที่ตนต้องการอย่างแท้จริงในที่สุด
อีกทั้งในบทวิเคราะห์ต่างๆ ยังนิยมเขียนในรูปแบบการวิเคราะห์วรรณกรรมแนวมาร์กซิสต์ ทั้งแนวคิดและศัพท์แสง ส่งผลให้ตัวตนของโกกอลผสานรวมเข้ากับแนวคิดสังคมนิยมและกลายสภาพเป็นนักเขียนแนวสัจนิยมเพื่อประชาชนไปโดยปริยาย
และก็เป็นตัวตนของโกกอลในลักษณะนี้เอง ที่ถูกส่งออกไปทั่วโลกโดยสหภาพโซเวียตอย่างเป็นทางการ
แน่นอนว่าเมื่องานเขียนของโกกอลเข้ามาในไทยเมื่อราว พ.ศ.2520 จึงมีภาพลักษณ์ของงานเขียนเพื่อชีวิตเพื่อประชาชนอย่างเข้มข้น
ดังปรากฏหลักฐานว่าใน พ.ศ.2523 สำนักพิมพ์ดวงกมลได้จัดพิมพ์เรื่องสั้นเรื่องสำคัญของโกกอล คือ “เสื้อคลุม” แปลโดยไชยันต์ รัชชกูล โดยมีคำบรรยายบนปกหลังว่าเป็น “วรรณกรรมเพื่อผู้ถูกเหยียดหยาม” และมีคำโปรยว่า
“นิโคไล โกกอล ไม่ใช่นักเขียนในสำนัก ‘วรรณกรรมเพื่อชีวิต’ ในความหมายอย่างที่ใช้กันอยู่ แต่พื้นฐานงานเขียนของโกกอลอยู่ที่การแสดงถึงความยากเข็ญและความไม่สมประกอบของชีวิตโดยไม่ได้อวดรู้ หรือชี้นำ ‘ทางออกของปัญหาสังคม’…” (เน้นข้อความโดยผู้เขียนบทความ)
โดยนัย นี่ย่อมแปลว่าโกกอลเป็นนักเขียนสาย “สัจนิยม” (Realism) บริสุทธิ์อย่างแท้จริง และไม่ได้เป็นเพียงนักเขียนสาย “สัจนิยมสังคมนิยม” (Socialist Realism) ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกสั่งผลิตขึ้นอย่างทื่อๆ โดยลัทธิเผด็จการของสตาลินแต่อย่างใด
ทั้งที่ความจริงก็เป็นอย่างที่เราได้พิจารณากันมาแล้ว ว่าตัวตนของโกกอลนั้นมีความซับซ้อน สับสน และยากจะบ่งชี้ให้เห็นขาดในแนวคิดลงไปได้อย่างชัดเจน
ยิ่งในปัจจุบัน งานเขียนในช่วงหลังๆ ของโกกอล (ที่ถูกมิตรร่วมสมัยประณามว่าทรยศ) นั้นแทบไม่ได้รับความสนใจจากผู้อ่านและผู้จัดพิมพ์เลย และสาธารณชนส่วนใหญ่ก็ให้ความสนใจแต่กับงานเขียนในช่วงแรกๆ
ตัวตนของโกกอลที่คนส่วนมากรับรู้ในวันนี้ จึงนับเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของทั้งหมดเท่านั้น